ก้าวย่างจากโลกจิ๋วสู่โลกกว้างของจักษุแพทย์


สมมติฐานที่คณะจักษุแพทย์มีร่วมกัน คืือ ถ้าลองกระจายบริการออกไปที่รพ.อำเภอ เพื่อให้คนไข้ไม่ต้องลำบากเดินทางไกล ตื่นแต่ไก่โห่ แล้วมาแออัดกัน คุณภาพบริการจักษุจะดีเท่าที่รพ.มหาราชฯได้มั๊ย คนไข้ต่างอำเภอจะยอมรับได้มั๊ย ทีมงานของรพ.อำเภอยินดีแบกรับภาระนี้มั๊ย จะหาเครื่องมือเพิ่ม(ช้ินละหนึ่งล้านบาท) ได้จากไหน

ถ้าใครสักคนจำเป็นต้องพบจักษุแพทย์ อาจบางทีเขาจะสนใจคำถามต่อไปนี้

  1. เป็นหนึ่งในคนไข้ตาปีละ ๔หมื่น๕พันรายที่ต้องรอคิวตรวจนานนับชั่วโมง ร้อยละ๘๐ต้องเดินทางไกลอย่างน้อย ๖๐กิโลเมตรไปกลับรพ. ต้องจ่ายค่ารถของตัวและญาติที่ตามไปเป็นเพื่อน ต้องตื่นตั้งแต่ตี ๔ เพื่อไปถึงรพ.เช้าที่สุด จะได้อยู่หัวคิว

  2. เป็นหนึ่งในคนไข้ตา ปีละ ๒พันราย รอคิวนาน ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เดินทางอย่างมาก ๒๐กิโลเมตรไปกลับ ตื่นตี ๖โมงเช้าก็พอ จ่ายค่าเดินทางน้อยลง และได้บริการคุณภาพแบบเดียวกับที่รพ.ใหญ่ของจังหวัด

 

ผมกำลังพูดถึงเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีประชากร ๒ล้าน๕แสนคน บนพื้นที่สองหมื่นตารางกิโลเมตร แต่ละปี จักษุแพทย์ที่รพ.มหาราชนครราชสีมากับคนไข้ตา๔หมื่น๕พันรายจำต้องร่วมชะตากรรมเดียวกันคือ บรรยากาศห้องตรวจที่แออัดยัดเยียด ความเครียดที่ทุกฝ่ายต้องจำทน ยังไม่รวมปัญหาจิปาถะอีกสารพัด อย่างทีรู้ๆกันเวลาไปรพ.ใหญ่

 

สภาพเช่นนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้วหลายสิบปี และมีแต่ทรงกับทรุด เพราะรพ.มีแต่ขยายๆๆๆๆ แพทย์เฉพาะทางก็กระจุกๆๆๆๆ คนไข้จึงไม่มีทางเลือกนอกจากกระจุกๆๆๆๆ ตามไปด้วย

 

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อปี๒๕๕๐ โดยคณะจักษุแพทย์รพ.มหาราชนครราชสีมา ที่คิดนอกกรอบ ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานกับเรื่องเล็กจิ๋วหลิวอยู่นานๆ(เข็มและด้ายเย็บแผลคนไข้ตาเล็กขนาดต้องมองผ่านแว่นขยายนะครับ)

 

คณะจักษุแพทย์ตั้งคำถามว่า จำเป็นด้วยหรือที่บริการจักษุต้องกระจุกอยู่ที่รพ.มหาราชฯเท่านั้น มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่

 

สมมติฐานที่คณะจักษุแพทย์มีร่วมกัน คืือ ถ้าลองกระจายบริการออกไปที่รพ.อำเภอ เพื่อให้คนไข้ไม่ต้องลำบากเดินทางไกล ตื่นแต่ไก่โห่ แล้วมาแออัดกัน คุณภาพบริการจักษุจะดีเท่าที่รพ.มหาราชฯได้มั๊ย คนไข้ต่างอำเภอจะยอมรับได้มั๊ย ทีมงานของรพ.อำเภอยินดีแบกรับภาระนี้มั๊ย จะหาเครื่องมือเพิ่ม(ช้ินละหนึ่งล้านบาท) ได้จากไหน

 

เพื่อหาคำตอบ คณะจักษุแพทย์จึงนำแนวคิดนั้นไปปรึกษานายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นายใหญ่ของรพ.อำเภอ) ผอ.รพ.อำเภอ ผอ.รพ.มหาราชฯ และ ผู้จัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพประจำเขต ผลตอบรับคือ "เอาเลยครับ"

 

เม่ื่อได้ไฟเขียว คณะจักษุแพทย์ก็ตระเวนไปเตรียมความพร้อมของรพ.อำเภอนำร่อง ๓แห่ง และศูนย์สุขภาพชุมชน ๑ แห่ง ในเรื่องคน ห้องผ่าตัด และของใช้ต่างๆ แล้วยกทีมจักษุแพทย์พร้อมเครื่องมือกระจายวนไปให้บริการตรวจ รักษา ผ่าตัดเล็ก ผ่าตัดใหญ่ ตามรพ.นำร่องและศูนย์สุขภาพชุมชนที่เตรียมการไว้

 

ผ่านไป ๓ปี ปรากฎว่า คนไข้ตาที่รพ.ในพื้้นที่ส่งต่อมารพ.มหาราช จากพื้นที่ผิดชอบของ ๓อำเภอนำร่องและอีก๑๔อำเภอใกล้เคียง (ประชากรรวมกัน ๑ล้านสี่แสนคน) ลดลง ๑ใน๓ คนไข้ตาที่รพ.มหาราชลดลงเหลือปีละ ๓หมื่น ๔พันราย และจักษุแพทย์สามารถให้บริการคนไข้ตาที่รพ.นำร่องและศูนย์สุขภาพชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น ๔๕๕๑รายจากเดิมศูนย์ราย

 

ผลการรักษาได้คุณภาพเท่ากับของรพ.มหาราช เช่น การผ่าตัดต้อกระจก ทำให้คนไข้มองเห็นได้ดีขึ้นร้อยละ๘๗ที่รพ.นำร่องและศูนย์สุขภาพชุมชน และ ร้อยละ๘๓ที่รพ.มหาราชฯ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเลยแม้แต่รายเดียวในทั้งสองแห่ง คนไข้ร้อยละ ๘๐ขึ้นไปพอใจผลการรักษา และบุคลากรของรพ.นำร่องและศูนย์สุขภาพชุมชนร้อยละ๗๐ถึง๘๐พอใจกับการทำงานใหม่

 

เคยมีคำกล่าว ว่า ชีวิตที่มีทางเลือก คือชีวิตที่น่าเลืิอกที่สุด  

ดูเหมือนว่า  คณะจักษุแพทย์รพ.มหาราชฯ ได้สร้างทางเลือกให้แก่ คนไข้ตา ในจังหวัดที่กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนี้แล้วหละครับ

 

นี่คือตัวอย่าง นวตกรรมบริการสุขภาพ หนึ่งในอีกหลายสิบหลายร้อยกรณีที่เกิดขึ้น กระจายไปทั่วประเทศ แม้อาจจะยังไม่ใช่ภาพใหญ่ของทั้งประเทศ แต่เป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างก้าวกระโดด นวตกรรมบริการสุขภาพเหล่านั้นบ่งชี้ว่า การพัฒนาระบบบริการสุขภาพได้ก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะ ยึดเอาคุณภาพบริการและประโยชน์ของคนไข้เป็นที่ตั้ง ใช้ความรู้เป็นเครื่องนำทาง โดยสร้างความรู้จากงานประจำ ด้วยการตั้งคำถามแล้วพยายามหาคำตอบ ด้วยวิธีคิดเป็นระบบ ประสานรอบทิศเพื่อให้เกิดความเห็นร่วม ความมุ่งมั่นร่วมกัน

 

หมายเลขบันทึก: 442305เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2011 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การรับมือกับปัญหาสุขภาพหน้าใหม่ ด้วยวิธีการทำงานแบบใ หม่ๆ พัฒนาระบบที่มีอยู่และสร้างกลไก ที่มีการสานพลังเครือข่ายทางปัญญา และ พลังทางสังคมสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใด้ ขอชื่นชมกับผลผลิตหนึ่งจากความตั้งใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท