อยากดูหมอลำ


การที่เราจะทำอะไรแล้วเริ่มต้นด้วยการวางแผนและมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ บางทีเรื่องที่เรามองว่ามันยากอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราเองก็สามารถจะทำให้สำเร็จได้

 

 หนังสือเขียนนอกเวลาราชการ

(แต่อ่านได้ทุกเวลา) 

เรื่อง...อยากดูหมอลำ

จากเรื่องจริงของ...คนขายศาสตร์                      

หมายเหตุ  เพื่อสุขภาพไม่ควรอ่านเกินวันละ ๒ รอบ

 .....อยากดูหมอลำ.....

...คืนนี้ อย่าลืมอย่าพลาด พบกับพระเอกหมอลำพี่หำเฉลิมพล  มาลาคำ พร้อมทีมงานการแสดง แสง สี เสียง ตระการตา กับวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำคณะเฉลิมพล มาลาคำ อย่าลืมอย่าพลาด พบกันคืนนี้ที่สนามที่ว่าการอำเภอพล ชมลำเรื่องต่อกลอน ซอดแจ้งจ่างป่าง...เสียงรถโฆษณาของวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำเฉลิมพล  มาลาคำ ดังมาตามถนนภายในหมู่บ้าน ช่วงนั้นผู้เขียนเองน่าจะอายุประมาณ ๑๓-๑๔ ปี กำลังเรียนอยู่มอต้น เพลงที่ฮิตติดหูช่วงนั้นของเฉลิมพล มาลาคำ ก็เช่น อดีตรักวันเข้าพรรษา,วอนแม่หมั้นสาว และอีกหลายๆเพลง ผู้เขียนเองก็ชอบฟังหมอลำและชอบฟังเพลงของเฉลิมพลด้วย จึงรู้สึกตื่นเต้นและอยากจะไปดูไปชมการแสดง แต่ด้วยความที่ไม่มีเงินที่ซื้อตั๋วเข้าชม เพราะว่าค่าเข้าชมในช่วงนั้นก็ถ้าเป็นเด็ก คนละ ๒๐ บาทแต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็คนละ ๔๐ บาท ผู้เขียนเองก็ไม่มีเงินถึง ๔๐ บาท จะขอพ่อขอแม่รึก็เป็นเรื่องแน่เลย ลำพังแค่จะขอไปดูก็คงจะไม่ให้ไปแน่ๆ แล้วทำอย่างไรละถึงจะได้ไปดูหมอลำเฉลิมพล มาลาคำคืนนี้ นั่งครุ่นคิดอยู่นานทีเดียวจึงนึกถึงหนังสือพิมพ์ที่หลวงพ่อท่านอ่านทุกวัน ซึ่งปกติแล้วหลวงพ่อท่านจะซื้อหนังสือพิมพ์วันละ ๒ ฉบับคือไทยรัฐและเดลินิวส์ ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็จะเก็บไว้ ผู้เขียนเองเวลาที่ไปทำความสะอาดกุฎีให้หลวงพ่อก็จะเห็นหนังสือพิมพ์เก่าๆกองอยู่ จึงคิดว่าถ้าไปขอหนังสือพิมพ์เก่าๆจากหลวงพ่อแล้วมาพับเป็นคู่เพื่อขายให้กับคนที่ไปดูหมอลำ คงจะพอได้ค่าเข้าชมดีไม่ดีอาจจะเหลือเป็นค่าขนมด้วย ท่านผู้อ่านคิดดูแล้วกันว่าผู้เขียนคิดได้อย่างไร(บางคนไม่เชื่อ)

  อย่าว่าแต่ผู้อ่านไม่เชื่อเลย ผู้เขียนเองทุกวันนี้ยังไม่เชื่อตัวเองเลยว่าคิดได้อย่างไร ถ้าผู้อ่านเป็นคนในวัยเดียวกับผู้เขียนหรือใกล้เคียงกัน อาจจะเคยไปดูหนัง ลิเก หรือหมอลำ ที่เขามาเล่นปิดวิกตามอำเภอต่างๆ ในสมัยนั้น คนดูบางส่วนก็จะหอบลูกจูงหลานและก็ไม่ลืมที่จะถือเสื่อ(สาด)สำหรับรองนั่งไปด้วย แต่ถ้าหนุ่มๆสาวๆไปกันเป็นคู่ๆรับรองได้ว่าไม่กล้าหอบเสื่อไปด้วยแน่นอน ไม่ว่าจะหนุ่มหรือสาวก็จะต้องไปหาซื้อหนังสือพิมพ์สำหรับรองนั่ง ฉะนั้นเมื่อไหร่ที่มีหมอลำ ลิเก หรือภาพยนตร์ มาทำการแสดงก็จะมีพ่อค้า-แม่ขายเดินขายปลาหมึกย่าง น้ำหวาน ถั่วต้ม ขนมขบเคี้ยวต่างๆและยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ ขายหนังสือพิมพ์เก่าสำหรับรองนั่ง(ปัจจุบันพัฒนามาเป็นแผ่นพลาสติกห่อขนมพวกกรอบเค็มซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับผืนเสื่อ)

      ว่าแล้วผู้เขียนก็รีบเดินจ้ำอ้าวไปวัดเพื่อขอหนังสือพิมพ์เก่าจากหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านคงคิดว่าผู้เขียนจะเอามาอ่านหรือทำการบ้านส่งครู จึงบอกให้ผู้เขียนยกมาทั้งกองเลย ขั้นตอนต่อไปก็คือต้องมาแยกออกจากกันแล้วพับให้เป็นคู่ อื้อฮื้อ ได้ตั้งร้อยกว่าคู่แน่ะ หลังจากพับเสร็จก็จัดใส่กระเป๋าสะพายเพื่อความสะดวกในการเดินขาย ขณะที่ทำก็คิดไปด้วยว่าเราจะกล้าไปเดินขายหนังสือพิมพ์หน้าเวทีหมอลำจริงๆเหรอ บ้าไปแล้วแน่ๆเรา แต่ถ้าไม่กล้าก็อดได้ดูหมอลำ เอาก็เอาวะ .....ตกเย็นไม่บอกให้ใครรู้ว่าเราจะไปดูหมอลำ กินข้าวเย็นเสร็จ อาบน้ำแต่งตัวเตรียมอุปกรณ์พร้อมและก็เดินจากบ้านมุ่งหน้าสู่สนามอำเภอ ระยะทางก็ประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร ถ้าเป็นทุกวันนี้คงไม่ยอมเดินแน่ๆ เมื่อไปถึงประมาณซักทุ่มเศษๆ คนเยอะมากร้านค้าต่างๆก็เต็มสนามไปหมดทั้งด้านในเวทีและก็

  ด้านนอก ว่าแล้วก็งัดเอาหนังสือพิมพ์ที่เตรียมมาออกจากกระเป๋าประมาณ ๒๐ คู่ และก็เดินขายอยู่บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้า เป้าหมายก็คือหนุ่มสาวที่มาเป็นคู่ๆ และก็ไม่ได้ถือเสื่อมาด้วย เดินไปก็ร้องขายไปด้วย “หนังสือพิมพ์ไว้ปูรองนั่งไหมครับ” “บาทเดียวครับบาทเดียว” “หนังสือพิมพ์ไหมครับพี่” ขณะที่เดินขายอยู่บริเวณทางเข้า พนักงานเก็บตั๋วด้านหน้าคงจะเห็นผู้เขียนร้องขายหนังสือพิมพ์และคงจะดูเกะกะบริเวณทางเข้าจึงเรียกให้เข้าไปหา ทีแรกผู้เขียนเองก็ตกใจกลัวเหมือนกัน กลัวเขาจะไล่หนีไม่ให้ขายบริเวณนั้น แต่พอผู้เขียนเดินไปหาเขาก็บอกว่า “น้องเข้าไปขายข้างในสิ ถึงจะขายได้เยอะ” “ผมไม่มีเงินซื้อตั๋วครับพี่” ผู้เขียนพาซื่อตอบเขาไป และก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า “มาเดี๋ยวพี่ไปส่งเข้าด้านใน ไม่ต้องซื้อตั๋วหรอก” ว่าแล้วก็ดันหลังผู้เขียนให้เดินเข้าไปด้านใน เป็นอันว่าไม่ต้องจ่ายค่าตั๋วเข้าชม พอเข้าไปด้านในได้ก็เดินร้องขายหนังสือพิมพ์ไปทั่วบริเวณ ขายอยู่ซักประมาณเกือบ ๒ ชั่วโมง ได้เงินเกือบๆร้อยบาท หนังสือพิมพ์ที่เตรียมมาก็เกือบหมด เพราะทั้งลด แลก แจก แถม ไปเรื่อยก็ไม่ได้ลงทุนเลยนี่ครับ หนังสือพิมพ์หลวงพ่อก็ให้มา ตั๋วก็ไม่ได้ซื้อ ขายได้ตั้งร้อยกว่าบาท กินขนมซักยี่สิบสามสิบ เหลืออีกเป็นร้อย ว่าแล้วก็เก็บที่เหลือไว้รองนั่งเองเพราะเวลาก็สามทุ่มเศษแล้ว เดี๋ยวสักพักหมอลำก็คงเริ่มทำการแสดง ว่าแล้วก็เก็บหนังสือพิมพ์ที่เหลือเข้ากระเป๋าแล้วก็เดินหาซื้อขนมไว้กินตอนนั่งดูหมอลำ คงไม่พ้นลูกชิ้นทอดกับปลาหมึกย่าง พอได้ดูหมอลำไป เคี้ยวไป น้ำก็มีคนเดินมาขายถึงที่เป็นน้ำหวานแก้วละสามบาท ดูดน้ำหมดก็เคี้ยวน้ำแข็งต่อ อร่อยอย่าบอกใคร

   ในยุคนั้นถ้ามีหมอลำมาทำการแสดงจะมีคนมาดูมาก เพราะไม่ค่อยมีโอกาสได้ดูได้ชมกันบ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงหลังจากออกพรรษาแล้ว จะมีเรื่อยๆเพราะอำเภอพลเป็นอำเภอใหญ่ วงดนตรีหรือหมอลำคณะไหนมาเปิดทำการแสดงก็จะมีคนเข้าชมเยอะไม่ค่อยขาดทุน นั่งดูกันตั้งแต่หัวค่ำยันสว่างหกโมงเช้ายังมีคนเต็มหน้าเวที ไม่เหมือนทุกวันนี้ ไม่ค่อยมีใครอยากไปดูเวลามีหมอลำหรือวงดนตรี มาเปิดทำการแสดงไม่ว่าจะเก็บค่าเข้าชมหรือชมฟรี เพราะว่าเด็กวัยรุ่นทุกวันนี้มันอารมณ์รุนแรงเหลือเกิน แค่ไปเที่ยวงานมันยังต้องพกมีดพกปืนไปด้วย นึกถึงเพลงผู้กองหน้าฮ่าน ของลูกแพร อุไรพร หรือไม่ก็เพลงลูกเทวดา ของสนุ๊ก  สิงห์มาตร เนื้อหาของเพลงทั้งสองเพลง มันเป็นอย่างนั้นจริงๆวัยรุ่นทุกวันนี้ไม่ว่าชายหรือหญิง มีครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนไปเที่ยวงานเทศกาลไหว้พระธาตุเมืองพล ที่วัดจันทรัตนาราม ชุมชนย่อยหนองแวง ในเขตเทศบาลเมืองเมืองพล อ.พล จ.ขอนแก่น ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปีช่วงขึ้นสามค่ำเดือนสาม จัดงานสามวันสามคืน มีมหรสพสมโภชน์มากมายแต่ละคืนจะมีหมอลำคณะดังๆจ้างมาแพงๆทั้งนั้นเพื่อให้ผู้ที่ไปร่วมทำบุญได้ชมกัน แต่ผู้อ่านเชื่อไหม วัยรุ่นมันตีกันหน้าเวทีหมอลำทุกๆครึ่งชั่วโมง ตีกันทีคนที่นั่งดูก็ต้องหอบลูกจูงหลานลุกฮือขึ้นเพราะกลัวจะโดนลูกหลง หมอลำหรือวงดนตรีก็ต้องหยุดเล่นชั่วคราว คิดดูละกันว่ามันจะสนุกตรงไหน ยิ่งหลังๆมายิ่งน่ากลัว เวลามีคนชกต่อยกันบริเวณไหน คนที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะโยนขวดเหล้าขวดเบียร์ที่ซื้อมาดื่มกันนั่นแหละ ไม่รู้ว่ามันลอยมาจากทางไหนบ้างปลิวว่อนเลยโดยไม่กลัวว่าจะไปโดนคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย น่ากลัวจริงๆเลย

  ยิ่งหนักไปกว่านั้นหาเรื่องชกต่อยในบริเวณงานไม่ได้เพราะบางงานเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความสงบทำงานเข้มแข็ง พวกเด็กนรกพวกนั้นมันก็ไปดักทำร้ายร่างกายคู่กรณีตามถนนด้านนอกบริเวณงาน บางทีคนที่สัญจรไปมาไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย พูดถึงพฤติกรรมของวัยรุ่นทุกวันนี้สิบๆหน้าก็คงไม่พอ แต่ก็ใช่ว่าวัยรุ่นทุกคนจะเป็นแบบนั้น คนที่เป็นเยาวชนที่ดีก็มีมากไป เราก็ต้องยกย่องชมเชย ให้คนอื่นเอาเป็นแบบอย่าง

      กลับเข้าเรื่องต่อดีกว่า พื้นที่มีจำกัด สรุปว่าคืนนั้นผู้เขียนได้เป็นทั้งพ่อค้าขายหนังสือพิมพ์รองนั่ง ได้ดูหมอลำเฉลิมพล มาลาคำฟรีๆ มีเงินเหลือจากค่าขนมอีกร้อยกว่าบาท นั่งดูหมอลำจนเกือบสว่าง และก็เดินกลับบ้านถึงบ้านก็หกโมงเช้า ที่บ้านทุกคนตื่นกันหมดแล้วเพราะที่บ้านเป็นร้านขายของชำ คุณแม่ของผู้เขียนเองก็ต้องไปตลาดตั้งแต่ตีห้า คุณพ่อก็ไปเอาเนื้อวัวเพื่อจะมาทำลาบขาย ผู้เขียนเลยรอดตัวไป ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วคงต้องถูกคุณแม่เอ็ดเอาแน่เลย เพราะไม่ได้บอกใคร ผู้เขียนเองยังจดจำไม่รู้ลืมจนถึงทุกวันนี้ จากประสบการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ผู้เขียนได้ข้อคิดอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะการที่เราจะทำอะไรแล้วเริ่มต้นด้วยการวางแผนและมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ บางทีเรื่องที่เรามองว่ามันยากอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราเองก็สามารถจะทำให้สำเร็จได้

ก่อนจากฝากข้อคิด.... 

 “คิดก่อนพูด   อย่าพูดก่อนคิด      คิดก่อนทำ    อย่าทำก่อนคิด”

 จากเรื่องจริงของ...คนขายศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 440889เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2011 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท