มอเตอร์ไซค์รับจ้าง


อาจจะไม่ได้สิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

หนังสือเขียนนอกเวลาราชการ

(แต่อ่านได้ทุกเวลา) 

เรื่อง...มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

จากเรื่องจริงของ...คนขายศาสตร์

หมายเหตุ  เพื่อสุขภาพไม่ควรอ่านเกินวันละ ๒ รอบ 

 .....มอเตอร์ไซค์รับจ้าง.....

...เกิดเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  นั่งข้างทางคนก็มองว่าไม่ดี    ส่งเธอไปทุกทางไปได้ทุกที่  ยังไม่มีใครจะมาสนใจ  ผมไม่หล่อ     พ่อไม่รวย เหมือนใครๆ..... ท่านผู้อ่านอาจจะคุ้นๆหูกับเพลงนี้อยู่บ้าง ซึ่งเป็นบทเพลงที่คุณเสกโลโซ เขาร้องได้สนุกและมีความหมายในตัวเป็นเพลงเพื่อชีวิตของผู้ที่ประกอบอาชีพ“มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” จริงๆ   แต่ในเพลงมันไม่เกี่ยวกับชีวิตของผู้เขียนหรอกนะครับ แต่ที่มันเกี่ยวก็คือชื่อเพลง“มอเตอร์ไซค์รับจ้าง”เพราะว่าช่วงชีวิตหนึ่งของผู้เขียนเอง เคยอาศัยอาชีพ“มอเตอร์ไซค์รับจ้าง”หาเลี้ยงครอบครัว ถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านอาจจะไม่เชื่อ งั้นลองอ่านต่อให้จบเรื่องนี้ ค่อยตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อดี ในสิ่งที่ผู้เขียนได้บอกเล่า

เรื่องมันมีอยู่ว่า เมื่อประมาณซักปีพ.ศ.๒๕๓๘-๒๕๓๙ ประมาณนี้แหละ ช่วงนั้นอาชีพหลักของผู้เขียนคือเป็นครู สอนอยู่ที่โรงเรียนไพศาลวิทย์ และก็แต่งงานมีครอบครัว ตามธรรมชาติของคนทั่วไป อย่าถามนะครับว่าแต่งกับสาวคนไหน เพราะในชีวิตนี้รัก(จริงๆ)คนเดียว และเป็นคนเดียวตลอดไป คือครูสุจันทร์ญา  อุปแก้ว(แม่เอ๋)หลังแต่งงาน ผู้เขียนก็ต้องมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น และที่สำคัญ “เรา”กำลังจะมีพยานรัก เทวดาตัวน้อยๆกำลังจะมาสร้างความสุขให้กับครอบครัว ถึงตอนนี้อะไรๆก็เปลี่ยนไป รายได้จากเงินเดือนครูยังเท่าเดิม หักโน่น หักนี่ ผ่อนส่งรถมอเตอร์ไซค์ แบ่งให้คุณแม่ใช้บ้าง ที่เหลือก็จะเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว แทบไม่มีเหลือให้เก็บเลยในแต่ละเดือน เพราะเงินเดือนสองคนรวมกันก็ประมาณซักหกเจ็ดพันบาท ผู้เขียนจึงต้องหาอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้เพิ่มและเก็บออมเงินไว้

       วันหนึ่งในขณะที่ผู้เขียนกำลังทำความสะอาดรถมอเตอร์ไซค์คู่ชีวิตอยู่ที่หน้าบ้าน(คุ้มหนองแวง) ก็มีชายวัยกลางคนเดินมาถามผู้เขียนว่าแถวนี้มีรถสามล้อรับจ้างหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือป่าว ซึ่งน่าจะเป็นคนมาจากที่อื่นเพราะไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน หรือไม่ก็น่าจะเพิ่งกลับมาจากกทม.เพราะมีกระเป๋าสะพายด้วย ผู้เขียนเองจึงตอบว่า ไม่มีรถรับจ้างหรอก ถ้าจะมีก็ต้องเข้าไปในตัวตลาดเมืองพล แล้วจึงถามกลับไปว่า พี่จะไปไหนเหรอ หนุ่มใหญ่คนนั้นจึงบอกว่าจะกลับบ้านที่อำเภอหนองสองห้อง ผู้เขียนจึงอาสาว่าจะไปส่งที่ บขส.เพื่อไปจ้างรถรับจ้างต่อ “งั้นพี่ช่วยเติมน้ำมันน้อง ๒๐ บาท”เขาบอกพร้อมยื่นเงินใบยี่สิบให้ผู้เขียน ขณะนั่งรถไปก็พูดคุยกันไปด้วย หนุ่มใหญ่คนนั้นจึงบอกว่าให้ผู้เขียนไปส่งที่บ้านเลย เดี๋ยวจะให้เงิน ๒๐๐ บาท ผู้เขียนจึงคิดในใจว่า ระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ได้เงิน ๒๐๐ บาท เติมน้ำมันไม่เกิน ๔๐ บาท ก็คุ้มค่าดี และอีกอย่างก็ไม่มีธุระที่ไหน ว่าแล้วก็ตอบตกลงและไปส่งเขาจนถึงบ้านอย่างปลอดภัย ที่บ้านเขากำลังเตรียมงานทำบุญอยู่ จึงห่อขนมจีนน้ำยา ข้าวต้มมัด ถุงใหญ่กลับมาด้วย เหตุจากวันนั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนคิดเห็นช่องทางในการหารายได้เสริม แต่เราจะเริ่มต้นอย่างไรดี จึงขับรถตระเวนไปตามจุดต่างๆที่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และเข้าไปพูดคุยหาข้อมูลซึ่งส่วนมากก็จะรู้จักคุ้นเคยกันดี และช่วงนั้นที่บขส.เมืองพลกำลังจัดทำทะเบียนประวัติของผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อจะได้มีข้อมูลเมื่อเกิดเหตุขึ้น ซึ่งทางสภอ.พล เป็นผู้รับผิดชอบ ผู้เขียนจึงไปติดต่อและทำประวัติเพื่อแจ้งความประสงค์ในการเป็นผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และอยู่ในชุดสีแดง หมายเลขเสื้อ ๖๑ ประจำบริเวณบขส.เมืองพล

 ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า มาขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แล้วไปเป็นครูตอนไหน ปกติแล้ววันจันทร์-ศุกร์ ผู้เขียนเองก็จะทำหน้าที่ครูที่โรงเรียนไพศาลวิทย์ เช้าไม่เกินเจ็ดโมงต้องถึงโรงเรียน เย็นไม่ถึงห้าโมงเย็นไม่กลับ ส่วนเวลาที่ผู้เขียนแปลงร่างเป็นไอ้หนุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างคือช่วงกลางคืน ถ้าเป็นคืนวันศุกร์-เสาร์จะอยู่จนถึงสว่างเพราะว่าตอนเช้าไม่ได้ไปทำงาน แต่ถ้าเป็นคืนวันจันทร์-พฤหัสบดีจะอยู่แค่ไม่เกินสี่ทุ่ม เพราะตอนเช้าจะต้องไปทำหน้าที่ครู หรือถ้าทางโรงเรียนมีกิจกรรมต่อเนื่องก็ต้องให้ความสำคัญ เพราะงานในหน้าที่ครูต้องมาก่อน รายได้ก็แล้วแต่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความขยันในการหาผู้โดยสาร และก็ความน่าเชื่อถือ หากผู้โดยสารมั่นใจในความปลอดภัยว่าเราจะสามารถไปส่งเขาได้ถึงที่หมายและไม่โก่งราคาจนน่าเกลียด ก็พอมีผู้โดยสาร บางวันอยู่ถึงสว่างได้เงินเป็นพันก็มี โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ ชีวิตของผู้เขียนช่วงนั้นจึงผูกพันอยู่กับโรงเรียน,ขบส.,และบ้าน อยู่ประมาณเกือบสองปี ได้พบปะกับผู้คนหลากหลายอาชีพ หมู่บ้านไหนไม่เคยรู้จักก็ได้รู้จัก อาชีพ“มอเตอร์ไซค์รับจ้าง”เป็นอาชีพที่ท้าทายมาก ในความรู้สึกของผู้เขียนเพราะหากประมาทหรือดวงซวยอาจเกิดเหตุร้ายหรือประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ เพราะว่าในช่วงนั้นมีข่าวที่ไม่ดีเกี่ยวกับอาชีพ“มอเตอร์ไซค์รับจ้าง”เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ บ้างก็พาผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุต้องชดใช้ค่าเสียหาย บางคนตัวเองต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็มี บางข่าวก็ปล้นผู้โดยสารกลางทางทำร้ายร่างกายและเอาทรัพย์สินเขาไป บางรายก็ซวยถูกผู้โดยสารในคราบโจรลวงไปปล้นเอาทั้งทรัพย์สินเงินทองและรถมอเตอร์ไซค์ บางรายโชคดีหน่อยก็แค่ไปถึงที่หมายแล้วไม่จ่ายค่าโดยสารวิ่งหนีไปเฉยๆก็มี    

 ผู้เขียนมีประสบการณ์ที่พบมากับตัวเองมาเล่าให้ฟัง วันนั้นได้ผู้โดยสารเป็นชายวัยรุ่น อายุประมาณ ๒๐ ปี กลับมาจากกรุงเทพฯ หิ้วกระเป๋าเดินลงจากรถโดยสาร เวลาช่วงประมาณสักตีสองจะได้ ผู้เขียนก็เข้าไปถามตามหน้าที่ของ“มอเตอร์ไซค์รับจ้าง”ทั่วไป ที่จะต้องวิ่งเข้าหาผู้โดยสาร ไม่ใช่รอให้ผู้โดยสารเดินมาหา ก็ได้รับคำตอบว่าจะกลับบ้านโคกผงาด ที่อำเภอนาเชือก ห่างจากตัวอำเภอหนองสองห้องประมาณ ๒๐ กว่ากิโลเมตร ซึ่งผู้เขียนเองไม่เคยรู้จักแต่แถวนั้นเคยไปและคุ้นกับเส้นทางดี เพราะในช่วงที่เป็นพ่อค้าไอตีมก็ไปขายตามหมู่บ้านละแวกนั้นอยู่บ่อยๆ แต่บ้านโคกผงาด ยังไม่เคยไป จึงตกลงราคาค่าจ้างที่ราคา ๓๕๐ บาท คงจะพอเหลือจากค่าน้ำมันบ้าง หนุ่มน้อยไม่ต่อราคาเลยรีบหิ้วกระเป๋าก้าวขึ้นนั่งรถทันที ผู้เขียนจึงสวมหมวกกันน็อคและไปเติมน้ำมันเบนซิน น้ำมันสองที เฉพาะค่าน้ำมันหมดไป ๑๕๐ บาท ดีที่ก่อนหน้านี้ได้วิ่งรถสองสามเที่ยว ได้เงินสองร้อยกว่าบาทจึงมีต้นทุนสำหรับเป็นค่าน้ำมัน ช่วงนั้นประมาณตีสองเศษๆ ผู้เขียนจึงไม่รีบเพราะยังไงกลับมาก็คงสว่างแล้ว จึงค่อยๆขับไปเรื่อยๆและอีกอย่างเส้นทางแถวนั้นเต็มไปด้วยป่าอ้อย หมู่บ้านก็ห่างๆถนนลูกรังขรุขระ ออกจากหนองสองห้อง เข้าบ้านสวองหนองไผ่ล้อม เข้าบ้านหนองกรุงศรี บ้านหนองแวง เข้าเขตอำเภอนาเชือก ผ่านหมู่บ้านแล้ว หมู่บ้านเล่า จนถึงบ้านโคกผงาดประมาณเกือบตีห้า หนุ่มน้อยก็ลงจากรถและบอกให้รอก่อน เพราะไม่มีเงินติดตัวซักบาทเดียว เดี๋ยวผมจะไปขอจากพ่อมาให้ บอกให้ผมนั่งรออยู่ที่หน้าบ้านก่อน อ้าวงานเข้าแล้วสิเราทีนี้ จะทำยังไงดี มาซะไกลโขตั้งสามชั่วโมง หมดค่าน้ำมันเป็นร้อย จะได้ซักบาทไหมเนี่ย หลังจากหนุ่มน้อยตะโกนเรียก

 อยู่นานก็มีเสียงตอบรับดังขึ้นจากข้างในบ้าน และจากนั้นก็มีเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ จับใจความได้ว่า หนุ่มน้อยรายนี้ไปทำงานที่กรุงเทพฯแต่ไม่เคยส่งเงินมาให้พ่อแม่เลย กลับบ้านมาทีไรก็ไม่มีเงินติดตัวมาและก็ขอค่ารถเวลาจะกลับทุกครั้งไป จนพ่อแม่เอือมระอา ซวยละสิเราจะทำไงดี ซักพักหนุ่มน้อยก็เดินออกมาพร้อมกับสีหน้าอันเศร้า พร้อมกับเงินอีก ร้อยบาท ยื่นให้ผู้เขียน ไม่นานผู้เป็นพ่อก็เดินออกมา อายุประมาณ ๖๐ ปีได้ แต่ร่างกายดูแก่ไปมากคงเพราะทำงานหนัก บอกเล่าเรื่องราวของลูกชายให้ผู้เขียนฟัง และยังบอกอีกว่าทั้งบ้านมีอยู่แค่นั้นแหละ ผู้เขียนจึงบอกว่าเฉพาะเติมน้ำมันมาก็เกือบสองร้อยแล้ว หาให้อีกสักร้อยไม่ได้เหรอครับ ผู้เขียนพยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเอง แต่ลึกๆก็นึกสงสารเพราะจากสภาพคงเป็นครอบครัวที่ยากจนขัดสนอยู่ ผู้เป็นพ่อคงจะเห็นใจจึงเอ่ยกับลูกชายว่า “มึงก็ไปจับเอาเป็ดเทศมึงในคอกมาให้เขาซิสักสองตัว” สิ้นเสียงผู้เป็นลูกก็ถือถุงปุ๋ยมุดเข้าไปในคอกเป็ดไม่นานก็กลับออกมาพร้อมเป็ดสองตัวใส่ในถุงปุ๋ยและมัดปากอย่างดี โดยไม่เอ่ยถามซักคำว่าผู้เขียนจะพอใจหรือไม่ ถึงขั้นนี้แล้วคงต้องเลยตามเลย ตกลงว่าวันนั้นกลับเข้าบ้านพร้อมกับเป็ดอีกสองตัว

      เสียดายจัง พื้นที่หมดซะแล้วยังมีเรื่องสนุกอีกตั้งหลายเรื่องจากอาชีพ“มอเตอร์ไซค์รับจ้าง”ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจ เอาไว้มีโอกาสจะเล่าให้ฟังใหม่นะครับ ก่อนจบขอฝากคำคมที่ไม่ค่อยสุภาพไว้ให้ผู้อ่านเป็นคติเตือนใจว่า“กำขี้ ดีกว่ากำตด” หมายถึง อาจจะไม่ได้สิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย....

 จากเรื่องจริงของ...คนขายศาสตร์                        

หมายเลขบันทึก: 440785เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

..ชอบ..ตรงที่ว่า..กำขี้ดีกว่ากำตด...(มีเพื่อนเขาว่า.ชอบแบบนี้เหมือนกัน..อ้ะ..)..แต่ยายว่า..อย่างหลังดีกว่า..ไม่เหม็นมือล้างไม่ลำบาก..อ้ะ)....ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท