ระบบเรตติ้ง คือ ระบบความรับผิดชอบร่วม


ทั้งหมดเป็นการยืนยันว่า การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ที่ยังไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ก็เท่านั้นเอง บทความในโพสต์ทูเดย์ ฉบับวันทื่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔

จากกระแสของการวิพากษ์วิจารณ์ละครเรื่อง ดอกส้มสีทอง เป็นปรากฏการณ์อีกครั้งหนึ่งที่สังคมไทยกำลังกลับมาให้ความสนใจกับระบบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อว่า เรตติ้ง มีความพยายามจากหลายฝ่ายในการแสวงหาคำตอบในการจัดการต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การขอให้มีการห้ามแพร่ภาพละครเรื่องนี้ รวมไปถึง การเสนอให้มีการกำหนดเวลาในการแพร่ภาพละครที่มีความรุนแรง เป็นต้น รวมทั้งการสื่อสารจากภาควิชาชีพสื่อสารมวลชนเองว่าระบบเรตติ้งละครเป็นการพิจารณาจากเนื้อหาในแต่ละตอนได้ทำให้ละครเรื่องเดียวกันสามารถมีเรตติ้งได้หลายระดับ ทั้งหมดอาจนำมาซึ่งความสับสนในเรื่องของเรตติ้งได้ เพื่อให้เกิดการจัดการที่ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพ สังคมไทยต้องตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาใน ๕ คำถามหลัก

คำถามแรก ความถูกต้องแท้จริงของระดับความเหมาะสมของรายการละครเรื่องดอกส้มสีทอง ควรมีระดับความเหมาะสมของรายการในระดับใด ๑๓ หรือ ๑๘ ??? หากพิจารณาจากเกณฑ์ในการพิจารณาระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ในระดับ ๑๓+ จะต้องมีการปรากฏเนื้อหา ภาพ หรือเสียง ในประเด็นด้านพฤติกรรม-ความรุนแรง ในระดับกลางส่วน ประเด็นเรื่องเพศและประเด็นเรื่องภาษาต้องอยู่ในระดับน้อย ในขณะที่ ละครในกลุ่ม ๑๘+ มีการนำเสนอประเด็นด้านพฤติกรรม-ความรุนแรง และประเด็นเรื่องเพศ และ ประเด็นด้านภาษาอยู่ในระดับกลาง การพิจารณาระดับน้อย กลาง หรือมาก ขึ้นอยู่กับ ความถี่ และ ขนาดของความรุนแรงของภาพ เนื้อหา ที่มีการนำเสนอ ในส่วนของละครเรื่องดอกส้มสีทอง ประเด็นหลักของเรื่องคือเรื่องเพศ ทั้งในส่วนของการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร รวมไปถึง เรื่องค่านิยมในเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม ทั้งยังมีเรื่องของพฤติกรรมและความรุนแรงเป็นแก่นหลักของเรื่อง ภาพ เสียง เนื้อหา ที่มีการนำเสนอในส่วนของพฤติกรรม-ความรุนแรง และ เพศ ในระดับกลาง หมายความว่า หากพิจารณากันอย่างตรงไปตรงมาโดยหลักเกณฑ์แล้ว ละครเรื่องนี้ควรอยู่ในระดับ ๑๘+ ไม่ใช่ ๑๓+

ความน่าสงสัยในเรื่องนี้ก็คือ เหตุใดผู้จัด ผู้ผลิต สถานีจึงไม่กำหนดให้ละครเรื่องนี้อยู่ในระดับ ๑๘ แต่กลับให้อยู่ใน ๑๓+ หรือเป็นเพราะความกังวลใจเรื่องความเข้าใจของประชาชนว่า หากให้ละเครื่องนี้เป็น ๑๘ หรือ ฉ ประชาชนจะเข้าใจว่าเป็นละครไม่ดี นั่นแสดงว่า เรากำลังสับสนระหว่าง การจำแนกเนื้อหาตามช่วงวัยกับคุณค่าของเนื้อหาของละคร ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีระบบเรตติ้งเชิงคุณค่า เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนการผลิต ที่จะถูกนำมาใช้หลังจากมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนสื่อสร้างสรรค์

คำถามที่สอง ความน่าสงสัยข้างต้น มาพร้อมกับคำถามสำคัญว่า ประเทศไทยสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบเรตติ้งให้กับพ่อแม่ เด็ก มากน้อยเพียงใด ???  ระบบเรตติ้งเป็นระบบที่ไม่ได้จัดทำเฉพาะการแปะสัญลักษณ์ที่หน้าจอโทรทัศน์เท่านั้น การสร้างความรู้ในการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้รับสื่อ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพ่อแม่ในการที่จะสามารถให้คำแนะนำกับลูกๆที่บริโภคสื่อ ว่าเนื้อหาที่กำลังรับชม รับฟังนั้นเป็นบทบาทจริงหรือบทบาทสมมุติ มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในเรื่องใด เนื้อหาในเรื่องนั้นๆต้องการบอกอะไรกับผู้ชม เป็นต้น เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ระบบเรตติ้งสามารถเป็นเครื่องมือให้กับพ่อแม่ในเลือกรับสื่อให้กับลูกๆในบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมานับแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้นมาที่มีการใช้ระบบเรตติ้ง พบว่า การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม รวมไปถึง หลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็ก เยาวชน กลับไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร

คำถามที่สาม การเปิดพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับเกณฑ์ในการพิจารณาระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ระหว่างภาคประชาชน ภาควิชาชีพ และ ภาคนโยบายมีมากน้อยเพียงใด ??? ย้อนกลับไปในช่วงเดือน กันยายน ถึง ธันวาคม ปี พ.ศ.๒๕๕๐ ในรยะเริ่มแรกที่มีการทดลองใช้ระบบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ที่กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นแกนหลักในการจัดทำคู่มือการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ อีกทั้ง เป็นแกนกลางในการจัดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเด็ก เยาวชน เครือข่ายพ่อแม่ เครือข่ายภาคประชาชน กับ เครือข่ายผู้ผลิต สถานีโทรทัศน์ และ เครือข่ายวิชาการ มีการทดลองใช้ระบบเรตติ้ง โดยใช้ระบบ pre rate จากผู้ผลิต และ post rate จากภาคประชาชน เพื่อทดสอบว่าระดับความเหมาะสมรายการโทรทัศน์ที่ถูกกำหนดโดยผู้ผลิตจะตรงกับระดับความเหมาะสมของภาคประชาชนหรือไม่ พบว่า ในเดือนแรกของการทำการทดลองจำนวนรายการที่มีระดับความเหมาะสมไม่ตรงกันระหว่างผู้ผลิตและเครือข่ายภาคประชาชนมีจำนวนกว่าร้อยละ ๕๐ ของรายการที่ทำการทดลอง และ ลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๕ เท่านั้นในเดือนสุดท้ายของการทำการทดลอง เป็นการยืนยันว่า หากมีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจะเป็นผลให้ความเข้าใจเรื่องเรตติ้งมีเพิ่มมากขึ้น และ ส่งผลให้เรตติ้งเกิดความสอดคล้องกันระหว่างความเข้าใจของผู้ผลิตและภาคประชาชนมากขึ้นด้วย แต่การทำงานดังกล่างเป็นเพียงระยะสั้นๆไม่ได้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ เป็นกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดี

คำถามที่สี่ ระบบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ต้องมาพร้อมเวลาและสถานที่หรือไม่ ??? อันที่จริงแล้ว คำตอบในเรื่องนี้มีความชัดเจนมากขึ้น หากกลับไปเปิด มาตรา ๓๔ วรรค ๒ ที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “ในกรณีจำเป็นเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน คณะกรรมการอาจประกาศกำหนดช่วงเวลาของการออกอากาศรายการบางประเภทได้” และเมื่อกลับไปศึกษาการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ หรือแม้แต่กระทั่งแอฟริกาใต้ ก็มีการกำหนดระบบการจัดเวลาในการออกอากาศสำหรับรายการบางประเภทที่มีความรุนแรงสูงให้อยู่ในช่วงเวลาดึก เรียกว่าระบบ watershed เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำหนดให้รายการประเภท PG13 หรือ น ๑๓+ สามารถเผยแพร่ได้หลังเวลา ๒๐.๐๐ น. เป็นต้นไป ถึงเวลา ๑๖.๐๐ น. เป็นต้น  หรือในประเทศออสเตรเลีย ก็มีการกำหนดให้รายการในกลุ่ม ๑๓+ สามารถออกอากาศในช่วงเวลา ๒๐.๓๐ น. – ๐๕.๐๐ น. และ ในช่วงเที่ยงถึงบ่ายสาม เป็นต้น แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในบทบัญญัติของมาตรา ๒๔ ดังกล่าว ใช้ถ้อยคำว่า “อาจ” นั่นหมายความว่า กสทช.จะกำหนดหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กสทช โดยคงต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในสังคมเป็นตัวตั้งด้วย โดยหลักการพื้นฐานแล้ว รายการประเภท น ๑๓ + ควรออกอากาศในช่วงเวลาหลัง ๒๐.๐๐ น. ไปจนถึงเวลา ๑๖.๐๐ น. และ รายการประเภท น๑๘+ ควรออกอากาศในช่วงเวลาหลัง ๒๒.๓๐ น. ไปจนถึงเวลา ๑๖.๐๐ น.ส่วนรายการประเภท ป และ ด ควรมีช่วงเวลาในการออกอากาศในช่วง ๑๖.๐๐ น. ถึง ๒๐.๐๐ น.

คำถามสุดท้าย ก็คือ ระบบเรตติ้งเป็นความรับผิดชอบของใคร ??? จากคำถามทั้งสี่ข้อข้างต้น คงพอนึกภาพออกว่าแต่ละข้อเป็นความรับผิดชอบของแต่ละภาคส่วนที่แตกต่างกันไป การพิจารณาระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์จากผู้ผลิต ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตและสถานีในการกำหนดระดับความเหมาะสมของรายการที่ตรงไปตรงมาและถูกต้องแท้จริง ที่สำคัญ การกำหนดระดับความเหมาะสมของรายการเป็นการกำหนดไว้ล่วงหน้า หมายความว่า หากกำหนดให้ละครเรื่องดอกส้มสีทองเป็นละครในกลุ่ม น ๑๓ ก็ต้องนำเสนอภาพ เสียง เนื้อหาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระดับ ๑๓ ทั้งเรื่อง ไม่ควรนำเสนอบางตอนบางภาพ หรือบางส่วนในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ในกลุ่ม น๑๓ เป็น น๑๘ หรือ ฉ

ส่วนการเลือกรับสื่อ หรือ การให้คำแนะนำลูกๆในการรับชมถือเป็นความรับผิดชอบของคนในครอบครัวที่ต้องให้คำแนะนำกับลูกๆ ทั้ง การรับชมรายการร่วมกับลูกๆ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังจากรับชมละคร หรือ รายการโทรทัศน์ร่วมกับคนในครอบครัว ถือเป็นความรับผิดชอบระหว่างกันของคนในครอบครัว

ในส่วนของการสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในสังคม การเปิดพื้นที่เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเปิดพื้นที่ในการติดตามและนำเสนอความคิดเห็น ถือเป็นความรับผิดชอบของภาคนโยบาย ทั้งกระทรวงวัฒนธรรมที่มีการเปิดสายด่วนวัฒนธรรม ก็ดี หรือ กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบในส่วนของสื่อของรัฐ หรือในอนาคตจะเป็น กสทช ก็ดี การเปิดพื้นที่ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาสื่อที่มีคุณภาพอย่างมีส่วนร่วมระหว่างกัน วันนี้การสร้างความรู้ความเข้าใจ เช่น การทำสื่อสาธารณะในการทำความเข้าใจเรื่องเรตติ้งก็ดี การจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อก็ดี รวมทั้ง การเปิดพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ระบบเรตติ้งเป็นไปเพื่อเป็นเครื่องมือในการเลือกรับสื่อให้กับพ่อแม่ได้อย่างแท้จริง

ทั้งหมดเป็นการยืนยันว่า การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ที่ยังไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ก็เท่านั้นเอง

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 439800เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2011 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท