พระพุทธศาสนามุ่งประโยชน์สุขและสันติภาพแก่บุคคล สังคม และโลก


เป็นงานวิจัยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชาพระพุทธศาสนา ปี 2546 เป็นหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ม. 6

       พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานอารยธรรมที่สำคัญของโลกดังได้กล่าวมาแล้ว พระพุทธศาสนายังมุ่งประโยชน์สุข และสันติภาพให้แก่บุคคล สังคม และชาวโลกได้ หากศึกษาในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีทั้งการสร้างสรรค์อารยธรรมและสันติภาพแก่มวลมนุษย์ นั่นคือ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป พระพุทธศาสนาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอินเดีย กล่าวคือ 
       สังคมอินเดียเคยนับถือพระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด ผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่ง มีการบูชายัญเทพเจ้า แล้วก็มีการกำหนดมนุษย์เป็นวรรณะต่าง ๆ โดยชาติกำเนิด เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร แล้วก็ถือว่าพราหมณ์เป็นผู้ที่ติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้ากับพระพรหม เป็นผู้รู้ความต้องการของพระองค์ เป็นผู้รับเอาคำสอนมารักษา มีการผูกขาดการศึกษาให้อยู่ในวรรณะสูง คนวรรณะต่ำ
เรียนไม่ได้ เป็นต้น

เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้อย่างมากมาย เช่น เรื่อง วรรณะ 4 พระพุทธศาสนาไม่
ยอมรับ แต่ให้ถือหลักว่า “คนมิใช่ประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะชาติกำเนิด แต่จะประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะการกระทำ” แล้ว
ก็ไม่ให้มัวหวังผลจากการอ้อนวอนบูชายัญ สอนให้เปลี่ยนการบูชายัญหรือเลิกการบูชายัญ ให้หันมาหวังผลจากการกระทำ นี่คือการ
“ประกาศอิสรภาพของมนุษย์”

เมื่อถือว่ามนุษย์จะดีจะประเสริฐอยู่ในการกระทำ มนุษย์ต้องพัฒนาชีวิตของตน ทั้งพัฒนาพฤติกรรม (ศีล) พัฒนาจิตใจ (สมาธิ)
และพัฒนาปัญญา (ปัญญา) ขึ้นไปมนุษย์จึงประเสริฐได้ ดีงามได้ ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตน ด้วยการศึกษาเรียนรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้อง
เสริมปัญญา มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงทำให้เกิดการศึกษาแบบที่เรียกว่า “การศึกษามวลชน”

ในประเทศอินเดียเราสามารถพูดได้ว่า การศึกษาหลายเป็นการศึกษามวลชนได้เพราะการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา ก็แสดง
ว่าพระพุทธศาสนามีความสำคัญต่ออารยธรรมของโลก เพราะว่าเมื่ออินเดียเจริญขึ้นแล้ว อินเดียก็เป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของอารยธรรม
ของโลก

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ มีการริเริ่มใหม่ คือการถือหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
โดยความสามัคคีระหว่างศาสนาต่าง ๆ นั่นคือพระเจ้าอโศกมหาราชได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ทั้ง ๆ ที่พระองค์เป็นราชาในแบบ
สมัยโบราณที่มีอำนาจเต็มที่ แต่เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาก็ถือหลักเมตตา อุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา และให้ศาสนิกชนในศาสนาต่าง ๆ
อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน ยอมรับหลักธรรมของกันและกัน ไม่ทะเลาะ ไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง

ในประเทศตะวันตกได้พยายามต่อสู้เพื่อสร้างหลักการแห่งเสรีภาพทางศาสนาขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะประเทศ
ตะวันตกนั้นเป็นดินแดนของการรบราฆ่าฟันทางศาสนา มีการข่มเหง เบียดเบียนเพราะนับถือศาสนาต่างกัน (persecution) และมีสงครามศาสนา (religious wars) มากมาย และพวกเขาได้พยายามดิ้นรนที่จะให้เกิดขันติธรรม(tolerance) ซึ่งต่างจากพระเจ้าอโศกมหาราชที่ใช้หลักการทางพระพุทธศาสนาก่อให้เกิดสันติภาพขึ้นมาในประเทศในสมัยนั้นได้

พัฒนาตนให้สมบูรณ์แล้วมุ่งสู่ประโยชน์สุขต่อสังคมและโลก


พระสงฆ์เป็นชุมชนของผู้ที่ได้อุทิศตัวมุ่งมาสู่การฝึกฝนพัฒนาตน หรือเรียนรู้ตามหลักของไตรสิกขา แต่ในขณะเดียวกันนั้น พระสงฆ์ก็เป็นชุมชนของผู้ที่อุทิศตัวเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์
ทั้งนี้เพราะว่า ผู้ที่ฝึกฝนพัฒนาตนดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว ก็จะไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองต่อไปอีก คือเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว

ทั้งนี้เพราะว่า ประโยชน์ที่แท้จริงของมนุษย์ก็คือการมีชีวิตประกอบด้วยพฤติกรรม (ศีล) จิตใจ (สมาธิ) และปัญญา (ปัญญา) ที่ได้พัฒนา
สมบูรณ์แล้ว เมื่อบรรลุประโยชน์ตนแล้วชีวิตที่เหลืออยู่ก็อุทิศให้แก่โลกได้เต็มที่ ดังคติของพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นได้ในการส่งพระสาวก
ออกไปเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน ที่ตรัสว่า
“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” แปลว่า “เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก

 

ในการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธเพื่อการเผยแผ่พุทธศาสนาแห่งโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2543
ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ได้กล่าวสรุปถึงการประชุมกลุ่มที่เกี่ยวกับสันติภาพของโลก โดยมีเป้าหมายดังน

1.
ด้านเอกภาพของชาวพุทธ

หลังสงครามเย็น ขณะนี้ พวกเรากำลังเผชิญหน้ากัน ระหว่างสงครามการแบ่งเชื้อชาติ และศาสนาซึ่งอาจกล่าวได้ว่า รุนแรง
กว่าที่คิด และภาวะวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมและความขาดแคลนแหล่งธรรมชาติ ก็ปรากฏชัดยิ่งขึ้น ปัญหาทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากตัณหา
และโลภะ เทคโนโลยีเป็นสาเหตุของความละโมบและความเกลียดชังกัน อันนำไปสู่การทำลายล้างซึ่งกันและกัน
การกำหนดท่าทีชัดเจนต่อธรรมชาติของมนุษย์และความเข้าใจจุดมุ่งหมายของชีวิต สามารถกำหนดทิศทางของการพัฒนา
มนุษย์ได้ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสมอกัน เพื่อได้มาซึ่งความเสมอภาคกัน เราต้องมีเอกภาพ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่มีเหตุและผล
บัดนี้ ถึงเวลาที่เราต้องขจัดความละโมบโลภมากแล้วหันมาอยู่ร่วมกันอย่างมีเอกภาพ

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มนุษย์แต่ละคนที่เป็นสมาชิกของสังคมพึงระลึกถึงกัน มีน้ำใจประสานกลมกลืนพร้อมที่จะร่วมมือกัน
เริ่มตั้งแต่ทางกายเราก็มีเมตตาต่อกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตาช่วยเหลือเอาธุระต่อกัน ทางวาจาเราก็พูดด้วยน้ำใจรักกัน ในจิตใจเราก็คิด
ปรารถนาดีต่อกัน ในการอยู่ร่วมกันมีของอะไร หรือได้รับสิ่งใดมาก็มาแบ่งปันกัน ในการรักษาสถานภาพของสังคมเราก็รักษาระเบียบวินัย
มีศีลเสมอกัน ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่กัน และปฏิบัติตามกฎกติกาของส่วนรวม เราก็มีความเชื่อมั่นยึดถือและเข้าใจหลัก
การสำคัญของประชาธิปไตยร่วมกัน ตลอดจนเข้าใจร่วมกันในความจริงที่เป็นธรรมชาติของโลกและชีวิตที่จะรองรับความเป็นมนุษย์ของ
เราไว้ด้วยกัน เพียงเท่านี้ก็อยู่เป็นสุขและพัฒนาได้ดีแน่ บนฐานแห่งความสัมพันธ์ที่ดีงามมั่นคง โดยที่แต่ละคนก็มีความระลึกถึงกันมี
น้ำใจประสานร่วมมือต่อกัน สังคมก็ยึดเหนี่ยวเกาะกุมกันอยู่ให้เกิดภาวะที่เรียกว่า เอกภาพ หลักการดังกล่าวนี้ก็คือ หลักสาราณียธรรม 6 ประการ

2. ด้านพระพุทธศาสนาและสันติภาพของโลก


มนุษย์ในโลกปัจจุบัน อาจภูมิใจในความอิสระของตนเอง แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพื่อให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ จำเป็นต้องให้เขาเรียนรู้ความจริงที่ว่า ถึงแม้เราจะมีอิสระทางกาย แต่ทางใจกลับยังเป็นทาสอยู่วิธีการที่ทำให้มนุษย์เป็นอิสระทางใจได้ก็คือการไขปริศนาสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความมั่นคงปลอดภัยสันติภาพที่แท้จริงมิใช่ปรากฏอยู่ภายนอกแต่มันต้องมีในภายในใจเราต่างหาก ชนะใจเราก็คือชนะโลก เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และอริยสัจ 4 เป็นวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้โลกพบสันติภาพ การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ย่อมสามารถบรรลุสิ่งที่พึงประสงค์ได้อย่างแท้จริง

สรุปได้ว่า หลักการทางพระพุทธศาสนาสามารถก่อให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริงต่อบุคคล สังคม และสันติภาพของโลก โดยเฉพาะหลักการพัฒนาตนเอง ตามหลักของไตรสิกขาและภาวนา 4 หลักการแก้ปัญหาของโลกด้วยอริยสัจ 4 การอยู่ร่วมกันอย่างสันติด้วยหลักพรหมวิหาร 4 หลักสังคหวัตถุ 4 และหลักสาราณียธรรม เป็นต้น หลักพุทธธรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันของมนุษย์อย่างสันติภาพได้

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 442286เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2011 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท