แมงดา


เพียงแต่เรารู้จักคิดให้เป็นบวก และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราเองได้อย่างไร

 หนังสือเขียนนอกเวลาราชการ

(แต่อ่านได้ทุกเวลา) 

เรื่อง...แมงดา 

จากเรื่องจริงของ...คนขายศาสตร์

หมายเหตุ  เพื่อสุขภาพไม่ควรอ่านเกินวันละ ๒ รอบ

 .....แมงดา.....

ขึ้นเรื่องมาอย่างนี้ท่านผู้อ่านอาจจะเข้าใจผิด หรือคิดว่าผู้เขียนกำลังจะเล่าเรื่องประสบการณ์ในการไปหาจับแมงดานา หรืออะไรซักอย่างที่มันเกี่ยวข้องกับ “แมงดา”ที่เป็นสัตว์ประเภทแมลง มีปีก ตัวผู้จะมีกลิ่นหอม(ฉุน)นำมาย่างหรือนึ่งให้สุกโขลกใส่น้ำพริก แกล้มผักลวก ผักสด อร่อยอย่าบอกใครเชียวหรือตัวเมียนึ่งให้สุกกินเป็นอาหารว่างก็อร่อย ยิ่งไข่แมงดาสมัยผู้เขียนเป็นเด็กไปหาตามท้องนาช่วงฝนลง ตามกอหญ้าหรือตอซังข้าว เคี้ยวกินสดๆเสียงดังเปราะแปะรสชาติแปลกดี แต่เรื่องราวที่ผู้เขียนกำลังจะเล่าต่อไปนี้ มันเป็นประสบการณ์อีกประสบการณ์หนึ่งของชีวิตผู้เขียนเองซึ่งไม่เกี่ยวอะไรเลยกับ“แมงดา”ที่ว่านี้ แล้วทำไมถึงตั้งชื่อเรื่องว่า“แมงดา”เรื่องมันมีอยู่ว่า ในช่วงประมาณปีพ.ศ.๒๕๒๙(ไม่แน่ใจ)ได้มีสถานที่ที่แปลกใหม่เกิดขึ้นในคุ้มหนองแวง เยื้องๆกับบ้านของผู้เขียนเอง ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในนาม “เชียงใหม่แลนด์”ได้ยินชื่อบางท่านอาจจะเดาว่า คงจะเป็นหมู่บ้านจัดสรร อย่าพึ่งเดาเลยครับ อ่านต่อจะเข้าใจเอง ช่วงนั้นผู้เขียนน่าจะกำลังเรียนอยู่ ม.๓ จะขึ้นม.๔นี่แหละ “เชียงใหม่แลนด์”ที่ว่านี้เป็นสถานที่สำหรับหนุ่มเล็ก หนุ่มใหญ่ หนุ่มไม่มีเมียหรือหนุ่มเมียเผลอ เทียวแวะเวียนมาหาความสำราญ ผลาญเงินครอบครัวเล่น สาวๆที่ให้บริการส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะมาจากทางภาคเหนือ (เชียงใหม่,เชียงราย) ซึ่งมีป๋า(ไม่ขอเอ่ยชื่อ)และเจ๊(ไม่ขอเอ่ยชื่อ)เป็นผู้ดูแลกิจการถนนสายหน้าบ้านของผู้เขียนคึกคักมากทั้งช่วงกลางวัน กลางคืน หมาเลี้ยงไว้ที่บ้านผอมซูบเพราะไม่มีเวลานอน

 และช่วงนั้นน้ำประปาก็ยังไม่สะดวก โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน “เชียงใหม่แลนด์”จะใช้น้ำมากเป็นพิเศษเพราะใช้ทั้งกลางวัน กลางคืน ทำให้น้ำไม่พอใช้ ซึ่งเจ๊เห็นว่าช่วงตอนเย็นหลังเลิกเรียนหรือวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้เขียนเองไม่ได้ทำอะไร จึงจ้างให้ขนน้ำมาให้โดยจ่ายค่าจ้างรถละ ๑๐ บาท ซึ่งผู้เขียนเองก็จะใช้รถเข็นน้ำหรือบางวันก็ใช้รถมอเตอร์ไซค์พ่วงตักน้ำจากสระที่วัด ระยะทางก็ประมาณ ๑ กิโลเมตร เที่ยวหนึ่งก็จะได้น้ำ ๑๐ แกลลอน ถ้าเป็นหลังเลิกเรียนก็จะขนวันละ ๔-๕ เที่ยว แต่ถ้าเป็นวันหยุดก็วันละ ๑๐ เที่ยว ถือว่ามีรายได้ดีเลยทีเดียวไม่ต้องลงทุนมาก ลงแต่แรง เหตุนี้เอง ผู้เขียนจึงมีโอกาสเข้านอก ออกใน ในสถานที่ต้องห้ามของเด็กคนอื่นๆ ในหมู่บ้านที่ใฝ่ฝันอยากจะเข้าไปดูว่าข้างในเขามีอะไรกัน แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าไปดู บางคนถึงขนาดอาสาจะช่วยผู้เขียนขนน้ำโดยไม่ขอส่วนแบ่งเพียงเพื่อหวังว่าจะได้เข้าไปดูข้างในให้หายสงสัย แต่ก็หมดสิทธิ์ เพราะผู้เขียนเองต้องโกหกว่าเจ๊ไม่ให้คนอื่นเข้าไปนอกจากผู้เขียน เพราะผู้เขียนเห็นว่ามันไม่เหมาะสำหรับเด็กเลย การทำงานของผู้เขียนในแต่ละเที่ยวมันไม่ลำบากกายเลย แต่ลำบากใจมากกว่า ท่านผู้อ่านคิดดูสิ ในการขนน้ำแต่ละเที่ยวจะต้องหิ้วแกลลอนน้ำเข้าไปเทในห้องน้ำหรืออ่างน้ำรวม ห้องน้ำจะถูกสร้างไว้ด้านหลังห้องที่แบ่งออกเป็นห้องเล็กและไม่มีทางเข้า-ออกจะต้องเดินผ่านเข้าห้อง ห้องใดห้องหนึ่งที่ไม่ได้เปิดให้บริการ ซึ่งขณะหิ้วแกลลอนน้ำไปเทในห้องน้ำหรืออ่างน้ำรวมบางทีก็เจอสาวๆหรือหนุ่มๆที่มาใช้บริการกำลังชำระล้างทำความสะอาด โดยไม่อายต่อสายตาที่จะต้องพบเห็นโดยไม่ตั้งใจ(หรือตั้งใจ)

 หรือบางทีต้องเดินผ่านด้านหลังห้องที่ไม่ปิดประตูก็ต้องตกใจตื่นกับภาพที่เห็นแบบไม่มีเซ็นเซอร์ ท่านผู้อ่านคิดดูสิ ว่าในวัยรุ่นตอนต้นๆของผู้เขียนขนาดนั้น ในความไร้เดียงสาและยังไม่ประสีประสาอะไร ได้เห็นสิ่งต่างๆเหล่านั้น ถ้าไม่โชคดีจริงหรือไม่มีจิตใจที่เข้มแข็งพอคงไม่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ (รู้สึกว่าจะชมตัวเองมากไปหน่อย) แต่นั่นยังเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น นานๆเข้าผู้เขียนก็สนิทสนมกับทุกคนที่อยู่ใน“เชียงใหม่แลนด์”โดยเฉพาะป๋ากับเจ๊ มักจะมีขนมหรือของฝากให้กับผู้เขียนและครอบครัวเสมอๆ

วันหนึ่งมีหนุ่มๆจะมาใช้บริการ แต่ไม่รู้จักและไม่กล้าเข้าไป จึงถามผู้เขียนและวานให้ผู้เขียนพาเข้าไป ด้วยความที่คุ้นเคยกับสถานที่จึงรับปากและพาหนุ่มๆกลุ่มนั้นเข้าไป ข้างในจะเป็นห้องกระจก มีสาวๆนั่งอยู่หลายคน บางคนก็กำลังทำงานอยู่ ด้วยความที่คุ้นเคย และรู้จักสาวๆทุกคน ผู้เขียนจึงแนะนำให้หนุ่มๆรู้จักว่าสาวคนไหน ชื่ออะไรบ้าง มีนิสัยอย่างไร จนหนุ่มๆได้คู่กันครบทุกคน ผู้เขียนก็นั่งรออยู่ด้านในโดยเจ๊ให้สาวๆที่ว่างเอาน้ำอัดลมมาให้ดื่ม พร้อมทั้งเงินอีก ๑๐๐ บาท พร้อมอธิบายว่าเชียร์แขกได้ ๕ คน ได้ส่วนแบ่งคนละ ๒๐ บาท นั่งรอจนกระทั่งหนุ่มๆเสร็จภารกิจทุกคนจึงกลับออกมาพร้อมกัน ก่อนจะกลับหนุ่มคนหนึ่งส่งเงินใบละ ๑๐๐ บาทให้ผู้เขียน พร้อมทั้งกล่าวขอบใจ สรุปว่าคืนนั้นมีรายได้แบบสบายๆถึง ๒๐๐ บาท โดยไม่ได้ตั้งใจ และมักจะมีโอกาสอย่างนี้อยู่เสมอๆ จนป๋ากับเจ๊คงจะเห็นว่าผู้เขียนพอจะช่วยงานอย่างนี้ได้ เลยออกปากชวนให้ไปช่วยงานเป็นเด็กเชียร์แขก

 โดยให้ทำงานตอนกลางคืนจากเวลา ๑ ทุ่ม ถึง ๔ ทุ่มครึ่ง และจ่ายเงินเดือน เดือนละ ๖๐๐ บาท เพื่อให้มีรายได้ ส่วนขนน้ำขายก็ยังคงทำอยู่ตามปกติ ไม่ธรรมดาเลยสำหรับเด็กน้อยคนหนึ่ง ที่มีงานทำเพื่อหารายได้ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว และด้วยความที่ทั้งพ่อและแม่ของผู้เขียนเองก็เป็นที่นับถือของทั้งป๋าและเจ๊ การที่ผู้เขียนไปทำงานในสถานที่อย่างนั้นและในเวลากลางคืนพ่อและแม่ของผู้เขียนจึงไม่ว่าอะไร เพียงแต่ท่านคอยแนะนำเสมอว่าให้ระมัดระวังเรื่องทะเลาะวิวาท เพราะว่าคนที่มาในสถานที่อย่างนี้มีหลากหลายประเภท ท่านคงจะเห็นว่าผู้เขียนเองเป็นคนนิสัยพูดจาโผงผาง เสียงดัง และใจร้อน กลัวจะมีเรื่องกับแขกที่มาเที่ยว แต่ก็ไม่มีเรื่องอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้นขณะเดียวกันผู้เขียนเองยังได้ค้นพบสัจจะธรรมบางอย่างที่น่าจะเป็นข้อคิด สามารถเตือนสติ ในการตัดสินว่าใครเป็นอย่างไร “สิ่งที่เราเห็นอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด” บางทีเรามองว่าหญิงสาวที่มีอาชีพขายบริการทางเพศ เป็นประเภทหญิงใจแตก มีปัญหาครอบครัว หรือเป็นประเภทที่มักมากในกาม แต่เมื่อเรามีโอกาสเข้าไปสัมผัส รับรู้ถึงเรื่องราว วัฒนธรรมหรือค่านิยมในสังคมของเขาเหล่านั้นแล้ว ความเป็นจริงคือ หญิงสาวเหล่านั้นเปรียบดังผู้วิเศษของครอบครัว เป็นผู้หารายได้เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีบ้านดีๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หญิงสาวบางคนแต่งงานมีครอบครัว มีลูก แต่ต้องให้สามีเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน ตัวเองต้องจากบ้านจากครอบครัวมาทำงานหารายได้เพื่อจะส่งเงินไปให้เป็นค่าใช้จ่าย

  เกือบสองปีที่ผู้เขียนเปรียบเสมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งใน“เชียงใหม่แลนด์” และนี่เองที่เป็นที่มาของคำว่า “แมงดา” ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะที่มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ แต่คนส่วนมากจะเข้าใจในความหมายโดยไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม เพื่อนๆในห้องเรียน หรือในหมู่บ้านบางคนมักจะเรียกผู้เขียนว่า “แมงดา”แรกๆผู้เขียนเองก็รู้สึกโกรธอยู่บ้าง แต่ก็ต้องทำใจ เพราะเราจะไปเปลี่ยนความคิดของคนอื่นเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง จนบางครั้งผู้เขียนเองต้องไปขอคำอธิบายจากอาจารย์ภาษาไทยที่โรงเรียน เพื่อให้ท่านอธิบายคำว่า“แมงดา”ให้ฟัง และเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้เขียนทำอยู่ว่าเข้าข่ายที่คนอื่นจะเรียกผู้เขียนว่า“แมงดา”หรือไม่ แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญเพราะว่ายังไงเขาก็เรียกผู้เขียนว่า“แมงดา”ไปแล้ว และผู้เขียนจะเป็น“แมงดา” เหมือนที่คนอื่นเขาเรียกหรือไม่ไม่สำคัญ แต่สิ่งที่ได้จากประสบการณ์เหล่านั้นมันยิ่งใหญ่กว่า

      เรื่องนี้ ผู้เขียนต้องขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนในการสร้างประสบการณ์ดีๆและไม่ได้มีเจตนาจะเอาบุคคลอื่นมาพูดในทางที่เสียหายหรือเสื่อมเสีย เพียงแต่มีแนวคิดว่า ประสบการณ์ต่างๆที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัส ทำให้ผู้เขียนได้รู้อะไรมากมาย ยิ่งกว่าอ่านตำราเป็นร้อยเล่ม “เพียงแต่เรารู้จักที่จะคิดให้เป็นบวก และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราเองได้อย่างไร” แล้วท่านผู้อ่านล่ะคิดอย่างไร... อย่าลืม“สิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด”นะครับ

 จากเรื่องจริงของ...คนขายศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 440782เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...อ่านไปอ่านมา..ยาย..งง..งง..อยู่ว่า...เมื่อไร..คนจา...กลายเป็น..แมงดา...และมัน..จา ...เปลี่ยนเป็นแมงดา..ได้..จริงไหม..อิอิ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท