461 เข้าใจเข้าถึงอินเดีย.......ต้องเข้าใจคริกเก็ต(6) ต้องอ่านทบทวน จึงจะเข้าใจ


วิธีเล่น

 

 

วิธีเล่น

 มาถึงตอนสำคัญละ ก่อนการแข่งขันจะมีการโยนหัวโยนก้อยของกัปตัน 2 ทีม ใครเป็นฝ่ายชนะ ได้สิทธิ์เลือกก่อนว่าจะเป็นฝ่ายขว้างลูกหรือฝ่ายตีก่อน เช่น ทีม A กับ ทีม B มาแข่งกัน กัปตันของสองทีมก็จะโยนหัวโยนก้อยกัน ใครชนะมีสิทธิ์เลือกว่าจะขว้างหรือจะตี ตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่จะต้องเรียนรู้กันต่อไปว่าการขว้างก่อนหรือตีก่อนมีข้อดีและข้อเสียหรือได้เปรียบอย่างไร

ผมเคยคิดว่าการเลือกเป็นฝ่ายตีก่อนน่าจะได้เปรียบเพราะจะเป็นฝ่ายตีลูกทำคะแนนก่อนแต่หลายครั้งปรากฏว่าทีมที่เลือกเป็นฝ่ายขว้างก่อนกลับทำได้ดีจนทำให้คู่ต่อสู้ตีไม่ได้และถูกปรับออกไปอย่างง่ายดายคนแล้วคนเล่า การได้ตีก่อนจึงไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นการได้เปรียบ

 เมื่อทราบว่าทีมใดจะขว้างหรือตีก่อนแล้ว เช่นสมมุตติว่า กัปตันทีม A ชนะโยนหัวโยนก้อยและเลือกเป็นผู้ขว้าง ก็จะส่งผู้เล่นหนึ่งคนทำหน้าที่ขว้างลูก เรียกว่า Bowler เพื่อมาขว้างลูกคริกเก็ตไปยังไม้ที่ตั้งเรียงกันสามอันWicket บนลานพิช pitch และอีกหนึ่งคนของทีม A ยืนอยู่หลังไม้ 3 อัน เรียกว่าผู้รักษาวิกเกต หรือ Wickets Keeper เพื่อคอยรับลูกที่ขว้างมาและหลุดจากผู้ตี และคนนี้ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ดูและสั่งการของทีมว่าใครควรจะยืนอยู่จุดไหน ส่วนผู้เล่นที่เหลือในทีมอีก 9 คนจะยืนอยู่ตามจุดต่างๆ ในสนาม เรียกว่า Fielders ทำหน้าที่คอยรับลูก

 

เมื่อทีม A เลือกเป็นฝ่ายขว้างลูกก่อน ทีม B ก็จะต้องกลายเป็นฝ่ายตีลูกเพราะมีอยู่ 2 อย่างเท่านั้นคือขว้างกับตี ฝ่ายที่ตีลูกจะมีหน้าที่ตีและวิ่งเพื่อทำคะแนนก่อน ก็จะต้องส่งผู้ตีลูก 1 คน หรือที่เรียกว่า  Batsman (ไม่ใช่แบตแมน  Batman  มนุษย์ค้างคาวที่เราเคยดูในภาพยนตร์) 

 

 

ผู้ตีจะมีไม้ตีอยู่ในมือ สวมถุงมือ ใส่หมวกป้องกันลูก ใส่ที่กันแข้ง ยืนหน้าเสาไม้ทั้ง 3  และผู้เล่นในทีมอีกคน พร้อมไม้ตี ทำหน้าที่ผู้ตีเหมือนกันมายืนคู่กันแต่คนละด้านหนึ่งของลาน pitch   เพื่อรอวิ่งสวนกันทำคะแนนที่เรียกว่า  runs 

ดังนั้นในสนาม เวลาแข่งกันก็จะมีผู้เล่นของทั้งสองทีมประจำในจุดต่างๆ ดังนี้

ทีมผู้ขว้าง A  ลงได้ทั้ง 11 คน โดยทำหน้าที่เป็นฝ่ายขว้าง 1 คนและผู้รักษาวิกเกต Wickets Keeper อีก 1 คนซึ่งจะเป็นคนเดียวที่มีถุงมือใส่เพื่อคอยรับลูกที่หลุดมาจากการขว้าง  นอกนั้นอีก 9 คนจะยืนประจำตามจุดต่างๆ รอบสนามตามแต่จะวางกัน ในขณะที่อีกทีมหนึ่ง ทีม B จะมีผู้เล่นเบื้องต้นลงเพียง 2 คนคือ 1.ผู้ตีที่ยืนอยู่หน้าไม้ 3 อัน และ 2. ผู้ตีอีกคนหนึ่งยืนอยู่คนละด้านของลานพิช Pitch 

นอกจากผู้เล่นของทั้งสองทีมแล้ว ก็จะมีกรรมการ 2 ท่านทำหน้าที่ในสนาม โดยกรรมการหลักจะยืนหันหลังให้ผู้ขว้างและหันหน้าไปทางผู้ตีลูกที่อยู่ปลายลานพิช pitch และกรรมการอีกคนจะยืนอยู่ในแนวเดียวและไม่ไกลจากผู้ตีลูก

 

 

 

ในกีฬาคริกเก็ตมีคำว่า Inning ซึ่งในตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไรแน่ อาจจะเป็นช่วงเวลาแข่งขันหรือครึ่งแรกทำนองนั้น เพราะมี first inning  กับ second inning พออ่านมากๆ ก็รู้ว่าอินนิ่ง ก็คือการอิน in ทีมที่ได้เล่นก่อนก็คือได้ in นั้นเอง เช่นทีม A ได้เล่นโดยเป็นฝ่ายตีลูกก่อน ก็จะบอกว่าเป็น inning ของทีม A  คือกำลังเล่นอยู่ ในการแข่งกันแบบ 20/20 เช่นในพรีเมียร์ลี๊ค ก็จะมีเพียง 2 อินนิ่งเท่านั้น แต่ในการแข่งขันหลายวันหรือ 1 วัน ก็จะมีหลายอินนิ่ง

การแข่งขันคริกเก็ตในต่างประเทศที่มีสนามคริกเก็ตโดยฉพาะ มีผู้ชม 5-8 หมื่นคนเป็นเรื่องปรกติ ในมุมไบ อินเดีย สนามคริกเก็ตจุคนได้ 8 หมื่นคน รายได้แต่ละครั้งหลายร้อยล้านรูปี

เวลาหมดแล้ว คงต้องอ่านต่อตอนหน้า จะเริ่มอธิบายต่อสู้กันระหว่างผู้ขว้างกับผู้ตีแล้ว

*ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย

คำสำคัญ (Tags): #อินนิ่ง
หมายเลขบันทึก: 442410เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2011 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาอ่านต่อค่ะ

สำหรับเบสบอล คนตีลูกจะได้เปรียบมากกว่าคนขว้างลูก อ่านไปก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบ เพราะเป็นกีฬาที่จะคล้ายๆ แต่ไม่เหมือนกัน

ตอนนี้เช้าวันเสาร์ที่อเมริกา เดี๋ยวน้าจ้าต้องไปทำงาน แต่เมื่อกี้ออกไปเดิน อากาศยามเช้าสดชื่นดี่ที่สุด สดชื่นสบายใจ เพราะถนนเงียบ มีความสุขจังเลยค่ะ ทำให้เกิดกิเลส อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนาน หุ หุ

น้าจ้าครับ

ผมก็คิดและเคยคิดว่าคนตีลูกน่าจะได้เปรียบ ก็เพราะจำมาจากเบสบอลนี่ละครับ ในหนังอเมริกันหลายเรื่อง มีพระเอกเป็นนักเบสบอลด้วย แต่สำหรับคริกเก็ต แปลกตรงที่ว่าคนตีก็เป็นคนขว้างด้วย ผมเคยเห็นการขว้างของคริกเก็ตที่กำจัดคนตีไปได้หมดทั้งทีม 10 คน(คนที่ 10 โดนปรับออก ก็ถือว่าหมดผู้เล่นแล้วเพราะต้องมีคนยืนตี 2 คน) ถ้ามองว่าผู้ตีได้เปรียบเพราะเป็นผู้กระทำคะแนน แต่จริงๆ แล้วผู้ขว้างก็เป็นผู้กระทำเช่นกัน....

แหม น่าอิจฉานะครับ มีความสุข อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนานๆ .......ถือว่าจิตมีความอิ่มนะครับ อยู่ในฐานะที่พอเพียงพอใจพอดีใช่ไหมครับ.....แต่ข้อเท็จจริงน่าตกใจครับเพราะธรรมชาติยุติธรรมและไม่เข้าใครออกใคร ไม่เห็นแก่ใคร ไม่ลำเอียงให้ผู้ใด....เพราะทุกสิ่งทุกอย่างทั้งสุขและทุกข์มีคุณสมบัติอย่างเดียวกันคือเกิดด้วยเหตุปัจจัย ตั้งอยู่และต้องดับไปตามกำลังของเหตุและปัจจัยนั้นเช่นกัน ........อารมณ์สุขใจที่เกิดขึ้นของน้าจ้าจึงเป็นเรื่องที่พิเศษสุด จำอารมณ์นั้นไว้ให้ดีนะครับ ถึงแม้ว่าจะเกิดอีกในอนาคต ก็จะไม่เหมือนที่เกิดแล้ว เหมือนคลื่นที่ซัดเข้าหาดทราย ไม่มีทางเหมือนกันเด็ดขาด....

น้าจ้าอยากมีชีวิตอยู่อีกนานๆ ก็เป็นแรงปรารถนาที่เกิดขึ้นแล้วครับ เป็นเหตุให้เกิดผลในอนาคตแล้วครับ ขอให้สมปรารถนานะครับ

เมื่อมีการเดินทาง ก็ต้องมีทางให้เดิน มีทั้งสุขและทุกข์ให้เกิดร่วมทาง จนเมื่อเกิดความเบื่อหน่ายนั่นละครับ จึงอยากจะหยุดเดินแลหาทางเพื่อที่จะหยุดไม่ต้องเดินทางอีก....เพราะถึงแล้ว

แหม เราสนทนากันเรื่องคริกเก็ต กลายมาเป็นธรรมะจากคริกเก็ตจนได้นะครับ

ขอบคุณที่แวะมาสนทนากันข้ามโลกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท