พ่อค้าไอติม


ผู้เขียนเกิดความรู้สึกสงสารยายอย่างจับใจและนึกถึงคุณยายของผู้เขียนเอง

 หนังสือเขียนนอกเวลาราชการ 

(แต่อ่านได้ทุกเวลา)

 เรื่อง...พ่อค้าไอตีม  

จากเรื่องจริงของ...คนขายศาสตร์                      

หมายเหตุ  เพื่อสุขภาพไม่ควรอ่านเกินวันละ ๒ รอบ  

 .....พ่อค้าไอตีม.....

ในช่วงประมาณปีพ.ศ.๒๕๒๘-๒๕๓๑ ได้มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นในคุ้มหนองแวง เขตเทศบาลเมืองเมืองพล อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น นั่นคืออาชีพทำไอตีมขาย ไอตีมที่ว่านี้ทำมาจากกะทิมะพร้าวซึ่งไม่รู้ว่ามีต้นตำหรับมาจากไหนและใครเป็นคนนำสูตรการทำไอตีมกะทิเข้ามาเป็นเจ้าแรกในคุ้มหนองแวง แต่ทำกันหลายครอบครัว จนเป็นสัญลักษณ์ของคุ้มหนองแวงเลยทีเดียว ถ้าเป็นยุคปัจจุบันนี้ก็คงจะเป็น OTOP ของคุ้มหนองแวง ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับผู้เขียน เรื่องมันมีอยู่ว่า พ่อของผู้เขียนเอง(คุณพ่อบุญมี  อุปแก้ว หรือพ่อใหญ่หลง)เป็นคนประเภทเห็นใครทำอาชีพอะไรต้องลองทำกับเขาไปทุกอาชีพ ช่วงนั้นที่บ้านของผู้เขียนเองเลิกขายของชำ เนื่องจากเบื่อระบบเงินเซ็น ประเภท ไม่โกง ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย สุดท้ายร้านค้าเจ๊ง ตอนนั้นที่บ้านมีรถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าเก่าๆ อยู่คันนึง พ่อจึงนำไปต่อพ่วงด้านข้างและก็ซื้ออุปกรณ์ในการทำไอตีมมา ๑ ชุด ส่วนสูตรและขั้นตอนวิธีทำก็ไม่ยาก อาศัยความเป็นคนมีน้ำใจไปช่วยเพื่อนบ้านเขาทำอยู่ ๕ วัน ก็ทำเป็นแล้ว จนในที่สุดก็สามารถทำไอตีมได้เองและยังมีสูตรพิเศษที่ไม่เหมือนใคร จนเป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้าทั่วไป 

หลังจากที่เริ่มอาชีพขายไอตีม ทุกคนในครอบครัวก็มีส่วนในการช่วยกันทำ เริ่มตั้งแต่ ตอนเย็นทุกวัน พ่อจะเป็นคนไปสั่งซื้อของจากร้านเจ๊กอ้าว ร้านเจ๊กอ้าวจะตั้งอยู่เยื้องๆสถานีรถไฟเมืองพล มีสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการทำไอตีมไว้จำหน่าย เช่นน้ำแข็งมือ(น้ำแข็งเป็นก้อนสำหรับทุบใส่ในถังปั่นและถังใส่ไอตีม),ขนมปัง,ถ้วยพลาสติกใส่ไอตีมขนาดต่างๆ และอุปกรณ์อีกมากมายครบครัน ทุกวันช่วงเย็นพ่อค้าไอตีมจะต้องไปสั่งของที่จะต้องใช้ จนรถพ่วงจอดเต็มไปหมดแถวๆสถานีรถไฟ โดยมีเทคนิคทางการตลาดคือเอาของไปใช้ก่อนตอนเย็นค่อยเอามาจ่ายและก็สั่งของใหม่ ส่วนแม่(คุณแม่บุญมา  อุปแก้ว)ก็มีหน้าที่กวนแป้งสิงคโปร์(แป้งมัน)ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำไอตีม พี่จิตจะเป็นคนทำกับข้าวไว้รอทุกคนและทำงานบ้าน พี่อ้วนก็จะเป็นคนปอกมะพร้าว ส่วนผู้เขียนและชาติกับเชาน้องทั้งสองคน ก็จะช่วยกันขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าว  ในตอนเช้ามืด ทุกคนจะตื่นขึ้นมาช่วยกัน ไม่จำเป็นต้องปลุกเพราะว่ามีนาฬิกาปลุกชั้นดี คือเสียงทุบน้ำแข็งและเสียงปั่นไอตีมจากบ้านต่างๆดังสนั่นเลยทีเดียว พ่อกับพี่อ้วนจะมีหน้าที่ปั่นไอตีมซึ่งถือว่าเป็นงานหนักทีเดียว เนื่องจากเป็นเครื่องปั่นด้วยมือ(ปัจจุบันพัฒนาเป็นเครื่องปั่นด้วยไฟฟ้า) ส่วนผู้เขียนก็จะมีหน้าที่คอยทุบน้ำแข็งและเติมน้ำแข็ง เติมเกลือเม็ก(เกลือสำหรับใส่ถังปั่นและถังใส่ไอตีมผสมกับน้ำแข็ง เพื่อให้ไอตีมแข็งตัว)

ชาติกับเชาน้องทั้งสองคนก็จะเตรียมของและอุปกรณ์ที่จะใช้ เช่นเตรียมขนมปัง ทำความสะอาดรถพ่วง ส่วนแม่ก็จะเตรียมข้าวเหนียวมูลและถั่วลิสงคั่ว หรือบางวันก็เป็นถั่วเหลืองนึ่ง พี่จิตก็จะทำกับข้าวและงานบ้าน เป็นกิจวัตรประจำวันเลยทีเดียว ลงทุนประมาณ ๒๕๐ -๓๐๐ บาทต่อ ๑ ถังปั่นต่อวัน ขายได้ประมาณวันละ ๔๕๐-๕๐๐ บาท  ก็พอมีรายได้เข้าครอบครัวทุกวัน  ในช่วงนั้นพี่อ้วนก็ไม่ได้เรียนหนังสือบางวันพ่อก็ให้ไปขายไอตีมแทน จนพ่อมั่นใจว่าสามารถรับผิดชอบได้แล้ว พ่อจึงไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์ซูซูกิอาร์ซีร้อยสีแดง อีกคันมาต่อพ่วงและซื้ออุปกรณ์เพิ่มอีก ๑ ชุด ตอนนี้ที่บ้านงานหนักขึ้น เพราะจากเคยทำไอตีมวันละ ๑ ถังปั่นต้องทำวันละ ๒ ถังปั่น หรือถ้าบางวันพิเศษมีงานบุญตามบ้านต่างๆอาจจะทำถึง ๓ ถังปั่น แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะว่าทุกคนต่างก็ช่วยกันทำงานตามหน้าที่ พี่อ้วนยึดรถฮอนด้า ส่วนพ่อก็ประจำรถคันใหม่ ในช่วงนั้นผู้เขียนเองกำลังเรียนอยู่ม.ปลาย ในช่วงปิดเทอมจึงขออาสาเป็นพ่อค้าไอตีมเองโดยให้พ่อได้พักผ่อน ส่วนเส้นทางที่ขายก็เขตอำเภอหนองสองห้อง บ้านหนองเม็ก บ้านสำราญ บ้านสำโรง บ้านโคกสูงหรือบางครั้งก็ไกลถึงอำเภอนาเชือก ข้ามจังหวัดเลยทีเดียว บางวันฝนตกต้องหาศาลาริมทางหลบฝน บางวันรถยางรั่ว บางวันมีงานบุญ ลูกค้าเยอะมากตักขายแทบไม่ทัน บางวันใส่เกลือเม็กเยอะเกินไปทำให้ไอตีมแข็งเกินไปตักยาก บางวันอากาศร้อนมากน้ำแข็งละลายเร็วหรือถ้าใส่เกลือเม็กน้อยทำให้ไอตีมเหลวตักขายไม่ได้

 

มีอยู่วันหนึ่งขณะที่เข้าไปขายไอตีมในหมู่บ้านหนึ่ง(ไม่ขอเอ่ยชื่อหมู่บ้าน)  คนในหมู่บ้านนั้นส่วนมากกลางวันจะเล่นการพนันกันเกือบทั้งหมู่บ้าน พอรถไอตีมวิ่งเข้าหมู่บ้านก็มีน้องผู้ชายคนหนึ่งวิ่งไปขอเงินแม่ที่กำลังตั้งวงเล่นไพ่อยู่ ช่วงนั้นผู้เป็นแม่น่าจะกำลังเสียเงินจึงโมโหให้ลูก นอกจากจะไม่ให้เงินแล้วยังใช้ไม้ตีจนเด็กร้องไห้ ผู้เขียนเห็นแล้วจึงรู้สึกสงสารเด็กคนนั้นมาก ตักไอตีมส่งให้เด็กน้อยโดยไม่เอาเงินและปลอบเด็กให้หยุดร้องไห้ ขณะนั้นผู้เขียนมีความรู้สึกว่าแม่ของเด็กน้อยคนนั้นช่างเป็นแม่ที่ใช้ไม่ได้เอาเสียเลยไม่น่าจะเป็นแม่คน มีเงินเล่นการพนันแต่ไม่มีเงินซื้อไอตีมให้ลูกกิน ท่านผู้อ่านก็คงจะมีแนวคิดไม่ต่างจากผู้เขียนในขณะนั้น ยังมีอีกหนึ่งความทรงจำที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากคือ ขณะที่กำลังขับรถไอตีมเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งพร้อมทั้งบีบแตรลมส่งเสียง เป๊ก เป๊ก เป็นสัญญาณเรียกลูกค้า มียายคนหนึ่งน่าจะอายุราวๆ ๘๐ ปี มือข้างหนึ่งถือไม้เท้า อีกมือถือถ้วยเดินมาพร้อมทั้งเรียกให้หยุดรถ พอผู้เขียนหยุดรถแล้วจึงถามยายว่าจะเอาไอตีมแบบใส่ขนนปังหรือแบบใส่ถ้วย     ยายจึงบอกว่าเอาเฉพาะก้อนไอตีมใส่ถ้วยของแกได้ไหม เพราะจะเอาไปกินกับข้าว ผมจึงถามว่ายายจะเอาเท่าไหร่ ยายจึงบอกว่ายายไม่มีเงิน ให้หลานไปโรงเรียนตอนเช้า ๕ บาท เหลืออยู่ ๓ บาท ตักให้ยายเท่าไหร่ก็ได้พอได้กินกับข้าว ผู้เขียนเกิดความรู้สึกสงสารยายอย่างจับใจและนึกถึงคุณยายของผู้เขียนเอง(คุณยายสอน  พืชสิงห์)

  จึงพูดกับยายว่าผมไม่เอาเงินกับยายหรอกครับพร้อมทั้งตักไอตีมใส่ถ้วยให้ยายจนเต็มถ้วยและบอกยายว่าหากวันไหนยายอยากกินไอตีมให้เรียกผมได้เลย ยายรับไอตีมจากผู้เขียนพร้อมทั้งพูดขอบอกขอบใจอวยพรให้ต่างๆนานาตามแบบฉบับของคนแก่ คนเฒ่า วันนั้นรู้สึกว่าไอตีมจะขายดีเป็นพิเศษหมดตั้งแต่วัน แถมยังได้เงินเยอะอีกด้วย เมื่อกลับถึงบ้านผู้เขียนรีบเล่าให้พ่อกับแม่ฟังพร้อมทั้งขอโทษที่ทำอย่างนั้นในใจก็นึกกลัวว่าพ่อกับแม่จะต่อว่าที่เอาของซื้อของขายไปแจกจ่ายฟรีๆ แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้รับกลับเป็นคำชมจากพ่อและแม่ ผู้เขียนได้มีโอกาสทำหน้าที่พ่อค้าไอตีมอยู่บ่อยๆในช่วงปิดเทอมหรือวันหยุด ช่วงนั้นญาติๆของผู้เขียนหลายคนเป็นครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในอำเภอพล ยังใช้เวลาว่างเสาร์-อาทิตย์หารายได้เข้าครอบครัวด้วยการเป็นพ่อค้าขายไอตีม บางคนปัจจุบันเป็นข้าราชการจบปริญญาโท บางคนเป็นด๊อกเตอร์ก็มี พูดให้ใครฟังคงไม่อยากจะเชื่อ แม้กระทั่งตัวผู้เขียนเองหากไปเล่าให้ใครฟังคงไม่เชื่อว่าครั้งหนึ่งในชีวิตเคยเป็นพ่อค้าไอตีม เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ทรงคุณค่าและยังจดจำได้ทุกวันนี้

 จากเรื่องจริงของ...คนขายศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 440780เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...ยายธี..ชอบกินไอติม..ชาวบ้านที่ขี่มอเตอร์ไซด์มาขาย...แต่ไม่เคยกินกะข้าว..อ้ะ..

ขอบคุณครับ

ไอติมเป็นภาษาชาวบ้านเรียกกันมานานนะ ....คุณยายธี ผมเกิดมาก็ได้ยิมคำนี้นะไม่รู้ว่ามีมานานเป็น 100 ปีหรือเปล่าก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดเจนนะ แต่ผมคนหนึ่งที่ชอบไอติมถั่วดำนะ พูดแล้วมันน่าหาซื้อมาทานให้อิ่มเลยเนาะ

องค์ความรู้อีกส่วนหนึ่งขอบอกครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท