นิทานพัฒนาคนตอนที 8 การศึกษาหรือคืออำนาจ??


การเปลี่ยนแปลง การศึกษา อำนาจ

    ปี 2536 ซึ่งกำลังเรียนปริญญาโท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ท่านอาจารย์ รศ.ดร. ดุสิต  ดวงสา  ได้นำนิทานซึ่งอาจารย์ตั้งชื่อว่า นิทานก่อนนอน  มาให้นักศึกษาที่เรียนการศึกษานอกระบบอ่านเพื่อวิเคราะห์และอภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมองจากนิทานดังกล่าว  ดิฉันประทับใจมากและได้นำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนาสังคม    จากวันนั้นจนวันนี้  แม้ว่าจะเป็นเวลากว่าสิบปี   แต่เนื้อหาของนิทานยังมีความสอดคล้องกับกาลสมัย สะท้อนสภาพสังคมและการปฏิรูปการศึกษา    จึงอยากแบ่งปันดังนี้คะ

       .....กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  ยังมีชุมชนสัตว์ฝูงใหญ่อาศัยอยู่ในป่า  ประกอบด้วยสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิด  ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติและไม่สันติสุขนัก  มีการร่วมมือกันบ้าง เอาเปรียบกันบ้าง พึ่งพากันบ้าง  กัดกินกันบ้าง ตามแต่โอกาสและสถานการณ์จะเอื้ออำนวย  แต่ไม่ว่าจะเป็นเสือสิงห์กระทิงแรดหรือหมู หมา กาไก่ จตุบทวิบาททั้งหลายทั้งปวง  ต่างก็ดำรงเผ่าพันธุ์ของตนอยู่ในชุมชนสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน

            ในป่าใหญ่แห่งนี้  มีโรงเรียนของชุมชน ทำหน้าที่ประสิทธ์ประสาทศิลปะวิทยาการแก่บรรดาลูกสัตว์ทั้งหลาย  เพื่อให้เติบโตไปเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชนต่อไป  หลักสูตรของทางโรงเรียนถูกยกร่างโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  ซึ่งได้เลือกเฟ้นมาจากสมาชิกผู้มีความสามารถในชุมชนนั้นเองโดยมีหลักการและปรัชญาพื้นฐานของการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนสัตว์  ดังต่อไปนี้

1.การศึกษานี้เป็นศึกษาเพื่อชีวิตและชีวิตต้องการอาหาร  ดังนั้นการศึกษา

นี้จึงเน้นการสร้างเสริมทักษะในการหาอาหารเพื่อการดำรงชีวิตเป็นสำคัญ

2.การศึกษานี้มุ่งให้สัตว์ทุกตัวสามารถพึ่งตนเองได้  และสามารถดำรง

ชีวิตอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ  แต่เนื่องจากสัตว์แต่ละตัวมีศักยภาพไม่เท่าเทียมกัน และมีกรรมจากชาติภพเดิมมาไม่เหมือนกัน   ดังนั้นสัตว์บางตัวจะพึ่งตนเองได้มาก  บางตัวพึ่งตนเองได้น้อยบางตัวจะมี่ความสุขมาก  บางตัวมีความสุขน้อย   และบางตัวจะอุทิศตนเพื่อทำให้ตัวอื่นดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและพึ่งตนเองได้

3.การศึกษานี้ต้องสอดคล้องกับบริบทของชุมชน และสนองตอบความต้องการของชุมชน เนื่องจากบริบทของชุมชนเป็นป่าใหญ่ที่เต็มไปด้วยภยันตราย และชุมชนจำเป็นต้องมีผู้นำที่เข็งแข็งเพื่อความอยู่รอดของชุมชนเอง  การศึกษานี้มุ่งผลิตชนชั้นนำให้แก่ชุมชน ผู้ที่สามารถจบหลักสูตรนี้จะสามารถเข้าสู่ชนชั้นผู้นำของชุมชนได้โดยอัตโนมัติ  ส่วนผู้ที่ไม่จบการศึกษานี้ต้องเป็นผู้ตามที่ดี อยู่ในโอวาทและระเบียบวินัย เป็นสมาชิกที่ดีของชุมชนสืบไป

     จากหลักการและปรัชญาพื้นฐานนี้เอง  หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมาจึงเน้นเนื้อหาทักษะที่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการเป็นผู้นำของชุมชนได้แก่  ทักษะ  5  ประการ ด้วยกันคือ

  1. การวิ่งเร็ว
  2. การกระโดดไกล
  3. การสะกดรอยตามเหยื่อ
  4. การตะบบเหยื่อ
  5. การขม้ำเหยื่อ

   การสอนทักษะดังกล่าวนั้น  มีการบรรยาย  สาธิต  ฝึกฝนจากการปฏิบัติจริง  การติดตามผลและการวัดผลตามหลักวิชาการ ตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน  แต่หลักสูตรนี้ก็มีการยืดหยุ่นบ้างบาง โดยเปิดโอกาสให้สัตว์ที่มีความสามารถสูงได้เลือนชั้น  และให้สัตว์ที่มีประสบการณ์มากหรือได้รับการฝึกฝน  มาจากที่อื่นสามารถขอเทียบโอนประสบการณ์เหล่านั้น  แบะจบหลักสูตรเร็วกว่าที่กำหนดได้  เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้นำของชุมชนต่อไป

   ผลการใช้หลักสูตรนี้  ปรากฏว่า  สัตว์หลายชนิดเช่น  สิงโต เสือ  หมาจิ้งจอก  หมาป่า สามารถเรียนจบหลักสูตรได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย  สัตว์เหล่านี้จึงได้เป็นผู้นำชุมชนอยู่เสมอ

  สภาพการณ์เป็นเช่นนี้มาเนิ่นนาน  จนในที่สุดก็ถึงวันแห่งการสิ้นสุดความอดทน  บรรดาพลเมือชั้นสองของชุมชนพากันมาประชุมสัมมนาชี้ชัดปัญหาร่วมกัน  เพื่อกาแนวทางแก้ไข

  “ฉันคิดว่า หลักสูตรการศึกษาอย่างนี้ ไม่เห็นจะให้ความเป็นธรรมแก่เราเลย”  ไก่แจ้เสนอความคิดเห็น  “เค้าจะวัดผลแต่ทักษะที่พวกเค้าด้วยกันเองเท่านั้นถึงจะทำได้  วิ่งเร็วยังงี้  …กระโดดไกลยังงี้  ..พวกที่มีแต่  2 เท้าอย่างฉันนี่สิ  จะสู้ไปเค้าได้อย่างไร”

  “พวกไม่มีขาอย่างฉันนี้สิ ยิ่งแย่ใหญ่”  งูเขียวเห็นด้วย

  “แล้วหอยทากอย่างฉันจะเอาอะไรไปตะบบเหยื่อกะเค้าได้”   หอยทากพูดอย่างท้อแท้

  “หนูพุกอย่างฉันมักจะถูกสะกดรอยจับกินเป็นเหยื่อ  มากกว่าจะไปสะกดรอยจับใครเค้าเป็นเหยื่อซะด้วยซิ”  หนูพูดเศร้า ๆ 

 “ทำไมทักษะในส่วนที่พวกเราทำได้  เค้าก็ไม่นำเอาไปใส่ในหลักสูตรให้มีการสอน  การวัดผลกะเค้ามั่งเช่น   การร้องเพลงเรียกหนอนในตอนเข้า ยังงี้เป็นต้น “ นกดุเหว่าเสริม

 “ฉันว่า พวกเรามีทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้ “  ไก่แจ้พูดอย่างครุ่นคิด  “นั่นคือ พวกเราต้องจัดการศึกษาสำหรับพวกเราเองขึ้นมามั่ง  สร้างหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพความต้องการ แล้วก็ความสามารถของพวกเราเองมั่ง” 

 “ใช่” หิ่งห้อยร้องด้วยความยินดี  “คราวนี้หละ  จะได้เห็นกันว่า เจ้าเสือดาวจะสามารถบินส่องแสงระยิบระยับอย่างฉันได้รึเปล่า”

 “ไชโย คราวนี้พวกเราจะได้ลืมตาอ้างปาก กะเค้าซะที”   ที่ประชุมพากันโห่ร้อง ตบไม้ตบมือ ด้วยความตื่นเต้นและมีความหวัง

  หลังจากนั้น  ที่ประชุมก็เลือกตัวแทนเป็นคณะกรรมการยกร่างหลักสูตรการศึกษาของพวกตนขึ้นบ้าง  โดยกำหนดหลักการ  ปรัชญาพื้นฐาน  ตลอดจนเนื้อหาหลักสูตร และการวัดให้สอดคล้องสัมพันธ์กับเงื่อนไข  ข้อจำกัดของพวกตนทุกประการ  เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคพวกได้เข้าเรียน และมีสิทธิทางการศึกษาโดยเท่าเทียมกันทุกตัว

   “หลักสูตรนี้ดีจริง ๆ เสียแต่ว่าโรงเรียนอยู่ไกลเหลือเกิน”  เต่านาเปรียบอย่างหงุดหงิด “กว่าฉันจะเดินจากบ้านมาถึงโรงเรียนก็เป็นเวลาเลิกเรียนแล้วทุกที  ทำอย่างไรฉันถึงจะได้เรียนแล้วก็ได้เป็นผู้นำชุมชนกับเค้าบ้างหละ”

   “ จริงด้วย “ นกเอี้ยงเสริม “เวลาเปิดสอน ฉันก็ต้องทำมาหากินอยู่บนหลังควาย แล้วฉันจะปลีกตัวมาเรียนได้อย่างไร ฉันอยากจะเรียนให้สะดวกสบายขึ้นหน่อยไม่ได้รึ ยังไง”

   คำเรียกร้องขอเต่านากับนกเอี้ยง  ทำให้คณะกรรมการร่างหลักสูตรของกลุ่มพลเมืองสัตว์ชั้นสอง ได้เรียกประชุมด่วนเพื่อพิจารณากระบวนการจัดการเรียนการสอนและรูปแบบวิธีการเรียนตามหลักสูตรเป็นกรณีพิเศษ    ในที่สุดก็เห็นพ้องกันว่า   นอกเหนือจากการเปิดสอนแบบชั้นเรียนแล้ว หลักสูตรนี้ ควรเปิดโอกาสให้สัตว์ที่สนใจได้เรียนแบบทางไกลและแบบด้วยตนเอง  เพื่อเป็นการขยายโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษา และเอื้อำนวยให้สัตว์ทุกตัวสามารถเรียนรู้ได้ตามความสะดวกและความจำเป็น

   “ดีใจเหลือเกิน ๆ”  นกเอี้ยงพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ “คราวนี้ลำฉันก็สามารถจะศึกษาเล่าเรียนไปพลางเลี้ยงควายไปพลางได้แล้วนะ”

  หลักสูตรนี้เป็นที่พึงพอใจของสัตว์จำนวนมาก  เพราะเป็นหลักสูตรที่ทำให้สัตว์ส่วนใหญ่สามารถเข้าเรียนได้และสามารถจบหลักสูตรได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

  ชั่วเวลาไม่นาน  ก็มีผู้จบหลักสูตรการศึกษานอกระบบใหม่นี้เป็นจำนวนมากมาย  แต่ก็ไม่มีสัตว์ตัวใดในจำนวนนี้  ได้ไต่เต้าเป็นผู้นำชุมชนตามที่ใฝ่ฝันเลยสักตัวเดียว

 “เอ๊ะ! ทำไมถึงเป็นยังงี้หละ”  ไก่แจ้โวยวาย “เค้าจบหลักสูตรการศึกษาของเขา  ก็เป็นผู้นำได้  เราจบหลักสูตรการศึกษาของเรา ก็ต้องเป็นผู้นำได้เหมือนกันซิ ถึงจะถูก”

 “นั่นซิ  หลอกให้เราลำบากลำบนเรียนมาจนจบหลักสูตรแล้ว  ไม่เห็นมีสิทธิเท่าเทียมกับเค้าเลย ยังงี้จะใช้ได้ที่ไหน”  หนูตะเภาเสริม

“ใช่ ๆ”  นกเอี้ยงเห็นพ้องด้วย  “พวกเราต้องมีสิทธิเป็นผู้นำชุมชน  เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับเค้ามั่ง  ถึงจะยุติธรรม”

“เราต้องเรียกร้องสิทธิของพวกเรา “  หอยทากพูดช้า ๆ แต่น้ำเสียงมั่นคง

ในที่สุดบรรดาพลเมืองชั้นสองทั้งหมด  ก็ยกขบวนกันไปประท้วงต่อบรรดาผู้นำชุมชน และลูกสมุนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักสูตรเดิม

“เราต้องการประท้วงความอยุติธรรมของพวกท่าน”  ไก่แจ้พูดในฐานะตัวแทนของกลุ่ม “เราต้องการการเปลี่ยนแปลง  เราต้องการการยอมรับ  เราต้องการศักดิ์และสิทธิที่เท่าทียมกันในการเป็นผู้นำของชุมชน”

“มันจะมากไปหน่วยละมั้ง  เจ้าไก่น้อย เจ้าจะมาเรียกร้องต้องการอะไรได้ พวกเจ้านะไม่ทัดเทียมพวกข้าอยู่แล้ว  จะบังอาจมาเป็นผู้นำเหมือนผู้ข้าได้ยังไง”  หมาจิ้งจอกพูดกวน ๆ หรี่ตามองดูตัวแทนฝ่ายตรงข้ามอย่างครุ่นคิด

“ท่านจะหาว่า พวกเราไม่ทัดเทียมกับพวกท่านได้อย่างไร”  ไก่แจ้ค้านอย่างสุภาพ  “พวกท่านจบหลักสูตรการศึกษาหนึ่ง พวกเราก็จบการศึกษาหนึ่ง…เหมือน ๆ กัน”

“อ๊ะ ๆ เจ้าจะมาเถียงข้าง ๆ คู ๆ ได้อย่างไร พวกเจ้ากับพวกข้านะจบการศึกษาคนละหลักสูตรกันมันจะเหมือนกันได้อย่างไร  ถึงพวกเจ้าจะเรียนจบการศึกษา ก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้เหมือนกับพวกข้า แล้วจะมาทัดเทียมกันได้อย่างไร”

 หมาจิ้งจอกลอยหน้าเถียง   ทำให้ไก่แจ้รู้สึกเดือดดาลเป็นกำลัง ด้วยความลืมตัวไก่แจ้จึงบินถลาไปยืนตรงหน้าหมาจิ้งจอก พร้อมถามเสียงเครียดว่า

 “ไหน…..ลองบอกมาซิว่า  พวกเราไม่ทัดเทียมพวกท่านตรงไหน”

 หมาจิ้งจอกแยกเขี้ยวยิ้ม จนเห็นฟันขาวเต็มปาก แล้วตอบว่า

 “ตรงที่พวกเจ้าไม่มีเขี้ยวอย่างพวกข้านี้ไงละ”  ว่าแล้วหมาจิ้งจอกก็ขม้ำไก่แจ้เสียเต็มเขี้ยวและเขมือบกลืนลงท้องไปอย่างรวดเร็ว

 หลังจากนั้น  ชีวิตในชุมชนสัตว์ฝูงนั้นก็ดำเนินต่อไป…….เหมือนเช่นเคย

    .........นิทานเรื่องนี้....เราจะตั้งชื่ออะไรดีนะ...........

                     +++++++++++++++++++++

หมายเลขบันทึก: 441114เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2011 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท