เปิดหน้า 1


เล่าเรื่องจากลำปาง

     ลำปางเป็นจังหวัดต้นๆที่ขึ้นรถไฟขบวน“เด็กไทยไม่กินหวาน” ตลอดเส้นทางที่ผ่านมาเราผ่านการลองผิดลองถูกล้มลุกคลุกคลานมาหลายรูปแบบ จนเกิดคำว่า “ทำไร่เลื่อนลอย”คือทำไม่สำเร็จก็เปลี่ยนพื้นที่เปลี่ยนแนวทางไปเรื่อยๆ..จนกระทั่ง  2-3 ปีต่อมาเรามุ่งเป้าหมายไปที่ศูนย์เด็กเพราะในช่วงนั้นปัญหาฟันผุในเด็กเล็กเป็นเรื่องใหญ่ (ปี 49 สำรวจพบเด็ก5 ปีเป็นโรคฟันผุร้อยละ 84)

     เริ่มจาก..หาทีมงาน เราได้ทีมงานมา 5 ทีมใน 5 อำเภอ  หยิบประเด็นศูนย์เด็กน่าอยู่กับเด็กไทยไม่กินหวานมาบูรณาการกัน และเข้าไปประสานการดำเนินงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแสวงหาความร่วมมือจากผู้ปกครอง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ในคราวนั้นเราได้ศูนย์เด็กอ่อนหวานทั้งหมด 40 แห่ง      ปลายปี 49 เราถอดบทเรียน จนได้ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงเวลาทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาเป็น 5PIES model

 

  • Problem การนำเสนอปัญหา ต้องแปลงข้อมูลออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ทำให้ชาวบ้าน concern เห็นว่าเป็นปัญหา เพื่อให้ท้องถิ่นทราบว่าหากแก้ปัญหาแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง และจะมีผลต่อคะแนนเสียงอย่างไร
  • (key) Person บุคคลสำคัญในอปท.ที่หากได้ทราบเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแล้วจะทำให้ได้รับความร่วมมือ สำคัญที่สุดคือผู้รับผิดชอบงาน (นวก.ศึกษา/ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข) และผู้บริหาร
  • Period ควรนำเสนอปัญหาหรือโครงการในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. เพื่อที่จะเข้าสู่การจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี ภายใน 5 ส.ค.  ไม่เช่นนั้นต้องนำเข้าสู่การปรับแผนของอปท.
  • Personality บุคลิกภาพของผู้ที่จะประสานความร่วมมือกับอปท. ต้องมีความรอบรู้ สามารถร่วมดำเนินงานสาธารณสุขได้รอบด้าน ไม่เช่นนั้นต้องมีทีมที่ดี นอกจากนั้นควรมีความอดทนเพราะอาจต้องติดต่อหลายครั้งจึงจะได้รับความร่วมมือ
  • Participatory เมื่อได้รับความร่วมมือแล้ว ในเรื่องของการดำเนินงานควรมีการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบของผู้มีเกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย เพื่อให้เกิดความมีส่วนร่วมให้มากที่สุด นอกจากนั้นแล้วควรมีความสัมพันธ์ที่ดีไม่เพียงแต่เรื่องงาน
  • Indicator ในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กนั้น ควรมีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน เครือข่ายไม่กินหวานอยากให้เป็นอย่างไร อปท.ต้องการให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
  • Evaluation&Summary หลังจากมีการดำเนินงานร่วมกันแล้วควรมีการประเมินผลการดำเนินงานร่วมกันเป็นระยะ และสุดท้ายควรจะสรุปผลการดำเนินงานร่วมกัน
  • Imforomation ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ เชื่อมโยง เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพหาประเด็นเชื่อมโยง

     ตั้งแต่นั้นมาปัจจัยต่างๆใน 5PIES model จะถูกนำมาใช้เป็นตัวช่วยในการทำงาน ซึ่งตอนนี้เราตอบได้แล้วว่าไม่จำเป็นต้องเฉพาะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่เป็นการประสานความร่วมมือกับชุมชนหรือหน่วยงานอื่นๆก็สามารถหยิบไปใช้ได้

     ปี 2550 การไปศึกษาดูความสำเร็จชองการทำงานไม่กินหวานในโรงเรียนของจังหวัดแพร่ เป็นแรงใจให้พวกเราก้าวเข้าไปทำงานในโรงเรียนอย่างจริงๆจังๆ   ในครั้งนั้นตั้งเข็มไว้ที่ประเด็นโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ โดยให้ทันตาภิบาลรับผิดชอบ (1 ทันตา 1 โรงเรียน) มีการพูดคุยผ่านเวทีการประชุมทันตบุคลากร และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน ผลก็คือ ในปี 50-51ทันตาฯใช้ต้นแบบการดำเนินงานของแพร่ ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเอง ร่วมกับการทำงานอย่างเข้มแข็งของทีมรพช.ทำให้เราเห็นศักยภาพของทีมงานเราเอง และ พลังที่น่าทึ่งของครู-นักเรียน และเราได้โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ 300 แห่ง (จากการสำรวจการจำหน่ายในโรงเรียนทั้งหมด 425 แห่ง)

     แม้ว่าในปี 2551 เรามีโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ มากมาย แต่พอเราลงไปสำรวจพฤติกรรมบริโภคของเด็ก เราเลยต้องกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้ง เพราะเด็กอายุ 12 ปี ยังกินขนมกรุบกรอบเป็นประจำ(มากกว่า 3 วัน/สัปดาห์) ถึงร้อยละ 65 นั่นแปลว่าไม่มีให้กินที่โรงเรียนแต่ เด็กๆกับขนมยังมีพลังดึงดูดต่อกัน พฤติกรรมบริโภคที่เหมาะสมไม่ได้ติดตัวเด็กไป ออกนอกรั้วโรงเรียนก็ซื้อหามากินได้แล้ว

     ในปี  2552 ต่อเนื่องมาจนถึง ปี 2553 เราเลยจึงพร้อมใจกันขยายเป้าหมายออกจากโรงเรียน และศูนยเด็กสู่..หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นหมู่บ้าน/ชุมชนอ่อนหวาน เริ่มจากการผลักดันเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ของแผนงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ปี 2552 กำหนดให้แต่ละอำเภอมีการดำเนินการอย่างน้อย 1 หมู่บ้าน/ชุมชน (เพื่อให้อำเภอสามารถแสวงหางบประมาณและทีมงานได้สะดวกขึ้น) เราหวังผลให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาที่เกิดจากการบริโภคที่ไม่เหมาะสมของเด็ก ผู้ปกครองเด็กเล็ก /ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของเด็ก รวมทั้งตัวเด็กเอง “เลือกกินเป็น”

      หลังจากทำงานกันไป 1 ปี มีแค่ 1 พื้นที่ คือ บ้านแม่ผึ้ง อำเภอเสริมงาม ที่ชุมชน/ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาจับมือกันจัดการเรื่องการบริโภคของเด็ก มีการต่อยอดศูนย์เด็กอ่อนหวาน สู่ การจัดเมนูชูสุขภาพให้นักเรียนประถม เพื่อให้อาหารกลางวันที่อร่อยและมากคุณค่า เต็มท้องเด็กจนไม่เหลือที่ว่างให้ขนมขยะ นอกจากนั้นชุมชนมีนโยบายใช้น้ำสมุนไพรอ่อนหวานแทนน้ำอัดลมในงานบุญ และการไม่ถวายน้ำอัดลมให้พระสงฆ์ด้วย

     ปีแรก..เคลื่อนไม่ไป เราถอดบทเรียนออกมาได้ว่า 1) เป้าหมายกับแนวทางที่เราคุยกันตอนต้นปีไม่ชัดพอ    ผู้ปฏิบัติงง! ไปไม่ถูก  2) ทีมงานเราไม่หลากหลาย ทันตบุคลากรไม่มีทักษะในการเข้าชุมชน ทำประชาคม              3) เราพูดคุยติดตาม ปรึกษาหารือกันน้อยไป  ดังนั้น ปี 52 ต้องกำจัดจุดอ่อนทั้ง 3

    เริ่มต้นที่ความชัดเจน… เรากำหนดวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคระดับครอบครัวและชุมชน ดังนั้นผลลัพธ์อาจเกิดจากการทำงานในชุมชน ในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กก็ได้  แต่ต้องเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปถึงครอบครัว หรือบุคคล  โดยกำหนดเป้าหมายเป็น  4 ระยะ คือ

ระดับที่ 1 มีกิจกรรมสร้างกระแส/สร้างความตระหนักในหมู่บ้าน/ชุมชน

ระดับที่ 2 ชุมชนเกิดความตระหนัก และมีการจัดกิจกรรมด้านสุขภาพในประเด็นหมู่บ้านอ่อนหวาน/ชุมชนอ่อนหวาน

ระดับที่ 3 เกิดนโยบายสาธารณะเพื่อลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ ที่เกิดจากการทำประชาคม ประชุมกรรมการต่างๆ  และรูปแบบที่เกิดในลักษณะของคำมั่นสัญญา ที่ชุมชนบอกว่าจะทำ หรือจะไม่ทำอะไร

ระดับที่ 4 เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค มีการลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม อย่างเป็นรูปธรรม

     จากนั้นเราพยายามกำจัดจุดอ่อนที่ 2 โดยการสร้างทีม เราพยายามชวนเพื่อนร่วมทางสหวิชาชีพเข้ามาทำงาน และจัดอบรมพัฒนาศักยภาพทีมงาน เน้นเรื่องการทำงานเป็นทีม และเทคนิคการเข้าชุมชน การทำประชาคม เพื่อให้พี่น้องทันตบุคลากรมีความมั่นใจมากขึ้นหากต้องก้าวเข้าไปในชุมชน

     และทั้งปีเรา keep in touch พยายามใช้ทุกรูปแบบของการติดตาม สนับสนุนให้กำลังใจ หลักๆก็มีเรื่องของการนำเสนอแผนตั้งแต่ต้นปี ระหว่างทางก็ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำเสนอความก้าวหน้าในการทำงาน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนวิทยายุทธ์กันไปในตัว พร้อมทั้งติดตามงานผ่านรายงานประจำเดือน  และโทรศัพท์ถามไถ่ความเป็นไป  สุดท้ายก็ประชุมสรุปผลการดำเนินงาน ชื่นชมคนทำดี และให้กำลังใจทีมงานที่เดินไปเจออุปสรรคก้อนโตระหว่างทางทำให้ไปได้ช้า หรือว่าต้องเปลี่ยนเส้นทางใหม่

ปลายปี 53 เราได้ผลิตผลอ่อนหวานมาหลากรูปแบบ ดังนี้

  • โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ลูกอมขนมกรุบกรอบ 299 แห่ง (จากทั้งหมด 405 แห่ง)
  • ศูนย์เด็กอ่อนหวาน 268 แห่ง (จากทั้งหมด 390 แห่ง)
  • ตำบลอ่อนหวาน 2 ตำบล (มีนโยบายปลอดน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบในงานบุญ)
  • หมู่บ้านอ่อนหวาน 16 หมู่บ้าน (มีนโยบายปลอดน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบในงานบุญ)
  • และ ครอบครัวอ่อนหวาน  20 ครอบครัว

      ทั้งหมดนี้ เป็นผลจากความทุ่มเทของทีมงานทุกคนที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งปี (ใครๆก็รู้ว่า ลำปางหนาวมาก งานเยออออะ) ขอบคุณเหงื่อทุกเม็ดของทีมอ่อนหวานลำปางหนาทุกๆคน

     จริงอยู่..setting ต่างๆที่เราลงไปทำงานเกิดนโยบายสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม   แต่ทว่า จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมเด็ก 12 ปี ทำให้เรารู้ว่าเรายังไปไม่ถึงขั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างชัดเจนนัก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่เป็นเป้าหมายหลักของเรา(ลงทุนซะเยอะผลลัพธ์ไปออกที่กลุ่มผู้ใหญ่ซะงั้น)

     ภารกิจของเรายังไม่สำเร็จยังต้องไปต่อ ปีหน้าจังหวัดลำปางคงจะไม่ขยายพื้นที่ดำเนินการ แต่เราจะพยายามลงลึกไปให้ถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กกลุ่มเป้าหมายให้ได้

 ..โปรดติดตามตอนต่อไป..

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง 



 







หมายเลขบันทึก: 440426เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2011 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Series assessment is that its design in screws and completed with the baby

พี่เขียนไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้ววันนี้น้องเปิดคอมฯมา ขึ้นหน้านี้เป็นหน้าแรก… แปลกแต่จริงจำ user name และ รหัสผ่านใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น 555แต่เพียรเข้าจนได้ … (ดูเหมือนพยายามมาก)คิดถึงพี่ คิดถึงมดน้อยหน่อย )?(

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท