ฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลแม่ทะ


ทำไมต้องขูดหินปูน

ทำไมต้องขูดหินปูน

คราบฟันหรือหินปูน (MEDICAL Link)
           หินปูนหรือหินน้ำลาย คือ แผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัว เนื่องจากมีธาตุแคลเซียมจากน้ำลายเข้าไปตกตะกอน แผ่นคราบจุลินทรีย์ หรือ Bacterial plaque คือ คราบสีขาวขุ่นนิ่ม ที่ประกอบด้วยเชื้อโรคที่ติดอยู่บนตัวฟัน แม้ว่าจะบ้วนน้ำก็ไม่สามารถหลุดออกได้ 

           กระบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์ เริ่มต้นหลังจากที่แปรงฟันแล้วเพียง 2-3 นาที โดยจะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่มากในปากจะมาเกาะทับถมกันมาก ๆ เข้า เกิดเป็นคราบจุลินทรีย์คราบจุลินทรีย์

           นี้เองเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป คราบจุลินทรีย์นี้จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างกรดและสารพิษ โดยกรดจะทำลายเคลือบฟัน ทำให้ฟันผุ สารพิษจะทำให้เหงือกอักเสบ ทำให้เกิดโรคปริทันต์ ถ้าไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์โดยการทำความสะอาดฟัน และเหงือกอย่างดีทุกวัน คราบนี้จะเพิ่มมากขึ้น และทำอันตรายต่อฟันและเหงือก มักพบคราบจุลินทรีย์มาก โดยเฉพาะที่คอฟัน บริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน สามารถใช้สีย้อมให้เห็นคราบได้ชัดเจน แต่ในรายที่คราบหนามาก ๆ สามารถเห็นและรู้สึกได้เมื่อใช้ลิ้นสัมผัสไปตามฟัน

ความสำคัญและความจำเป็นในการขูดหินปูน  

          บนพื้นผิวหินน้ำลาย จะมีคราบจุลินทรีย์ปกคลุม หินน้ำลายที่โผล่พ้นขอบเหงือกจะมองเห็นได้ แต่ส่วนที่อยู่ใต้เหงือกจะมองไม่เห็น หินปูนหรือคราบจุลินทรีย์ที่ยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือก ไม่สามารถกำจัดออกได้โดยวิธีการทำความสะอาดฟันด้วยตัวเอง ต้องอาศัยทันตแพทย์ช่วยกำจัดหินปูนให้ ทันตแพทย์จะขูดหินปูนออกทั้งเหนือเหงือกและใต้เหงือก จากนั้นทำรากฟันให้เรียบ (root planning) ปราศจากสารพิษใด ๆ เพื่อให้เหงือกยึดแน่น รอบตัวฟันเหมือนเดิม

           การขูดหินปูนให้หมดจริง ๆ อาจต้องใช้เวลาพอสมควร อาจต้องนัดครั้งละ 30-45 นาที เป็นเวลา 2-4 ครั้ง หรือมากกว่านั้นขึ้นกับความมากน้อยของหินปูน ความลึกของร่องลึกปริทันต์ความแข็งของหินปูน เป็นต้น
           หลังจากนั้นประมาณ 4-6 อาทิตย์ ทันตแพทย์จะประเมินผลดูว่าผู้ป่วยหายจากโรคปริทันต์หรือไม่ โดยดูลักษณะเหงือกว่ากลับสู่สภาพเดิมหรือยัง มีเลือดออกเวลาแปรงฟัน และเมื่อใช้เครื่องมือวัดร่องลึกปริทันต์ว่าตื้นขึ้น หรือเข้าสู่ภาวะปกติหรือไม่ ถ้ายังมีความลึกของร่องลึกปริทันต์อยู่ ทันตแพทย์จะพิจารณาว่าควรจะทำการผ่าตัดหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการร่วมมือของผู้ป่วยในการทำความสะอาดด้วย แม้ว่าเหงือกจะกลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยละเลยไม่ทำความสะอาดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ก็สามารถที่จะกลับมาเป็นโรคปริทันต์ได้อีก

ควรเริ่มขูดหินปูนตั้งแต่วัยใด  

           สามารถขูดหินปูนได้ทุกวัย แม้กระทั่งในวัยเด็กที่มีฟันน้ำนมขึ้นแล้วไปจนกระทั่งผู้สูงอายุ ในระยะแรก ๆ หลังการขูดหินปูน ควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจและทำความสะอาด ภายใน 2-3 เดือน จากนั้นถ้าผู้ป่วยสามารถทำความสะอาดได้ดี ไม่มีเหงือกอักเสบ หรือไม่มีร่องลึกปริทันต์ ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจและขูดหินปูนภายใน 5-6 เดือน โดยทุกครั้งจะดูความร่วมมือของผู้ป่วย และอาจทบทวนวิธีการทำความสะอาดฟันและเหงือกด้วย
สสจ.ลำปาง

หมายเลขบันทึก: 440420เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2011 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท