การถ่ายภาพ เพื่องานประชาสัมพันธ์


จัดเต็มไม่มีกั๊กครับ!!!

 

 

 

                                 เนื่องด้วยงานประจำของตัวผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ออกไปเก็บภาพข่าว หรือแม้กระทั่งเขียนข่าวทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานเสมอๆ  ไม่รู้ตัวเลยว่าประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวได้ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีจะเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวม จนถึงจุดๆหนึ่งที่สามารถนำประสบการณ์มาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้ที่สนใจพัฒนาภูมิความรู้ ทักษะด้านการถ่ายภาพเพื่องานประชาสัมพันธ์ในการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ทางหน่วยงานจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ทั้ง 6 เขตพื้นที่ ให้สามารถเขียนข่าว และถ่ายภาพเพื่องานประชาสัมพันธ์งานภายในหน่วยงานของตนเองได้ แบ่งเบาภาระงานของแผนกประชาสัมพันธ์เขตพื้นที่ลง เนื่องด้วยบางครั้งจำนวนเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เพียง 1-2 คนตามขนาดของเขตพื้นที่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการเผยแพร่งานสู่สาธารณะชน จึงขออนุญาตินำเนื้อหาที่ถ่ายทอดในการอบรมมาเผยแพร่ในgotoknowเพื่อประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

                                จากการสังเกตุ ปัญหาที่พบบ่อยๆในผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางการถ่ายภาพที่ดี นอกจากปัญหาอันดับ1จากการควบคุมกล้องได้ไม่ดีทำให้ถ่ายไม่ชัด เบลอซะส่วนใหญ่  ปัญหารองลงมาก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ  การปฏิบัติงานอย่างมือสมัครเล่น  การจัดวางองค์ประกอบไม่ดีพอ  และมุมมองการเล่าเรื่องถ่ายทอดออกมาให้น่าดูน่าติดตามส่งเสริมเนื้อหาข่าว

                                บทความนี้จึงขอกล่าวถึง 3 ข้อหลักๆที่สามารถนำไปพัฒนาตัวท่านเอง เพื่อให้เป็นช่างภาพ(จำเป็น)ที่ดี ได้ภาพถ่ายประชาสัมพันธ์ที่ได้ไม่ได้คุณภาพพอ

                                1. การปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ

                                2. ปัญหาที่พบบ่อยและการแก้ไขปัญหา

                                3. การถ่ายภาพเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว

 

1. การปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ

                        ในงานๆหนึ่งใช่ว่าจะมีแต่นักข่าว  ช่างภาพมืออาชีพเพียงกลุ่มเดียว บ่อยครั้งที่ “ท่าน” ได้รับมอบหมายให้ไปงานในฐานะตัวแทนของหน่วยงานเพียงคนเดียว หรือบางคนบังเอิญไปเป็นแขกเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยปัญหาติดขัดบางประการ นักประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยอาจติดงานใดงานหนึ่งอยู่มาไม่ได้ หรือไม่มาเอาดื้อๆ กฏเหล็กที่ผู้เขียนแนะนำนี้จะทำให้ท่านเป็นช่างภาพมืออาชีพภายใน 5 นาที(ถ้าอ่านจบแล้วทำตามได้ทุกข้อนะครับ)

กฏเหล็ก 10 ข้อ 

            กฏเหล็กนี้เป็นกฏที่ช่างภาพที่ดีทุกคนควรปฏิบัติตาม มิฉนั้นท่านอาจจั่วลม !!

1. ตรวจสอบ วัน เวลา สถานที่จัดงานอย่างละเอียดหลังจากไปรับหนังสือคำสั่ง, หนังสือเชิญ, คำพูดชักชวนทันที เพื่อตรวจเช็คคิวงาน

2. ยืนยันวัน เวลา สถานที่จัดงานจากต้นเรื่องอีกครั้ง ก่อนวันงาน 3 วัน

3. หากสถานที่จัดงานนั้นท่านไม่เคยไป หรือท่านไม่เคยไปร่วมงานของหน่วยงานที่จัดงานเลย ให้ไปถึงที่หมายก่อนเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

4.ก่อนออกไปยังที่หมายต้องตรวจเช็คความพร้อมอุปกรณ์เสมอ

5. สิ่งแรกที่ไปถึงที่หมายคือ ไปหาผู้ประสานงานทันทีเพื่อเช็คกำหนดการ และรับทราบสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ประธานจะมาช้ากว่ากำหนด เลื่อนเวลาเปิดงาน ฯลฯ

6.สแตนด์บายอยู่ใกล้ๆทางเข้างาน ผู้ประสานงานหรือพิธีกกร อยู่เสมอ

7.อย่าปรี่เข้าหาของกินในงานก่อนแขกคนอื่น และยืนปักหลักตรงโต๊ะอาหารเด็ดขาด!!

8.ประธานเปิดงานเสร็จอย่าเพิ่งกลับ หากไม่มีงานต่อควรอยู่เก็บภาพจนงานเลิก

9.ให้เกียรติผู้ที่จะเข้าไปถ่ายภาพ หรือผู้ใหญ่บริเวณนั้นเสมอ ด้วยการคำนับก่อนเข้าไปถ่ายภาพ หากงานไม่เป็นทางการให้เข้าหาคนที่จะถ่ายด้วยท่าทีเป็นมิตรและนอบน้อม

10.หากไม่ลำบาก ควรส่งภาพให้เจ้าของงานด้วย แล้วสิ่งดีๆจะตามมาอีกเพียบ

 

2. ปัญหาที่พบบ่อยและการแก้ไขปัญหา

                ข้อมูลที่นำเสนอเป็นหลักการเท่าที่จำเป็น        และใช้งานได้จริง ในลักษณะการถามตอบ(Q & A) การใช้คำบางคำ อาจไม่เป็นทางการนัก เนื่องจากผู้เขียนมุ่งหวังให้ท่านอ่านคู่มือนี้อย่างเพื่อนที่เข้าใจกันชี้ช่องอย่างง่ายที่สุด  มิใช่อ่านไป เวียนหัวไปกับศัพท์ทางการที่เข้าใจยาก ยิ่งอ่าน ยิ่งไม่รู้เรื่อง 

                ทั้งนี้บางข้อมูลอาจไม่ใช่บทชี้นำที่ต้องนำไปใช้ตายตัวเสมอไป ผู้อบรมควรนำหลักการไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่มีคุณภาพ นำไปใช้ในงานประชาสัมพันธ์ได้หลากหลายรูปแบบ

 

A : ไปถึงงานแล้วไม่เจอใคร มีแต่เต้นกับขยะ ?

Q : เพราะท่านไม่ตรวจสอบและยืนยัน วันเวลา สถานที่จัดงานให้ชัดเจนก่อน อย่างรับเรื่องมาแล้ววางไว้จนถึงวันงานที่ท่านคิดว่ามันคือวันงาน มิฉนั้นอาจงานเข้า!!! เพราะถ้างานเลื่อนออกไปท่านยังสามารถมาใหม่หรือรอได้ แต่ถ้างานเลื่อนเข้ามา คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้จัดพิธีเปิดอีกรอบเพื่อให้ท่านถ่ายรูป

 

A : ไปถึงที่หมายแล้วทำอะไรก่อนดี ?

Q : รีบเข้าไปหาผู้ประสานงาน หรือพิธีกรเพื่อเช็คกำหนดการ บ่อครั้งที่กำหนดการที่ให้มาครั้งแรก กับกำหนดการหน้างานไม่ตรงกัน พร้อมทั้งสอบถามสถานการณ์ด้วยว่ามีปัญหาอะไรบ้าง มิฉนั้นท่านจะหน้าตื่นตาตื่นเดินไปเดินมาอยู่ในงานอย่างไร้จุดหมาย  สุดท้าย อาจเก็บภาพไม่ทัน

 

A : ถ่ายแล้วไม่ได้มุมเลย มุมไม่สวย

Q : ข้อดีของการไปถึงงานก่อนเวลาอีกอย่างคือท่านจะมีเวลาสำรวจสถานที่ ว่ากว้างแคบขนาดไหน แสงพอหรือไม่ พิธีกรยืนอยู่ตรงไหน ประธานเดินมาทางไหน เปิดงานตรงไหน ฯลฯ ท่านจะได้กะถูกว่าควรยืนอยู่ที่ใดบ้าง และหาที่นั่งได้เหมาะสม ลุกนั่งเข้าออกไปถ่ายรูปได้ง่าย หรือบางที่ลุกนั่งลำบาก ท่านก็จะได้เลือกมุมนั่งที่สามารถเก็บภาพได้ดีที่สุดก่อนใคร ไม่มีหัวใครบัง เห็นหน้าประธานหรือคนที่ท่านต้องการถ่ายได้ชัดเจน

 

A : เวลาถ่ายภาพคนมองเยอะจัง?

Q : อย่าเพิ่งดีใจว่าคนอื่นคิดว่าเราเท่ห์ ดูด้วยนะครับว่าเค้ามองแล้วยิ้ม หรือมองไปหน้าบึ้งไป เพราะถ้าท่านถ่ายภาพดีๆมักไม่มีใครมองเท่าไหร่ ให้สังเกตุตัวเองดังนี้

-          แต่งตัวไม่เรียบร้อย

-          ยืนบังช่างภาพคนอื่น

-          ยืนปักหลักตำแหน่งเดิมนานเกินไป

-          ยกกล้องไปบังหน้าคนนั่งข้างๆ หรือค้ำหัวใครอยู่

-          เดินดุ่มๆ เข้าไปไม่สนโลก ในเวลาที่กำลังพูดเรื่องสำคัญอยู่

-          เข้าไปถ่ายภาพด้วยทีท่าขาดความนอบน้อม ไม่ให้เกียรติผู้พูด หรือผู้ร่วมงานคนอื่น

-          ถ่ายภาพไปคุยกับช่างภาพข้างๆไป หรือคุยโทรศัพท์ไป

-          ถ่ายภาพด้วยท่าทางเหนือชั้น

-          ยืนบัง หรือเดินลัดโปรเจ็คเตอร์

ฯลฯ

A : มันเป็นยังไงเหรอถ่ายด้วยท่าทางเหนือชั้น?

Q : เช่น ถ่ายด้วยมือเดียว  โกงตูดยืดแขน  กดชัตเตอร์รัวหมุนรอบตัว 360องศา ฯลฯ พูดง่ายๆคือถ่ายด้วยท่าทางกวนโอ๊ย หรือเวอร์เกินไปนั่นเอง ซึ่งท่านอาจไม่รู้ตัว หรือไม่รู้จริงๆ  ไม่เป็นไรครับ หลังจากอ่านบทความนี้แล้วท่านน่าจะมีท่าทางที่สง่างามขึ้น

 

A : ถ่ายแล้วมืดจัง เบลออีกต่างหาก?

Q : แสงไม่พอครับ เปิดแฟลชด้วย บางคนบอกภาพไม่สวย แต่มันชัดและสว่างพอที่จะนำไปใช้งาน จำเอาไว้ว่า ชัดแต่แสงไม่ค่อยสวย ดีกว่าแสงสวยแต่เบลอนะครับ เพราะถ้าภาพเบลอ ยังไงแสงสวยก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี ทั้งนี้ถ่ายกล้องใครรุ่นใหม่หน่อยหรือสเป็คสูงหน่อยจะมีฟังชั่นแฟลชแบบสัมพันธ์ชัตเตอร์ช้า หรือ slow sync flash ซึ่งมีสัญลักษณะ หรือ  หรือ   ฯลฯ สุดแล้วแต่ยี่ห้อผู้ผลิตกล้อง เอาเป็นว่ากดปุ่มรูปแฟลชดูครับ ถ้ากล้องไม้เก่าเกินไปหรือถูกเกินไปน่าจะมีให้เลือก ภาพที่ได้จะเก็บแสงบรรยากาศดีกว่า แต่จะเบลอหน่อยๆเนื่องจากสปีดชัตเตอร์ที่ช้าในการเก็บแสงในที่แสงน้อย แสงสีในบริเวณก็จะเก็บได้ก็สวยเหมือนเดิม แต่บริเวณที่โดนแฟลชจะสว่างชัดบวกมีเงาซ้อนนิดๆ ดังตัวอย่างด้านล่างนี้

A : ก็ยังคิดว่าเบลอหน่อยๆอยู่ดี?

Q : งั้นตัวช่วยสุดท้ายครับ ให้ใช้ค่า ISO สูงสุดเท่าที่กล้องมีครับ กล้องใหม่ๆบางตัวได้ถึง6400 แต่ต้องแลกมาด้วยน๊อยซ์ที่มากเป็นเงาตามตัว แนะนำให้ใช้เท่าที่จำเป็น ที่ต้องการให้ได้ภาพแน่นอนชนิดพลาดไม่ได้เท่านั้น ถ้ายังเบลออีกซื้อกล้องซื้อเลนส์ดีๆแพงๆใช้ครับ

 

A : มีคนยืนบังทุกช็อตเลย ทำไงดี?

Q : ใจเย็นๆครับ อย่าเพิ่งกระโดดถีบ ให้ใช้หลักอหิงสา ถ่ายรูปข้างๆเค้ากันพลาด 1 ช็อต พอเค้าถ่ายเสร็จเราค่อยถ่ายมุมนั้น หรืออีกวิธี คุกเข่าลงแล้วไปซ้อนอยู่ด้านหน้าเขา กล้องก็จะไม่บังกัน แค่มุมของเราจะต่ำกว่านิดเดียวเท่านั้นเอง แค่ถ้าโดนบังชนิดสกัดดาวรุ่งสุดฤทธิ์คงต้องสกิดบอกอย่างมีมารยาทตอนงานเลิกจะดีกว่าครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่แนะนำให้สร้างศัตรู พยายามผูกมิตรเข้าไว้ คราวหลังพอรู้จักกันแล้วเค้าจะค่อยๆเขยิบให้เราเอง

 

A : มุมนี้ดีจัง บังมั่งดีกว่า ?

Q : เจริญพร......เห็นคนอื่นเลวเป็นตัวอย่างก็อย่าไปทำตามสิท่าน แต่ถ้าจำเป็นหรือบังคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ให้รีบถ่ายแล้วหลบฉากออกมาให้คนอื่นได้ถ่ายบ้างครับ ใจเขาใจเรา อราอยากได้ภาพดีๆ คนอื่นเค้าก็อยากได้เหมือนกัน คนทำงานแบบเดียวกัน เห็นอกเห็นใจกันเข้าไว้ครับ

 

A : ถ่ายๆไปแบตหมด กล้องตก การ์ดเจ๊ง ?

Q : จำที่ผมแนะนำให้ท่านผูกมิตรช่างภาพคนอื่นได้หรือไม่ นั่นละครับตัวช่วย ถ้าพลาดจะได้ขอภาพมาใช้งานได้ แน่นอนว่าถ้าเค้าพลาดเราก็ควรช่วยเหลือบ้างเช่นเดียวกัน เพราะไม่รู้ว่าเราจะหวยออกงานไหน พลาดขึ้นมาจะได้มีตัวช่วยบ้างให้อุ่นใจ

 

A : เรียกถ่ายรูปหมู่แล้วมั่วไปหมด?

Q : ต้องหัดสั่งการครับ เราเป็นช่างภาพ จะได้สิทธิ์ในการสั่งการดดยอัตโนมัติและไม่มีใครว่า บางงานถ้าไม่สั่งการจัดขบวนแถวจะโดนว่าซะอีก  แต่อย่าสั่งแบบคนบ้าอำนาจ ให้บอกด้วยน้ำเสียงเป็นมิตร บางครั้งอารมณ์ขันก็ช่วยให้งานราบรื่นนะครับ

 

A : ถ่ายตอนตัดริ้บบิ้นไม่ทัน ?

Q : ควรบอกให้ท่านค้างท่าก่อนตัดไว้ครับ ถ้าเวลานั้นไม่มีใครพูด ท่านต้องกล้าพูดถ่วงเวลา ไปก่อน “ค้างไว้ก่อนนะครับท่าน อีกนิดนึงครับท่าน อีกกล้องนึงครับ”ก็ว่ากันไป เพราะยังมีอีกหลายคนที่ได้ท่านช่วยชีวิตไว้ ไม่งั้นพวกกล้องเล็กๆจะถ่ายไม่ทัน ทั้งนี้ไม่ควรให้ค้างนานเกินไป อย่าให้เกิน 30 วินาที  ไม่งั้นท่านจะโดนด่าเอานะครับ และเป็นมารยาทท่านเองควรเป็นคนกล่าว ”ขอบคุณครับท่าน” อย่าปล่อยให้ผู้ใหญ่ท่านโดนสั่งแต่ไม่ขอบคุณซักคำ ให้จำกฏเหล็กข้อ 9 เรื่องการให้เกีรติผู้ถูกถ่ายเอาไว้ให้ขึ้นใจครับ

 

A : ใช้ความละเอียดภาพเท่าไหร่ดี?

Q : ตั้งให้สูงสุดเท่าที่กล้องท่านสามารถถ่ายได้ครับ บางครั้งเราต้องนำภาพไปใช้ทำสื่ออื่นด้วยเช่นหนังสือ หรือคัตเอาท์ใหญ่ๆ ไฟล์ภาพที่ความละเอียดสูงกว่ามักนำไปใช้งานได้กว้างและหลากหลายกว่าครับ

 

 

3. การถ่ายภาพเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว

ตามปกติแล้วการไปเก็บข่าวทั้งเขียนหรือบันทึกภาพก็ดีมักยืนอยู่บนพื้นฐาน  ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? อย่างไร? ในที่นี้เป็นการสรุปองค์ความรู้ใรรูปแบบปฏิบัติการ ผู้เขียนจึงเรียบเรียงกระบวนการทำงานในแบบของตัวเอง เพื่อความคล่องตัวเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้างาน โดยยังยืนอยู่บนพื้นฐาน  ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? อย่างไร? ดังต่อไปนี้

 

    1. บรรยากาศ ตอบโจทย์ ที่ไหน?

             ก้าวแรกที่เข้างานท่านก็จะพบประเด็นนี้ก่อน เช่น ป้ายงาน บรรยากาศทางเข้า การลงทะเบียน การบรรเลงดนตรีหรือการแสดงก่อนงานเริ่ม การพบปะพูดคุยของคนที่อยู่ภายในงาน เป็นต้น ประเด็นนี้ยังครอบคลุมถึงข้อ 3,4,5 ด้วย.... ยังไง.... โปรดติดตามตอนต่อไป

ตัวอย่างบรรยากาศทางเข้างาน

ตัวอย่างบรรยากาศบริเวณงาน

 

   2. คนสำคัญ / ภาพสำคัญ ตอบโจทย์ ใคร? ทำอะไร?

             เข้ามาในงานได้ระยะเวลาหนึ่งก็จะถึงเวลาเปิดงาน ช่วงนี้คือช่วงเวลาของคนสำคัญ(เจ้าของงาน,ประธานเปิดงาน,วิทยากร) และภาพสำคัญ(ตัดริ้บบิ้น ตีฆ้อง เปิดป้าย ถ่ายรูปหมู่ ฯลฯ) ประเด็นนี้แหละครับที่มักเอาไปใช้ประชาสัมพันธ์ส่งข่าวมากที่สุด ท่านจะพลาดช่วงอื่นได้แต่ช่วงนี้พลาดไม่ได้ บางครั้งคนสำคัญเหล่านี้ก็เชื่อมโยงไปถึงโจทย์ทำอะไร?ด้วย

ตัวอย่างภาพคนสำคัญ

ตัวอย่างภาพและคนสำคัญ(ประธานเปิดงาน)

ตัวอย่างภาพและคนสำคัญ(เซ็นต์ความร่วมมือ)

 

    3. ผู้ร่วมงาน ตอบโจทย์ ใคร? ทำอะไร? อย่างไร?

             ผู้ร่วมงานครั้งนั้นเช่นผู้เข้าฟังการบรรยาย ผู้ร่วมอบรมปฏิบัติการ บุคลากรจากหน่วยงานท่านเองหรือแม้แต่ตัวท่านเอง(เป็นเครดิตของท่านเอง หลักฐานว่าผมก็มานะครับหัวหน้า ^__^)

ตัวอย่างผู้มาร่วมงาน

ตัวอย่างผู้มาร่วมงาน


 

    4. กิจกรรม ตอบโจทย์ ใคร? ทำอะไร? อย่างไร?

             ง่ายๆครับถ้าท่านไปงานประชุมสัมมนาก็ถ่ายวิทยากรบรรยาย คนฟังบรรยาย ถ้าอบรมทำขนมท่านก็ถ่ายตอนสอนทำขนม ไปงานแฟชั่นก็ถ่ายเสื้อผ้า นางแบบ ฯลฯ ตามเนื้องานที่ท่านไปครับ ข้อนี้ช่วยฝึกฝนฝีมือการถ่ายภาพที่ไม่ใช่ภาพหน้าตรงกระดานเรียงหนึ่งถือป้ายผ้า ซึ่งมันแข็งมาก จืดชืด แต่ก็ยังชอบเอาลงข่าวกันเนาะ(ก็มันมีรูปเจ้านายพี่นี่หว่าไอ้น้อง.....อันนี้ไม่เถียงครับ อิอิอิอิ)

             แต่ขอบอกไว้อย่างนึงว่าหนังสือพิมพ์บางหัวมักโยนภาพแบบนี้ลงถังนะครับเพราะไม่ตรงประเด็น เช่นงานสัมมนา เรียงแถวหน้ากระดานถือป้ายผ้า งานอบรมช่างยนต์ เรียงแถวถือป้ายผ้า งานไหว้ครูผู้บริหารนั่งเรียงแถวนักเรียนนั่งพับเพียบฉากหลังเป็นป้ายงาน ทีนี้มันก็จะเกิดคำถามขึ้นว่าจะอะไรกันนักกันหนากับเรียงแถวถ่ายกับป้ายผ้า,ป้ายงาน ทำไมงานอบรมทำขนมท่านไม่ส่งรูปทุกคนคาดผ้ากันเปื้อนมีตราโลโก้หน่วยงานที่จัดอบรมกำลังทำขนมกันอย่างมีความสุขบ้าง??? ภาพเหล่านี้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร,บุคคลากรมากกว่านะครับ บอกอ้อมๆว่าผู้บริหารหน่วยงานท่านไม่เอาหน้านะจ๊ะ นี่...เราลงพื้นที่ทำให้ชาวบ้านจริงๆ ดูสิยิ้มกันใหญ่เลย

             ลองส่งภาพแบบนี้ไปให้สื่อที่ท่านส่งข่าวให้เค้าได้เลือกดูครับ งานของท่านอาจไม่ลงถังขยะอีกต่อไป อาจจะนะครับเพราะขึ้นอยู่กับว่าภาพนั้นจะ ได้คุณภาพตามมาตรฐานและสื่อสารได้ชัดเจนรึเปล่า อย่าเพิ่งท้อครับ ถ่ายบ่อยๆ พยายามถ่ายไป ปรับปรุงไป พัฒนามุมมองไป เดียวก็สวย เคยเห็นเยอะแยะครับคนที่ถ่ายกล้องป๋องแป๋งสวยกว่าคนถือกล้องตัวเป็นหมื่น

ตัวอย่างกิจกรรมการบรรยาย

ตัวอย่างกิจกรรมการบรรยาย

ตัวอย่างกิจกรรมการบรรยาย

ตัวอย่างกิจกรรมการบรรยาย

ตัวอย่างกิจกรรมการบรรยาย

ตัวอย่างกิจกรรมอบรมหลักสูตรอาชีพ

ตัวอย่างกิจกรรมอบรมหลักสูตรอาชีพ

ตัวอย่างกิจกรรมการบรรยายสาธิต

ตัวอย่างกิจกรรมการบรรยายสาธิต

 

    5. สีสัน ตอบโจทย์ ใคร? ทำอะไร? อย่างไร?

             ข้อนี้คล้ายกันมากกับข้อ 4 ครับ เหตุผลก็เหตุผลเดียวกันเลย แต่ข้อนี้ผมแยกมาเพื่อเน้นความมีสีสันจริงๆ เพราะประโยชน์ของภาพพวกนี้ส่วนมากจะได้เอาไปใช้ในสื่ออื่น หรือเป็นสต๊อคภาพเพื่อใช้งานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำแผ่นพับ หนังสือแนะนำหน่วยงาน ป้ายเชิญชวน แบนเนอร์เว็บไซต์เป็นต้น

             หัวข้อนี้แนะนำให้คนที่ได้ทำสื่อเองควรปฏิบัติครับ มันจะทำให้งานท่านง่ายขึ้นเยอะ ไม่ต้องวิ่งไปถ่ายใหม่ จัดเซตใหม่ให้วุ่นวาย งานบางงานยากนะครับกว่าจะจัดขึ้นมาได้ บางอย่างเราจะไม่มีโอกาสได้พบได้เจอเลยถ้าไม่มาในงานนี้........เชื่อผมเต๊อะ

 

การจะเป็นนักถ่ายภาพเป็นง่าย แต่การจะเป็นนักถ่ายภาพที่ดีเป็นยาก.......เขียนมาซะยืดยาว ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลนี้จะช่วยให้ท่านอ่านพัฒนาทักษะการถ่ายภาพเพื่องานประชาสัมพันธ์ หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันได้บ้าง.........สักนิดก็ชื่นใจแล้วครับ ^___^

หมายเลขบันทึก: 439690เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ สาระความรู้ว่าการถ่ายภาพ เพื่องานประชาสัมพันธ์

เป็นศาสตร์ความรู้ อย่างหนึ่ง ที่ผู้ทำงานประชาสัมพันธ์ ควรจะศึกษา ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์หมอ ไว้จะค่อยเขียนบทความอื่นๆลงเรื่อยๆครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท