การงดเว้นจากวจีทุจริตของคนในสังคม: หนึ่งในหลักคำสอนเรื่องความดีในพระพุทธศาสนา


บทความวิชาการ (พระพุทธศาสนา)

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความบริสุทธิ์ โดยหลักคำสอนมุ่งเน้นกระทำตนให้บริสุทธิ์ ปราศจากความชั่วทั้งปวงดังในโอวาทติโมกข์ หมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำหรับถือเป็นหลักปฏิบัติในแนวเดียวกัน เป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา มี ๓ ข้อ คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง  การทำกุศลให้ถึงพร้อม  การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว[1]  หลักการทั้ง ๓ นี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางเป็นหลักปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน  พระธรรมกิตติวงศ์ได้อธิบายถึงหลักการทั้ง ๓ ว่าการไม่ทำบาปทั้งปวง หมายถึง เว้นจากทุจริต คือ ความประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ  ยังกุศลให้ถึงพร้อม หมายถึงประกอบสุจริต คือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ  และ ทำใจของตนให้ผ่องใส หมายถึงทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลงเป็นต้น[2]  ดังนั้น ความประพฤติชั่ว ทางวาจา  หรือ วจีทุจริต[3]  ก็เป็นพฤติกรรมที่ไม่บริสุทธิ์ ก่อให้เกิดความชั่ว เป็นเครื่องมัวหมอง ซึ่งหากเกิดขึ้นกับบุคคลใด จะเป็นทางแห่งความเสื่อม เป็นกรรมหรือการกระทำที่ไม่ดีนำไปสู่อบาย วินิบาต นรก

วจีทุจริตเป็นวจีกรรมชนิดหนึ่ง[4]  เป็นหนึ่งในทุจริต ๓ ประการ[5]   เป็นการกระทำไม่ดีทางวาจา  เป็นความประพฤติชั่วด้วยวาจาหรือ ประพฤติชั่วทางวาจา[6]   มี ๔ ประการ[7] คือ  

๑.    พูดเท็จ    (มุสาวาท)   

๒.    พูดส่อเสียด   (ปิสุณวาจา) 

๓.    พูดคำหยาบ   (ผรุสวาจา) 

๔.    พูดเพ้อเจ้อ  (สัมผัปปลาปะ)   

ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นวจีทุจริตเป็นธรรมที่ทำให้เร่าร้อนดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “กายทุจริต    วจีทุจริต    และมโนทุจริต    ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าทำให้เร่าร้อน”[8] เป็นอกุศลธรรมที่ก่อให้เกิดโทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่นดังที่ตรัสว่า  “ก็ชนเหล่าใดประพฤติกายทุจริต    วจีทุจริต    มโนทุจริตชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน    แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า    ‘เรารักตน’    ก็ตามชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน”[9]    สำหรับผลผลของวจีทุจริตนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในทุจจริตวิปากสูตร  อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต[10]ว่า

        “มุสาวาท    (การพูดเท็จ)    ที่บุคคลเสพ    เจริญ    ทำให้มากแล้ว    ย่อม  อำนวยผลให้ไปเกิดในนรก    อำนวยผลให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน    อำนวยผลให้ไปเกิดในเปรตวิสัย    วิบากแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุด    ย่อมอำนวยผลให้ถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง แก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์

        ปิสุณาวาจา    (การพูดส่อเสียด)    ที่บุคคลเสพ    เจริญ    ทำให้มากแล้ว    ย่อม อำนวยผลให้ไปเกิดในนรก    อ ำนวยผลให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน    อำนวยผลให้ไปเกิดในเปรตวิสัย    วิบากแห่งปิสุณาวาจาอย่างเบาที่สุด    ย่อมอำนวยผลให้แตกจากมิตรแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์

        ผรุสวาจา    (การพูดหยาบคาย)    ที่บุคคลเสพ    เจริญ    ทำให้มากแล้ว    ย่อมอำนวยผลให้ไปเกิดในนรก    อำนวยผลให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน    อำนวยผลให้ไปเกิดในเปรตวิสัย    วิบากแห่งผรุสวาจาอย่างเบาที่สุด    ย่อมอำนวยผลให้ได้ฟังเรื่องที่ไม่น่าพอใจแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์

       สัมผัปปลาปะ    (การพูดเพ้อเจ้อ)    ที่บุคคลเสพ    เจริญ    ทำให้มากแล้ว    ย่อมอำนวยผลให้ไปเกิดในนรก    อำนวยผลให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน    อำนวยผลให้ไปเกิดในเปรตวิสัย    วิบากแห่งสัมผัปปลาปะอย่างเบาที่สุด    ย่อมอำนวยผลให้มีวาจาที่ไม่น่าเชื่อถือแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์”

สำหรับโทษของวจีทุจริตนั้นปรากฏทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า   "เมื่อบุคคลทำกายทุจริต   วจีทุจริต  มโนทุจริต  ที่เรากล่าวว่า เป็นอกรณีกิจโดยส่วนเดียว    อาทีนพดังต่อไปนี้   อันผู้นั้นพึง หวังได้   คือ:  ๑.  แม้ตนเอง  ย่อมติเตียนตนได้  ๒.  ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว  ย่อมติเตียน  ๓.  ชื่อเสียงอันชั่ว  ย่อมกระฉ่อนไป  ๔.  ย่อมหลงทำกาลกิริยา ๕.  เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก   ย่อมเข้าถึงอบาย  ทุคติวินิบาต   นรก"[11]  หรือที่ตรัสไว้ว่า  “หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต    วจีทุจริต    และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ    มีความเห็นผิด    และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย    ทุคติ    วินิบาต    นรก”[12]   จากหลักการที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการละเว้นวจีทุจรติถือว่าเป็นจุดยืนที่สำคัญของพระพุทธศาสนา[13]  ซึ่งคำสอนทำให้เกิดคุณงามความดีทั้งต่อตนเองและสังคม แต่ถ้าหากมนุษย์มีพฤติกรรมที่ เป็นไปในทางที่ไม่ดีเป็นการกระทำที่ตกไปในทางที่ชั่วนำมาซึ่งโทษภัยอันหาประมาณไม่ได้มาสู่ทั้งตนเองและสังคม  ในส่วนการพูด หรือวาจาที่ก่อให้เกิดโทษควรจะสังวร

จึงกล่าวได้ว่าการพูดเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งของมนุษย์  ซึ่งถ้าคนในสังคมมีความสำรวมระวังในการพูดจา ละเว้นวจีทุจรติตามหลักการพระพุทธศาสนา  การพูดนั้นย่อมย่อมนำความสงบสุขมาสู่สังคม  ทำให้เป็นที่รักของผู้ที่เข้าใกล้  ดังนั้นการงดเว้นจากวจีทุจริตของคนในสังคม  นับว่าเป็นกุศลกรรมบถซึ่งเป็นหลักคำสอนเรื่องของความดีในพระพุทธศาสนา ทำให้สังคมสงบสุข เป็นผลให้การอยู่ร่วมกันในสังคมมีความราบรื่น เป็นไปเพื่อการพัฒนาศักยภาพในด้านอื่น สังคมก็จะเจริญก้าวหน้า  ก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ    

 

********************************



[1]ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๑๘๓/๙๐.

[2] พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต), พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ อธิบายศัพท์และแปลความหมายคำวัดที่ชาวพุทธควรรู้, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม, ๒๕๕๑), หน้า ๑๔๓๑.

[3]  ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๓๐๕/๒๖๐, ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๓๕๖/๓๙๖, ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๓๐๕/๒๖๐, ม.มู. (ไทย) ๑๒/๖๖/๖๑, ม.ม. (ไทย)  ๑๓/๑๕/๑๗,ม.ม. (ไทย)  ๑๓/๒๕/๒๘, ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๑๘/๒๕, ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๑๘/๒๕, ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๒๖๑/๓๑๐, สํ.นิ. (ไทย)  ๑๖/๗๐/๑๔๗, สํ.นิ. (ไทย)  ๑๖/๑๕๒/๒๕๒, สํ.มหา. (ไทย)  ๑๙/๑๘๗/๑๒๑, องฺ.เอกก. (ไทย)  ๒๐/๒๙๑-๒๙๒/๓๖, องฺ.ทุก. (ไทย)  ๒๐/๙/๑๔๗, องฺ.ทุก. (ไทย)  ๒๐/๓๙/๒๐๐, องฺ.จตุกฺก. (ไทย)  ๒๑/๘๕/๑๒๙.

[4] ม.ม.อ. (ไทย) ๒/๕๗/๔๐.

[5] ที.ปา.(ไทย) ๑๑/๓๐๕/๒๖๐

[6] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑), หน้า ๓๕๕.

[7] องฺ.จตุกฺก. (ไทย)  ๒๑/๑๔๘/๒๑๒, องฺ.จตุกฺก. (ไทย)  ๒๑/๒๒๑/๓๓๘.

[8] อภิ.สงฺ.(ไทย) ๓๔/๑๓๐๖/๓๒๙.

[9] สํ.ส.(ไทย) ๑๕/๑๑๕/๑๓๒.

[10] องฺ.อฏฺฐก.(ไทย) ๒๓/๔๐/๓๐๑-๓๐๒.

[11]อง.ทุก. (ไทย)  ๒๐/๑๘/๗๑.

[12]ที.สี. (ไทย) ๙/๒๔๖/๘๓.

[13] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๕๘/๑๑๙.

หมายเลขบันทึก: 439519เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2011 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท