พระสงฆ์กับการใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง


มาตรา 26 ระบุว่า "การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"

พระสงฆ์กับการใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

          เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พระภิกษุสามเณรไม่สามารถไปใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาหรือการเลือกตั้งทุกระดับได้ เหมือนประชาชนโดยทั่วไปที่สามารถไปใช้สิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายในฐานะเป็นพลเมืองของชาติ แต่ว่าพระภิกษุสามเณรไม่สามารถไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งในฐานะเป็นพลเมืองของชาติเหมือนกัน เพราะมีกฎหมายบัญญัติบุคคลต้องห้ามไว้ใน

            มาตรา 106 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ [1]

         (1) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

         (2) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

         (3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

         (4) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

      จะสังเกตเห็นว่า กฎหมายการเลือกตั้งมาตรา 106   (1) (3) และ (4) เป็นบุคคลที่สมควรต้องห้ามเพราะมีจิตผิดปกติหรือวิกลจริต ทำผิดกฎหมายสมควรจะต้องถูกลงโทษแน่นอนส่วน (2) ไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในกลุ่มที่กระทำความผิดกฎหมายบ้านเมือง หรือทำผิดศีลธรรมอันดีงามหรือเป็นคนวิกลจริตแต่อย่างใด แต่ว่ากฎหมายการเลือกตั้งจัดกลุ่มพระภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช อยู่ในกลุ่มบุคคลที่กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือกลุ่มบุคคลวิกลจริต ผู้เขียนเห็นว่าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ระบุว่า[2] "การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" ในเมื่อพระสงฆ์เป็นทั้งนักบวชในพระพุทธศาสนาและประชาชนในเวลาเดียวกัน การตีความของกระทรวงกลาโหมน่าจะถูกต้องกว่ากระทรวงมหาดไทย กฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทย(ปัจจุบันคือคณะกรรมการ การเลือกตั้งหรือ กกต.)ที่ห้ามพระภิกษุสามเณรหรือนักพรตนักบวชไม่ให้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จึงน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและมิชอบด้วยกฎหมาย ดังมาตรา 6 ที่ว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้"    ข้ออ้างโดยทั่วไปที่ห้ามมิให้พระสงฆ์ไปใช้สิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งก็คือ พระสงฆ์ไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เนื่องจากพระสงฆ์เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ส่วนการเมืองเป็นเรื่องสกปรก พระสงฆ์จึงไม่ควรเข้าไปแปดเปื้อนกับความสกปรกของการเมือง ถ้าหากข้อสมมติฐานที่ว่า การเมืองคือสิ่งสกปรก (ไร้คุณธรรมจริยธรรม) เป็นจริงแล้ว พระสงฆ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมจริยธรรม ก็ยิ่งจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องให้มาก เพื่อที่จะชำระล้างการเมืองที่สกปรกให้เป็นการเมืองที่สะอาดให้ได้ อาจถือเป็นหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์ด้วยซ้ำไปที่จะมีส่วนเลือกสรรคนดี ๆ มีคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปเป็นตัวแทนประชาชนเข้าไปบริหารบ้านเมืองหรือออกกฎหมายในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และในฐานะผู้นำทางคุณธรรมจริยธรรม พระสงฆ์มีหน้าที่อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน รวมทั้งแก่นักการเมืองด้วย ปัจจุบันการสั่งสอนอบรมทางวาจาอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่นักการเมือง จำเป็นจะต้องสั่งสอนอบรมด้วยการปฏิบัติในเชิงโครงสร้างด้วย การที่พระสงฆ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองต้องฟังพระสงฆ์มากขึ้น พระสงฆ์ซึ่งมีอำนาจทางจริยธรรมอยู่ในมือ ก็จะมีส่วนช่วยให้การเมืองมีจริยธรรมมากขึ้น ในฐานะผู้นำชุมชน พระสงฆ์อาจใช้ความรู้ทางจริยธรรมของตน ช่วยแก้ปัญหาการซื้อเสียง หรือการทุจริตการเลือกตั้งในรูปแบบอื่นๆ เมื่อพระสงฆ์และชุมชนรวมตัวกันและมีพลังในเชิงจริยธรรม นักการเมืองก็จะนึกถึงจริยธรรมมากขึ้น และการเมืองก็จะพลอยมีจริยธรรมเพิ่มขึ้น.

          กล่าวโดยสรุป พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหนึ่งในสามสถาบันหลักของชาติ พระสงฆ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระพุทธศาสนา สามารถใช้สิทธิ เสรีภาพในฐานะเป็นพระสงฆ์ ในเวลาเดียวกันก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ และการใช้สิทธิ์ก็อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย พระสงฆ์ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความดี ความงดงามในมิติต่าง ๆ  ทางด้านสังคม ขอให้โอกาสพระสงฆ์นำสัญลักษณ์ดังกล่าวไปสู่สังคมการเมืองในปัจจุบัน ที่ผู้คนในสังคมทั้งหลายกำลังตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต และตั้งข้อสงสัย ว่านักการเมืองที่อาสาประชาชนไปทำงานการเมือง จะเป็นคนดี มีคุณธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริตมากน้อยแค่ไหน.

 



  [2] ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์.   www.songpak16.com/song_no_sitthi.html

หมายเลขบันทึก: 443689เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2011 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท