UBON Model


UBON Model
สืบเนื่องจากที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (ท่านสุรพล สายพันธ์) ได้กำหนดและมอบนโยบายของจังหวัดอุบลราชธานีเป็น ๔ นคร ประกอบด้วย นครแห่งธรรม นครแห่งเทียน นครแห่งการพัฒนา นครแห่งความฮักแพง และในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ประเทศไทยของเราจะต้องเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ดังนั้น เรื่องของการเตรียมความพร้อมด้านภาษาเพื่อการสื่อสารระหว่างอาเซียนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราชาวจังหวัดอุบลราชธานีควรจะให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาษาอังกฤษ”

อย่างไรก็ดี เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และ นโยบายการเป็นประชาคมอาเซียน ผู้เขียนจึงใคร่ขออนุญาตนำเสนอ UBON model ตัวแบบอุบลเพื่อการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นตัวแบบให้ประชาคมอาเซียนหรือต่างประเทศได้รับทราบผ่านภาษาอังกฤษ ที่ว่า UBON model ดังนี้

U = Unity คือ ความเอกภาพ หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวจังหวัดอุบลราชธานี เป็นความสมัครสมานสามัคคีกัน ซึ่งจะตรงกับนโยบายด้านนครแห่งความฮักแพง

B = Beauty คือ ความสวยงาม หมายถึง ความสวยงามของงานแห่งเทียนเข้าพรรษาของชาวจังหวัดอุบลราชธานี และความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะตรงกับนโยบายด้านนครแห่งเทียน

O = Optimum คือ ภาวะที่ดีที่สุด หมายถึง การกระทำใดๆ ของชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่คำนึงถึงสิ่งที่ดีที่สุดตามธรรมชาติและธรรมะ ซึ่งจะตรงกับนโยบายด้านนครแห่งธรรม

N = Network คือ เครือข่าย หมายถึง การพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีในด้านต่างๆ จะต้องทำงานประสานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งจังหวัดไปด้วยกัน ซึ่งจะตรงกับนโยบายด้านนครแห่งการพัฒนา

ครับ UBON Model ข้างต้นหากว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์นำเสนอต่อยอดโดยให้ทุกคนชาวจังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมกันให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมหรือข้อเสนอแนะ ผู้เขียนรับรองได้ว่าจะทำให้การทำงานของทุกส่วนในจังหวัดอุบลราชธานีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก้าวเดินไปพร้อมกันในทิศทางเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน ตัวแบบดังกล่าวจะเป็นตัวแบบที่เป็น “การทำงานที่เน้นการสร้างเครือข่ายที่เป็นเอกภาพและมีความสวยงามโดยคำนึงถึงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับจังหวัดอุบลราชธานี” ที่นี้การประยุกต์ใช้ตัวแบบดังกล่าวจะทำอย่างไรดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชาวอุบลราชธานีทุกท่านควรจะต้องให้ความสำคัญและออกมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอเพียงแต่นำเสนอเท่านั้นครับ

สำหรับการประยุกต์ใช้กับสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้เขียนก็อยากจะแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าถ้าหากเราต้องการประยุกต์กับมหาวิทยาลัย UBON Model ควรจะเป็นอย่างนี้ได้หรือเปล่าครับ

U = Unity มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความสมัครสมานสามัคคีกันทุกระดับทุกหมู่เหล่า ทุกคณะทุกสำนัก

B = Beauty มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความงามในเรื่องของน้ำใจ และการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับหน้าที่ของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บุคลากรและอาจารย์

O = Optimum มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความดีเป็นที่ตั้งให้นักศึกษา บุคลากรและอาจารย์ได้พร้อมกันปฏิบัติตามหลักของธรรมะ

N = Network มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความเป็นเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกเพื่อเชื่อมโยงสื่อสารทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

สรุป คือ UBON Model สำหรับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอาจจะเป็นตัวแบบที่เราทุกคนอย่างยึดถือในการเรียน การสอน การทำงานที่เน้นเรื่อง ความดี ความงามของจิต ความสามัคคี และ ความเป็นเครือข่ายร่วมกัน ซึ่งหากเป็นดังกล่าวแล้วนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่สังคมไหนก็ตามแต่จะสามารถมีความสุขร่วมกันอย่างแน่นอน ดังนั้น เราสามารถทำให้ UBON Model สำเร็จได้ด้วยการเริ่มต้นคิดดี คิดจะทำให้สิ่งที่ดีๆ ถ้าหากเป็นนักศึกษาก็เริ่มต้นจากคิดดีว่าจะต้องตั้งใจเรียนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้สำเร็จในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าหากเป็นบุคลากรเจ้าหน้าที่ก็เริ่มต้นด้วยการคิดดีตั้งใจในการทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จและมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุดต่อมหาวิทยาลัย ถ้าหากเป็นอาจารย์ก็เริ่มต้นด้วยการคิดดีตั้งใจทำหน้าที่สอนเป็นครูที่ดีตามหน้าที่ภาระงานที่กำหนดไว้ ซึ่งเมื่อเริ่มต้นด้วยการคิดดีแล้วสิ่งที่ตามมาคือมันจะงอกเงยความดีและความงามมาในที่สุด เกิดความสามัคคีร่วมกันทำความดีความงามกันเป็นเครือข่ายกันอย่างสมบูรณ์แบบตาม UBON Model ที่กำหนดไว้
คำสำคัญ (Tags): #UBON Model
หมายเลขบันทึก: 442728เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท