เปรียบเทียบการบริหารตามแนวพุทธศาสนากับแนวบริหารแบบตะวันตก


การบริหารงานคือ การดำเนินการเพื่อให้เกิดการวางแผน การจัดตั้งองค์กร การจัดการบุคคล การอำนวยการและการควบคุมให้องค์กรดำเนินไปตามจุดประสงค์ เพื่อสรรสร้างนักบริหารสมัยใหม่หรือนักบริหารแบบมืออาชีพ และนักบริหารตามแนวพุทธศาสตร์ เช่น นักบริหารจะต้อง เป็นผู้มีคุณธรรม (moral) เป็นผู้มีความรู้ (knowledge) เป็นผู้มีความเป็นผู้นำ (leadership) และเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ (vision)

เปรียบเทียบการบริหารตามแนวพุทธศาสนากับแนวบริหารแบบตะวันตก

             การบริหารงานคือ การดำเนินการเพื่อให้เกิดการวางแผน การจัดตั้งองค์กร การจัดการบุคคล การอำนวยการและการควบคุมให้องค์กรดำเนินไปตามจุดประสงค์ เพื่อสรรสร้างนักบริหารสมัยใหม่หรือนักบริหารแบบมืออาชีพ และนักบริหารตามแนวพุทธศาสตร์ เช่น นักบริหารจะต้อง เป็นผู้มีคุณธรรม (moral) เป็นผู้มีความรู้ (knowledge) เป็นผู้มีความเป็นผู้นำ (leadership)    และเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ (vision) ซึ่งมีความแตกต่างกับนักบริหารแบบตะวันตก อย่างสิ้นเชิง นักบริหารแบบตะวันตกจะมุ่งการทำงานเป็นหลัก ไม่ค่อยคำนึงถึงตัวบุคคล และความรู้สึกของผู้ใต้บังคับบัญชา คือมุ่งงาน ไม่มุ่งปฏิสัมพันธ์

           ช่อผกา วิริยานนท์[๑] ได้เสนอแนวคิดการบริหารตามแนวพุทธกับการบริหารแบบตะวันตกไว้น่าสนใจพอจะสรุปได้ดังนี้

๑) รูปแบบการบริหาร การบริหารองค์กรในวิถีของตะวันตกเป็นการบริหารแบบตัวตั้ง คือเป็นลำดับขั้นจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง มีเจ้านายอยู่เหนือผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นขั้น ๆ ไป แต่การบริหารเชิงพุทธ เป็นการกระจายอำนาจในแนวระนาบ กล่าวคือมองว่ามนุษย์ทุกคนในองค์กรเป็นพี่น้องกัน มีศักยภาพใกล้เคียงกันและมีความเท่าเทียมกันในแง่ของความเป็นมนุษย์ แต่ก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติทุกคน

          พระพุทธเจ้าทรงสร้างระบบชุมชนที่เรียกว่า “สังฆะ” ขึ้นมา โดยผู้ที่อยู่ในสังฆะต้องเป็นบุคคลที่เคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน มีความเท่าเทียมกันในแง่ของ “ศีล” คือความประพฤติดีปฏิบัติชอบ และมีความเท่าเทียมในแง่ของ “ทิฐิ” คือการเคารพความคิดเห็นของกันและกัน ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เรียกว่า “สิกขาบท” ซึ่งทรงวางไว้ให้ทุกคนในสังฆะได้ปฏิบัติตามเพื่อความดีงามและความเจริญเป็นปึกแผ่นของสังฆะ

          มีการยกระดับจิตใจของคนในสังฆะให้ใกล้เคียงกัน มีการกระจายอำนาจโดยให้ทุกคนเคารพและรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่มีเจ้านาย ไม่มีลูกน้อง ทุกคนเสมอภาคในเรื่องของศีลและทิฐิ ซึ่งถ้าในสังฆะมีคนที่แตกต่างกันมากทั้งในแง่ของศีลและทิฐิ สังฆะก็อาจแตกได้ ถ้าใครละเมิดระเบียบวินัย (ศีล) ของสังฆะอย่างรุนแรง ก็ต้องถูกเชิญออกจากสังฆะไป สังฆะจึงจะอยู่ได้

๒) มนุษย์มีเมล็ดพันธุ์ความดี ในองค์กรจะใช้การบริหารแบบพุทธได้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แบบที่พระพุทธเจ้าบริหารสังฆะที่ทรงสร้างขึ้นไม่ได้ เพราะองค์กรบริษัทมีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและการหารายได้ มิใช่เพื่อการดับทุกข์หรือต้องการมรรคผล นิพพาน อย่างสังฆะในแบบของพระพุทธศาสนา แต่ก็จำเป็นต้องมีการบริหารแบบนี้เกิดขึ้นในองค์กรมากกว่าที่จะใช้การบริหารในวิถีตะวันตกอย่างเดียว เพราะในองค์กรบริษัททั้งหลายไม่อาจรับประกันได้ว่าจะได้พนักงานที่ดีและมีความสามารถทุกคน บางคนนิสัยดี ฉลาด ขยัน มีจริยธรรมและสำนึกสูง มีความรับผิดชอบ แต่บางคนนิสัยไม่ดี ต้องคอยแนะนำสั่งสอน เกียจคร้าน มีจริยธรรมและสำนึกต่ำ ขาดความรับผิดชอบ ถึงอย่านั้นต่อให้เขามีข้อด้อยหรือจุดที่ไม่ดีในตัวเองอย่างไร เขาก็ยังมีเมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว

          การบริหารเชิงพุทธให้มองว่า มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคในแง่ของความเป็นมนุษย์ ทุกคนควรที่จะเคารพในเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามที่มีอยู่ในตัวผู้นั้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ควรมองเฉพาะจุดด้อยจุดเสียของคนอื่น แต่ให้มองถึงจุดดีจุดเด่นด้วย ซึ่งการมองอย่างนี้ จะทำให้สามารถมองผู้อื่นในมุมที่กว้างขึ้น

๓) รับฟังคนอื่นให้มาก นอกจากมองมนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ความดีอยู่ในตัวแล้ว การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วยการเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงผลงานและแสดงออกในเรื่องต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ ทั้งให้ความเป็นเพื่อนร่วมโลกและการดูแลจิตใจเขามากขึ้น ก็เป็นวิธีบริหารแนวพุทธวิธีหนึ่ง

๔) ลดความบ้าอำนาจ ผู้บริหารควรลดความแข็งกร้าวของการสั่งการอำนาจ ด้วยการจัดการใจของตัวเองเพื่อผ่อนคลายความบ้าอำนาจในฐานะผู้กุมอำนาจในองค์กร ควรใช้อำนาจแต่น้อย และควรที่จะตรวจสอบว่า อำนางที่ใช้อยู่นั้น เป็นการใช้ตามสิทธิหน้าที่หรือใช้ตามความบ้าอำนาจในใจเรา โดยการปฏิบัตินั้นจะต้องทำด้วยใจที่ว่าง มิใช่ภายใต้อารมณ์ที่โกรธอยู่

ผู้บริหารต้องไม่ลืมว่า ความสำเร็จในองค์กรจะเกิดขึ้นมาจากผู้บริหารเพียงคนเดียวก็หาไม่ ทุกคนในองค์กรล้วนมีส่วนทำให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จทั้งสิ้น

ฉะนั้นสิ่งที่ผู้บริหารต้องทำก็คือ การพัฒนาจิตใจของตัวเองอยู่เสมอ ต้องรู้เท่าทันอกุศลที่เกิดขึ้นในใจ เรื่องใหญ่ที่สุดคือลดความบ้าอำนาจ ต้องรู้ให้ทันความบ้า แล้วกล้าที่จะบอกกับตัวเองว่า คุณผิดต่อลูกน้องที่ทำผิด ไม่ใช่ลูกน้องผิดแต่คุณก็ผิดเช่นกัน จากนั้นเปลี่ยนวิธีการที่จะปฏิบัติต่อทุกคนในองค์กรให้เหมาะสมถูกต้องถูกธรรมและถูกสถานการณ์

 

       กล่าวโดยสรุป การบริหารแนวพุทธ เป็นวิธีการที่มุ่งเน้นความสำคัญของความเป็นมนุษย์ที่ถือว่าเป็นสัตว์อันประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เคารพในความเป็นมนุษย์ และเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมสามารถที่จะพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นการมุ่งพัฒนาตนเองได้มีการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามแล้ว ก็จะสามารถบริหารบุคคล และองค์กรให้บรรลุความสำเร็จได้ในที่



[๑] “เป็นผู้บริหารแบบผู้ตื่นรู้” ใน http://www.posttoday.com/lifestyle.php

หมายเลขบันทึก: 443028เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2011 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท