พุทธปรัชญา: โลกทัศน์เกี่ยวกับโลกและชีวิตของพระพุทธศาสนา


หลักการพระพุทธศาสนา

พุทธปรัชญา: โลกทัศน์เกี่ยวกับโลกและชีวิตของพระพุทธศาสนา

 “พุทธปรัชญา” ได้แก่ หลักคำสอนเกี่ยวกับความจริง (สัจธรรม) และหลักปฏิบัติ (จริยธรรม) บางประการของพระพุทธศาสนาที่นำมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยการใช้เหตุผลตามวิธีการของปรัชญา จากนิยามความหมายนี้ทำให้มองเห็นขอบเขตของพุทธปรัชญาว่าจำกัดอยู่ในส่วนที่เป็นศาสนธรรมของพุทธศาสนาเท่านั้น จะไม่รวมไปถึงองค์ประกอบอื่น ๆ เว้นเสียแต่ว่าองค์ประกอบเหล่านี้ จะเกี่ยวโยงกับศาสนธรรม จึงจะศึกษาวิเคราะห์ด้วยการใช้เหตุผลเชิงปรัชญาด้วยเท่านั้น

 

ลักษณะของพุทธปรัชญา 

หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงแสดงหลักธรรมให้เห็นถึงความเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล หลักจริยธรรมที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยทรงวางหลักง่าย ๆ ของการดำเนินชีวิตเอาไว้ ซึ่งพอจะประมวลลักษณะเด่น ๆ ของพุทธปรัชญาได้ดังนี้

- หลีกเลี่ยงที่จะโต้แย้งทางปรัชญา เช่นปัญหาทางอภิปรัชญาที่เรียกว่า อัพยากตปัญหา เป็นต้น  มีจุดเริ่มต้นแบบทุนิยม (ทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น)

- และจบลงที่สุนิยม มีลักษณะเป็นสัจจนิยมฯ กรรม คือ การกระทำด้วยตนเอง

- เป็นแบบปฏิบัตินิยม คือ  อริยสัจ ๔ มรรค ๘ หรือมัชฌิมาปฏิปทา  ปฏิจจสมุปบาท (กฎสากลในธรรมชาติ) เป็นต้น

 

พุทธปรัชญาปฏิเสธแนวคิดของปรัชญาอินเดียระบบเก่า

พุทธศาสนาให้ใช้หลักกาลามสูตร ปฏิเสธการสร้างโลกของพระพรหม มอว่าสรรพสิ่งเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ไม่เห็นด้วยกับการอาบน้ำล้างบาปและยัญพลีกรรม ไม่ยอมรับระบบวรรณะคนจะดีชั่วเพราะกรรม มิใช่ชาติตระกูล ไม่ยอมรับทางสุดโด่งทั้งสองส่วน ทรงแสดงทางสายกลาง หลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนาที่โดดเด่น เช่น

- ไตรลักษณ์ ทรงแสดงว่า สรรพสิ่ง ย่อมมีลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปตามหลักแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และมิใช่ตัวตนเสมอกัน ไม่มียกเว้น

 - อริยสัจ ๔ ทรงแสดงว่าปัญหาทุกข์ของชีวิตทุกอย่างเกิดจากสาเหตุคือความอยาก (ตัณหา) ด้วยประการต่าง ๆ แล้วทรงแสดงว่า ความดับสนิทแห่งความทุกข์ทั้งมวล (นิโรธ) ต้องปฏิบัติตามแนวทางแห่งมรรคมีองค์ ๘ ประการ

 - ปฏิจจสมุปบาท หรือทฤษฎีสาเหตุสัมพันธ์ ว่า การเกิดกับดับของสิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามหลักปัจจยาการคือเหตุปัจจัยอาศัยกันเกิดขึ้นแบบลูกโซ่ ในลักษณะเป็นวงจรหาเบื้องต้นและเบื้องปลายหรือที่สุดไม่พบ ผลที่เกิดจากสาเหตุอันหนึ่ง ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดสิ่งอื่นอีกต่อไป เรื่อยไป ไม่มีสิ้นสุด

 - กฎแห่งกรรม ทรงแสดงว่ากรรมคือการกระทำของมนุษย์มีแรงผลักดันมาจากกิเลสเป็นเหตุแล้วให้เกิดผล (วิบาก) ของการกระทำนั้น แล้วผลก็จะกลายเป็นเหตุให้ทำกรรมต่อไปอีก จนกว่าจะตัดกิเลสอันเป็นเหตุแห่งการทำกรรมได้ วงจรแห่งกฎแห่งกรรมก็จะสิ้นสุดลง เข้าสู่ความสิ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร คือ พระนิพพาน หรือ เข้าสู่อรหันตภูมิ การกระทำจึงจะเป็นแต่เพียงกิริยาไม่มีผล (วิบาก) ที่เป็นทุกข์อีกต่อไป

 - อนัตตา จากการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นตามหลักแห่งปัจจยาการ จึงไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่แท้จริงที่จะยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเราของเรา เป็นตัวเขาของเขา ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนาได้ จึงไร้ตัวตน ไม่มีอาตมัน และวิญญาณอมตะดังที่ลัทธิเทวนิยมทั่วไปเชื่อถือกันอยู่

 

ความแตกต่างระหว่างพุทธปรัชญากับปรัชญาทั่วไป

ปรัชญาเป็นระบบแนวคิดใหญ่ ที่ครอบคลุมและเป็นแม่ของศาสตร์บรรดามีอีกหลายศาสตร์ เมื่อมองจากแง่นี้ พุทธปรัชญาจึงเป็นส่วนหนึ่งของปวงปรัชญา  ส่วนแนวคิดที่สอง ก็บอกว่า หากพิจารณาถึงเนื้อหาปรัชญาแล้ว จะพบว่า มีเนื้อหาปรากฏอยู่ในพุทธปรัชญาครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรัชญาทางตะวันตก  จากมุมมองทั้งสองนี้ จะเห็นว่า พุทธปรัชญากับปรัชญา มีเหมือนความเหมือนกันในฐานะเป็นระบบความคิดเกี่ยวกับความจริงของชีวิตมนุษย์ โลก และจักรวาล  และหากจะมีความแตกต่างกันก็ตรงที่พุทธปรัชญา มีเนื้อหาที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับมนุษย์ โลก และจักรวาลดังกล่าว  เป็นการเฉพาะ  ซึ่งเนื้อหาดังกล่าว อาจจะมีทั้งส่วนเหมือนและส่วนต่างจากระบบปรัชญาอื่น ๆ บ้างก็ได้แต่จะอย่างไรก็ตาม พุทธปรัชญาและปรัชญาอื่น ๆ ต่างมีความสนใจมุ่งศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับมนุษย์ โลก และจักรวาลเช่นเดียวกัน

การใช้คำว่า “พุทธปรัชญา” จึงเป็นการใช้เรียกวิธีการศึกษาพระพุทธศาสนาในเชิงปรัชญา ที่ไม่ได้ใช้ศรัทธาความเชื่อเป็นตัวตั้ง หากแต่ใช้ความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เน้นการวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์ ตั้งถามเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างกระจ่างชัด ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง คำว่า พุทธปรัชญา จะใช้ในบริบทแห่งการศึกษาปรัชญา ซึ่งเป็นการจัดพุทธปรัชญาเป็นระบบหนึ่งตามแนวคิดแรก

พุทธปรัชญาเป็นระบบปรัชญาอีกระบบหนึ่งในบรรดาปวงปรัชญาทั้งหลาย เหตุผลอยู่ตรงที่นิยามความหมายและลักษณะของความเป็นปรัชญา กล่าวคือ มีผู้ให้นิยามความหมายคล้ายกันว่า คำว่า ปรัชญา นั้นเป็นศัพท์ในภาษาสันสกฤษ ที่ยืมมาใช้ในภาษาไทย มีความหมายว่า รอบรู้ รู้ทั่ว มีนัยแสดงให้เห็นถึงความเป็นผล คือ ความรู้รอบ คำว่าปรัชญาดังกล่าวนี้ ได้นำมาใช้เป็นคำแปลของศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Philosophy ซึ่งมีความหมายว่า รักในความรู้ หรือรักที่จะเรียนรู้ จึงมีนัยแสดงให้เห็นถึงความเป็นเหตุ นั่นหมายความว่า philosohpy นั้น เน้นที่เหตุ คือ วิธิการ กระบวนการในการแสวงหาความรู้

จะเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากความหมายตามศัพท์ของคำว่า ปรัชญา และ philosophy ดังกล่าวแล้ว ทั้งสองคำจะมีความหมายไม่ตรงกันทีเดียวนัก  แต่อย่างไรก็ตาม ในบริบทการศึกษาด้านปรัชญา ก็มีความเข้าใจถึงประเด็นนี้ดี 

ความเป็นปรัชญาที่แท้จริง อยู่ที่ความสงสัยใคร่รู้ในสรรพสิ่งรอบตัวมนุษย์ แล้วไม่หยุดอยู่แค่ความสงสัยเท่านั้น หากแต่มุ่งแสวงหา ค้นคว้าหาคำตอบในเรื่องที่ตนสงสัยนั้น กล่าวให้ชัดขึ้น ก็คือ หากเห็นว่า เรื่องใดเป็นปัญหา แล้วสงสัยว่าทำไมจึงเกิดปัญหานั้นขึ้น และจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร จากนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการแสวงหาคำตอบนั้น ๆ

ที่นับพุทธปรัชญาเป็นปรัชญาระบบหนึ่ง ก็ด้วยเหตุผลที่ว่านี้ เพราะจุดเริ่มต้นแห่งพุทธปรัชญาอยู่ที่ความสงสัยในความจริงของชีวิตที่เกิดขึ้นแก่เจ้าชายสิทธัตถะในขณะยังมิได้เสด็จออกผนวช กล่าวคือ ทรงเล็งเห็นถึง ความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นปัญหาของชีวิตมนุษย์ และได้ตั้งคำถามกับพระองค์ว่า จะหลุดพ้นจากความแก่ ความเจ็บและความตายนี้ได้อย่างไรหรือไม่ จากนั้น จึงทรงอุทิศเวลาและชีวิตเพื่อแสวงหาคำตอบที่ว่านี้จนได้คำตอบ ทั้งยังทรงค้นพบมรรคาสู่ความหลุดพ้นจากสภาวะดังกล่าวนั้นด้วย  พุทธปรัชญาจึงก่อกำเนิดขึ้น และได้รับการนำสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน

โดยนัยนี้ พุทธปรัชญาจึงเป็นปรัชญาระบบหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะสงสัยใคร่รู้ของเจ้าชายสิทธัตถะดังกล่าวข้างต้น

 

ความแตกต่างระหว่างพุทธปรัชญากับพุทธศาสนา

ทั้งพุทธปรัชญากับพุทธศาสนานั้น ต่างกันตรงที่ (๑) เป้าหมาย (๒) วิธีการ  (๓) บริบท แห่งการศึกษาพุทธศาสนาหรือการใช้คำทั้งสองนี้ในบริบทไหน

อย่างไรก็ตาม คำสำคัญที่เป็นนัยชี้บ่งถึงความแตกต่างกัน คือ คำว่า ปรัชญาและศาสนา  ดังนั้น หากจะมีความแตกต่างกันก็อยู่ที่ความหมายและลักษณะของทั้งสองคำเป็นสำคัญ

ความหมายของปรัชญา ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่ยังมีลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ลักษณะของปรัชญาจะไม่ผูกขาดการนำไปใช้หรือนำไปปฏิบัติ มิได้กำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวว่า จะต้องนำความรู้ที่ค้นหาได้จากเรื่องที่สงสัยนั้น ไปใช้ในชีวิตประจำวัน  หากแต่เป็นการเปิดโอกาสให้เลือกว่า จะนำไปใช้หรือไม่ก็ได้ เรียกว่า ให้อิสระในการเลือกบริโภคความคิด ลักษณะทั่วไปของปรัชญาจะเป็นประมาณนี้ โดยเฉพาะปรัชญาแบบตะวันตก

ส่วนคำว่า ศาสนา หมายถึง ความสั่งสอน หรือ ชุดความรู้ชุดหนึ่ง หรือจะเรียกให้ตรงศัพท์คือ หลักความเชื่อในความรู้ชุดหนึ่ง ซึ่งศาสดาของแต่ละศาสนาค้นพบและนำมาสั่งสอน  ศาสนาจะผูกโยงอยู่กับความเชื่อ จุดเริ่มต้นของความเป็นศาสนาคือ ความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่มีปัญญาความรู้ หรือความเชื่อที่ไม่มีปัญหาก็ตาม นักศาสนาหลายคนเสนอว่า จงเชื่อแล้วจะเกิดความรู้  ดังนั้น ศาสนาจึงมีลักษณะการผูดขาดว่าจะต้องนำความรู้ที่ได้นั้นไปปฏิบัติในชีวิตจริง และต้องปฏิบัติอย่างจริงจังถึงจะได้ลิ้มรสแห่งสิ่งที่ศาสนาสอน

ดังนั้น หากมีเป้าหมายเพื่อต้องการเรียนรู้เพราะสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับพุทธธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยไม่เกี่ยวกับความเชื่อ ไม่มีศรัทธาในพุทธศาสนาแต่อย่างใด ก็จะเป็นการศึกษาแบบพุทธปรัชญา  และในการศึกษาแบบพุทธปรัชญา ก็จะมีวิธีการที่ต่างออกไปคือ เน้นที่การวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ตั้งประเด็นเพื่ออภิปรายด้วยเหตุผล ให้กระจ่าง จากนั้น อาจไม่ได้นำไปปฏิบัติแต่อย่างใด หรืออาจนำใช้ก็ได้  หากศึกษาแบบศาสนา อาจไม่เปิดโอกาสให้ถามอะไรมาก

 

ลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา


แม้ว่าพุทธศาสนากับพุทธปรัชญาจะมีบ่อเกิดมาแหล่งเดียวกันคือ ประสบการณ์ของชีวิตมนุษย์ก็ตาม แต่มีลักษณะพิเศษเฉพาะอย่างตามธรรมชาติของประสบการณ์ วิธีการ และจุดหมายของแต่ละวิชา ซึ่งอาจยกมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นประเด็นได้ดังนี้


๑. พุทธศาสนามุ่งแสวงหาความรู้เกี่ยวกับรูปแบบวิถีทางและอิทธิพลของตนที่มีต่อชีวิตและสังคมรวมทั้งการตีความหลักคำสอนต่าง ๆ พยายามตอบปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวกับชีวิต โดยการยึดหลักเอาศรัทธาเป็นหลักเป็นพื้นฐาน,ส่วนพุทธปรัชญามุ่งแสวงหาการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อพยายามเข้าใจตนเองและโลกโดยอาศัยเหตุผลเป็นหลักการและจุดยืนในการมองปัญหาต่าง ๆ


๒.พุทธปรัชญามุ่งแสวงหากฎทั่วไป ซึ่งเป็นบรรทัดฐานของมนุษย์โดยทั่วไป, ส่วนปรัชญาไม่ได้มุ่งแสวงหากฎทั่วไปเหมือนวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา เป็นการแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานอ้นมีลักษณะเป็นนามธรรม สัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิต ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามกาลเวลาและสถานที่


๓. พุทธศาสนาไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างเดียวมาอธิบายประสบการณ์ของชีวิต แต่อาศัยความงาม อารมณ์ และความรู้ความศรัทธามาเป็นองค์ประกอบ เพื่อที่จะเข้าใจในหลักธรรมของศาสนา ส่วนพุทธปรัชญามิได้แสวงหาความชื่นชมและความงามในตัวของมันเองในการตรวจสอบ ทบทวน ไตร่ตรอง วิจารณ์ปัญหาต่าง ๆ อาจจะเกิดมีความชื่นชมและความงามควบคู่ไปด้วย


๔. พุทธศาสนามุ่งหมายที่จะต้อง”พิสูจน์” ความจริง อันเป็นคำตอบปัญหาเรื่องชีวิต ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตนในแต่ละศาสนาบางอย่างอาจจะสอดคล้องลงรอยกันกับวิธีการ กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทุกกรณี เพราะพุทธศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อต่อสิ่งนอกเหนือกฎเกณฑ์เหนือธรรมชาติ, แต่พุทธปรัชญาพยายามหลีกเลี่ยงการพิสูจน์ตามแบบวิทยาศาสตร์ คงมุ่งแต่ค้นคว้าหาคำตอบ คือปัญหาที่เกิดขึ้นอันอาจเป็นเพียงคำอธิบายเบื้องต้น ซึ่งอาจได้รับการพิสูจน์โดยกาลเวลาอยู่แล้ว


๕. พุทธศาสนายึดมั่นในเรื่องคุณค่า และข้อเท็จจริง ถือว่ามีมาในศาสนาเพราะทำให้การปฏิบัติตามหลักมีความหมาย แต่พุทธปรัชญามีปัญหาเรื่องคุณค่าและข้อเท็จจริงแสดงบทบาทแตกต่างกันกล่าวคือ พุทธอภิปรัชญาเกี่ยวข้องกับความจริงสูงสุด พุทธญาณวิทยาเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ ส่วนพุทธจริยศาสตร์เกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องของคุณค่า และแต่ละประเภทของปรัชญาจะเน้นบทบาทของคุณค่าไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม หากเราถือหลักการอันเป็นสากลโดยทั่วไปซึ่งเป็นธรรมชาติของระบบแนวคิดในโลกทางตะวันออกแล้ว เราก็ต้องยอมรับว่า ศาสนากับปรัชญาไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไร ไม่อาจแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดได้ ทั้งศาสนาและปรัชญาต่างมีข้อเหมือนกันคือ “เป็นผลผลิตของประสบการณ์ชีวิต”

 

………………………………………..

หมายเลขบันทึก: 439399เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2011 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมเพียงแต่สงสัยว่า Neo Buddhism กลุ่มชาวพุทธที่มีความเชื่อใหม่ จากข้อสังเกตของ พงษ์ศักดิ์ เกษมพันธ์ (บทความด้านล่าง) ตอนหนึ่งว่า " Neo Buddhism เป็นประเด็นที่ถูกนำเสนอเป็นทางเลือกขึ้นมาใหม่ในความสับสนอลหม่านของพุทธศาสนาในทศวรรษนี้ เพื่อค้นหารากเหง้าของพุทธศาสนา และแนวทางใหม่ที่จะดำรงตนเป็นชาวพุทธควรจะเป็น หากใช้ทัศนะวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์ ความคิดนี้คือลัทธิแก้ Revisionism ในยุคใหม่ ข้อเสนอและการตีความใหม่ระยะหลังมักมาจากนักวิชาการ-นักวิทยาศาสตร์และปัญญาชนทั่วโลก ได้รับความสนใจกันในหมู่ชาวพุทธที่ สิ้นศรัทธากับสงฆ์ยุคพุทธพาณิชย์ เลือกศรัทธาเฉพาะสงฆ์บางรูป และเลือกเชื่อเป็นบางประเด็นจากการนำเสนอของสงฆ์ทั่วโลก ก่อให้เกิดความคิดในแบบที่เลือกเชื่อพุทธศาสนาในฐานะเป็น Empirical Truth หรือเชื่อว่าใช่ แต่ไม่นับถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมพิธีกรรมศาสนา พระพุทธรูปเป็น Icon ให้ระลึกถึง ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิที่ต้องกราบไหว้แบบบูชา ยึดบุญกริยา 10 เป็นวิธีการทำบุญ...." จะออกไปในแนวทางของพุทธปรัชญา มิใช่พุทธศาสนา อย่างน้อยก็ตามข้อสังเกตถึงความแตกต่างของศานาพุทธกับพุทธปรัชญา ข้อที่หนึ่ง ของพระอาจารย์ดร.ทวี

ด้านล่างนี้คือ บทความของ พงษ์ศักดิ์ เกษมพันธ์ ที่เขียนไว้ในเฟสบุ๊ค

Neo Buddhism : นวพุทธ-ทางเลือกใหม่หรือลัทธิแก้

นับจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และเผยแพร่พระศาสนา มีความต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ 2600 ปี มีปรากฎการณ์ของความเห็นแตกต่างที่เด่นชัดใน 100 ปีแรกหลังพุทธปรินิพพาน จากเรื่องเล็กน้อยที่เห็นว่าสมณะควรปรุงแต่งรสอาหารได้ นำไปสู่การแยกนิกายออกไป ปะหน้าตนเองว่าเป็นมหายาน-ทางสายกว้าง ตราชื่อพวกหัวเก่าว่าเป็นทางแคบ-หรือหินยาน

ใน 1000 ปีแรกของพุทธศาสนา มีการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆเข้ามาในการสืบพระศาสนา ตีความกันใหม่เกิดความหลากหลายในเป้าหมายหรือเข็มมุ่งของศาสนาในประเทศต่างๆ ผสมผสานข้ามนิกายกันจนชาวพุทธในทุกวันนี้แยกไม่ออกว่าอะไรคืออะไร

จีนนิกาย คือผลลัพภ์จากนิกายมหายาน-ส่งคณะสงฆ์ไปเผยแพร่ศาสนาในจีน องค์หนึ่งถูกเรียกแบบจีนว่าตั๊กม้อ สอนกันแหวกแนวจนพระหลายองค์รวมทั้งพระถังซัมจั๋ง ต้องดั้นดันไปสืบพระศาสนาในอินเดีย เดินอ้อมหิมาลัยไปทะลุปากีสถาน ไปเรียนที่นาลันทาตามอาจารย์ กลับมาเผยแพร่คำสอนที่ต่างออกไปจากเดิมอีก เน้นให้เผื่อแผ่ทำทาน เพราะเป็นทางที่จะได้ขึ้นสวรรค์ ไปถึงขั้นเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีปรากฎหลายองค์เข้ามาในสารบบ เจ้าแม่กวนอิม คือหนึ่งในนั้น

ธรรมยุต คือมหานิกายหรืออาจริยวาทที่หันมาหาคำสอนแนวเถรวาท พยายามเคร่งศีลถึงขั้นโกนคิ้ว มีตำแหน่งการปกครองเป็นราชาคณะ -ซึ่งเถรวาทเขาไม่เคยทำ-ไม่เคยมี

เถรวาทสอนให้พัฒนา ศีล-สมาธิ-ปัญญา คู่ขนานกันไป

ธรรมกาย ในวันนี้เป็นมหานิกายสายที่เน้นพัฒนาจิตเป็นหลัก

สันติอโศก ให้กองทัพธรรม เคร่งครัดในศีล 5 ไม่สนใจสมาธิแบบธรรมกาย

จีนนิกาย-แทรกเข้าทั่วทุกนิกาย จนทำให้การทำทานเป็นวิธีการเดียวที่จะทำบุญ ส่วนที่เหลืออีก 9 ข้อในบุญกริยา 10 ไม่มีใครพูดถึงกัน การไหว้ขอพร บนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แทรกซึมทั่วถ้วนทุกนิกาย

พุทธทาสภิกขุ คือสงฆ์องค์แรกที่นำเอากาลาลามสูตร มาสอนชาวพุทธ

พระผู้ใหญ่ในเมืองหลวงถามปัญญานันทภิขุว่า-พุทธทาสมันทำอะไร?

เถรวาท เนื้อแท้มันคืออะไรกันแน่?

Neo Buddhism เป็นประเด็นที่ถูกนำเสนอเป็นทางเลือกขึ้นมาใหม่ในความสับสนอลหม่านของพุทธศาสนาในทศวรรษนี้ เพื่อค้นหารากเหง้าของพุทธศาสนา และแนวทางใหม่ที่จะดำรงตนเป็นชาวพุทธควรจะเป็น

หากใช้ทัศนะวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์ ความคิดนี้คือลัทธิแก้ Revisionism ในยุคใหม่ ข้อเสนอและการตีความใหม่ระยะหลังมักมาจากนักวิชาการ-นักวิทยาศาสตร์และปัญญาชนทั่วโลก ได้รับความสนใจกันในหมู่ชาวพุทธที่

สิ้นศรัทธากับสงฆ์ยุคพุทธพาณิชย์ เลือกศรัทธาเฉพาะสงฆ์บางรูป และเลือกเชื่อเป็นบางประเด็นจากการนำเสนอของสงฆ์ทั่วโลก

ก่อให้เกิดความคิดในแบบที่เลือกเชื่อพุทธศาสนาในฐานะเป็น Empirical Truth หรือเชื่อว่าใช่ แต่ไม่นับถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมพิธีกรรมศาสนา พระพุทธรูปเป็น Icon ให้ระลึกถึง ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิที่ต้องกราบไหว้แบบบูชา ยึดบุญกริยา 10 เป็นวิธีการทำบุญ

ผสมผสานความคิดจากนักเทววิทยาคริสเตียนในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่สรุปด้วยหลักเหตุผลว่า ถ้าสวรรค์มีจริงก็เท่ากับไม่มีชะตาลิขิต มนุษย์มีอิสระที่จะเลือกทำความดี ละเว้นความชั่ว มาอธิบายในแบบพุทธ

เอาชุดคำสอนไปปรุงแต่งเทียบเคียงกับสหวิทยาการสมัยใหม่ อธิบายอนิจจัง ด้วยควอนตัมฟิสิกส์ และใช้นิวเคลียร์ฟิสิกส์เพื่ออธิบาย อนัตตา ตีความคุณสมบัติของธาตุ 4 ในแนววิทยาศาตร์ แทนการแปลแบบเดิม

Neo Buddhism เป็นเพียงแนวคิดร่วม ไม่มีหัวขบวนเจ้าลัทธิแน่ชัด กระจายกันอยู่ในหลายประเทศ เข้าใจในศีลแต่ไม่ถือศีลแบบข้อกำหนด การละเมิดข้อห้ามเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หากไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน ดื่มสุราและซื้อล็อตเตอรี่ แม้จะรู้ว่าเป็นเรื่องโง่ๆ นับถือพระพุทธเจ้าแต่เลี่ยงที่จะไปเวียนเทียน ไม่เห็นพ้องกับวิธีการละ ข่ม ตัด กิเลสตัณหา ด้วยเชื่อว่าทำได้ยาก เฉพาะอรหันต์เท่านั้นที่ทำได้ เลือกที่จะเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงของตัณหา และใช้ปัญญาจัดการกับผัสสะ-อารมณ์ พยายามทำตามปัญญามากกว่าทำด้วยตัณหาอารมณ์ เช่น เลือกกินอาหารด้วยเหตุผลมากกว่าความอยากกิน เห็นพ้องกับ Adam Smith ที่ว่าความโลภ เป็นแรงผลักดันที่ไม่สิ้นสุด อิทธิบาท 4 และกระบวนการทิฏฐิ มานะ คือทางไปสู่ความสำเร็จ มีข้อแม้คือต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ

สนใจสมาธิเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ฝึกฝนมุ่งบรรลุอภิญญาใดๆ มุ่งหาแสวงสว่างทางปัญญา-ศีล-สมาธิ เชื่อในกฎแห่งกรรม ชีวิตคือทางเลือกแบบ Existentialism ต้องเผชิญกับความบังเอิญแบบ Matrics

ชะตากรรม มีความหมายในเชิงวิวัฒนาการตามพิมพ์เขียวของชีวิตมีรูปแบบเฉพาะของชีวิต แบบไส้เดือน กิ้งกือ อิทธิพลของกรรมพันธุ์จะมีบทบาทแสดงฤทธิ์อยู่บ้าง ก็ไม่มีรูปแบบตายตัว

ไม่มีอะไรเกินเลยธรรมชาติของการกระทำ และการไม่กระทำของมนุษย์ ที่ยังมีตัวแปรอื่นๆ รวมไปถึงการถูกกระทำระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

เชื่อได้เลย-ว่ามีการกระทำและการไม่กระทำเป็นต้นเหตุเสมอ มีผลเกิดขึ้นเสมอ จากการกระทำหรือไม่กระทำ

ไม่มีอะไรในโลกและจักรวาลที่เกิดมาจากเหตุบังเอิญ อาจมองไม่เห็นและไม่รู้ต้นกำเนิด โลกและจักรวาลมีวิวัฒนาการตามพิมพ์เขียวของมันเอง มีการเปลี่ยนแปลง และมีตัวแปรมากมาย ดวงอาทิตย์กำลังอ่อนแรงและจะดับสลาย มีรูปแบบคล้ายชีวิต เกิด-ไม่เที่ยง-และดับสลาย

กฎแห่งความไม่เที่ยงของไฮเซนเบิร์ก (Heisenberg’s Uncertainly Principle) ยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงแปรผันในหลักอนิจจัง

จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เกิดลัทธิแก้ขึ้นอีกแล้วในปีที่พุทธศาสนาครบรอบ 2600 ปี

ปัญา เป็นสิ่งมนุษย์ปราถนาได้มาเป็นเครื่องมือในการใช้ชีวิต ดีแล้วที่ไม่เชื่ออะไรโดยง่ายดาย เพราะความเชื่อง่ายมักไม่ได้ปัญญา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท