เครือข่าย สสส. ร่วมสร้างสรรค์อนาคตสังคมไทย : กรณีศึกษา จังหวัดสงขลา


เครือข่าย สสส. จังหวัดสงขลา

รายงานการศึกษาเรื่อง เครือข่าย สสส. ร่วมสร้างสรรค์อนาคตสังคมไทย : กรณีศึกษา จังหวัดสงขลา
ผศ.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ
สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
……………………………………………………………………………………………………………………………………………
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี โดยใช้แนวทางการมีส่วนร่วมและหนุนเสริมพลังทางสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงคน ชุมชนและสังคมให้หันมาสร้างเสริมสุขภาพ  ใช้ยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินงานคือ
·  สนับสนุน”ขบวนการ”พัฒนางานเชิงรุก
·  พัฒนาให้เกิดกระบวนการพัฒนาเชิงระบบ
·  พัฒนาชุมชนคนรักสุขภาพ : กระตุ้นให้มีการสร้างสุขภาพที่เป็นรูปธรรม
·  พัฒนาความยั่งยืน โดยอาศัยทุนทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญ
บทบาทหลักที่ผ่านมาของสสส. คือ ให้การสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ ภายใต้การให้ข้อมูลและคำแนะนำทางด้านวิชาการเพื่อให้เกิดการดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยการเชื่อมประสานให้หน่วยงานต่างๆที่มีจุดหมายรวมกัน สามารถทำงานได้อย่างสอดประสานและเกื้อหนุนกัน ผลของการดำเนินโครงการจะนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อให้สังคมได้รับรู้และได้เห็นแบบอย่างที่ดีและกระตุ้นให้ผู้คนแสดงความคิดเห็น นำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลายในวงกว้าง รวมถึงการนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อเพื่อขยายผลเป็นนโยบายสาธารณะหรือเพื่อการผลักดันในวงกว้าง
การสร้างเสริมสุขภาพของจังหวัดสงขลา ได้รับการสนับสนุนจากสสส.ในหลายโครงการ ทั้งเป็นโครงการที่ภาคีในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงและโครงการจากหน่วยงานอื่นนอกพื้นที่ที่มีการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดสงขลา  เพื่อแสดงให้เห็นภาพรวมของกิจกรรมและผลงานการสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่จังหวัดสงขลาที่เกิดจากเครือข่าย สสส. จึงได้มีการศึกษาเรื่อง เครือข่าย สสส. ร่วมสร้างสรรค์อนาคตสังคมไทย : กรณีศึกษา จังหวัดสงขลา ขึ้น โดยใช้วิธีการศึกษา 3 วิธีคือ การทบทวนเอกสารโครงการ  การสอบถามผู้รับผิดชอบโครงการ และการจัดสนทนากลุ่มภาคีเครือข่าย สสส.
ผลการศึกษาพบว่า มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส.ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสงขลา ทั้งหมด 77 โครงการ   เป็นโครงการที่ภาคีในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรง 14  โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 18.18) ส่วนที่เหลือ 63 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 81.82) เป็นโครงการที่มีจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของการดำเนินการ มีผู้รับผิดชอบคือหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ภาคีหรือเป็นหน่วยงานในจังหวัดสงขลา แต่ในบางโครงการจะมีผู้ประสานงานอยู่ในจังหวัดสงขลา  การศึกษาครั้งนี้จำแนกโครงการใน 3 ลักษณะ คือ จำแนกตามประเภทของโครงการ  จำแนกตามประเด็น และจำแนกตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการ  ซึ่งได้ผลการจำแนกดังต่อไปนี้ (รายละเอียดดูจากภาคผนวกและแผนภูมิ)
1. การจำแนกตามประเภทของโครงการ 
     โครงการ 77 โครงการ จำแนกตามประเภทของโครงการ ได้ดังต่อไปนี้
1.1 โครงการสร้างเครือข่าย  มีจำนวน  8 โครงการ
1.2 พัฒนาหน่วยงาน มีจำนวน  3 โครงการ
1.3 กิจกรรมชมรม หน่วยงาน  มีจำนวน  9 โครงการ
1.4 ประชุม สัมมนา มีจำนวน  4 โครงการ
1.5 การศึกษา หลักสูตร  มีจำนวน  1 โครงการ
1.6 วิจัยและประเมินผล  มีจำนวน  14 โครงการ
1.7 พัฒนาคุณภาพชีวิต มีจำนวน  6 โครงการ
1.8 การจัดบริการ มีจำนวน  3 โครงการ
1.9 การรณรงค์  มีจำนวน  10 โครงการ
1.10 สื่อ 
1.10.1 สิ่งพิมพิ์   มีจำนวน  5   โครงการ
1.10.2 โทรทัศน์  มีจำนวน  8   โครงการ
1.10.3 วิทยุ มีจำนวน  5   โครงการ
1.10.4 อินเตอร์เนต มีจำนวน  1 โครงการ

2. การจำแนกโครงการตามประเด็น
โครงการ 77 โครงการ จำแนกตามประเภทของโครงการ ได้ดังต่อไปนี้
2.1 ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพทั่วไป มีจำนวน  23 โครงการ
2.2 ศิลปวัฒนธรรม มีจำนวน  5 โครงการ
2.3 อาชีพแรงงาน มีจำนวน  1 โครงการ
2.4 เพศ  มีจำนวน  1 โครงการ
2.5 พัฒนาเครือข่าย และภาวะผู้นำ มีจำนวน  2 โครงการ
2.6 สิ่งแวดล้อม มีจำนวน  2 โครงการ
2.7 เกษตร มีจำนวน  2 โครงการ
2.8 อาหาร โภชนาการ มีจำนวน  2 โครงการ
2.9 คุ้มครองผู้บริโภค มีจำนวน  2 โครงการ
2.10 อนามัยแม่และเด็ก มีจำนวน  4 โครงการ
2.11 การดูแลสุขภาพผู้ป่วย มีจำนวน  3 โครงการ
2.12 การประกันสุขภาพ มีจำนวน  1 โครงการ
2.13 ออกกำลังกาย มีจำนวน  4 โครงการ
2.14 ยาเสพติด มีจำนวน  4 โครงการ
2.15 บุหรี่ มีจำนวน  2 โครงการ
2.16 สุรา มีจำนวน  8 โครงการ
2.17 อุบัติเหตุ มีจำนวน  12 โครงการ
3. การจำแนกโครงการตามกลุ่มเป้าหมาย
โครงการ 77 โครงการ จำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย ได้ดังต่อไปนี้
3.1  กลุ่มเยาวชน  มีจำนวน  18 โครงการ
3.2   ครอบครัว มีจำนวน  7 โครงการ
        3.3   ผู้สูงอายุ  มีจำนวน  1 โครงการ
        3.4   บุคลากรในหน่วยงาน มีจำนวน  6 โครงการ
        3.5   ผู้ป่วย มีจำนวน  5 โครงการ
        3.6   คนพิการ  มีจำนวน  1 โครงการ
        3.7   กลุ่มแรงงาน มีจำนวน  1 โครงการ
        3.8   ทั่วไป  มีจำนวน  41 โครงการ

ผลการดำเนินงานโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส.ในพื้นที่จังหวัดสงขลา
            หากแบ่งผลการดำเนินโครงการ สร้างเสริมสุขภาพเป็น 4 มิติ คือการมีสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จากการศึกษาโดยวิธีสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) พบว่า ผู้รับผิดชอบและผู้ดำเนินการโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส.ในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีความเชื่อว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาได้ผลทั้ง 4  มิติ  แต่โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีการประเมินผลหรือสรุปผลอย่างเป็นรูปธรรม และไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เมื่อวิเคราะห์ผลของโครงการกับความสอดคล้องของสถานการณ์สร้างเสริมสุขภาพในจังหวัดสงขลา พบว่า จังหวัดสงขลายังไม่มีข้อมูลสถานการณ์สร้างเสริมสุขภาพในจังหวัด ที่ผ่านมาการคิดทำโครงการขึ้นกับประเด็นปัญหาในพื้นที่เฉพาะพื้นที่ และเป็นประเด็นความสนใจของผู้รับผิดชอบโครงการ ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ข้อมูลสถานการณ์สร้างเสริมสุขภาพในจังหวัดมาเป็นฐานคิด ทำให้ผลของโครงการไม่ได้แสดงให้เห็นภาพรวมของการขับเคลื่อนนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพของจังหวัด นอกจากนี้ยังพบว่า ผลของโครงการที่ชัดเจนจะเป็นเรื่องของกระบวนการ การเข้ามาร่วมกิจกรรมของภาคี และชุมชนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ  ซึ่งเป็นการมองผลของโครงการในระยะสั้นเท่านั้น  ดังตัวอย่างผลการดำเนินงานโครงการสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่จังหวัดสงขลา ต่อไปนี้
ชื่อโครงการ/การดำเนินงาน
ผลการสร้างเสริมสุขภาพ
โครงการพัฒนาองค์กรการบริโภคเพื่อสุขภาพ
เป็นการฝึกอบรมขั้นตอนการผลิตข้าวซ้อมมือเพื่อการนำไปบริโภคของกลุ่มสมาชิก และชุมชน
-ชุมชนรู้จักและบริโภคข้าวซ้อมมือ
-เกิดเศรษฐกิจชุมชน ซื้อข้าวในชุมชนแทนที่จะซื้อมาจากภายนอก
-เกิดการรวมกลุ่มและมีกิจกรรมต่อเนื่องคือ การทำน้ำหมักชีวภาพ/แปลงสาธิตเกษตรอินทรีย์
 -ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นจาก20เป็น40คน และพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนมีสมาชิก 200 คน ร่วมทุนเป็นเจ้าของร่วมกัน
-เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างอบต./เกษตรอำเภอ/กลุ่มเกษตรกรปลอดสารพิษ
โครงการวัยสะอาด ละความเสี่ยง เลี่ยงปัญหาเอดส์
ใช้กระบวนการทางศิลปะวัฒนาธรรม เช่น ละคร โครงการนี้เน้นกลุ่มมัธยมปลายทั้งนักศึกษากลุ่มกิจกรรมและกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
-เป็นการปรับกระบวนทัศน์เรื่องสุขภาพ ทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพ  ลดปัจจัยเสี่ยง
โครงการจดหมายข่าวเพื่อสุขภาพ
จัดทำจดหมายข่าวที่ใช้การมีส่วนร่วมของหลายส่วนมาร่วมกันผลิตเป็นจดหมายข่าวส่งให้ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในสงขลา
-สร้างและเกิดความร่วมมือผู้ใหญ่และเด็ก
เกิดภาคีสุขภาพ
- เด็กมีส่วนร่วมในการผลิตจดหมายข่าว
-สื่อความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพ
โครงการบูรณาการเครือข่ายการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนภายใต้ยุทธศาสตร์การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด
เป็นโครงการที่มีธัญลักษณ์เป็นผู้รับผิดชอบ พื้นที่เป็นเพียงผู้ร่วมกิจกรรม มิใช่ผู้ของบสนับสนุนโดยตรง
กิจกรรมโครงการเป็นการอบรม สัมมนา และให้ชุมชนร่วมกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนเองด้วย
-สร้างความเข้าใจกับชุมชน
-สร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมชุมชน/ความร่วมมือเสริมสร้างความสุขของคนทำงาน
-ปัญหายาเสพติดในชุมชนลดลงอย่างชัดเจน
-ทำให้สุขอนามัยสิ่งแวดล้อมดีขึ้น บ้านเรือนสะอาดขึ้น
โครงการผ่อนคลาย สบายชีวี ด้วยลีลาศ นาฎศิลป์ และดนตรี
เป็นการฝึกอบรมแบบปฏิบัติการใช้เวลา 3 เดือน มีการประเมินผลโดยการจัดแสดงผลงานภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง และผู้รับการฝึกอบรมสามารถไปเป็นผู้นำการฝึกอบรมครั้งต่อไปได้
กลุ่มเป้าหมาย คือ นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์และบุคคลทั่วไป
-นักศึกษากล้าแสดงออกมีความเป็นผู้นำ โดยการวัดผลทางจิตใจ
-มีการดึงภาคีอื่นมาร่วมโครงการ คือกลุ่มผู้สูงอายุ มาช่วยสอนและร่วมกิจกรรม
โครงการกิจกรรมออกกำลังกายและเผยแพร่ความรู้เรื่องสุขภาพ
เป็นการต่อยอดกิจกรรมในกลุ่มไหวตัวทัน  ที่มีการทำกิจกรรมออกกำลังกายอยู่แล้ว
หนุนช่วยให้เกิดการขยายผลในวงกว้างมากขึ้น และสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ทำอยู่แล้ว
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบภาคบริการ : แรงงานคุ้ยขยะและแรงงานที่เกี่ยวข้อง    เป็นโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบในภาคการผลิต มี 11 ประเภทกิจกรรม
-ผู้ใช้แรงงานนอกระบบมีสภาพการทำงานทางกายภาพ ดีขึ้นกว่าก่อนทำโครงการ
-เกิดความร่วมมือทำให้กลุ่มผู้ผลิตดูแลสุขภาพตนเอง
-สร้างตัวกลางที่เป็นรูปธรรม
โครงการชุมชนเป็นสุข – ดับบ้านดับเมือง
เป็นการทำกิจกรรม  ภายใต้เครือข่ายเกษตรชีวภาพ 6 ชุมชน
เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่ม มีการฝึกอบรม และปฏิบัติการทดลองในแปลงสาธิต
-ใช้เทคนิคการสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชน
-ทำให้เกิดการจัดการเครือข่ายองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
-เกิดการปฏิบัติบนวิถีชีวิตจริง เป็นยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน
โครงการวิจัยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่และสัมฤทธิผลในการเลิกบุหรี่ของไทยพุทธและไทยมุสลิมในภาคใต้
เป็นงานวิจัยภาคสนาม ลงเก็บข้อมูลไทยพุทธและไทยมุสลิมใน 14 จังหวัดภาคใต้
-สามารถวัดความต่อเนื่องการเลิกบุหรี่
-ทราบกลุ่มเป้าหมายคิดค้นกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนพฤติกรรม
โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาโครงการสร้างเสริมสุขภาวะจิตวิญญาณในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
-เป็นการต่อยอดจากกิจกรรมการดูแลสุขภาพ โดยใช้เครือข่ายพยาบาลทั่วประเทศ มีการประสานกิจกรรมมาก่อนที่จะทำโครงการ ถือเป็นต้นทุน
-รวบรวมเป็นเครือข่ายที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผลให้สาธารณะได้รับรู้มากขึ้น
-จัดให้มีกิจกรรม “ศาสตร์แห่งความเป็นมนุษย์”
-มีการขยายเครือข่ายตามธรรมชาติ
-ได้ต้นแบบของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม  จากผู้ป่วยเอดส์ มะเร็ง เกิดเป็นเครือข่ายมะเร็ง,เครือข่ายพัฒนาจิต,เครือข่ายจิตวิญญาณ
-สร้างองค์ความรู้/เพิ่มบทบาทของคนไข้เอดส์ให้ช่วยเหลือสังคมเป็นที่พึ่งทางสังคม
-สุขภาพจิตดีขึ้น
-เกิดตัวอย่างการดูแลสุขภาพ เช่น ทำสวนยางอย่างไรทำให้มีสุขภาวะดี ใช้ธรรมชาติเยียวยาให้มีจิตที่ไม่หวั่นไหว ใจมีสุข
สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้
เน้นการเชื่อมประสานระหว่างงานองค์ความรู้และการปฏิบัติการในระดับพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกัน
-การเชื่อมประสานระหว่างนักวิชาการ กับชุมชน ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน
-สร้างความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ
โครงการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ จ.สงขลา
เป็นหน่วยประสานงานกลางทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโครงการ ในระดับพื้นที่รวมทั้งการได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน การถอดสังเคราะห์องค์ความรู้สรุปบทเรียนการทำงาน
-ระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
-สร้าง พัฒนา เครือข่ายประสานงาน ระดับจังหวัด
โครงการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และประเมินผลแบบมีส่วนร่วม
-    เป็นการดำเนินงานในเชิงบวก เชื่อมโยงไปสู่กระบวนการพัฒนางาน เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเป็นภาคี
-    ดำเนินการควบคู่ไประหว่าง การสนับสนุน การส่งเสริม การติดตามและประเมินผล เพื่อปรับการดำเนินงานของเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัดสงขลา
เป็นการติดตามและการประเมินผลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ  ประเมินแบบเสริมพลังและเน้นการมีส่วนร่วม
-    ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัดสงขลา
-    กระตุ้นให้เกิดการจัดวางระบบการติดตามและประเมินผลภายในร่วมกับภาคีที่เข้าร่วมในโครงการ
-    ศึกษาและสรุปบทเรียนการทำงานร่วมกันของภาคีต่างๆ   เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ     
ข้อเสนอแนะ
1.   สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ควรสร้างหรือมีกลไกการประสานงาน หรือมีการสังเคราะห์เพื่อให้เห็นภาพรวมของโครงการที่ให้การสนับสนุนในระดับจังหวัดและโครงการอื่นที่มีผลต่อจังหวัด เพื่อนำไปสู่แนวทางการให้การสนับสนุนต่อไป
2.   สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ควรสนับสนุนให้มีการจัดทำแผนที่( Mapping ) ต่อไปนี้ 
·        สถานการณ์สร้างเสริมสุขภาพในจังหวัด
·        ภาคีที่เกี่ยวข้องในจังหวัดในจังหวัด
·        การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพในจังหวัด
3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ควรสนับสนุนให้มีการจัดทำตัวชี้วัดในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพที่ชัดเจน และ การประเมินผลของแต่ละโครงการควรจะสอดคล้องกับตังชี้วัดที่พัฒนาขึ้น
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4398เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2005 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท