ก๊อดซิลล่า (นิตยสารสารคดี ฉบับ 315 พฤษภาคม 2554)


สำหรับคนที่เคยเป็นเด็กเมื่อสัก ๔๐ ปีก่อน หนังญี่ปุ่นฮีโร่สู้เหล่าร้ายสนุกจนเราก้นติดหน้าจอ  ไม่ว่าจะเป็นอุลตร้าแมน ไอ้มดแดง หุ่นอภินิหาร ฯลฯ  โดยเฉพาะเวลาฮีโร่ปลุกปล้ำกับสัตว์ประหลาดตัวโต จนตึกรามบ้านช่องพังทลายเป็นแถบๆ  เราไม่เคยคิดไกลไปถึงว่าถ้านี่เป็นเรื่องจริง จะมีคนตายเท่าไร ขอเพียงฮีโร่ของเราจับสัตว์ประหลาดทุ่มให้น่วม แล้วปล่อยแสงให้ระเบิดเป็นจุลก็พอ

                ในบรรดาฮีโร่ ก๊อดซิลล่า (Godzilla เป็นชื่อในภาคฝรั่ง แต่ชื่อญี่ปุ่นคือ โกจิรา-Gojira) น่าจะประหลาดกว่าใคร เพราะฮีโร่เกือบทุกเรื่องเป็นมนุษย์ หรือคล้ายมนุษย์  แต่ก๊อดซิลล่าเป็นสัตว์คล้ายไดโนเสาร์ทีเร็กซ์ คอยสู้กับสัตว์ประหลาดที่มาบุกโลก เช่น มังกรสามหัวจากต่างดาว 

ตอนเด็กผมได้ดูก๊อดซิลล่าแค่บางตอน จนเป็นผู้ใหญ่แล้วถึงมีโอกาสดูก๊อดซิลล่าภาคแรก ด้วยความรู้สึกทึ่งระคนแปลกใจ เพราะในภาคนี้ก๊อดซิลล่ากลับเป็นสัตว์ประหลาดทำลายโลก ไม่ใช่ฮีโร่ผู้ช่วยโลก

                ก๊อดซิลล่าออกฉายโรงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ หลังประเทศญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามเพราะถูกระเบิดนิวเคลียร์ทลายเมืองฮิโร่ชิม่าและนางาซากิในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ราว ๙ ปี

                ตามเนื้อเรื่องในหนัง ก๊อดซิลล่าเดิมเป็นไดโนเสาร์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำใต้ทะเล แต่จากการทดลองระเบิดปรมาณูใต้ทะเลทำให้มันได้รับกัมมันตภาพรังสีจนกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาด  ก๊อดซิลล่าถูกระเบิดรบกวนที่อยู่จนต้องขึ้นมาอาละวาดทำลายเรือประมงและหมู่บ้านชายฝั่ง เมื่อคนพยายามทิ้งระเบิดฆ่ามัน ก๊อดซิลล่าจึงตอบโต้ด้วยการขึ้นบกที่กรุงโตเกียว

ในคืนมืดมิดอันเป็นฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง ก๊อดซิลล่ายืนทมึนพังทลายตึกรามบ้านช่อง รถไฟ เสาไฟฟ้าแรงสูง พ่นไฟบรรลัยกัลป์จากปากเผาเมืองจนกลายเป็นทะเลเพลิง  ผู้คนหวาดผวาแตกตื่นหนีกันอลหม่าน มีคนตายและบาดเจ็บกลาดเกลื่อน  ฉากนี้สร้างอย่างสมจริงและน่าสะพรึงกลัวทำให้ย้อนคิดถึงภาพหายนะจากระเบิดปรมาณูในสงครามโลก

แม้จะเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดของชาวญี่ปุ่น แต่ก๊อดซิลล่ากลับได้รับการต้อนรับอย่างสูงจากผู้ชมทั่วประเทศ

                จุดจบของก๊อดซิลล่า แลกด้วยการเสียสละชีวิตของนักวิทยาศาสตร์หนุ่มผู้คิดค้นระเบิดชนิดใหม่ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าระเบิดปรมาณู  เพราะเขาไม่ต้องการให้ใครนำระเบิดไปใช้ในทางที่ผิด จึงตัดสินใจจบชีวิตตัวเองพร้อมกับก๊อดซิลล่าที่ถูกระเบิดสลายร่างไปจนไม่เหลือแม้แต่ซาก

                แม้ก๊อดซิลล่าในภาคแรกจะเป็นสัตว์ประหลาดที่ต้องถูกกำจัด แต่กลับได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างมากจากผู้ชม เพราะมันคือผลลัพธ์จากการรุกรานของมนุษย์ โดยเฉพาะจากรังสีของระเบิดปรมาณูที่คนทั้งโลกหวาดกลัว  

ก๊อดซิลล่าจึงเป็นเหมือนตัวแทนธรรมชาติที่ถูกมนุษย์รบกวน และยังเป็นตัวแทนหายนะภัยจากนิวเคลียร์อีกด้วย

                แรงบันดาลใจของผู้สร้างก๊อดซิลล่านั้น มาจากเรื่องจริง คือการทดลองระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ในบริเวณเกาะปะการังบิกินี (Bikini Atoll) หมู่เกาะมาร์แชลล์ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้เรือประมงญี่ปุ่นซึ่งเข้าใกล้เขตทดลอง ได้รับกัมมันตภาพรังสี ลูกเรือบางคนเสียชีวิต ซ้ำร้ายปลาทูน่าในทะเลซึ่งปนเปื้อนรังสีถูกจำหน่ายสู่ท้องตลาด 

ข่าวหนังสือพิมพ์ถึงกับพาดหัวว่า “ญี่ปุ่นถูกระเบิดปรมาณูครั้งที่ ๒”

                กว่า ๕๐ ปีต่อมา ประเทศญี่ปุ่นที่เคยรู้ซึ้งและเป็นผู้รับชะตากรรมอันชอกช้ำจากภัยนิวเคลียร์ยิ่งกว่าชนชาติใดในโลก กลับมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่าครึ่งร้อยกระจายอยู่รอบเกาะ  เชื้อเพลิงนิวเคลียร์กลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและเจริญรุดหน้าด้วยพลังคนญี่ปุ่นหลังบ้านเมืองย่อยยับครั้งสงครามโลก

หากมองอีกมุม ประเทศญี่ปุ่นก็มีชะตากรรมคล้ายก๊อดซิลล่า ตรงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงไปด้วยผลกระทบของพลังงานนิวเคลียร์ ในหนังภาคหลังๆ ที่สร้างกันกว่า ๒๐ เรื่อง ก๊อดซิลล่ากลายเป็นหนังสำหรับเด็ก มันมีหน้าตาอ่อนโยนขึ้นและเป็นฮีโร่ที่ช่วยกำจัดสัตว์ประหลาด  บางตอนยังบอกว่าก๊อดซิลล่ามีขุมพลังคือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์  ขณะที่ในโลกแห่งความจริง ญี่ปุ่นใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่เคยทำลายประเทศตน มาเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าพัฒนาประเทศ

                เป็นเรื่องน่าคิดน่าศึกษาว่า เหตุใดประเทศที่น่าจะหวาดกลัวนิวเคลียร์ที่สุด กลับกลายเป็นประเทศที่ยอมรับเทคโนโลยีนี้มากที่สุดประเทศหนึ่ง 

                ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ แผ่นดินไหว สึนามิ และอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทางตะวันออกของเกาะฮอนชู สร้างความสะเทือนใจและตื่นตระหนกให้คนทั่วโลก  แน่นอนว่าไม่มีฮีโร่ในหนังทีวีปรากฏตัวมาช่วย  แต่เราได้เห็น “ฮีโร่” ในการกระทำของชาวญี่ปุ่นเมื่อต้องรับมือกับความทุกข์ยากสาหัสหลังภัยพิบัติ  บางคนยอมสละชีวิตทำหน้าที่เพื่อกอบกู้สถานการณ์อันเลวร้าย

                หลายคนเชื่อว่าชาวญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังผ่านสื่อวัฒนธรรมมากมาย ให้เป็นคนเข้มแข็ง มุ่งมั่นไม่ท้อถอย ถึงล้มก็ต้องลุกขึ้นมาสู้ต่อ  แม้ญี่ปุ่นจะต้องเผชิญหน้าภัยพิบัติหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็จะฟื้นคืนมาได้ทุกครั้ง 

                แผ่นดินไหว สีนามิ รวมทั้งอุบัติภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็ย่อมมิใช่ครั้งสุดท้ายเช่นกัน   

                ดร. ยามาเนะ นักวิทยาศาสตร์ในหนังผู้พยายามศึกษาความลี้ลับของก๊อดซิลล่าภาคแรก กล่าวเมื่อก๊อดซิลล่าถูกทำลายว่า

                “ผมไม่คิดว่าก๊อดซิลล่าตัวนี้จะเป็นตัวสุดท้าย หากว่าตราบใดยังมีการทดลองระเบิดปรมาณูกันอยู่ สัตว์ชนิดเดียวกับก๊อดซิลล่าอาจจะโผล่ขึ้นมาอีกก็ได้  ผมจึงคิดว่าก๊อดซิลล่าตัวนี้ไม่ใช่ตัวสุดท้ายแน่ๆ”

                ในหนัง สัตว์ประหลาดพ่ายแพ้ไปทุกครั้ง แต่ในความจริง ใครจะตอบได้...เพราะหลายสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อาจย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์เองไม่วันใดก็วันหนึ่ง...เพียงแต่กาลเวลามักทำให้เราหลงลืม

                ๕๐ ปีผ่านไป จะยังมีใครจำได้หรือไม่ว่า ครั้งหนึ่งก๊อดซิลล่าคือตัวแทนความหายนะจากการกระทำของมนุษย์   

 

                                                                                                                บรรณาธิการบริหาร

                                                                                                                สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

                                                                                                                [email protected]

หมายเลขบันทึก: 443647เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2011 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท