lotus
พระใบฏีกาสุพจน์ เกษนคร

ชุมชนวิถีพุทธ


ชุมชนวิถีพุทธ

ชุมชนวิถีพุทธ

                                                                             พระใบฎีกาสุพจน์    ตปสีโล

                                                                        ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ  วิทยาเขตอุบลราชธานี

          บทนำ

            ประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาเป็นเวลานานกว่า ๘๐๐  ปี ความเป็นพุทธมีความเข้มข้นตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย  จนกระทั่งความเจริญก้าวหน้าจากดินแดนตะวันตกได้เข้ามาพร้อมการเดินทางมาติดต่อค้าขาย การล่าอาณานานิคม การเผยแผ่ศาสนาที่มาพร้อมกับการเจริญสัมพันธไมตรี ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของชาวไทยทีละน้อย ด้วยความเปิดใจกว้างรับวัฒนธรรมอื่น ๆ ทำให้ความยึดมั่นในวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทยต้องเผชิญกับการุกรานของลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งหลั่งไหลทะลุทะลวงเข้ามา ความสำนึกของคนในชาติมีกำลังอ่อนลงโดยไม่รู้สึกตัว  คำว่า  “พุทธ”  จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของกลุ่มชนเท่านั้น  พร้อมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงเป็นการใช้ชีวิตที่มิได้นึกถึงความเป็นพุทธ สารพันที่เกิดขึ้นและสั่งสมเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาล หน่วยงานราชการ  สถาบันการศึกษาหันกลับมาทบทวนแนวทางในการพัฒนาประเทศว่าจะเดินทางไปในทิศทางใด จึงจะเหมาะสมกับสังคมไทย จึงได้มีการกำหนดแนวทางที่ใช้ความเป็นอยู่ดั้งเดิมที่แฝงไปด้วยความผูกพันกับศาสนา และวัฒนธรรมที่เคยถูกมองว่าเป็นความล้าสมัย กลับมาเป็นแนวทางที่ต้องเดินอีกครั้ง เช่น โรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนคุณธรรม นับเป็นบทบาทที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่แสดงถึงความพยายามนำแนวคิดที่เคยมีมาแต่อดีตซึ่งศาสนาเคยให้ผู้คนมาแล้ว เพราะวัดในอดีต ไม่ได้สอนเรื่องจิตใจอย่างเดียว หากแต่ยังอำนวยประโยชน์ทางวัตถุแก่บุคคล เช่น เป็นแหล่งสมบัติกลางแก่ชุมชนสามารถหยิบยืมมาใช้ได้ นอกจากนั้นพระยังเป็นหมอหรือครูวิชาทางโลกแล้ว บางครั้งพระสงฆ์ยังเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชน เช่นการสร้างถนนหนทาง ขุดบ่อน้ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งสงเคราะห์ปัจจัย ๔ แก่ชาวบ้านที่ยากจน ใครที่อยากมั่งมีศรีสุข ก็นิยมมาทำบุญที่วัด ในด้านสังคมนั้นวัดยังเป็นสถานที่พบปะ ประชุม  สังสรรค์ ในคราวที่มีงานเทศกาลต่าง ๆ นอกจากนั้น พิธีกรรมต่าง ๆ ยังสามารถหล่อหลอมจิตใจของชาวบ้านทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันได้ แม้กระทั่งยามมีข้าศึกศัตรูเข้ามารุกราน  ยังได้อาศัยพระผู้ทรงวิทยาคมเป็นเป็นศูนย์รวมจิตใจให้มีความกล้าหาญปกป้องถิ่นกำเนิดของตน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่อยู่ในความทรงจำของผู้คนที่ผ่านวัยมาไม่น้อยกว่า ๔๐ – ๕๐ ปี  คำว่า ชุมชนวิถีพุทธ  จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ทุกคนมองเห็นว่าน่าจะเป็นทางออกหนึ่งของสังคมไทย

บทความนี้ผู้เขียนจึงมุ่งเสนอแนวคิดเพื่อสร้างความเข้าใจในแง่มุมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ประชาชนคุ้นเคยในอดีต แต่ปัจจุบันกลับถูกมองข้าม และตีความอย่างผิวเผินขาดความลึกซึ้งทั้งที่ในประเทศมีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาคอยชี้แนะแนวทางให้สังคมได้นำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้อยู่เป็นจำนวนมาก  การสร้างความเข้าใจในหลักการของวิถีชาวพุทธจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อความมั่นคงและเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย

ความหมายและขอบเขตของคำว่า “ชุมชน”

            ในสังคมไทยคำว่า “ชุมชน” ได้ถูกใช้ในความหมายที่แตกต่างกันตามแต่ทัศนะของนักวิชาการและผู้รู้แต่ละคน ได้แก่

            สุวิทย์ ยิ่งวรพันธ์ ให้ความหมายของชุมชนว่า “กลุ่มชนซึ่งรวมกันโดยความรู้สึกผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะอาศัยหลักผูกพันทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนาเดียวกันก็ตามที่ทำให้แต่ละคนมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น” ในความหมายดังกล่าว "เป็นการที่กลุ่มชนมีความรู้สึกนึกคิด ผลประโยชน์และผูกพันตามเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมร่วมกันโดยอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เดียวกัน ตลอดจนการใช้ประโยชน์และบริการทางสังคมร่วมกัน”

            สัญญา สัญญาวิวัฒน์ ให้ความหมายของชุมชนว่า “ชุมชน หมายถึง องค์กรทางสังคมอย่างหนึ่งและปวงสมาชิกสามารถบรรลุถึงความต้องการพื้นฐานส่วนใหญ่ได้และสามารถแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ในชุมชนของตนได้”

            ไพฑูรย์ เครือแก้ว ได้กล่าวว่า “ชุมชน หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ตั้งอยู่เป็นที่เป็นทาง มีขอบเขตอันเดียวกันและผู้คนเหล่านั้นมีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีความสนใจร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง มีแนวพฤติกรรมเป็นอย่างเดียวกัน”

            ในปัจจุบันคำว่า “ชุมชน” ได้ถูกนำไปใช้ในความหมายที่กว้างออกไปจากเดิม เพราะชุมชนได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบต่อโครงสร้างชุมชนเดิม ดังที่ ชนินทร์ เจริญกุล ได้ให้ทัศนะว่า “ลักษณะของชุมชนปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะของชุมชนตามลักษณะหน้าที่(Functional Community) มากกว่าที่จะเป็นชุมชนลักษณะทางภูมิศาสตร์(Geographical Community) กล่าวคือ ความสัมพันธ์ของคนในขอบเขตพื้นที่ (area) จะเปลี่ยนไปเป็นลักษณะของเครือข่ายของกลุ่มที่มีกิจกรรมทางสังคมต่างๆ คล้ายคลึงกัน มีความสนใจร่วมกัน มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน เช่น ชุมชนมุสลิม ชุมชน จส.100 ในกรุงเทพฯ เราไม่สามารถบอกได้ว่าชุมชนนี้อยู่ตรงไหน แต่ทุกคนมีความรู้สึกถึงความเป็นพวกเดียวกันชุมชนก็เกิดขึ้นได้

            ตามทัศนะของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ชุมชน หมายถึง การที่คนจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความพยายามทำอะไรร่วมกัน มีการเรียนรู้ร่วมกันในการกระทำ ซึ่งรวมถึงการติดต่อสื่อสารกัน (communicate) ความเป็นชุมชนอยู่ที่ความร่วมกัน ความเป็นชุมชนอาจเกิดขึ้นในสถานที่และสถานการณ์ต่างๆ กัน เช่น

๑. มีความเป็นชุมชนในครอบครัว

๒. มีความเป็นชุมชนในที่ทำงาน

๓. มีความเป็นชุมชนวิชาการ (academic community)

๔. มีความเป็นชุมชนสงฆ์

            จากทัศนะของนักวิชาการข้างต้น ความหมายของคำว่าชุมชนมีความแตกต่างกันบ้างคล้ายคลึงกันบ้าง แต่เนื่องจากสภาพทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ความหมายของคำว่า “ชุมชน” จึงควรจะมีความหมายว่า “ชุมชน หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือต่างพื้นที่ก็ได้ แต่กลุ่มบุคคลเหล่านั้น จะต้องมีความสนใจร่วมกัน (Common Interest) มีความสัมพันธ์กัน (Relationship) มีการกระทำระหว่างกัน (Interaction) มีความรู้สึก (Sense) และมีพื้นฐานชีวิตอย่างเดียวกัน

            คำว่า “มีพื้นฐานชีวิตอย่างเดียวกัน” นั้นหมายความว่า มีสถาบันสังคมหรือมีระบบวัฒนธรรมที่ตอบสนองความจำเป็นเพื่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ ได้แก่ สถาบันครอบครัว เครือญาติ การเมืองการปกครอง ศาสนา ศิลปะ เป็นต้น

            เมื่อพิจารณาจากความหมายนี้ก็พอจะมองเห็นได้ว่าความเป็น“ชุมชน”นั้นไม่ได้อยู่ที่ลักษณะกายภาพ(ต้องอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน)หรือขึ้นอยู่กับตัวคนเท่านั้น แต่ปัจจัยชี้ขาดความเป็นชุมชนก็คือ “ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคนในชุมชนนั้น”

            ฉะนั้นหากกล่าวโดยสรุป “ความเป็นชุมชน” จะพิจารณาได้จากการที่คนในชุมชนมีความสัมพันธ์แบบประสานสอดคล้องกลมกลืนกัน(harmonious) คือความเป็นหนึ่งเดียวกัน(unity) ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปสู่ระดับเครือญาติจนกระทั่งถึงระดับหมู่บ้านและระดับเกินหมู่บ้านหรือที่เรียกว่า Supra - village

          ชุมชนที่มีพลังเข้มแข็งนั้นมีความหมายมากยิ่งไปกว่าเพียงแค่การมีหมู่คนมาก ๆ มารวมตัวกัน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ จะทำอย่างไรให้กลุ่มคนที่หลากหลายของสังคมไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรืออยู่ในชนบท ได้มาร่วมคิด ร่วมสร้างร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง การสร้างชุมชนให้เกิดมีพลังที่เข้มแข็งจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น หากมองย้อนกลับให้ลึกลงไปก็จะพบว่า ชุมชนที่มีพลังเข้มแข็งนั้น เกิดจากความสมานฉันท์ของปัจเจกบุคคลในชุมชน ระดับปัจเจกบุคคลจึงเปรียบเสมือนฟันเฟืองหนึ่งในระบบจักรกลทั้งหมด ที่ทำงานกันอย่างประสานสอดคล้องและหนุนเนื่องกับฟันเฟืองอื่น ๆ เพื่อให้ระบบจักรกลทั้งระบบทำงานได้ นั่นก็หมายความว่า ฟันเฟืองแต่ละตัวต้องรู้บทบาท หน้าที่ของตัวเอง และขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่าฟันเฟืองตัวอื่น ๆ มีบทบาท หน้าที่อย่างไร ระดับปัจเจกบุคคลจึงมีความสำคัญ มีคุณค่าต่อมวลสมาชิกในชุมชน

การสร้างพลังชุมชนในแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

แนวคิดและทฤษฎีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างพลังชุมชน ที่ผ่านมามีผู้ศึกษาไว้ ได้แก่

๑.     แนวคิดการสร้างพลังในตัวบุคคลและสังคม(empowerment)

๒.     แนวคิดเรื่องประชาสังคม

๓.     แนวคิดการทำงานแนววัฒนธรรมชุมชน

๔.     แนวคิดการสาธารณสุขมูลฐาน

๕.     ฐานคิดเรื่องระบบสุขภาพภาคประชาชน

แนวคิดและทฤษฎีดังกล่าวมีรายละเอียดพอสรุปได้ดังนี้

๑. แนวคิดการสร้างพลังในตัวบุคคลและสังคม (Empowerment)

กานดา พู่พุฒ ได้เสนอแนวคิดการสร้างพลังในตัวบุคคลและสังคม ดังนี้

          การสร้างพลัง คือ กระบวนการหรือกลไกที่สนับสนุนให้บุคคล องค์การ และชุมชนมีความเชื่อในพลังที่จะสามารถควบคุมวิถีชีวิตหรือจัดการกับการดำเนินชีวิตในแต่ละรูปแบบได้ แนวคิดนี้เสนอแนะให้แต่ละบุคคลมีความมุ่งมั่นในการจัดการกับวิถีชีวิตของตนเอง และในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้มีส่วนร่วมในแนวทางประชาธิปไตยกับชุมชนของตนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงเรียน เพื่อนบ้าน ศาสนา และองค์การอาสาสมัครต่างๆ การสร้างพลังนี้เน้นอิทธิพลที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการควบคุมตนเอง (Personal control) และอิทธิพลที่เกี่ยวข้องทางด้านสังคม เช่น พลังทางการเมือง และสิทธิทางกฎหมายต่าง ๆ

          การสร้างพลังในตัวบุคคล เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความภาคภูมิใจในตนเอง(Self-esteem) แนวคิดนี้บุคคลจะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้แสดงออก เพื่อกระทำผลงานที่สามารถทำให้ได้ค้นพบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับจากผู้อื่น สามารถแยกแยะได้ระหว่างการพึ่งพาผู้อื่นและการพึ่งพาตนเอง การพึ่งพาผู้อื่นแม้จะเป็นการได้พบหรือรู้แนวทางของการได้รับความช่วยเหลือ แต่เปรียบเหมือนผู้อื่นเป็นผู้แผ่หรือขยายพลังมาสู่บุคคลเป็นผลก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังในภายหลัง ในทางตรงกันข้ามการพึ่งพาตนเองทำให้บุคคลมองเห็นความสำคัญของตนเอง และความสำคัญที่มีต่อผู้อื่นเป็นการสร้างความสมดุลย์ระหว่างการได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือ และการรู้จักควบคุมช่วยเหลือตนเอง ช่วยให้บุคคลเรียนรู้พลังในตนและพลังที่ตนเองมีต่อผู้อื่น

          การสร้างพลังในสังคม คุณภาพชีวิตที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อบุคคลมีสำนึกในชุมชนของตน (Sense of Community) การสร้างพลังในสังคมเริ่มจากการที่กลุ่มบุคคลที่มีความต้องการ หรือมีความสนใจตรงกันมารวมกลุ่มกัน เพื่อกระทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย กิจกรรมที่กระทำมักมีวัตถุประสงค์หรือตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน เป็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคม แก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นในสังคม การเข้าร่วมในกลุ่มเน้นปฏิสัมพันธ์และความรับผิดชอบของสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ของกลุ่ม ทำให้สมาชิกในกลุ่มสามารถให้กำลังใจสนับสนุนกันและกัน สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับรู้ตัวแบบต่าง ๆ จากกลุ่ม ได้เรียนรู้และเข้าใจปัญหาของกันและกัน เกิดแนวคิดในวิธีจัดการกับปัญหา ก่อให้เกิดการช่วยเหลือระหว่างสมาชิกในกลุ่ม เป็นผลในเกิดสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้น และสร้างสำนึกที่จะกระทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์เพื่อชุมชนของตน.

กระบวนการสำคัญของชุมชน

            กระบวนการสำคัญของชุมชน ในที่นี้หมายถึง กระบวนการตัดสินใจภายในชุมชน หรือพฤติกรรมการตัดสินใจในเรื่องสาธารณะของชุมชน นั่นคือ การตัดสินใจกิจการสาธารณะ จะต้องดำเนินไปอย่างไม่รีบร้อน และบังคับให้คนในชุมชนตัดสินใจ แต่ต้องดำเนินการหลัง “กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน” ซึ่งหมายถึง การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน เช่น อะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าต่อเราในฐานะที่เป็นชุมชน อะไรคือผลประโยชน์ร่วมของเรา ในฐานะที่เป็นชุมชนเรามีเป้าหมายตรงกันหรือไม่ อะไรคือสิ่งที่เรา(ชุมชน)คิด เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น กระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนระหว่างคนในชุมชนและสาธารณะจะทำให้เรารู้ในสิ่งที่เราต้องการจะรู้ซึ่งไม่สามารถรู้ได้โดยลำพังการเรียนรู้ของชุมชนแยกไม่ขาดจากการสร้างสำนึกสาธารณะ การเรียนรู้ของชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาชุมชนในวิถีทางที่ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน การสร้างความเป็นชุมชนจึงเป็นหนึ่งเดียวกับการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ชุมชนที่อุดมไปด้วยชีวิตสาธารณะที่มีสุขภาพดี หรือชุมชนที่มีประชาสังคมที่เข้มแข็ง จึงมิได้เป็นอะไรอื่น นอกจากชุมชนแห่งการเรียนรู้

 ภาวะนำและผู้นำชุมชน

            ในชุมชนที่ชีวิตสาธารณะเข้มแข็ง ชุมชนเต็มไปด้วย “ภาวะการนำ” ที่แต่ละคนสามารถจะ ริเริ่มนำในสิ่งที่สร้างสรรค์ ผู้นำมิได้มีไว้เพื่อทำหน้าที่เป็นคนปิดประตู แต่เป็นคนเปิดประตูดึงการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้คนอย่างมากล้น และไม่ผูกขาดการเป็นเจ้าของปัญหาหรือเจ้าของชุมชน ผู้นำของชุมชนที่อ่อนแอและชุมชนที่ชีวิตสาธารณะเข้มแข็งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ผู้นำในชุมชนประเภทแรก คอยแต่ปกป้องสถานะของตนเองและควบคุมการกระทำและไม่กระทำของคนอื่นอย่างเข้มงวด ส่วนผู้นำในชุมชนประเภทหลัง พร้อมเสมอที่จะปล่อยให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า และเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างและไกล และเป็นผู้ที่พร้อมเรียนรู้จากความล้มเหลวอย่างไม่ยอมจำนน

กรอบแนวคิดหรือโลกทัศน์ของคนในชุมชน

            ปัจจัยอีกประการที่สำคัญมากต่อการนำชุมชนไปสู่ชีวิตสาธารณะที่มีสุขภาพดีหรือไม่ดีก็คือกรอบแนวคิด โดยเฉพาะกรอบแนวคิดในการแก้ปัญหาและการมองความเป็นไปของสรรพสิ่ง วอน กรีสแฮม เรียกกรอบแนวคิดนี้ว่า “หลักนำการปฏิบัติ” (guiding principles) ในชุมชนที่อุดมด้วยชีวิตสาธารณะนั้น เป็นกรอบแนวคิดที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคสาธารณะและการทำงานเพื่อส่วนรวม และจอห์น แมคไนท์ ผู้ศึกษาองค์กรชุมชน อธิบายว่าหลักนำการปฏิบัติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือ “จงถือว่ามนุษย์ทุกคน คือ ทรัพยากรที่ล้ำค่า” เป็นหลักนำที่มองชุมชนในฐานะองค์รวมของศักยภาพของปัจเจกบุคคลในชุมชน และมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคม เพราะเมื่อชุมชนให้ความสำคัญต่อศักยภาพของคนในชุมชน ชุมชนนั้นย่อมตระหนักถึงความเป็นไปได้ของการริเริ่มดำเนินกิจกรรมต่าง ๆในเรื่องแนวคิดต่อพลังในชุมชน ชุมชนที่มีชีวิตสาธารณะที่ดี จะมีกรอบแนวคิดว่าพลังที่แท้จริง เป็นพลังที่มาจาก ประชาชน “ประชาชนในท้องถิ่นเท่านั้น ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น”และวิถีทางเดียว ที่จะทำให้ชุมชน เป็นชุมชนที่น่าอยู่ก็คือ ประชาชนในชุมชน ต้องเข้าใจและยอมรับความรับผิดชอบของตนต่อทุก ๆ เรื่อง ที่เกิดขึ้นกับชุมชน

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถาบัน

            ในชุมชนที่ชีวิตสาธารณะที่เข้มแข็งนั้น คนในชุมชนมักไม่พึ่งพาสถาบันของรัฐ แม้ว่าสถาบันดังกล่าวจะดีและมีประสิทธิภาพ แต่ในชุมชนที่ไม่มีชีวิตสาธารณะนั้น คนในชุมชนมักจะพึ่งพาสถาบันของรัฐ ส่งผลให้รัฐมีภาระรับผิดชอบชุมชนในทุกด้าน จนไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด และนำมาซึ่งความไร้ประสิทธิภาพในที่สุด พัทแนม พบว่า ในเมืองที่ชีวิตสาธารณะเข้มแข็งนั้น ความสัมพันธ์ของคนไม่ว่าจะเป็นสัมพันธ์ในรูปองค์กรหรือเครือข่าย ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มักเป็นความสัมพันธ์ต่อกันในแนวระนาบ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มักก่อให้เกิดความซื่อสัตย์และไว้วางใจต่อกัน แต่ในเมืองที่ค่อนข้างไร้ชีวิตสาธารณะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ระหว่างคนกับสถาบันทางสังคมมักเป็นความสัมพันธ์ในแนวตั้ง ที่ทั้งสองเอื้อประโยชน์ต่อกัน แต่ฝ่ายหนึ่งต้องพึ่งพาอีกฝ่าย ความสัมพันธ์ทั้งสองแบบต่างก่อให้เกิดการสื่อสาร แต่ข้อมูลที่ไหลตามช่องความสัมพันธ์ในแนวตั้ง มักเป็นข้อมูลที่เชื่อได้น้อย และความสัมพันธ์กันในแนวระนาบ (เท่าเทียม) นำไปสู่เมืองที่มีระบบการปกครองที่ดีและเศรษฐกิจมั่งคั่ง ความสัมพันธ์ในแนวตั้งก่อให้เกิดการปกครองแบบมาเฟีย และทำให้เศรษฐกิจของเมืองล้าหลัง

ความสำนึกความเป็นชุมชน และธรรมเนียมแห่งการแบ่งปัน

            ความเป็นชุมชนมิได้เริ่มต้นขึ้นด้วยธรรมเนียมแห่งความร่วมไม้ร่วมมือ ในทางตรงกันข้าม ธรรมเนียมแห่งความร่วมไม้ร่วมมือ เป็นสิ่งที่ก่อรูปขึ้นที่ละน้อยจากกระบวนการทำงานร่วมกันของคนในชุมชน ธรรมเนียมของความร่วมไม้ร่วมมือนั้น เป็นสิ่งที่เกิดหรือพัฒนาขึ้นในระหว่าง หรือหลังจากที่คนได้มาทำงานร่วมกัน นอกจากนี้การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการแก้ปัญหาชุมชน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสำนึกความเป็นชุมชนและยังเป็นตัวส่งเสริมให้ประชาชนอยากทำงานร่วมกันในอนาคต

วิถีพุทธ หมายถึง แนวทางการดำเนินชีวิตของคนไทยที่เกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย วิถีพุทธ จึงเป็นแหล่งรวมความรู้เรื่องสังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ภูมิปัญญาของคนไทย การประพฤติ ปฏิบัติ การศึกษาอบรม และการสืบทอดวัฒนธรรมจากอดีตจนถึงปัจจุบันดังนั้น สังคมไทยในปัจจุบันจึงมีบางส่วนที่ตั้งคำถามว่าแล้ววิถีชีวิตชาวพุทธที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันได้มีนักวิชาการได้เสนอแนวคิดโดยหลักพุทธธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้สภาพชีวิตที่กล่าวได้ว่าเป็นวิถีชาวพุทธ ดังนี้[๑]

๑.เน้นการพึ่งตนเอง

๒.การเน้นการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท

๓.การเน้นอหิงสา หรือการละเว้นจากการสร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรง

๔.การเน้นการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพการงานที่เป็นประโยชน์สุจริต และมีมานะ  อดทน หรือสัมมาอาชีวะ

๕.การเน้นการมาเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

๖.พยายามละกิเลสและความโลภ

๗.การเน้นความซื่อสัตย์  สุจริต มีความละอายและเกรงกลัวการกระทำผิด

นอกจากนั้น ยังมีแนวคิดที่น่าสนใจควรนำมาศึกษาเพื่อรองรับหลักการทางพุทธศาสนา ซึ่งที่ผ่านมาการสอนธรรมะไม่เน้นหรือให้ความสำคัญ พระนักวิชาการท่านหนึ่ง[๒]จึงเสนอว่าควรนำกลับมาฟื้นฟูหรือปรับปรุงให้นำไปใช้ให้ถูกต้องและอย่างแพร่หลาย คือ

๑.รื้อฟื้นหลักการเดิมที่ถูกละเลยหรือเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยส่วนใหญ่แล้วพุทธศาสนิกชนจะให้ความสำคัญกับคุณธรรมส่วนบุคคลมากเช่น ศีล ๕  ทิศ ๖  หรือพรหมวิหาร ๔ แต่กลับละเลยคุณธรรมที่มีต่อส่วนรวม  เช่น สาราณียธรรม ๖ (หลักการอยู่ร่วมกัน) อปริหานิยธรรม ๗ (ธรรมอันเป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียวของหมู่ขน) ซึ่งหลักธรรมเหล่านี้เป็นปฏิบัติต่อส่วนรวมที่ชาวพุทธควรให้ความสำคัญ และเข้าใจว่าหลักธรรมเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงหน้าที่ที่ชาวพุทธต้องศึกษาและปฏิบัติให้ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติต่อส่วนรวมอันเป็นประโยชน์ต่อหมู่ชนอย่างไม่เลือกชนชั้นวรรณะทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การทำบุญที่ชาวพุทธที่แท้จริงควรเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนบางประการ นั่นคือ ส่วนใหญ่เข้าใจต้องทำบุญด้วยเงิน และเจาะจงต้องให้พระกับวัดเท่านั้น ซึ่งในความหมายที่แท้ของการทำบุญนั้น นอกจากช่วยละกิเลสและความยึดติดของผู้ให้แล้ว  การทำประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วยความตั้งใจจริง ไม่ว่าด้วยเงิน หรือกำลังจึงถือว่าเป็นบุญ(ป.อ.ปยุตฺโต ๒๕๔๒ ก : ๒๕๕ – ๓๐๐) อันเป็นสิ่งแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวพุทธที่ครอบคลุมทั้งระดับพฤติกรรม จิต และปัญญา ดังแสดงไว้ ๑๐ ประการ หรือกิริยาวัตถุ ๑๐ ดังนี้

๑.การให้ปันสิ่งของ(ทานมัย) เช่น การบริจาคเงินช่วยเหลือคนยากจนทำอาหารเลี้ยงเด็กเร่ร่อน  มอบทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้า หรือสนับสนุนองค์กรที่บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม

๒.การประพฤติที่ดีงาม (สีลมัย) เช่น การรักษาศีล ๕ ไม่ประกอบมิจฉาอาชีวะค้ากำไรเกินควร หรือลงทุนในกิจกรรมที่เป็นโทษต่อสังคม ไม่หมกมุ่นหลงใหลในอบายมุข รักษาสิ่งแวดล้อมและสมบัติของส่วนรวม

๓.การอ่อนน้อมถ่อมตน(อปจายนมัย) เช่น นอกจากหมายถึงการอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่อ่อนน้อมต่อผู้น้อยพร้อมรับฟังและเรียนรู้จากผู้อ่อนวัยวุฒิแล้ว ยังได้แก่การให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ไม่อวดตัวว่าร่ำรวยหรือมีอำนาจด้วยการคุยโทรศัพท์เสียงดังในที่ชุมชน หรืออ้างยศอ้างตำแหน่งใช้เส้นใช้อภิสิทธิ์

๔.การบำเพ็ญประโยชน์ (ไวยาวัจมัย) ได้แก่การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนชรา ช่วยเหลือเด็กหรือผู้หญิงที่ถูกลวนลาม พาผู้ประสบอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาล

๕.การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในบุญ (ปัตติทานมัย) ได้แก่การส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการทำความดี ไม่ผูกขาดในกิจกรรมดังกล่าวไว้กับตนเพียงผู้เดียวด้วยคิดว่าผู้อื่นทำสู้ตนไม่ได้ ส่วนร่วมดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมทำซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมงานรู้สึกผูกพันและภาคภูมิใจในงานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นงานในระดับครอบครัว  ชุมชน องค์กร หรือระดับประเทศ

๖.การยินดีในความดีของผู้อื่น (ปัตตานุโมทนามัย) การชื่นชมยินดีในความเสียสละและกล้าหาญของบุคลคลในสังคม

๗.การฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) หมายถึงการศึกษาหาความรู้ที่ส่งเสริมชีวิตให้ดีงาม รู้จักเลือกเฟ้นข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ สดับตรับฟังสิ่งที่เป็นความจริง ถูกต้อง และดีงาม ไม่บริโภคแต่สิ่งที่กระตุ้นเร้าความอยากและความโกรธเกลียด

๘.การสอนธรรมให้ความรู้ (ธัมมเทสนามัย) ได้แก่การให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีงามแก่ผู้อื่น รวมทั้งการให้วิชาความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่หวงแหนประสบการณ์หรือบทเรียนชีวิต  ยินดีแลกเปลี่ยนแบ่งปันแก่ผู้อื่น ซึ่งจะช่วยให้ตนเองเกิดปัญญาเพิ่มพูนขึ้นด้วย

๙.การพัฒนาจิตใจ (ภาวนามัย) ได้แก่การฝึกฝนตนเองให้จิตใจเกิดความสงบ ปราศจากสิ่งเศร้าหมอง ลดละกิเลสและความเห็นแก่ตัว มีความเมตตา อดทน  ตื่นตัว และรู้เท่าทันตนเอง รู้จักระงับความโกรธเกลียดและความโลภ

๑๐.การทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐุชุกรรม) การสำรวจตรวจสอบปรับปรุงแก้ไขความคิดเห็นให้ถูกต้อง  ปราศจากอคติ รู้จักคิดหรือมองในสิ่งที่เป็นกุศล ไม่สร้างทุกข์แก่ตนเอง รวมไปถึงการพัฒนาปัญญาจนเกิดความรู้ความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต  ทำให้จิตเป็นอิสระและเข้าถึงความสุขอย่างแท้จริง

จะเห็นได้ว่าวิธีการทำบุญในพระพุทธศาสนาไม่เพียงแต่ครอบคลุมสิ่งที่เป็นคุณธรรมในส่วนที่เป็นปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากแต่มุ่งไปในทางการพัฒนาชีวิตในชุมชนซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างเสียมิได้ ซึ่งความหมายดังกล่าวจะนำไปสู่ ชุมชนวิถีพุทธ คือ ความเจริญงอกงาม การอยู่กันด้วยดีในสังคม อันเป็นข้อพึงปฏิบัติต่อสังคม และหลักการที่สังคม ชุมชน ควรยึดถือ

สรุป

จากแนวคิด วิถีชุมชนชาวพุทธ ที่แท้จริงนั้น คือขยายหลักธรรมบางข้อมาขยายให้มีมิติทางสังคมที่กว้างขึ้น คือแทนที่จะมีความหมายเพียงแต่ละบุคคล ก็มาขยายเป็นคุณธรรมต่อสังคมซึ่งมีขอบเขตที่ต้องรักษาร่วมกัน เช่นในส่วนที่เป็นรูปธรรม คือ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น  แม่น้ำ  ลำคลอง  ป่าไม้  ทรัพยากรธรรมชาติ   ถนน สวนสาธารณ ฯลฯ ส่วนที่เป็น นามธรรม คือ หลักการ  กฎระเบียบ  ข้อปฏิบัติ กฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องมีความเข้าใจ รู้ในประโยชน์และโทษ ตามหลักการทางพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญเพราะเป็นประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ของสังคม ความรู้สึกมีส่วนร่วมในรักษาสาธารณสมบัติในชุมชนทั้งที่เป็นสถานที่  วัตถุสิ่งของ  และที่สำคัญที่สุดคือ  วัฒนธรรม  ประเพณี  ภาษาท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้กำลังจะเลือนหายไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ถ้าหากชุมชนวิถีพุทธ  กลับมามีความเข้มแข็ง ทุกคนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องรักษา หวงแหน  วิถีชุมชนชาวพุทธ  ก็จะไม่มีแต่เพียงแต่ชื่อเท่านั้น แต่อยู่ในชีวิตจิตใจของชาวไทยทุกคน พร้อมที่พัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนาให้มีคุณภาพ เพื่อนำพาตนและชุมชนมุ่งสู่ความเป็นอริยะ อันจะเกิดความสันติสุขอย่างแท้จริง และยั่งยืนในวิถีพุทธ ตลอดไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

บรรพต  วีรสัยและคณะ, พระสงฆ์กับสังคมไทยโดยพิจารณาในเชิงสังคมเศรษฐกิจ  การเมืองและการปกครอง : กรณีศึกษาวัดในกรุงเทพมหานครและฉะเชิงเทรา,กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๒

ประเวศ  วะสี, พระสงฆ์กับการรู้เท่าทันสังคม, พิมพ์ครั้งที่ ๒,กรุงเทพมหานคร :  หมอชาวบ้าน, ๒๕๕๐.

ภัทรพร  สิริกาญจน์. เอกสารทางวิชาการเรื่องสามทศวรรษของการพัฒนามนุษย์สังคมและเศรษฐกิจไทย, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๖.

 มาณี  ไชยธีรานุวัฒนศิริ  และคณะ, รายงานการวิจัยบทบาทพระสงฆ์ในยุคโลกาภิวัตน์, คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาลัยมหิดล), ๒๕๔๒.

ทัศนีย์  ลักขณาภิชนชัช, การสังคมสงเคราะห์ชุมชน, พิมพ์ครั้งที่  ๒, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๔.

พรประภา  กิจโกศล, บทบาทและผลได้ต่อการพัฒนาชนบทของพระสงฆ์ : ศึกษาเฉพาะกรณีบ้านโนนเมือง  อำเภอขามสะแกแสง  จังหวัดนครราชสีมา, วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต, (คณะแพทย์ศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), ๒๕๔๓.

พระมหาไพสิทธ์  สัตยาวุธ, บทบาทพระสงฆ์ในการพัฒนาชุมชน : ศึกษากรณี : พระเทพสีมาภรณ์กับการพัฒนาชนบทในจังหวัดนครราชสีมา, วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนาชนบทศึกษา, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท, มหาวิทยาลัยมหิดล,๒๕๔๘.

พระธรรมญาณมุนี,การพัฒนาเป็นวิธีการสร้างสรรค์ปรับปรุง วารสารกองทุนสงเคราะห์การศึกษาเอกชน, ๗ ธันวาคม ๒๕๔๙.

พระเทพเวที(ประยุทธ์  ปยุตฺโต), พุทธศาสนากับสังคมไทย, กรุงเทพมหานคร  : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๕.

พระไพศาล  วิสาโล .พุทธศาสนาในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ :มูลนิธิโกมลคีมทอง .๒๕๕๒.

สมพร  เทพสิทธา, บทบาทของพระสงฆ์ในกาพัฒนาชุมชน,กรุงเทพมหานคร : สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ, ๒๕๔๘.

สมบูรณ์  สุขสำราญ, พุทธศาสนา  พระสงฆ์กับวิถีชีวิตสังคมไทย,กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ประชาชน, ๒๕๔๗.

สัญญา  สัญญาวิวัฒน์, ทฤษฎีสังคมวิทยา  เนื้อหาและแนวทางการใช้เบื้องต้น, พิมพ์ครั้งที่  ๔กรุงเทพมหานคร : เจ้าพระยาการพิมพ์, ๒๕๓๓.

อภิชัย  พันธเสน, เอกสารการสอนชุดวิชาการพัฒนาชนบท  หน่วยที่ ๑-๗,นนทบุรี,สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร และสหกรณ์ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,๒๕๓๙ .

อภิชัย  พันธเสน .พุทธเศรษฐศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.: วิวัฒนาการ  ทฤษฏี และการประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์สาขาต่าง ๆ .พิมพ์ครั้งที่ ๓.กรุงเทพ: อัมรินทร์ , ๒๕๔๗ .

สื่อออนไลน์

http://www.northphc.org/PEN/bot2.htm  สืบค้นวันที่ ๖  ธันวาคม  ๒๕๕๓

http://www.thaifolk.com/detail.asp   สืบค้นวันที่ ๖  ธันวาคม  ๒๕๕๓

 



[๑]ศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย  พันธเสน .พุทธเศรษฐศาสตร์ : วิวัฒนาการ  ทฤษฏี และการประยุกต์กั

คำสำคัญ (Tags): #ชุมชนวิถีพุทธ
หมายเลขบันทึก: 439633เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2011 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท