เสวนา "การเรียนรู้ที่เป็นสุข"


"ความเครียดไม่ใช่สิ่งร้ายกาจเสมอไป หลายครั้งเป็นตัวกระตุ้นให้เราพัฒนา แต่เราต้องไม่ทำให้ความเครียดนั้นกลายเป็นความทุกข์ไปหมด"

เมื่อวันที่ 16-18 มีนาคมที่ผ่านมา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดสัมมนาคณาจารย์ประจำปี ที่ภูวนาลีรีสอร์ท เขาใหญ่ ในการสัมมนาครั้งนี้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ "การเรียนรู้ที่เป็นสุข" ด้วย โดยมี ผศ. ดร. จรินทร์ ปภังกรกิจเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

จุดประสงค์ของการจัดเสวนาหัวข้อนี้ ก็เพื่อนำเสนอผลการสำรวจความเห็นของนักศึกษาทันตแพทย์ต่อการจัดการเรียนรู้ของหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งเครือข่ายการเรียนรู้อย่างสร้างสุข ภายใต้แผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขได้ดำเนินการสำรวจใน 8 สถาบันในช่วงเดือน ก.พ. 2554

ผลการสำรวจหลักๆ พบว่า นักศึกษาเห็นว่าโรงเรียนทันตแพทย์มีการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเป็นคน "ดี" และคน "เก่ง" แต่ไม่เอื้อต่อการเป็นคนที่มี "สุข" โดยประเด็นที่มีผลต่อการมีความสุข เรียงตามลำดับได้แก่ หลักสูตรแน่นและมีเวลาว่างน้อย ความสามารถในการจัดการบริหารเวลา และวิธีส่งเสริมการเรียนการสอนของอาจารย์ในงานคลินิก

นอกจากนี้อ. จรินทร์ยังได้นำเสนอคลิปวิดีโอของครูญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่แม้จะมีอายุมากแล้ว แต่กลับเป็นครูที่นักเรียนชั้นประถมของโรงเรียนรักท่านมากๆ ทั้งนี้เพราะท่านมีหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก และความเข้าใจเด็กๆ ในชั้นเรียนทุกคน ท่านเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้แสดงตัวตนออกมา รับฟังเรื่องราวของนักเรียนด้วยความเห็นใจ ด้วยความรู้ที่เท่าทัน สามารถชี้นำทางแก่เด็กๆ ได้เหมาะสมกับวัย

ในการนำเสนอ อ. จรินทร์ได้นำเอา มุมมองของนักศึกษาต่ออาจารย์ที่ทำให้เขามีความสุขในการเรียน มาเล่าให้กับคณาจารย์ได้ฟังกัน เป็นบางส่วนที่คัดลอกมาจากผลสำรวจ การได้รับฟังถึงสิ่งดีๆ ของครูดีๆ เช่นนี้ ก็ทำให้เราทุกคนรู้สึกอิ่มเอิบไปด้วย

ในตอนท้ายของการเสวนา อาจารย์หลายท่านได้แสดงความเห็นที่หลากหลายต่อ "การเรียนรู้ที่เป็นสุข" ดังเช่น

"ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ นักศึกษาต้องรู้จักเผชิญกับมัน เราควรสนับสนุนการพัฒนาทักษะของเขาในการเผชิญกับความทุกข์ด้วย"

"ในฐานะของศิษย์ที่เพิ่งจบมาเป็นอาจารย์ คิดว่าทุกคนเครียดในขณะเรียน แต่ละคนสามารถจัดการกับชีวิตได้ไม่เท่ากัน คนที่เลือกวิธีหาทางออกที่ผิดมักล้มเหลว นักศึกษามักปรึกษาเพื่อนๆ ก่อนเป็นลำดับแรก"

"การเรียนรู้อาจไม่มีความสุขเสมอไปก็ได้ โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ในความจริงคงมีแต่การเรียนรู้ที่ ทุกข์น้อย มากกว่า"

"นักศึกษาไม่ได้ชอบอาจารย์ใจดี หรือเกลียดอาจารย์ดุเสมอไป ตราบใดที่อาจารย์ดุว่าด้วยเหตุด้วยผล"

"บางครั้งที่ตัวเองจินตนาการไปเอง ทำให้เกิดความทุกข์ในการเรียน ควรใช้หลักธรรมะมาช่วย"

"รู้สึกว่าตัวเองเป็นอาจารย์ที่เข้มงวดมากขึ้นกว่าตอนจบใหม่ๆ อาจเป็นเพราะมีความคาดหวังกับนักศึกษามากขึ้น ทำให้ต้องพูดอะไรๆ ซ้ำๆ ซากๆ หวังว่าเด็กจะเข้าใจในภายหลังว่าอาจารย์หวังดี"

"เด็กที่มีเป้าหมายในการเรียนที่ชัดเจนจะมีความสุข เพราะเขาจะสนุกกับการค้นหาและรับฟังข้อติชมของอาจารย์"

"อาจารย์ทันตแพทย์ไม่เคยผ่านการฝึกเป็นครูมาก่อน ทำให้บางครั้ง ขาดประสบการณ์ไม่สามารถสื่อสารกับนักเรียนถึงความตั้งใจที่ดีได้"

"คิดว่าความเครียดของการเรียนทันตแพทย์ อยู่ที่ปัญหาของการสื่อสาร"

"ความเครียดไม่ใช่สิ่งร้ายกาจเสมอไป หลายครั้งเป็นตัวกระตุ้นให้เราพัฒนา แต่เราต้องไม่ทำให้ความเครียดนั้นกลายเป็นความทุกข์ไปหมด"

"การเรียนรู้ที่เป็นสุข แท้จริงคือ การเรียนรู้อย่างเข้าใจ"

"นักศึกษาเขาดูเราเป็นตัวอย่าง ครูต้องทำและเปลี่ยนตัวเองด้วยเช่นกัน ต้องเป็นคนที่มีความสุขด้วย"

 

บันทึกโดย ผศ. จรินทร์

ที่มา http://www.gotoknow.org/blog/dentcounseling/441459

หมายเลขบันทึก: 441462เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2013 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์คะ บันทึกเรื่องนี้ สามารถเอาไปปรับใช้ในการทำงานของตนเองและประจำในสำนักงานคณบดีได้ดีทีเดียวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท