หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

พลาสติก (๒๒) : โฟม


การเผาโฟม ต้องใช้ความร้อนอุณหภูมิ ๑๐๐๐ องศาเซลเซียสจึงไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ภาระหลังการใช้ของมันไม่เปิดมุมบวกให้เท่าไร เผลอใช้ผิดเรื่องก็ชวนมะเร็งมาหา หยุดใช้มันเถอะค่ะ

โฟม โฟม โฟม น้องรู้จักโฟมหรือเปล่า โฟมนั้นตัวเบายิ่งนัก คนจึงได้รักและชอบมัน วันนี้เกลียดมันกันนะคุณ จะได้ช่วยกันทำโลกร้อนลดลง

“โฟม” ที่กำลังเอ่ยถึงอยู่นี้ คือ พลาสติกที่ฟูหรือขยายตัว ที่คนนำมาใส่อาหารแล้วเสิร์พให้ ไม่ใช่โฟมที่ช่วยให้สวย นะจ๊ะ นะจ๊ะ

มีโฟมรูปแบบหนึ่งที่บอกแล้วจะเชื่อกันมั๊ยว่าเป็นพลาสติกแบบนี้ ฟองน้ำไงค่ะ เชื่อกันนะ มันเป็นโฟมค่ะ

อย่างอื่นก็มี  โฟมแผ่น โฟมฉีดพ่นเพื่อเป็นฉนวน  การผลิตพลาสติกหน้าตาแตกต่างกันเหล่านี้ ใช้พลาสติกแตกต่างประเภทกันไป

โฟมที่นำมาใช้ใส่อาหารหรือทำกระทง เป็นพลาสติกที่ใช้สารชื่อ “สไตรีน” ผลิตขึ้นมา  เป็นพลาสติกกลุ่ม PS (เคยเอ่ยชื่อให้ฟังแล้ว)

โฟม PS มีใช้อยู่มี 2 ประเภท  หนึ่งเรียกว่า EPS ( Expandible PS) ใช้บรรจุสินค้ามีค่า เช่น โทรทัศน์,ตู้เย็น,เครื่องใช้ไฟฟ้า,หมวกกันน็อค  โฟมกล่องน้ำแข็ง,โฟมแผ่น,โฟมก้อนที่ใช้ทำถนน ก็เป็น EPS

อีกประเภทเรียกว่า PSP (Paper PS) ใช้ทำถาดหรือกล่องบรรจุอาหาร  ความต่างเกิดจากขั้นตอนและวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิต

EPS ใช้ก๊าซ Pentane (C5H12) หรือ Butane (C4H10) ทำให้ขยายตัว ใช้ความร้อนทำให้ขยายตัว  ขนาดขยายเกิดขึ้น 50 เท่า ในเนื้อมันจึงมีพลาสติกอยู่จริงๆแค่ 2%  อีก 98% เป็นอากาศทำให้มันมีคุณสมบัติเป็นฉนวนของความร้อนและเย็น

PSP ใช้ก๊าซ Butane (C4H10) ทำให้ขยายตัว ใช้ความร้อนจากไฟฟ้าทำให้ขยายตัว ขนาดขยาย 20 เท่า เดิมเคยใช้สาร CFC’s ด้วย แต่งดใช้มากว่า 15 ปีแล้ว

EPS มีความทน คนจึงนิยมใช้กับการเกษตร เช่น บดผสมดินได้ดินร่วนซุยเหมาะสำหรับการเพาะปลูก อากาศในตัวมันให้ประโยชน์ต่อรากพืช

คุณสมบัติความเป็นฉนวนและมีน้ำ ความหนักเบาของมันในการลดน้ำหนักและคงอุณหภูมิไว้ให้เย็น ทำให้วงการก่อสร้างนำ EPS มาผสมคอนกรีต

การเผา EPS ต้องใช้ความร้อนสูงถึงประมาณ 1000 องศาเซลเซียล จึงไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม น้ำหนักมัน 1 กก. ให้พลังงานเท่ากับน้ำมัน 1.2 - 1.4 ลิตร

แปลว่าเผาแล้วไม่ปลอดภัย เพราะไม่มีเตาเผาชนิดใดที่ใช้เชื้อเพลิง แล้วสามารถให้อุณหภูมิได้ถึง 1000 องศาเซลเซียส นะนี่

การบดให้เล็กลงเพื่อนำมารีไซเคิล จึงต้องมีระบบพิเศษในการจัดการ และดำเนินการที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดหลอมเหลวของตัวมันเอง

สิ่งเหล่านี้ คือ EPS ที่นำมารีไซเคิลแล้ว :  ตลับเทปเพลง ม้วนวีดี โอเทป ไม้บรรทัด กล่องดินสอ จานรองแก้ว และเม็ดโฟมใหม่ที่นำมาผลิตเป็นโฟมซ้ำได้อีก

รีไซเคิลแล้วก็มีของเสียเกิดขึ้นเหมือนพลาสติกอื่นๆนะคะ

ปริมาณของเสียในกระบวนการผลิต EPS น้อยกว่า PSP

บ้านเราผลิต EPS ได้มานานกว่า 40 ปีแล้ว ยุคแรกเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ใช้ทำผนังห้องเย็น ราวปี พ.ศ. 2520 จึงเป็นโฟมบรรจุสินค้า พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลคทรอนิคสเพื่อการส่งออก เดี๋ยวนี้ใช้ในการก่อสร้าง อาคาร คอสะพาน ถนน และบรรจุอาหารทะเลแช่แข็งเพื่อส่งออกด้วย

บ้านเราผลิต EPS ได้ราว 2800 - 3000 ตันต่อเดือน โรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีผู้ผลิตประมาณ 25 ราย ผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ 5 ราย

ส่วน PSP ผลิตได้เองไม่ต่ำกว่า 15 ปี  โดยรวมผลิตอยู่ราว 1300 - 1500 ตันต่อเดือน ใช้บรรจุอาหารเพื่อการส่งออกเหมือนกัน มีผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ 5 ราย ผู้ผลิต 10 ราย และมีรายเดียวเท่านั้นที่อยู่ในกรุงเทพฯ

เมื่อพูดถึงการจัดการหลังการใช้  วันนี้ยังหาทางออกไม่ได้ เพราะเผาก็ปล่อยของเสียออกมาให้ในอากาศ ฝังกลบก็กินที่  ฝังแล้วกว่าจะย่อยสลายก็ใช้เวลาเท่าอายุคนๆหนึ่งเป็นอย่างน้อย (มากกว่า 50 ปี)  การนำมารีไซเคิลก็ต้องอาศัยระบบพิเศษ

ภาระหลังการใช้ของมันไม่เปิดมุมบวกให้เท่าไร บันทึกนี้จึงมาชวนว่า “หยุดใช้โฟมกันนะ นะ นะ”

หมายเลขบันทึก: 440928เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2011 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ธุ คุณหมอเจ๊ค่ะ..
  • 

ถ้าคนหลายๆ คนเล็งถึงผลเสียที่มีมากกว่าการนำมาใช้ประโยชน์ และร่วมกัน ลด - ละ - เลิก ใช้ "โฟม"  ก็คงจะดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท