แต่งแรง


dd
  โมดิฟายให้เป็น แต่งให้งาม แรงได้ดั่งใจ
 
 
 วันที่ : 2010-03-31
 
  

     คำว่า "โมดิฟาย" หรือ "โม" เป็นคำภาษาปะกิตที่ติดปากเหล่าสิงห์นักบิดผู้พิสมัยความเร็ว ความแรงกันทั่วไป แต่จะมีซักกี่คนที่เข้าใจแก่นแท้ของ "การโมดิฟาย" อย่างถึงกึ๋น! จึงอยากบอกกล่าวกัน ให้รู้จักคอนเซ็ปต์ของการโมดิฟายกันเสียให้ดี ก่อนจะตัดสินใจ เอามอเตอร์ไซค์สุดที่รักของท่านไป "โม" จนเกินงามนะจ๊ะ

     ก่อนอื่นเลย ต้องขอบอกว่า ใครก็ตามที่มีความคิดว่า "คนออกแบบเครื่องยนต์และบริษัทผู้ ผลิตเครื่องให้กับมอเตอร์ไซค์ ช่างไม่รู้วิธีการที่จะทำให้เครื่องยนต์ มีเรี่ยวแรงสูงขึ้นกว่าที่ทำกันออกมาเสียเลย" ถือเป็นความคิดผิดพลาดคำโต เนื่องจากแท้จริงแล้ววิศวกรผู้ออกแบบ ระดับโลกเหล่านี้เค้ารู้มากกว่าเราแยะครับ แต่หากมีเหตุผลอื่นในการที่ต้องทำเครื่องยนต์ มาตรฐานให้กับรถมอเตอร์ไซค์ที่ขายในตลาด ซึ่งได้คำนึงถึงประโยชน์ของการใช้งานโดยรวม ทั้งความทนทาน ความประหยัดในการผลิต และ การใช้งานตลอดจนความง่ายในการดูแลรักษา

     ที่แน่ๆก็คือ เครื่องยนต์ต้นแบบของรถแต่ละรุ่นจะต้องมีกำลัง และ ประสิทธิภาพเหนือกว่า เครื่องที่ออกมาจากสายการผลิตเป็นแน่แท้ เช่น ช่องพอร์ทอาจจะแตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้ป้อนไอดี-ขับไอเสียได้ดีกว่า เป็นต้น แต่เมื่อต้องผลิตเป็นจำนวนมากๆ จึงต้องคำนึงถึงอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความทนทานของเครื่องยนต์เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ที่ออกสู่ตลาด จึงอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า "เดินสายกลาง" นั่นเอง หากแต่ว่านักโมดิฟาย สามารถเสียสละความทนทานให้กับประสิทธิภาพที่สูงกว่า ระดับธรรมดา ก็จำต้องเข้าใจวิธีที่จะทำให้เครื่องยนต์ที่ซื้อมามีสภาพย้อนกลับไปทางเดียว กับเครื่องยนต์ต้นแบบได้ เช่นในเครื่องยนต์ที่ติดรถตลาดมา เค้าไม่ได้ขัดผิวในช่องพอร์ทให้ เพราะถ้าต้องทำทุกค้นมันจะเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายมหาศาลจนไม่สามารถขายในราคา ตลาดได้ เมื่อรู้อย่างนี้ เราทำของเราคันเดียวก็ไม่ได้เสียเวลามากมายใช่มั๊ย หัวใจสำคัญก็คือ พยายามทำเครื่องยนต์ให้ย้อนกลับไปทางต้นแบบเสียก่อน แล้วจะเห็นว่า เครื่องที่เค้าบอกว่ามีกำลังเพียงยี่สิบสามสิบแรงม้านั้น เมื่อผ่าน "การโมดิฟาย" แล้วจะมี กำลังสูงขึ้นไปได้เกือบเท่าตัว

     จำไว้อย่างนะครับว่า คุณภาพของการโมดิฟายนั้น ไม่ใช่ว่าจะมีสูตรลับเฉพาะอะไร นอกเหนือ ไปจากความรู้และความสามารถจากฝีมือของนักโมดิฟายเองเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราจะมา เริ่มต้นกับการเข้าใจความหมายของ "การโมดิฟาย" กันก่อนว่ามันหมายถึง การที่เราเข้าไป ดัดแปลงแก้ไขระบบการทำงานของเครื่องยนต์ ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือหลายๆส่วน เพื่อหวัง จะให้ได้กำลังของเครื่องยนต์ที่เพิ่มขึ้น การจะทำเช่นนั้นได้จะต้องเข้าใจว่า ไอ้กำลัง เครื่องยนต์ที่ว่านั้นมันมีกลไกที่มาอย่างไรกัน?

     กลไกระบบของ "กำลังเครื่องยนต์" นั้น เป็นกำลังที่เครื่องยนต์สร้างขื้นจากภายในส่งออกมา ภายนอก เราเรียกว่า "ทำให้เกิดแรงบิด" ซึ่งกระทำกับจุดหมุนที่เรียกว่าเพลาข้อเหวี่ยง ที่มีการหมุนด้วยความเร็วอย่างต่อเนื่อง กำลังที่ได้จะเกิดจากความสัมพันธ์ของแรงบิดกับ ความเร็วรอบในการหมุนของเครื่องยนต์ หากสร้างแรงบิดที่เท่ากันในรอบความเร็วที่สูงขื้น ผลที่ได้ก็คือ กำลังที่สูงขึ้น แต่รู้มั๊ยครับว่า ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อรอบเครื่องยนต์สูงถึงระดับ แล้วหากความเร็วรอบยังสูงขื้นเรื่อยๆ เครื่องยนต์ก็จะสูญเสียสมรรถนะในการทำงานไป ทำให้กำลังที่ได้นั้นลดลง เห็นมั๊ยครับว่า ความเร็วรอบเครื่องไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญในการ เพิ่มกำลัง การเพิ่มขึ้นและลดลงของแรงบิดต่างหากที่มีส่วนสำคัญ การโมดิฟายเพียงให้ รอบเครื่องสูงขึ้นกว่าเดิมโดยไม่เข้าใจเกี่ยวกับแรงบิดเลยจะแสดงผลออกมาในทางลบอย่าง รุนแรงเสมอ หัวใจสำคัญก็คือ การพยายามทำให้แรงบิดอยู่ในระดับสูงสุดอยู่ใกล้ระดับเดิม ต่อไปในการหมุนเร็วขึ้นของเครื่องยนต์ที่ปรับแต่ง จะทำให้เราได้กำลังที่มากขึ้นและยังได้ รอบที่สามารถใช้งานได้สูงตามไปด้วย ส่วนการปรับแต่งชิ้นส่วนเครื่องยนต์เพื่อให้รับ กับความเร็วที่สูงขึ้น จะต้องลงทุนกับชิ้นส่วนที่มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วยนะครับ

     อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักโมดิฟายควรคำนึงไว้เสมอก็คือ การเพิ่มกำลังเครื่องยนต์ในรอบที่สูงกว่าเดิม โดยการเปลี่ยนแปลงพอร์ทนั้น จะส่งผลให้กำลังในรอบต่ำนั้นหดหายไปเป็นธรรมชาติ ดังนั้นควรพิจารณาทั้งในเรื่องประเภทของเครื่องยนต์ ความทนทาน อัตราทดเกียร์ที่เหมาะสมกับอัตราเร่ง ไว้เป็นคาถาประจำใจ เพื่อให้การโมดิฟายของท่านได้ผลดี จนท่านอาจแปลกใจด้วยซ้ำไปว่า เครื่องยนต์ที่ได้รับการ "โม" อย่างเข้าอกเข้าใจนั้น จะดีกว่าเครื่องยนต์ที่ทำจากสูตรสำเร็จ ซึ่งบอกเพียงระยะโน้นระยะนี้ไว้มากมายหลายสูตรเสียอีก คราวนี้…ว่ากันแค่นี้ก่อน พอเป็นการโหมโรงให้เข้าใจคอนเซ็ปต์ของการโมดิฟาย

 

  
คำสำคัญ (Tags): #d
หมายเลขบันทึก: 441467เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท