ประเพณีจีน


การรัดเท้าสตรี

ประเพณีรัดเท้าของสตรีโบราณ

 

[131]

    เริ่ม -- -- ---- ถึง -- -- ----  

ประเพณีจีนแต่โบราณมาเชื่อว่า สุดยอดความงามของสตรีคือ การมีเท้าคู่เล็กดุจกลีบดอกบัว โดยการรัดเท้าจะส่งผลต่อความมั่งคั่ง และสถานภาพในอนาคตของลูกสาว รวมถึงความสุขในชีวิต

ภายใต้ความเชื่อดังกล่าว สตรีจีนทั่วประเทศต้องทรมาน อย่างแสนสาหัสมากว่าพันปี เพิ่งจะมาเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วนี้เอง ที่มีการปลดแอกจากประเพณีสุดทรหดนี้ หลังรัฐบาลคอมมิวนิสต์ชุดแรกสั่งห้ามไม่ให้มีการรัดเท้า!!


สมัยก่อนการรัดเท้าถือเป็นข้อบังคับทางสังคม สำหรับสตรีฮั่นทั่วประเทศ ไม่ว่ายากดีมีจน ผู้หญิงที่มีลูกสาว อายุ 4-5 ขวบ จะต้องรัดเท้าให้ลูกสาว ไม่เช่นนั้น จะถูกเยาะหยันที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของแม่ ยิ่งรัดให้ยิ่งเล็กก็ยิ่งดี


การรัดเท้าทำโดยใช้แถบผ้า ซึ่งทำจากผ้าฝ้ายเนื้อหยาบ กว้างประมาณ 3 นิ้ว ยาว 7 นิ้ว แม่ของเด็กมักจะเป็นผู้ทอผ้าเอง บางครั้งจะมีการย้อมครามสีน้ำเงิน เพราะเชื่อว่า ป้องกันไม่ให้เท้าเน่าเปื่อย การเลือกวันมงคลเพื่อเริ่มรัดเท้า จึงมีความสำคัญยิ่ง


การรัดเท้าจะทำให้นิ้วเท้าทั้งหมด ยกเว้นหัวแม่เท้าถูกพับลงไป และรัดติดแน่นกับฝ่าเท้า จะเรียกว่า เท้าดอกบัวทองได้ ก็ต่อเมื่อเท้ามีขนาดเล็กแค่ 3 นิ้ว ถ้าเหลือ 4 นิ้ว เรียกว่าดอกบัวเงิน และถ้าใหญ่เกิน 4 นิ้ว เรียกว่าดอกบัวเหล็ก


ประเพณีการรัดเท้าสร้างความเจ็บปวด และทรมานให้แก่สตรีจีน มาแล้วกว่าพันปี มีสตรีจีนนับไม่ถ้วนต้องพิการ หรือเสียชีวิต เพราะขั้นตอนการรัดเท้า เด็กหญิงที่เริ่มรัดเท้า จะต้องเจ็บปวดทรมาน อยู่ตลอดช่วง 2 ปี แล้วค่อยบรรเทา


เมื่อเท้าที่รัดไว้เริ่มเข้ารูป การรัดเท้าเริ่มขึ้นในสมัยห้าราชวงศ์ ประวัติศาสตร์จีนบันทึกถึง ที่มาของประเพณีนี้ว่า จักรพรรดิลี่หยู แห่งราชวงศ์ถัง ทรงหลงใหลนางสนมเย่าเหนียง ซึ่งเต้นระบำได้งดงาม พระองค์มีบัญชาให้นางรัดเท้าด้วยแถบผ้า


เพื่อให้ดูเล็กลงคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยว พอถึงศตวรรษที่ 11 การรัดเท้าจึงกลายเป็นค่านิยม ที่แพร่หลายในหมู่สตรีชาววังและตระกูลขุนนาง ก่อนที่จะระบาดไปยังชนชั้นล่าง โดยเท้าดอกบัวที่สวยงามจะต้องมีลักษณะ 7 ประการสำคัญ คือ บาง เล็ก เรียว โค้ง หอม นุ่ม และต้องเท่ากัน

ลูกคิดและตาชั่งจีน

 

[532]

    เริ่ม -- -- ---- ถึง -- -- ----  

ลูกคิดวิวัฒนาการมาจากกระดานไม้ สำหรับนับเบี้ยโบราณเมื่อกว่า 2000 ปีก่อน เรียกว่า "จูซว่าน" เริ่มต้นมีแต่เพียงการบวกและลบเท่านั้น ต่อมาปลายยุคถังจึงพัฒนามาเป็นการคูณและการหาร เมื่อแพร่หลายมาก ๆ ก็มีคนคิดสูตรออกมาให้ท่อง คงคล้ายกับการท่องสูตรคูณ กระดานคิดเลขพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมกับธุรกิจการค้าการขาย จนถึงยุคหมิงจึงมีชื่อเรียกเป็นครั้งแรกว่า "กระดานลูกคิด" หรือ "ซว่านผาน" แล้วจากนั้น บันทึกเรื่องราว หรือภาพโบราณที่มีลูกคิดปรากฏให้เห็น ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียตะวันออก


รางลูกคิดแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนบนมีลูกคิดแถวละ 2 ลูก แต่ละลูกคิดเป็นเลข 5 ส่วนล่างมี 5 ลูก แต่ละลูกคิดเป็นเลข 1 แต่ก็มีบางแบบที่ทำต่างออกไป แถวบนมีลูกเดียว แถวล่างมี 4 หรือ 5 ลูก แต่วิธีคิดใช้หลักอันเดียวกัน


การท่องสูตรลูกคิดไม่ใช่เรื่องยาก ใครท่องได้ก็ดีดลูกคิดได้ อีกทั้งกระดานลูกคิดก็พกพาได้สะดวก การใช้ลูกคิดจึงแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วทั่วประเทศจีน ร้านค้าในสมัยก่อนทุกร้าน ต้องมีลูกคิดไว้คิดราคาสินค้า เหมือนที่คนสมัยนี้ต้องมีเครื่องคิดเลข แม้จนทุกวันนี้ ร้านค้าโบราณที่ถนัดจะใช้ลูกคิดแทนเครื่องคิดเลขก็ยังมี


มีผู้ตั้งคำถามบ่อย ๆ ว่า เมื่อเครื่องคิดเลขดิจิตอลที่แสนฉลาดและทันสมัยเกิดขึ้นแล้ว การดีดลูกคิดแบบเก่าจะสู้อย่างไรไหว


เรื่องนี้ได้มีผู้พิสูจน์แล้วว่า ในกรณีที่เป็นการบวกและการลบเลขจำนวนมาก ๆ ลูกคิดจะดีดได้เร็วกว่าเครื่องคิดเลข อย่างน้อยเครื่องคิดเลขต้องเสียเวลากับการกดเครื่องหมาย บวก ลบตลอดเวลา ทำให้ความเร็วช้ากว่าลูกคิด อีกทั้งโอกาสที่จะกดพลาดก็มีมากกว่า และว่าโดยความเป็นจริงแล้ว ชีวิตประจำวันของคนเรา วนเวียนอยู่กับการบวกเลขและลบเลขมากถึงร้อยละ 80 คิดได้อย่างนี้แล้ว ลูกคิดจึงควรจะมีที่ทางของมันที่จะอยู่ต่อไป


นอกจากนี้ จีนในฐานะเจ้าของประดิษฐกรรมอันเก่าแก่ ก็ไม่ยอมหยุดนิ่ง จีนได้คิดค้นเครื่องคิดเลขแบบใหม่ เรียกว่า "กระดานลูกคิดดิจิตอล" คือท่อนบนใช้ระบบไมโครชิพ ส่วนท่อนล่างเป็นรางลูกคิด เอาข้อดีของทั้งสองอย่างมาผสมกัน ถ้าจะคูณหารเลขก็ใช้เครื่องคิดเลขดิจิตอล ถ้าจะบวกลบเลขก็ใช้ลูกคิดแทน นับว่าเป็นการผสมผสานอารยธรรมโบราณของจีนเข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ได้อย่าง เหมาะเจาะ


มาถึงตรงนี้ ขอให้ท่านมีเวลาก็ลงมือฝึกดีดลูกคิดบ้าง เป็นการบริหารนิ้วมืออย่างหนึ่ง และเป็นการฝึกสมองอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเสริมสุขภาพ


เมื่อรู้จัก "ดีดลูกคิดรางแก้ว" กันแล้ว ต่อไปเราจะมาฝึกใช้ตาชั่งของจีน

ตาชั่งจีนภาษาจีนเรียกว่า "ก่านเชิ่ง" (Gan Cheng) เป็นสิ่งประดิษฐ์อีกอย่างหนึ่งของจีน มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการชั่งน้ำหนักในประเทศจีนมานานตั้งแต่ ประมาณ 2,000 ปีก่อน

ตาชั่งจีนประกอบด้วย ด้ามหรือก้าน บนก้านมีมาตราส่วนบอกน้ำหนัก ปลายข้างหนึ่ง

ของก้าน มีตะขอห้อยลงมาเอาไว้หิ้ววัตถุที่ต้องการชั่ง ปลายอีกข้างหนึ่งมีลูกตุ้มน้ำหนักเลื่อนได้ห้อยอยู่กับเชือก บนก้านมีเชือกอีก 2-3 เส้นเอาไว้หิ้ว

ขณะชั่ง คนชั่งจะหิ้วเชือกเส้นใดเส้นหนึ่งขึ้นมา แล้วเลื่อนลูกตุ้มน้ำหนักไปทางซ้ายหรือขวา จนกว่าจะถึงจุดสมดุลที่ก้านไม่เอียง แล้วจึงอ่านค่าน้ำหนักที่เขียนไว้บนก้านตาชั่ง

โดยหลักการอันเดียวกันนี้ ต่อมาพัฒนาเป็นตาชั่งที่ใช้จาน 2 ใบ ใบหนึ่งวางของที่จะชั่ง อีกใบหนึ่งวางลูกน้ำหนักโลหะขนาดต่าง ๆ จนน้ำหนักบนจานทั้งสองเสมอกัน ตาชั่งแบบนี้หิ้วไม่ได้ และไม่สะดวกในการพกพา

ขนาดของตาชั่งจีนแตกต่างกัน สุดแล้วแต่ว่าต้องการชั่งของหนักขนาดไหน ตาชั่งใหญ่มาก ๆ สามารถชั่งข้าวสารเป็นกระสอบหรือหมูเป็นตัว ๆ ได้ ตาชั่งขนาดเล็กความยาวของก้านไม่ถึงฟุต มีไว้ชั่งสิ่งของน้ำหนักไม่ถึงตำลึง เช่น เงิน ทอง ยาสมุนไพร เป็นต้น

คู่กับการประดิษฐ์เครื่องชั่ง จีนก็ได้สร้างมาตราชั่งน้ำหนักของตนเองขึ้นมา ในสมัยของจักรพรรดิฉินสื่อหวาง (จิ๋นซีฮ่องเต้) ได้มีการกำหนดมาตราชั่งน้ำหนักให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ในยุคถังก็มีการปรับปรุงใหม่อีกครั้ง และใช้กันเรื่อยมา

การซื้อขายสินค้าในประเทศจีนทุกวันนี้ ชั่งกันด้วยมาตราชั่งน้ำหนักแบบจีน ไม่นิยมใช้มาตราสากลเป็นกิโลกรัม หรือปอนด์

มาตราชั่งน้ำหนักของจีน คิดกันเป็น "จิน (Jin)" และ "เหลี่ยง (Liang)" เป็นต้น

1 จิน เท่ากับครึ่งกิโลกรัม หรือ 500 กรัม ทางประเทศไทยมักเรียก "จิน" ว่า "ชั่ง" แต่จริง ๆ แล้วน้ำหนักไม่เท่า 1 ชั่งของไทย)

1 เหลี่ยง เท่ากับ 1 ส่วน 10 ของ 1 จิน เทียบได้กับ "ตำลึง" แต่น้ำหนักก็ไม่เท่าตำลึงของไทย

คำสำคัญ (Tags): #ประเพณีจีน
หมายเลขบันทึก: 441489เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท