ภาพยนตร์กับทฤษฎีทางการสื่อสาร


ภาพยนตร์กับทฤษฎีทางการสื่อสาร : กรณีศึกษาภาพยนตร์ไทยเรื่อง สยิว

แสดงนำโดย :    พิมพาภรณ์ ลีนุตพงษ์, อานนท์ สายแสงจันทร์,นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล,นิรุธ วิจิตรวงศ์เจริญ,จุฑารัตน์ อัตถากร

ผู้กำกับ :            คงเดช จาตุรันต์รัศมี, เกียรติ ศงสนันทน์
เขียนบท :          คงเดช จาตุรันต์รัศมี, เกียรติ ศงสนันทน์
อำนวยการสร้าง:  ปรัชญา ปิ่นแก้ว

ปีที่ออกฉาย :      พ.ศ. 2546

หมายเหตุ .-

- บทความเขียนเมื่อ 9 ตุลาคม พศ.2549 นำเสนอในวิชาทฤษฏีทางการสื่อสารประยุกต์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

- ก่อนอ่านบทความนี้ผู้เขียนแนะนำให้ท่านหาภาพยนตร์เรื่อง"สยิว"มาดูก่อน เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ร่วมกัน หากยังไม่ได้รับชมแนะนำให้เลยผ่านไปเสีย

- ขอขอบคุณภาพโปสเตอร์จากเว็บไซต์สหมงคลฟิล์มครับ

 


เนื้อเรื่องโดยย่อ 

ปี พ.ศ.2535 ปีสุดท้ายแห่งยุคทองของนิตยสารปลุกใจเสือป่าระดับมวลชน และปีแห่งความผันผวนปรวนแปรทางการเมือง “ เต่า “ สาวห้าวทอมบอย นักศึกษาคณะอักษรฯ เธออาศัยอยู่กับป้า ซึ่งเปิดร้านขายอาหารใต้อพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยมี จ้อน ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มติ๋มๆ ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์เดียวกันเป็นเพื่อนสนิท นอกจากนี้เต่ายังหลงรักน้องหมวยนักศึกษาสาวสวยรุ่นน้องผู้มากด้วยเสน่ห์และจริตอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเต่าหารายได้พิเศษลับๆโดยการรับจ้างเขียนเรื่องสั้นประสบการณ์ทางเพศให้กับนิตยสารปลุกใจเสือป่าที่ชื่อสยิว ซึ่งบริหารงานโดยเฮียกังฟู บรรณาธิการผู้คร่ำหวอดในวงการและมีอุดมการณ์อันสูงส่ง

แต่การณ์กลับไม่ง่ายอย่างที่คิดเมื่อสถานการณ์ของตลาดกำลังเปลี่ยนไป ผู้อ่านกำลังต้องการเรื่องที่มีสำนวนและเนื้อหาโจ๋งครึ่มมากขึ้น เต่าได้รับการเรียกร้องจากเฮียกังฟูให้เปลี่ยนสำนวนและเนื้อหาของเธอให้เข้ากับตลาด แถมเธอยังต้องพบกับคู่ปรับคนสำคัญ ซึ่งเป็นนักเขียนหนุ่มหน้าใหม่ไฟแรงที่มีสำนวนโจ๋งครึ่มเนื้อหาวิตถารสะใจผู้อ่าน จนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เขามีชื่อว่าหนุ่มพลังม้า เต่าต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเขียนเรื่องที่จริงๆ แล้วเธอเองก็ยังไม่มีประสบการณ์ เส้นทางการผจญภัยของเต่าที่ว่าด้วยจินตนาการทางเพศจึงเริ่มสาหัสขึ้น เธอเริ่มหยิบยืมเรื่องราวของผู้คนรอบข้างในชีวิตเธอ ชาวบ้านบริเวณอพาร์ทเมนท์ต่างถูกจินตนาการของเธอสร้างเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพี่แดงสาวทรงมโหระทึก คุณนายช้อยผู้แสนเปลี่ยวข้างอพาร์ทเมนท์ พันธ์และก้อยพี่เขยน้องเมียอารมณ์กรุ่น แต่จนแล้วจนรอด ผลงานของเธอก็ยังไม่เข้าเป้าที่เฮียกังฟูต้องการ ปัญหาต่างๆที่รุมล้อมเต่าเริ่มเขม็งเกลียวเข้ามามากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องงานเขียนของเธอ วิทยานิพนธ์ซึ่งกำลังมีทีท่าว่าจะไปไม่รอด น้องหมวยซึ่งกำลังมีเด็กหนุ่มต่างคณะมาติดพัน และที่สำคัญที่สุดคือการถูกท้าทายและคุกคามจากหนุ่มพลังม้า

เต่าพยายามต่อไปอีกครั้ง โดยการไปขอคำปรึกษากับลุงหมอนักเขียนคนหนึ่งในกองบก. เต่าพยายามเลียบเคียงถามในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ ลุงหมอตอบเพียงว่าหน้าที่ของนักเขียนนั้นมีเพื่อเติมเต็มสิ่งที่คนอ่านขาดหายไป ส่วนเรื่องของประสบการณ์เมื่อถึงเวลาแล้วเต่าจะรู้เอง เต่ายังคงไม่เข้าใจสิ่งที่ลุงบอกเท่าไรนัก เวลาเส้นตายที่เหลือเพียงน้อยนิด ทำให้โลกในจินตนาการและโลกในความเป็นจริงของเต่า เริ่มหลอมเข้าหากันอย่างชุลมุนวุ่นวาย และเต่าก็ตัดสินใจโดดเข้าสู่สนามที่หนักข้อขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบดูกิจกรรมหนังสดในห้องลึกลับ ที่ทั้งอพาร์ทเมนท์ต่างไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นเจ้าของห้องนี้ การเข้าหาน้องหมวยอย่างเข้าด้ายเข้าเข็ม แต่กลับได้พบว่าน้องหมวยไวไฟไม่สนเพศเสียยิ่งกว่าที่เธอคิด และสุดท้ายเธอตัดสินใจเอาตัวเองเข้าเสี่ยงไปหาหนุ่มพลังม้าถึงรังที่เต็มไปด้วยบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัว และอุปกรณ์วิตถารพิศดารพันลึกร้อยแปดของเขาเพื่อแลกกับประสบการณ์จริง!

ผลลัพธ์สุดท้ายเต่าได้พบกับความจริงในชีวิตของเธอจนได้ โดยผู้ให้คำตอบนั้นกับเธอคือจ้อนหนุ่มติ๋มที่อยู่เคียงข้างเธอตลอดเวลานั่นเอง และนั่นทำให้ผลงานการเขียนและชีวิตของเธอพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที ไม่ต่างจากวิถีชีวิตของผู้คนที่กำลังถูกปลอบประโลมด้วยละครทีวีน้ำเน่าอยู่ดีๆ ก็ถูกกระชากความฝันไปด้วยวิถีทางแห่งการเมือง

 

 

 

เนื้อในที่ผู้สร้างต้องการสื่อ 

ที่มาของชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้มากจากอาการสยิวเวลาชมภาพยนตร์แต่อย่างใด แต่เป็นชื่อของหนังสือปลุกใจเสือป่าประเภทราคาถูก (ประเภทที่มีรูปภาพเล็กน้อย เน้นตัวอักษร) เล่มหนึ่งในสมัยก่อน และเรื่องสยิวนี้ก็ไม่ได้สอนว่าจะทำหนังสือปลุกใจเสือป่าสัก 1 เล่มต้องทำเช่นไรบ้าง แต่เป็นการเล่าเรื่องของ เต่า ซึ่งรับบทโดย ผิง กับชีวิตของเธอสมัยที่ทำงานเป็นนักเขียนของสยิว

สยิวเปิดเรื่องด้วยความวุ่นวายของประเทศชาติในช่วงนั้นอันเกิดมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร พร้อมสอดแทรกไปด้วยละครในสมัยนั้น เช่น จำเลยรัก เป็นต้น ซึ่งชายในยุคนั้นคงพอจะจินตนาการภาพได้อย่างไม่ยากเย็น ในความสับสนของบ้านเมืองสมัยนั้น ภาพยนตร์เองก็ต้องการเปรียบเทียบว่าในใจของเต่าเองก็สับสนไม่แพ้กัน

สยิวเป็นหนังไทยเรื่องแรก ๆที่อิงจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ถึงการประท้วงจะถูกนำเสนอแค่เป็นฉากหลังแทรกเข้ามาในภาพข่าวโทรทัศน์  เสียงวิทยุ กระนั้นแก่นเรื่องจริง ๆก็ไม่ได้ห่างไกลความคิดอ่านของประชาชนในยุคนั้นเท่าไหร่นัก สยิวเป็นเรื่องของกลุ่มผู้ผลิตหนังสือปลุกใจเสือป่า ตั้งแต่เฮียกังฟู บรรณาธิการใหญ่ ช่างภาพ ช่างแต่งหน้า นักเขียน จนถึงหมอชไมพรผู้ตอบปัญหาเรื่องเพศทางจดหมาย ทุกชีวิตถูกบรรยายผ่านสายตาเต่า สาวทอมบอย นักเขียนใหม่ประจำสำนักพิมพ์

ตรงข้ามกับหนังแฉเบื้องหลังวงการกามารมณ์ทั่วไป (8 mm, Boogie Night, The People Vs. Larry Flynt) เหล่าสมาชิกทีมงามสยิวคือกลุ่มชนหนักแน่นด้วยอุดมการณ์ พวกเขาเชื่อว่านิตยสารของตนมีส่วนช่วยพัฒนาสังคม นำเสนอประสบการณ์สำเร็จรูป  ตอบสนองความต้องการคนอ่านอย่างไม่ผิดศีลธรรม  อีกทั้งแทรกคำสั่งสอน  ขีดกรอบข้อปฏิบัติทางเพศ  ถึงจะประสบวิกฤตยอดขาย  เฮียกังฟูก็ไม่ยอมตัดคอลัมน์หมอชไมพรออก เพราะนั่นคือการตอบแทนสังคมในแบบพวกเขา

เต่าคือตัวแทนความสับสน เด็กหญิงตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเข้าสู่โลกรักร่วมเพศอย่างเต็มตัวดีหรือเปล่า หรือระหว่างการตั้งใจเรียนเพื่อสำเร็จใบปริญญา กับหน้าที่เขียนประสบการณ์ทางเพศ(หลอก ๆ) ทั้งที่ตัวเองก็ไม่เคยผ่านเรื่องอย่างว่ามาสักครั้ง ถึงตอนแรกเต่าจะรับงานพิเศษนี้เพื่อเงินช่วยเหลือจุนเจือ แต่สุดท้ายเธอยึดติดกับมันจนเกือบเอาตัวเองเข้าแลกกับอนาคตอันว่างเปล่าในวงการ เช่นเดียวกับนักเขียนทั่วไป เต่าติดอยู่ระหว่างโลกความจริงกับโลกในฝัน จับเอาผู้คนบนท้องถนนมาเป็นตัวละครประสบการณ์สยิว จุดนี้ต้องชื่นชมทีมงานว่าเกาตรงที่คันได้อย่างพอดิบพอดี ใช้จินตนาการทางเพศมาเป็นแก๊กตลก ตัดภาพ จัดฉาก เลือกดาราหน้าบ้าน ๆมาเล่นกันอย่างถึงพริกถึงขิง องค์ประกอบเหล่านี้แหละเป็นแหล่งอารมณ์ขันอันเหลือเฟือของภาพยนตร์ ทั้งยังสื่อด้วยว่าเซ็กซ์โลดโผนส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นแต่ในหัวคนเท่านั้น ส่วนชีวิตจริงเรา ๆท่าน ๆก็ซ้ำซากจำเจอยู่ในบรรทัดฐานทางศีลธรรม เป็นเหตุให้หนังสือประสบการณ์สยิวยืนหยัดคู่สังคมไทยมานาน

 

 

วิเคราะห์การใช้ทฤษฏีทางการสื่อสาร 

        ทฤษฏีทางการสื่อสารที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องสยิว  มีอยู่หลายรูปแบบแบบแตกต่างกันออกไป  ผู้จัดทำได้วิเคราะห์รูปแบบการใช้ทฤษฏีโดยหยิบจับเรื่องราวบางส่วนบางตอนที่ประทับใจและอธิบายตามทฤษฎีทั้งหมด 5 ทฤษฎีดังนี้

 

1. ทฤษฎีการซึมลึกของสัมพันธภาพทางสังคม ( Social Penetration Theory )

            แน่นอนว่าสยิวคือหนังโรแมนติกคอมเมดี  ความเป็นโรแมนติกของหนังเริ่มมีบทบาทจริงจังที่สุดในช่วงท้ายเรื่องที่เต่าพบความเป็นจริงของตนและเริ่มมองเห็นความต้องการส่วนลึกของตน  แต่ก่อนหน้านั้น  การดำเนินของ ”ความใกล้ชิดระหว่างบุคคล” ระหว่างเต่ากับจ้อนได้ดำเนินไปเรื่อยๆ  เป็นความสนิทสนมที่ยั่งยืนระหว่างคนทั้งสองด้วยคำว่าเพื่อน  ความผูกพันระหว่างเพื่อนทำให้ต่างฝ่ายต่างเผยตัวตนของตนออกมา  ออกจะเป็นฝ่ายเต่าด้วยซ้ำที่เปิดเผย      ” ตนในอุดมคติ ” ของตัวเอง(สาวทอมบอย) ให้จ้อนได้เห็น  และฝ่ายชายก็รับรู้และพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เต่าแสดง  ออกตรงข้ามกับเต่าที่คำว่าเพื่อนปิดกั้นการมองความห่วงใยจากใจจริงของจ้อน  ซึ่งมามองเห็นเอาก็ต่อเมื่อตนเองค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเองว่าเป็นเพียงสาวน้อยธรรมดาๆคนหนึ่งที่พยายามหาความตื่นเต้น  และปิดกั้นตัวเองเองอยู่ในโลกของจินตนาการ  

            เมื่อเต่าตื่นจากจินตนาการ  เจอความเป็นตัวของตัวเองถึงจะมองเห็นความรักความห่วงใยที่ใครคนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ตัวมอบให้เสมอมาแต่เธอกลับมองข้ามไป 

 

ตัวอย่าง 

            “ เต่าชอบกินไส้กรอกไม่ใช่เหรอ  ป้าให้มาเยอะเลยเราแบ่งให้ “

ทันใดนั้นเองเฮียกังฟูก็เข้ามาทำให้เต่าสำลักน้ำ 

จ้อนยื่นผ้าเช็ดหน้าให้

            “ อะไรวะ ใช้ผ้าหน้าสียังกับจีวร “

ความใส่ใจเล็กๆของจ้อนถูกมองข้ามด้วยคำต่อว่าหลังจากเห็นผ้าเช็ดหน้าสีจีวรของจ้อนทั้งๆที่ตัวเองก็เพิ่งเอาไปเช็ดปากอยู่หยกๆ 

เรียกได้ว่า  สัมพันธภาพได้ซึมลึกลงไปในระดับที่เต่ายอมรับในตัวตนของจ้อนได้  ในขณะเดียวกันเกิดความรู้สึกไม่เห็นด้วยในตัวตนที่จ้อนเป็นอยู่เช่นกัน

 

2. ทฤษฎีการลดความไม่แน่นอน ( ไม่แน่ใจ ) ( Uncertainty Reduction Theory )

ทฤษฎีการลดความไม่แน่นอนมีอยู่ในหนังเรื่องนี้เกือบทั้งเรื่อง  คือช่วงที่เต่าพยายามค้นหาข้อมูลมาเขียนบทความลงหนังสือที่เขียนอย่างไรก็เขียนไม่ได้ซักที  เพราะตนเองนั้นไม่เคยรู้  ไม่เคยทำมาก่อนว่ามันเป็นอย่างไร  ได้แต่เขียนบทความลงหนังสือโป๊แต่ตัวเองไม่เคยเปิดอ่านซักที  พอถึงจุดที่บีบคั้นว่าต้องรู้ให้ได้จึงแสวงหาวิธีการต่างๆไม่ว่าจะเป็น

- เข้าโรงหนังโป๊  สุดท้ายก็รู้ว่าเค้าไม่ได้ฉายหนังให้คนดูแต่เปิดให้เข้าไปทำอย่างอื่น

- แอบดูวีดิโอโป๊  แต่ก็ดูไม่จบม้วน

- แอบดูหนังสด  แต่กลับพบความจริงอันเจ็บปวดของฮีโร่ของคนทั้งประเทศ (ผู้กองมือดำ)

- อ่านหนังสือโป๊  สุดท้ายก็พ่ายจริตหญิงของตนเองทนอ่านจนจบไม่ไหว

- ขึ้นครู   แน่นอนว่าล่มเพราะความจริงแล้วตนเองไม่พร้อมที่จะทำ

            การลดความไม่แน่นอนในลักษณะนี้สามารถพบเห็นได้ในวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัย  แต่ปัจจุบันหากการแสวงหาความจริง  ความแน่นอนในชีวิต ปรากฏอยู่บนพื้นฐานที่เสี่ยงอันตรายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก  จะมีสักกี่คนที่มีอุดมการณ์เช่นหนุ่มพลังม้า(ชอบความเร้าใจ  แต่ไม่ชอบฝืนใจใคร)  หากโชคร้ายใครคนนั้นที่เต่าไปพบไม่ใช่หนุ่มพลังม้า  เหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไรกันหนอ  ซึ่งช่วงนี้หนังได้แฝงข้อคิดให้ผู้ชมได้คิดตามอย่างสร้างสรรค์

 

3.  ทฤษฎีการพิจารณาทางสังคม ( Social  Judgment Involvement Theory )

          ทฤษฎีนี้เห็นได้ชัดในตัวเอกของเรื่องนั่นคือเต่านั่นเอง  เต่าเป็นคนที่มีอัตตาสูง (high ego Involvement )ในแนวทางการเขียนบทความของตนเอง  เต่าคิดเสมอว่าการเขียนหนังสือนั้นต้องมีภาษาที่สวยงาม  มีความละเมียดละมัย  แม้ว่าหนังสือนั้นจะเป็นหนังสือโป๊ก็ตาม  ให้ความสำคัญกับความเชื่อความยึดมั่นของตนจนปิดขอบเขตการรับรู้ของตน  เห็นได้จากการไม่ยอมเปิดหนังสือดูแม้แต่ครั้งเดียว   เคยเขียนอย่างไรก็เขียนอย่างนั้นตลอด

ตัวอย่าง 

            “ ไอ้เต่า  เฮียว่างานของเองมันใช้ไม่ได้ว่ะ “

            “ อ้าวทำไมล่ะเฮีย  เต่าก็เขียนมาอย่างนี้ทุกทีนี่ “

            “ เองไม่เข้าใจว่าตลาดมันเป็นอย่างไรตลาดเขาต้องการแบบจะๆ  โจ๋งครึ่ม เห็นทุกรูขุมขน  ไอ้ที่จะมาผูกเรื่องยาวๆพอเข้าด้ายเข้าเข็มก็แว็บเดียว..................”

            “ แต่เต่าว่าที่เต่าเขียนก็จะๆแล้วนะ  เขียนไปเต่ายังสยิวมือไปด้วยเลย”

สุดท้ายด้วยอัตตาของตนก็ไม่พ้นที่จะหาข้อแก้ตัวอยู่ดี  การมีอัตตาของตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด  แต่บางครั้งเมื่อมีปัญหาเราต้องลดอัตตาลงมาบ้างเพื่อความสำเร็จลุล่วงของงาน

 

4.  ทฤษฎีความคิดแบบกลุ่ม ( Groupthink  Theory )

            ความมีเอกฉันของกลุ่มเกิดขึ้นในหนังแบบเห็นได้ชัดคือ แนวความคิดในการทำหนังสือสยิวของทีมงานทุกคนนั่นคือ  สร้างความสุขให้กับคนไทย  เป็นเครื่องบรรเทาความเครียดประจำครัวเรือน  และแนะนำคนในสังคมให้เดินไปในทางที่ถูกที่ควรเช่นคอลัมน์ของหมอชไมพร

            ทฤษฎีความคิดแบบกลุ่มแสดงออกชัดเจนโดยตอนหนึ่งของหนังที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  “  สยิว  อยู่เพื่อความสุขของคนไทย เย้...!! “

ช่วงนี้เองเฮียกังฟูได้พูดประโยคหนึ่งที่น่าประทับใจว่า

“ อย่าไปเปลี่ยนตามกระแสจนเสียความเป็นตัวเอง “

ประโยคนี้ผู้เขียนชอบเป็นการพิเศษส่วนตัว  เนื่องจากเป็นคำพูดที่เรียบง่ายแต่มีความหมายและความสำคัญต่อชีวิตของคนทุกคนเป็นอย่างมาก  ลองนึกดูว่าโลกนี้จะจืดชืดแค่ไหนถ้าทุกคนทำตามกัน เหมือนกันไปหมด  ในชีวิตคงไม่มีความหมายหรือมีคุณค่าอันใดเลย

 

5.  ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ทางสัญลักษณ์ 

          ภาพยนตร์เรื่องสยิวสอดแทรกสัญลักษณ์มากมายไว้ภายในทั้งที่สื่อออกมาอย่างชัดเจน  และแทรกไว้จนบางคนอาจไม่ทันสังเกต  ที่ชัดเจนและเราสามารถเห็นได้ตลอดทั้งเรื่องเลยก็คือตัวของเต่านั่นเอง  เต่าเป็นทั้งสัญลักษณ์และผู้สร้างสัญลักษณ์

            สถานะสัญลักษณ์  ตัวละครที่ชื่อเต่านั้นถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นตัวแทนความสับสน เด็กหญิงตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเข้าสู่โลกรักร่วมเพศอย่างเต็มตัวดีหรือเปล่า หรือระหว่างการตั้งใจเรียนเพื่อสำเร็จใบปริญญา กับหน้าที่เขียนประสบการณ์ทางเพศ(หลอก ๆ) ทั้งที่ตัวเองก็ไม่เคยผ่านเรื่องอย่างว่ามาสักครั้ง

ฐานะผู้สร้างสัญลักษณ์  เต่าสร้างบุคคลในอุดมคติขึ้นมาโดยตัวหนังสือ  ใช้ภาษาหนังสือแต่งเติมให้ประชาชนทั่วไปจินตนาการถึงบุคคลอุดมคติจนผู้อ่านคล้อยตาม

            สัญลักษณ์ที่สยิวสื่ออย่างแยบยลอันดับแรกสุดคือเสียง  หนังเปิดเข้าโดยใช้เสียงพิมพ์ดีด  และเสียงวิทยุทรานซิสเตอร์ที่คลื่นแทรกระหว่างข่าวเหตุการณ์ก่อนวันนองเลือดพฤษภาทมิฬ  และเสียงเพลงในวิทยุสลับกันไปมา  สื่อถึงความสับสนวุ่นวายของบ้านเมืองในขณะนั้น

            เสียงยังได้รับบทบาทสำคัญตลอดทั้งเรื่อง  และยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เนื้อหาของหนังมีมิติมากขึ้น  ซึ่งบางคนที่ไม่สนใจอาจมองข้ามไป  ผู้เขียนขอยกตัวอย่างบางส่วนมาขยายความข้างต้น 2 ตัวอย่างดังนี้

            1. ฉากเปิดเรื่องที่หนุ่มน้อยม.ต้น  เพิ่งแตกเนื้อหนุ่มยืนเลือกหนังสืออยู่  พร้อมเสียงหัวใจเต้นระรัว  และดังขึ้นเรื่อยๆเมื่อหนุ่มน้อยหยิบหนังสือฟุตบอลมาปิดทำหนังสือโป๊  แสดงถึงความตื่นเต้นว่าจะมีใครเห็นรึเปล่า( อุตส่าห์เอาหนังสือบอลมาทับกลบเกลื่อน )  แต่ป้าคนขายก็เห็นจนได้  เจ้าหนุ่มสะดุ้งเฮือกพาลหัวใจจะหยุดเต้น  ช่วงนี้เองเสียงหัวใจเต้นตูมตามก็เงียบลง

            2.  หนังแทรกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬไว้ด้วยเสียงตามแต่ละช่วงเวลาคือ Intro เปิดเรื่องที่เป็นเสียงวิทยุ  จะเป็นช่วงแรกของเหตุการณ์ก่อนเกิดพฤษภาทมิฬ  พอหนังดำเนินเรื่องไปในช่วงวันที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬพอดีหนังก็จะใส่เสียงผู้คนประท้วงลอยแว่วมาแต่ไกล  ตัวอย่างเช่นเช่นตอนที่เต่าเจอมรสุมทางความคิดหลังจากสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน  แถมยังมามีปัญหากับน้องหมวยอีก  พอขึ้นไปตากผ้าก็ได้ยินข่าวเกิดการประท้วงขึ้น  และเสียงออกไปๆๆก็อยู่ใกล้ๆกับบ้านของเต่า  ทำให้เรารู้ว่าบรรยากาศสภาพบ้านเมืองในตอนนั้นเป็นอย่างไร  ชวนให้เป็นห่วงว่าเต่าจะสับสนขนาดไหนกันหนอ

            ทั้งนี้ผู้เขียนประทับใจในสัญลักษณ์ที่แทรกลงไปเกี่ยวกับตัวของเต่าว่า  เธอกำลังสับสนทางเพศ  คือช่วงแรกหลังจากไปส่งข้าวให้พี่แดงแล้วกลับมาพิมพ์ต้นฉบับพอถึงคำว่าเชี่ยวชาญ  เต่ากลับกดแป้นพิมพ์ตัว ญ.ผู้หญิงไม่ลง  แสดงถึงความไม่สมบูรณ์ทางเพศ  หลังจากนั้นก็มีหลายครั้งที่แป้นตัว ญ  กดไม่ลงทำให้เธอหงุดหงิดอยู่บ่อยๆ  ซึ่งหนังพยายามจะบอกว่าความสับสนทางเพศนี้หลายครั้งก็ทำให้เธอไม่มีความสุข

            เมื่อถึงจุดคลี่คลายของหนังตอนที่เต่าแน่ใจว่าเธอยังเป็นเพียงหญิงสาวธรรมดาๆคนหนึ่งหลังจากไปหาหนุ่มพลังม้ามา  เธอกลับมานั่งหน้าพิมพ์ดีดบันทึกความจริงที่เธอค้นพบ  พอมาถึงตัว ญ.ผู้หญิงคราวนี้กลับกดลงไปอย่างง่ายดายจนเธอรู้สึกแปลกใจ  และกดย้ำลงไปหลายๆครั้ง  ซึ่งจุดนี้หนังต้องการสื่อว่าเธอหาคำตอบให้ตัวเองได้แล้วว่าเธอคือ ผู้หญญญญญญญญิง

 

*** ในภาพยนตร์หนึ่งเรื่องมีทฤษฏีหลากหลายแขนงทั้งทางศิลปะและวิชาการ ภาพยนตร์บางเรื่องอาจมีคุณค่าในตัวมันมากกว่าที่ท่านคิด ลองหยิบเรื่องที่ท่านชอบสักหนึ่งเรื่องมาพิจารณา แล้วจะพบองค์ความรู้มากมายที่อาจนึกไม่ถึงมาก่อนว่ามันจะมี แล้วท่านจะรักภาพยนตร์กว่าที่เคย -- ผู้เขียน 18 พฤษภาคม พศ.2554

หมายเลขบันทึก: 439680เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มุมมองส่วนตัวเล่นๆ ไม่อิงวิชาการอะไรนะ ครับ

ทฤษฏีทางการสื่อสาร แบบใดก็ตาม

ของหนังไทย ไม่เป็นธรรมชาติของสังคมกลุ่มคน

คือ เวลาตัวละครอยู่กันหลายคน ต้องมีพูดบทกันครบ ทุกคน

เวลาขณะที่ใครพูด คนอื่นๆ จะไม่มีกิจกรรมอื่นๆเลย จะยืนหรือนั่งนิ่งๆ

กลัวคนพูดลืมบท

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท