ปรากฏการณ์เทววารีศรีเมืองบางขลัง : การสร้างเสริมเพิ่มค่าเอกลักษณ์ท้องถิ่น


ระบำเทววารีศรีเมืองบางขลัง

ปรากฏการณ์เทววารีศรีเมืองบางขลัง

การสร้างเสริมเพิ่มค่าเอกลักษณ์ท้องถิ่น

         --------------------        

                           

การศึกษาเรียนรู้และความรู้นั้นต่างยอมรับกันว่ามีความสำคัญยิ่ง  มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียน  ดังนั้นเราสามารถเรียนรู้ แสวงหาความรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ขึ้นอยู่กับความสนใจใฝ่รู้ของแต่ละบุคคล  แต่ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาจัดระบบ จัดระเบียบ วิเคราะห์ จัดกระบวนความคิดโดยอาศัยแนวคิด ทฤษฎี ความเห็น แนวทางการแก้ไขปัญหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ  ตลอดจนข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาวิธีคิด

          การเข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า ภายใต้การนำของ รศ.วุฒิสาร  ตันไชย  รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, ผศ.ดร.อรทัย  ก๊กผล และอาจารย์ ดร.อรัญ  โสตถิพันธุ์  ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมเป็นอันมาก  ได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของวิชาการต่างๆ การค้นหาศักยภาพหรือแววของท้องถิ่นของตน  การพัฒนาแววด้วยทฤษฎีสามัญประจำองค์กร SWOT  การสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง  โดยนำความรู้ในหลากหลายวิชาตลอดจนการสั่งสม สร้างสรรค์ คิดค้น แสวงหาแนวทาง บูรณาการ นำพาไปสู่ท้องถิ่นแห่งอุดมคติที่ได้วาดหวังไว้

ท้องถิ่นในอุดมคติ คือ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นตนเอง  ที่คนในท้องถิ่นอยากจะเห็น อยากจะเป็นในอนาคต โดยมุ่งเน้นไปที่ เอกลักษณ์ท้องถิ่น ซึ่งเอกลักษณ์นี้มีที่มาจากภูมิหลังในอดีตที่สั่งสม สืบเนื่องมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การค้นหาลักษณะเด่นของท้องถิ่น จึงต้องกระทำบนพื้นฐานเชิงประวัติศาสตร์และสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน

          การสร้าง เอกลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ที่คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่  มีอยู่ของท้องถิ่น ที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่เหนือกว่าท้องถิ่นอื่น  ต้องค้นหาจุดแข็ง จุดเด่น ตัวเอกลักษณ์เองนั้นจะช่วยสร้างพลังยึดเหนี่ยวทางสังคม  ที่เรียกว่า สายโซ่แห่งคุณค่าและความผูกพัน คือ ทำให้คนรู้สึกหวงแหน รู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน คิดอนุรักษ์และส่งเสริม  ปรับปรุงเพิ่มรายได้ตลอดจนสร้างความโดดเด่นให้เป็นที่ยอมรับ  เพื่อให้บรรลุสู่ท้องถิ่นในอุดมคติ โดยอาศัยการบูรณาการ  ทุนท้องถิ่น (คือสิ่งที่ท้องถิ่นมีอยู่แล้วสามารถทำให้งอกเงย ต่อยอดขึ้น)  ซึ่งมี ๔ ประเภท ได้แก่

          ๑. ทุนที่ดิน  หมายถึง ลักษณะที่ตั้งภูมิศาสตร์ สัดส่วนของที่ดิน แร่ธาตุ

          ๒. ทุนโครงสร้างพื้นฐาน  หมายถึง สาธารณูปโภค  เช่น ถนน  ไฟฟ้า  ประปา

          ๓. ทุนความหลากหลายทางชีวภาพ  หมายถึง สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นแล้วและเกิดขึ้นตามธรรมชาติ  หรือปลูกสร้างขึ้นตามความเหมาะสม

          ๔. ทุนวัฒนธรรม  หมายถึง  องค์ความรู้ที่จะช่วยสร้างเอกลักษณ์  คุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่น และยังแสดงถึงจุดยึดเหนี่ยวที่สามารถแปรเป็นพลังขับเคลื่อนร่วมกัน  สามารถสร้างเรื่องที่ใช้เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวได้โดยใช้ทุนท้องถิ่นประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นแกนหลักและทุนอีกสามประเภทที่เหลือเป็นทุนหนุนเสริม

 

การค้นหาศักยภาพของท้องถิ่น

          เมื่อเพ่งมองอย่างพินิจ  พร้อมการวิเคราะห์ ค้นหา มองแววหรือจุดเด่นอันจักนำมาส่งเสริม พัฒนา ทำให้พบว่าเมืองบางขลังแห่งจังหวัดสุโขทัยมีทุนทางวัฒนธรรม ด้านประวัติศาสตร์ที่สำคัญได้แก่

- เกิดร่วมสมัยกับเมืองเก่าสุโขทัยและเมืองเก่าศรีสัชนาลัย (เป็นเมืองในประวัติศาสตร์)

          - มีแหล่งโบราณสถาน    กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานของชาติ  ๒ แห่ง  ได้แก่ โบราณสถานวัดโบสถ์  ต.เมืองบางขลัง โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล (วัดบางขลัง) ต.บ้านใหม่ชัยมงคล  อ.ทุ่งเสลี่ยม (เดิมวัดใหญ่ชัยมงคลเป็นส่วนหนึ่งของเมืองบางขลัง แต่ปัจจุบันถูกแบ่งแยกตามเขตการปกครองท้องที่)

-  มีแหล่งตัวศิลาแลงที่สามารถเห็นได้ชัดเจน ๒ แห่ง 

          -  มีโบราณวัตถุ  ที่สำคัญและสวยงาม เช่น พระพุทธรูปสามพี่น้อง   พระเครื่อง  ถ้วยชาม  ไห ฯลฯ

          -  เป็นเมืองเก่าที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองเก่าสุโขทัย  เมืองเก่าศรีสัชนาลัย และอยู่ใกล้สนามบินสุโขทัย

-  มีการนำพระธาตุใต้กอดอกเข็มเมืองบางขลังไปบรรจุยังวัดสวนดอก และพระธาตุดอยสุเทพ  จังหวัดเชียงใหม่

          -  มีเชื้อพระวงศ์เสด็จพระราชดำเนิน ๓ พระองค์

                    ก. ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๐ รัชการที่ ๖  ได้เสด็จประพาสเมืองบางขลังตามเส้นทางถนนพระร่วง   มีรายละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือที่ทรงพระราชนิพนธ์  เที่ยวเมืองพระร่วง ซึ่งถือว่าเป็นวรรณกรรมของการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบเล่มแรกของชาวไทย

                    ข.  ๑๓ กุมภาพันธ์  ๒๕๔๐  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ

                    ค.  ๒๙  มิถุนายน  ๒๕๕๐  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          -  มีบุคคลสำคัญ  ผู้ใหญ่ใจดีที่มีชื่อเสียง  มีความรู้ ความสามารถให้ความเมตตา ช่วยเหลือ

 

การสถาปนา เอกลักษณ์ของท้องถิ่น

                การสถาปนา เอกลักษณ์ของเมืองบางขลัง  ที่มุ่งเน้นเป็นเมืองในประวัติศาสตร์  โดยปลูกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักในความสำคัญของบ้านเมืองของตน ร่วมแสดงความคิดเห็น มีความฝันร่วมกัน มีความอยากร่วมกันคือ    อยากให้ตำบลเป็นอย่างไรในอนาคต  ต้องทำให้ คนไทยทั่วประเทศรู้จักเมืองบางขลัง  เด็กทั่วราชอาณาจักรไทยต้องเรียนประวัติศาสตร์เมืองบางขลัง เพราะเมืองบางขลังเป็นจุดกำเนิดประเทศไทย  คนเก่งต้องยืดอกพกประวัติศาสตร์

นายสุวิทย์  ทองสงค์ นายก อบต.เมืองบางขลัง  ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเอกลักษณ์แห่งท้องถิ่นจึงมอบหมายให้ผู้เขียน ดำเนินการสร้างเอกลักษณ์ของเมืองบางขลัง

 

การก่อเกิด เทววารีศรีเมืองบางขลัง

          ภายหลังจากการหารือ คุณสมชาย  เดือนเพ็ญ นักประวัติศาสตร์แห่งเทศบาลตำบลศรีสัชนาลัย (ในขณะนั้น)  จึงได้ข้อยุติที่การจัดทำระบำ  ดังที่จังหวัดสุโขทัยมีระบำสุโขทัย  ศรีสัชนาลัยมีระบำเทวีศรีสัชนาลัย  ชุมชนโบราณลุ่มลำน้ำฝากระดานนามเมืองบางขลังจึงขอมีระบำเป็นของตนเองบ้าง  จึงได้ประสานงานไปยัง อ.มงคล  อินมา ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นด้านนาฏศิลป์ของจังหวัดสุโขทัย  ผู้จัดทำระบำค้างคาวนบพระศิลาให้แก่ อ.สรายุทธ  เกษรพรหม  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านธารชะอม  จนเป็นระบำประจำ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เป็นผู้ดำเนินการ

 

ปรากฏการณ์เทววารีศรีเมืองบางขลัง

         ระบำเทววารีศรีเมืองบางขลังถือกำเนิดขึ้นภายใต้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยการประดิษฐ์ท่ารำของ  อ.มงคล อินมา  ประดิษฐ์ทำนองเพลงโดย อ.บัณฑิต  ศรีบัว  แห่งวิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย  อำนวยการผลิตโดย  อบต.เมืองบางขลัง 

         ลักษณะท่ารำ อ.มงคล  อินมา  ได้จินตนาการมาจากเหล่าเทวดานางฟ้าทั้ง ๗ วัน ที่อิงแอบกับความสำคัญของลำน้ำฝากระดาน(แม่น้ำแม่มอกในปัจจุบัน) เสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน    ที่มาคอยปกปักรักษาโบราณสถานเอาไว้จนกว่าจะมีผู้มีบุญมาพบ ถ่ายทอดความรู้สึกสู่จินตนาการจากภูมิสถานและประวัติความเป็นมาของโบราณคดี

          แนวคิดของท่ารำเน้นถึงสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่มีบทบาทต่อความรู้สึกนึกคิดในโลกของความจริง  ที่ต้องการให้เทวดานางฟ้ามาปกป้องคุ้มครองสิ่งอันเป็นที่บูชา

          ท่ารำต่างๆ ได้แก่ ท่าซุ้มประตู, ท่าพุทธบูชา, ท่าลุกและนั่ง, ท่าชุมนุมเทวดา, ท่าพระพุทธคุณ พระสงฆ์คุณ,       ท่าล้างบาป (พระปริการ), ท่าฟ้าปราณี ทวยเทพฯ ยินดี มิตรสหายปรีดา, ท่ากุศลจิต ศีล สมาธิ, ท่าปัญญาธิคุณ     (วิปัสสนาญาณ), ท่าทุพพิลา (หลุดพ้นจากเครื่องผูกมัด),ท่าพระอาทิตย์ประชุมกัน ๗ ดวง, ท่าปางห้ามญาติ, ท่าปั้นหม้อ หรือปางสมาธิ, ท่าดอกเข็ม, ท่ากำแพงแก้ว, ท่าซุ้มและกำแพงแก้ว, ท่าสวัสดิ์มงคล, ท่าหน้าบัวบันไดนาค, ท่าบันไดนาค, ท่านาคาถวายดอกบัว, ท่าบังชูฝัก, ท่าช้างส่งด้วยท่านอน, ปางไสยาสน์, ท่าช้างประสานงา, ท่ากลับ, ท่าลา

          เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก  (ตัวแทนพนักงาน อบต. ๒ คน) โดยนายวีระชัย  ภู่เพียงใจ นายอำเภอสวรรคโลก  นำไปร่วมขบวนแห่งานประเพณีลอยกระทง  เผาเทียนเล่นไฟจังหวัดสุโขทัย  วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

          ระบำเต็มชุดครั้งแรกโดยข้าราชการ พนักงาน อบต.เมืองบางขลัง   ต้อนรับคุณธีรภาพ  โลหิตกุล  นักเขียนสารคดีชั้นนำของเมืองไทย พร้อมคณะอมรินทร์ทัวร์  วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

          ครั้งที่สอง  ต้อนรับ รศ.ดร.จิราภรณ์  สถาปนะวรรธนะ และนิสิตสาขาประวัติศาสตร์ ม.นเรศวร วันที่  ๙ ธันวาคม ๒๕๕๐

                ครั้งที่สาม  ต้อนรับคณะฐิติกรจำกัด (มหาชน) วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๑

          ครั้งที่สี่  จำรำถวายในงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่รัชกาลที่ ๖ (เสด็จฯ เมืองบางขลัง ครบ ๑๐๑ ปี), สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ (เสด็จฯ เมืองบางขลัง ครบ ๑๑ ปี)และบรรพชน วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

          ปัจจุบันมีทั้งหมด ๔ ชุด  ได้แก่  ชุดใหญ่  ข้าราชการ พนักงาน อบต.  ชุดกลาง  นักเรียนโรงเรียนขยายโอกาส  ชุดเล็ก  นักเรียน ป.๔-ป.๖  ชุดจิ๋ว  นักเรียน อนุบาล- ป.๓  ขณะนี้อยู่ระหว่างถ่ายทอดเพิ่มอีก ๒ ชุด ได้แก่ ชุดสาวงาม  ชุดแม่บ้าน   

ระบำเทววารีศรีเมืองบางขลังเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงแสง สี เสียง เมืองบางขลัง ปฐมบทแห่งชาติไทย ในวันอนุรักษ์มรดกไทย และวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ วันที่ ๒ เมษายน เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ ครั้งที่ ๑ ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา

         

สรุป

          ทุกท้องถิ่นย่อมมีศักยภาพ มีแววหรือจุดเด่นของท้องถิ่นแตกต่างกัน บางท้องถิ่นมีศักยภาพหลายประการ ขณะเดียวกัน ไม่มีท้องถิ่นใดที่ไม่มีแววในการพัฒนาด้านใดเลย แต่เราต้องค้นหา  วิเคราะห์ให้ได้ว่าสิ่งใดเด่นที่สุด  ที่สามารถพัฒนาต่อยอดและนำพาท้องถิ่นไปสู่ความอยู่ดีมีสุขได้

การค้นหา ท้องถิ่นในอุดมคติ นั้น  เป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกท้องถิ่นจะต้องดำเนินการค้นหาร่วมกันเพราะจะทำให้ท้องถิ่นมีเป้าหมายที่ชัดเจน  บูรณาการทุกความคิด ทุกองค์ความรู้ ทุกฝ่าย ทุกหน้าที่ ทุกด้านไปสู่ท้องถิ่นในอุดมคติ  เอกลักษณ์ของท้องถิ่น คือความแตกต่างที่โดดเด่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค้นหาให้พบ เพราะเป็นทุนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว  ต้องสร้าง  ต่อเติม  เสริมค่า

ท้องถิ่นจะเป็นอย่างไรในอนาคตนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับการ “เอาใจใส่” และการ “ใส่ใจ” ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง  การขับเคลื่อน การระดมทรัพยากรเพื่อมุ่งเป้าไปสู่สิ่งที่ยังมองไม่เห็น เป็นเพียงแค่ความหวังนั้นย่อมมีปัญหาและอุปสรรค  ให้ถือว่า “มาร (ปัญหา) ไม่มี บารมีไม่เกิด” และให้ถือว่าการ “ค้นหาท้องถิ่นในอุดมคติ” เป็นภาระหน้าที่ของเราที่จะได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน  สนองคุณในหลวงของเราที่ทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อความผาสุกของปวงชนชาวไทย  เมื่อใดที่ท้องถิ่นค้น

หมายเลขบันทึก: 442629เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท