ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ (กาญจนบุรี)
ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ (กาญจนบุรี) ศมม.กจ. กจ.

การฟักเทียมไข่ไหม


 

การจัดการไข่ไหม 

วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการไข่ไหมชนิดฟักปีละ 2 ครั้ง ตามธรรมชาติ  (Bivoltine)

1.  การฟักเทียมไข่ไหมแบบฟักทันที (Common acid treatment/Sokushin)

         หลังจากแม่ผีเสื้อวางไข่ไหม 15-20 ชั่วโมง แล้วนำไปฟักเทียม  (เวลาประมาณ  11.00-16.00 น.ของวันถัดไป) ถ้าหากเป็นไข่ไหมแผ่นให้นำไข่ไหมจุ่มฟอร์มาลีน 2  เปอร์เซ็นต์ นาน 3-5 นาที แล้วนำไปผึ่งให้แห้งในร่มเงา จะทำให้ไข่ไหมติดกับกระดาษวางไข่ดียิ่งขึ้น

          การฟักเทียมไข่ไหม ทำได้ 2 วิธี 

                    1.1    การฟักเทียมโดยใช้สารระลายกรดเกลือที่อุณหภูมิสูง (Heated acid treatment)

                วิธีการนี้ใช้เวลาสั้นในการฟักเทียมแต่มีข้อเสีย คือ ถ้าหากอุณหภูมิของสารละลายกรดเกลือเปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลให้การฟักออกมีความแปรปรวนสูงได้

               ถ.พ. ของสารละลายกรดเกลือ 1.075 (ที่อุณหภูมิ 15 เซลเซียส)

               อุณหภูมิของสารละลายกรดเกลือ 46 องศาเซลเซียส

               เวลาที่ใช้จุ่มไข่ไหมนาน 5-6 นาที

               หลังจากฟักเทียมแล้วนำไข่ไหมไปล้างในน้ำไหลที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 20-30 นาที ทดสอบว่าหมดฤทธิ์สารละลายกรดเกลือแล้วจึงนำไปผึ่งให้แห้งในร่มเงา

                  1.2    การฟักเทียมโดยใช้สารละลายกรดเกลือที่อุณหภูมิปกติ (Room temperature acid treatment)

ก่อนการฟักเทียมปฏิบัติเหมือนกับข้อ 1.1 แต่แตกต่างที่ ถ.พ. อุณหภูมิของสารละลายกรดเกลือและเวลาในการจุ่มกรดเกลือ ดังนี้

              ถ.พ.ของสารละลายกรดเกลือ 1.110 (ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส

              อุณหภูมิของสารละลายกรดเกลือ 27-29  องศาเซลเซียส

              เวลาที่ใช้จุ่มไข่ไหมนาน 50-60 นาที

              หลังจากนำไข่ไหมขึ้นจากสารละลายกรดเกลือแล้ว การล้างไข่ไหมถือปฏิบัติเช่นเดียวกับ  ข้อ 1.1  การประวิงเวลาในการเก็บรักษาไข่ไหม หลังจากฟักเทียม แล้วนำไข่ไหมเก็บในห้อง 25 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นย้ายไข่ไหมเข้าห้อง 15 องศาเซลเซียส นาน 6-12 ชั่วโมง ย้ายไข่ไหมเข้าห้อง 5 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถเก็บไข่ไหมได้นาน 20 วัน ในช่วงเวลาที่เก็บไข่ไหมในห้อง 5 องศาเซลเซียส หากมีความต้องการจะเลี้ยงไหม ให้นำไข่ไหมออกจากห้อง 5 องศาเซลเซียส โดยผ่านห้อง 15 องศาเซลเซียส นาน 6-12 ชั่วโมง แล้วจึงนำไข่ไหมไปกกที่ห้องกกไข่ไหมต่อไป

2. การฟักเทียมไข่ไหมหลังจากเก็บในห้องเย็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง (Acid treatment after chilling / Reishin)

        หลังจากแม่ผีเสื้อวางไข่แล้ว เก็บไข่ไหมที่ห้อง 25 องศาเซลเซียส นาน 45-48 ชั่วโมง แล้วย้ายไข่ไหมไปห้อง 15 องศาเซลเซียส นาน 6-12 ชั่วโมง จึงย้ายไข่ไหมไปเก็บที่ห้อง 5 องศาเซลเซียสนาน 60-100 วัน เมื่อไข่ไหมมีอายุครบการเก็บรักษา ให้นำมาฟักเทียม โดยนำไข่ไหมออกมาห้องปกติเป็นเวลา 3-6 ชั่วโมง ก่อนการฟักเทียมเพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอุณหภูมิโดยกะทันหัน

         วิธีปฏิบัติก่อนการฟักเทียม ใช้วิธีการเช่นเดียวกับข้อ 1.1 และการฟักเทียมสามารถปฏิบัติได้ 2 วิธี คือ

               2.1 การฟักเทียมโดยใช้สารละลายกรดเกลือที่อุณหภูมิสูง (Heated acid treatment)

               ถ.พ. ของสารละลายกรดเกลือ  1.10  (ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส)

               อุณหภูมิของสารละลายกรดเกลือ  48  องศาเซลเซียส

               เวลาที่ใช้จุ่มไข่ไหมในการฟักเทียม  5-6  นาที

               2.2 การฟักเทียมโดยใช้สารละลายกรดเกลือที่อุณหภูมิปกติ (Room temperature acid treatment)

               ถ.พ.ของสารละลายกรดเกลือ  1.13  (ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส)

               อุณหภูมิของสารละลายกรดเกลือ  27-29  องศาเซลเซียส

               เวลาที่ใช้จุ่มไข่ไมในการฟักเทียม  50-60  นาที

         ทั้งสองวิธีดังกล่าวหลังจากฟักเทียมเสร็จแล้ว นำไข่ไหมไปล้างและปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 1.1

3.  การเก็บไข่ไหมวิธีเลียนแบบธรรมชาติ (Artificial hibernating egg)

            ในต่างประเทศไข่ไหมชนิดที่ฟัก 2 ครั้งต่อปี (bivoltine) ที่ผลิตในฤดูใบไม้ร่วงจะผ่านฤดูหนาวและจะฟักเป็นตัวในฤดูใบไม้ผลิของปีถัดไป  ส่วนในประเทศไทยจำเป็นต้องนำไข่ไหมชนิดนี้ไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำ  2-5  องศาเซลเซียส  เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วจึงนำไข่ไหมเลี้ยงต่อไปโดยถือปฏิบัติ  ดังนี้

หลังจากแม่ผีเสื้อวางไข่แล้วเก็บไข่ไหมไว้ในห้อง  25  องศาเซลเซียส  ความชื้นสัมพัทธ์ 75-80 เปอร์เซ็นต์  เป็นเวลา  30  วัน จึงย้ายไข่ไหมไปเก็บที่ห้อง  5  องศาเซลเซียส  เป็นเวลา  130-180  วัน ก่อนย้ายไข่ไหมจากห้อง  25  องศาเซลเซียส  ไปห้อง  5  องศาเซลเซียส หรือจากห้อง  5  องศาเซลเซียส ไปห้อง 25  องศาเซลเซียส  ต้องนำไข่ไหมผ่านห้อง  15  องศาเซลเซียส   นาน  12-24  ชั่วโมงทุกครั้ง  ช่วงที่ไข่ไหมมีอายุ  130-180  วันในห้อง  5  องศาเซลเซียส  สามารถนำไข่ไหมมากกที่ห้องกกไข่ไหมเพื่อใช้เลี้ยงต่อไป โดยไม่ต้องฟักเทียมไข่ไหม

 

ข้อควรปฏิบัติ

ไข่ไหมที่เก็บโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาตินี้ต้องผ่านการจุ่มฟอร์มาลีน  2 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลานาน  30  นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาดผึ่งให้แห้งในร่มเงาก่อนที่จะนำไข่ไหมไปกก

ส่วนไข่ไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านสามารถเก็บในห้อง  5 องศาเซลเซียส ได้นาน  20  วัน  วิธีการปฏิบัติ  คือ หลังจากแม่ผีเสื้อผสมพันธุ์วางไข่ไหมเสร็จแล้วเก็บไว้ห้อง 25  องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง จึงย้ายไปห้องเย็น 15 องศาเซลเซียส นาน  12 ชั่วโมง  แล้วย้ายไปห้อง 5  องศาเซลเซียส  นาน 20  วัน ในช่วงไข่ไหมอยู่ในห้อง 5  องศาเซลเซียส สามารถนำไข่ไหมมากกเพื่อใช้เลี้ยงต่อไปได้  ก่อนจะนำไข่ไหมมากกให้จุ่มฟอร์มาลีน  2  เปอร์เซ็นต์  เช่นเดียวกับไข่ไหมวิธีเลียนแบบธรรมชาติ

 

          ความสำคัญของห้องเย็นในการเก็บไข่ไหม

การผลิตไข่ไหมชนิดฟัก  2  ครั้งต่อปี  (bivoltine)  หรือฟักตลอดปี  (poylyvoltine)    เป็นงานสำคัญพื้นฐานที่นำไปสู่ผลผลิตรังไหมของเกษตรกร ขั้นตอนในการผลินไข่ไหมค่อนข้างซับซ้อน  ดังนั้นห้องเย็นเก็บไข่ไหม  ถ้าไม่มีประสิทธิภาพก็จะทำให้คุณภาพไข่ไหมด้อยลง  เจ้าหน้าที่ ที่ดูแลห้องเย็นต้องถือปฏิบัติการบำรุงรักษา  ดังนี้

1.  ทำความสะอาดห้องเย็นทุกห้องอย่างน้อยวันละ  1  ครั้ง โดยใช้ยาฆ่าเชื้อโรค  ควรทำความสะอาดก่อนการกกไข่ไหม  5  วัน  สารเคมีที่ใช้ต้องมีประสิทธิภาพทำลายเชื้อโรคได้ดี  ไม่มีกลิ่นฉุน  ไม่ทำความเสียหายกับอุปกรณ์ ห้องเย็น  เช่น ไม่ทำให้โลหะเกิดสนิม  เป็นต้น

2.  ห้ามสูบบุหรี่หรือนำสารเคมีทุกชนิดเข้าในห้องเย็น และบริเวณรอบๆ ห้องเย็น

3.  เปลี่ยนรองเท้าก่องเข้าห้องเย็นทุกครั้งใช้เฉพาะรองเท้าที่เตรียมไว้ใช้ในห้องเย็นเท่านั้น

4.  ต้องตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นสัมพันธ์ในห้องแต่ละห้องอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง (เช้า-บ่าย)

5.  เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทุก 15 วันหากไฟฟ้าดับภายใน 2 ชั่วโมง ต้องเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทันที  เพื่อรักษาอุณหภูมิห้องเย็นให้อุณหภูมิตรงตามกำหนดไว้

6.  การเปิด-ปิดประตูห้องเย็น ควรเปิดแล้วรีบปิดทันที  เพราะจะทำให้อุณหภูมิในห้องไม่เปลี่ยนแปลงมาก

7.  ไม่ควรอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปห้องเย็นเก็บไข่ไหม

                   8.  ไม่ใช้ห้องเย็นเก็บรักษาถนอมอาหารหรือวัสดุอื่นๆ  โดยเด็ดขาด

ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ  (กาญจนบุรี) 

ระยะเวลาในการฟักเทียมไข่ไหมพันธุ์ต่าง ๆ ที่เลี้ยงในศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ  (กาญจนบุรี)

พันธุ์ไข่ไหม 

ระยะเวลาในการฟักเทียม 

หมายเหตุ 

J 108

8 นาที

 

UB1

5.40 – 6 นาที

 

108P3

6 นาที

 

 

 

 

                                   

                                     ที่มา  ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ  (กาญจนบุรี)

 

 

หมายเลขบันทึก: 443148เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2011 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Very informative.

I never have a chance to see silk industry in details, I would love to see some pictures of silk worms in 'nursery' ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท