มาตรา 50 (5)


พรบ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

การขึ้นทะเบียนหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน

         

                   มาตรา ๕๐(๕) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ กำหนดให้มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้ประชาชนสามารถเสนอเรื่องร้องเรียนได้โดยสะดวก และเป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน

                    การดำเนินการที่ผ่านมา คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขได้ออกข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการร้องเรียนของผู้ถูกละเมิดสิทธิจากการใช้บริการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (โดย Call center) สำนักงานสาขาเขต สำนักงานสาขาจังหวัด เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียน

                   เพื่อให้มีหน่วยงานที่ประชาชนสามารถเสนอเรื่องร้องเรียนได้โดยสะดวกและเป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขจึงออกประกาศหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน โดยมีสาระสำคัญ และแนวทางปฏิบัติดังนี้

(๑)   ผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียน

ผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียน จะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน มูลนิธิ สมาคม ชมรม หรือการรวมกลุ่มในรูปแบบอื่นทั้งที่เป็นนิติบุคคล หรือไม่เป็นนิติบุคคล ซึ่งดำเนินงานด้านคุ้มครองสิทธิ โดยมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไร

(๒)   การยื่นคำขอขึ้นทะเบียน

-         ใช้คำขอขึ้นทะเบียนตามแบบที่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขกำหนด

-         ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาจังหวัดหรือสาขาเขต

(๓)   การพิจารณาขึ้นทะเบียน

-    สำนักงานสาขาจังหวัดจะเป็นผู้รวบรวมคำขอขึ้นทะเบียน พร้อมเอกสารหลักฐานเสนอให้คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ระดับจังหวัดตรวจสอบและประเมินคุณลักษณะเบื้องต้น หากเห็นว่าหน่วยงานใดเหมาะสมที่จะกำหนดให้เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียน ให้เสนอคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพื่อพิจารณา

-    คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขพิจารณาผลการตรวจประเมินแล้วเห็นด้วยกับผลการประเมินนั้น ก็จะออกประกาศให้เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียน

-    คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขสามารถใช้ดุลพินิจในการกำหนดจำนวนหน่วยรับเรื่องร้องเรียนในแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมหรือข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ประกอบ

(๔)   คุณลักษณะของหน่วยรับเรื่องร้องเรียน

-         ไม่เป็นหน่วยบริการ หรือไม่เป็นหน่วยงานต้นสังกัด หรือไม่เป็นหน่วยงานในสังกัดของหน่วยบริการ

-         มีสถานที่ในการปฏิบัติงานอยู่แล้วและประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และไม่ตั้งอยู่ในหน่วยบริการ

-    จะต้องดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรับเรื่องร้องเรียนมาไม่น้อยกว่าสองปี ไม่ว่าจะเป็นการรับเรื่องร้องเรียนใดๆก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

-    สามารถให้บริการแก่ผู้มาติดต่อได้ตลอดเวลาทำการ อาจจะไม่ได้ปฏิบัติงานที่หน่วยงานแต่ให้สามารถให้ติดต่อทางโทรศัพท์ได้ตลอดเวลาก็ได้

-    มีเจ้าหน้าที่ที่เคยผ่านการอบรมเกี่ยวกับการให้ความรู้ความเข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และวิธีการดำเนินการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสำนักงานเขต เป็นผู้จัดการอบรม และหากมีหน่วยงานใดที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียน แต่ยังขาดคุณสมบัติในเกี่ยวกับการอบรมนี้ สำนักการมีส่วนร่วมของภาคีจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดอบรม โดยจะเชิญสำนักกฎหมาย และสำนักประชาสัมพันธ์และบริการประชาชนเป็นวิทยากร

(๕)   หน้าที่ของหน่วยรับเรื่องร้องเรียน

-         รับและบันทึกเรื่องร้องเรียน

-         ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ประสานงาน ชี้แจง สร้างความเข้าใจ

-    สรุปผลการดำเนินงานแต่ละเดือน และรายงานประจำปีเสนอคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

(๖)   การติดตามกำกับ

-    คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข จะต้องดำเนินการตรวจประเมินหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจมอบให้สำนักงานสาขาจังหวัดหรือสาขาเขตดำเนินการตรวจประเมินแทนก็ได้

-    กรณีตรวจสอบพบว่า หน่วยรับเรื่องร้องเรียนปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง หรือมีเหตุอันทำให้ประชาชนไม่สามารถเสนอเรื่องร้องเรียนได้โดยสะดวก หรือไม่เป็นไปตามลักษณะของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่กำหนด คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขมีอำนาจพิจารณาตักเตือน หรือเสนอคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพิกถอนการขึ้นทะเบียน

-    หากหน่วยรับเรื่องร้องเรียนมีพฤติการณ์ไม่สุจริต หรือแสวงหาผลประโยชน์ ให้คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเสนอคณะควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขพิจารณาเพิกถอนการขึ้นทะเบียน

(๗)  การสนับสนุนงบประมาณ

ยังไม่มีแผนงบประมาณสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยรับเรื่องร้องเรียน แต่หากเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ซึ่งมีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนและมีงบประมาณสนับสนุนอยู่แล้ว ก็จะผลักดันให้มาขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามประกาศนี้

การประชุมพิจารราคำร้องตามมาตรา 41

สสจ ลำปาง    

..........................................................

คำสำคัญ (Tags): #มาตรา50(5)
หมายเลขบันทึก: 440483เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2011 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท