วันสิ้นโลก พ.ศ. - ๔๐ ตอนปฐมกาล


วันสิ้นโลก
วันสิ้นโลก พ.ศ. -๔๐ ตอน "ปฐมกาล"
ภาพจาก : Astrobiology Magazin, 10 February 2003
       
                 จากการทำสังคายนาครั้งแรกพระอานนท์เป็นผู้ตอบหรือเล่าเรื่องที่ตนได้ทราบจากพระพุทธองค์โดยตรงให้พระเถระในที่ประชุมสงฆ์ครั้งนั้นฟัง ซึ่งการทำสังคายนาครั้งนั้นกำหนดให้พระอานนท์เป็นผู้เล่าและตอบพระสูตร ส่วนพระอุบาลีเป็นผู้เล่าและตอบพระวินัย จึงทำให้พระไตรปิฎกในครั้งแรกจะมีแต่เฉพาะ พระธรรม(พระสูตร)และพระวินัยเท่านั้นยังไม่มีพระอภิธรรม 
                        
                   ดังนั้นพระไตรปิฎกจึงมีขึ้นต้นด้วยคำว่า   “ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ – เอวัม เมสุตัง . . .” เสมอในทุก ๆ พระสูตร เรื่องทรงทำนาย "วันสิ้นโลก"ก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นในพรรษาที่ ๕ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงจำพรรษาอยู่ที่กรุงเวสาลี ก่อนพุทธศักราช ๔๐ ปี ในบรรยากาศที่ร่มรื่นเต็มไปด้วยธรรมชาติของป่าไม้ใบเขียว ความว่า
             
พุทธพจน์:
 [๖๖]    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ 
            สมัยหนึ่ง    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่    ณ    อัมพปาลีวัน    เขตกรุงเวสาลี    ณ    ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า    “ภิกษุทั้งหลาย”    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว    พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
            “ภิกษุทั้งหลาย    สังขารทั้งหลายเป็นสภาวะไม่เที่ยง    ไม่ยั่งยืน    ไม่น่าชื่นชม    นี้เป็นข้อกำหนดควรเบื่อหน่าย    ควรคลายกำหนัด    ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
            ภิกษุทั้งหลาย    ขุนเขาสิเนรุ    ยาว    ๘๔,๐๐๐    โยชน์    กว้าง    ๘๔,๐๐๐    โยชน์หยั่งลงในมหาสมุทร    ๘๔,๐๐๐    โยชน์    สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป    ๘๔,๐๐๐    โยชน์มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน    บางครั้งบางคราว    ฝนไม่ตกหลายปี    หลายร้อยปีหลายพันปี    หลายแสนปี    เมื่อฝนไม่ตก    พีชคาม    ภูตคาม    และติณชาติที่ใช้เข้ายาป่าไม้ใหญ่    ย่อมเฉา    เหี่ยวแห้ง    เป็นอยู่ไม่ได้    ฉันใด
            สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น    เป็นสภาวะไม่เที่ยง    ไม่ยั่งยืน    ไม่น่าชื่นชม    นี้เป็นข้อกำหนดควรเบื่อหน่าย    ควรคลายกำหนัด    ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง 
            มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน    บางครั้งบางคราว    มีดวงอาทิตย์ดวงที่๒ ปรากฏ    เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่    ๒    ปรากฏ    แม่น้ำน้อย    หนองน้ำทุกแห่ง    ระเหยเหือดแห้ง    ไม่มีน้ำ    ฉันใด . . .          
            มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน    บางครั้งบางคราว    มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๓    ปรากฏเพราะดวงอาทิตย์ดวงที่    ๓    ปรากฏ    แม่น้ำสายใหญ่ๆ    คือ    คงคา    ยมนา    อจิรวดี    สรภูมหี    ทุกแห่ง    ระเหย    เหือดแห้ง    ไม่มีน้ำ    ฉันใด   สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น    เป็นสภาวะไม่เที่ยง    ฯลฯ    ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง 
            มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน    บางครั้งบางคราว    มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๔    ปรากฏเพราะดวงอาทิตย์ดวงที่    ๔    ปรากฏ    แหล่งน้ำใหญ่ๆ    ที่เป็นแดนไหลมารวมกันของแม่น้ำใหญ่ๆ    เหล่านี้    คือ    สระอโนดาด    สระสีหปปาตะ    สระรถการะ    สระกัณณมุณฑะ สระกุณาลา    สระฉัททันต์    สระมันทากินี    ทุกแห่ง    ระเหย    เหือดแห้ง    ไม่มีน้ำ    ฉันใด 
            สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น    เป็นสภาวะไม่เที่ยง    ฯลฯ    ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
            มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน    บางครั้งบางคราว    มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕    ปรากฏเพราะดวงอาทิตย์ดวงที่    ๕    ปรากฏ    น้ำในมหาสมุทรลึก    ๑๐๐    โยชน์ก็ดี    ๒๐๐    โยชน์ก็ดี    ๓๐๐    โยชน์ก็ดี    ๔๐๐    โยชน์ก็ดี    ๕๐๐    โยชน์ก็ดี    ๖๐๐    โยชน์ก็ดี    ๗๐๐    โยชน์ก็ดีงวดลงเหลืออยู่เพียง    ๗    ชั่วต้นตาลก็มี    ๖    ชั่วต้นตาลก็มี    ๕    ชั่วต้นตาลก็มี    ๔    ชั่วต้นตาลก็มี    ๓    ชั่วต้นตาลก็มี    ๒    ชั่วต้นตาลก็มี    ชั่วต้นตาลเดียวก็มี    เหลืออยู่เพียง๗    ชั่วคน    ๖    ชั่วคน    ๕    ชั่วคน    ๔    ชั่วคน    ๓    ชั่วคน    ๒    ชั่วคน    ชั่วคนเดียว    ชั่วครึ่งคนเพียงเอว    เพียงเข่า    เพียงแค่ข้อเท้า    ภิกษุทั้งหลาย    น้ำในมหาสมุทรยังเหลืออยู่เพียงในรอยเท้าโคในที่นั้น  ๆ    เปรียบเหมือนในฤดูแล้ง    เมื่อฝนเม็ดใหญ่  ๆ    ตกลงมาน้ำเหลืออยู่ในรอยเท้าโคในที่นั้น  ๆ    ฉะนั้นเพราะดวงอาทิตย์ดวงที่    ๕    ปรากฏ    น้ำในมหาสมุทรแม้เพียงข้อนิ้วก็ไม่มี    ฉันใด
                            สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น    เป็นสภาวะไม่เที่ยง    ฯลฯ    ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง           
                มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน    บางครั้งบางคราว    มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖    ปรากฏเพราะดวงอาทิตย์ดวงที่    ๖    ปรากฏ    แผ่นดินใหญ่นี้    และขุนเขาสิเนรุ    ย่อมมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น    ภิกษุทั้งหลาย    นายช่างหม้อเผาหม้อที่เขาปั้นดีแล้ว    ย่อมมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น    ฉันใด    ภิกษุทั้งหลาย    เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่    ๖    ปรากฏ    แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุ    ย่อมมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น    ฉันนั้น สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น    เป็นสภาวะไม่เที่ยง    ฯลฯ    ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
            มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน    บางครั้งบางคราว    มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๗   ปรากฏเพราะดวงอาทิตย์ดวงที่   ๗    ปรากฏ    แผ่นดินใหญ่นี้    และขุนเขาสิเนรุ    เกิดไฟลุกโชนมีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน    เมื่อแผ่นดินใหญ่นี้    และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่เปลวไฟถูกลมพัดขึ้นไปจนถึงพรหมโลก    เมื่อขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาไหม้    กำลังพินาศ ถูกกองเพลิงใหญ่เผาทั่วตลอดแล้ว    ยอดเขาแม้ขนาด    ๑๐๐    โยชน์    ๒๐๐    โยชน์    ๓๐๐โยชน์    ๔๐๐    โยชน์    ๕๐๐    โยชน์    ย่อมพังทลาย    เมื่อแผ่นดินใหญ่นี้    และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่    ขี้เถ้าและเขม่าย่อมไม่ปรากฏ    ภิกษุทั้งหลาย    เมื่อเนยใสหรือน้ำมันถูกไฟเผาผลาญอยู่    ขี้เถ้าและเขม่าย่อมไม่ปรากฏ    ฉันใด    เมื่อแผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่    ขี้เถ้าและเขม่า    ก็ย่อมไม่ปรากฏ    ฉันนั้น
              สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น    เป็นสภาวะไม่เที่ยง    ไม่ยั่งยืน    ไม่น่าชื่นชม    นี้เป็นข้อกำหนดควรเบื่อหน่าย    ควรคลายกำหนัด    ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
ในข้อนั้น    ใครเล่า    ชื่อว่าเป็นผู้รู้    ใครเล่า    ชื่อว่าเป็นผู้เชื่อว่า    ‘แผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญ    พินาศ    ไม่เหลืออยู่’    นอกจากอริยสาวกผู้มีบทอันเห็นแล้ว[1]
     

อธิบายความ : จากพุทธพจน์ข้างต้นอธิบายว่า ในอนาคตกาลข้างนานแสนนาน เมื่อไม่มีฝนตกลงมา ต้นไม้ใบหญ้า เหี่ยวเฉาแห้งตายไป ดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒. (ซึ่งเรานับดวงอาทิตย์ในปัจจุบันนี้เป็นดวงที่ ๑.) ได้โผล่ขึ้นมา ทำเอาน้ำในห้วยหนองคลองบึงเหือดแห้งหายไป ในอรรถกถาฎีกากล่าวว่า บนท้องท้องฟ้าไม่เคยเว้นว่างจากดวงอาทิตย์เมื่อดวงหนึ่งตกลงไป อีกดวงก็โผล่ออกมาหมุนเวียนกันไปไม่จบสิ้น[2] โลกถึงได้มีแต่ความร้อนแผดเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้นอีกนานแสนนานดวงอาทิตย์ดวงที่ ๓. ก็โผล่ขึ้นมาอีก ยังผลให้แหล่งน้ำที่ใหญ่กว่าเดิม คือ แม่น้ำเหือดแห้งไป ต่อมาอีกนานดวงอาทิตย์ดวงที่ ๔ โผล่ขึ้นมาทำให้น้ำในทะเลสาบแห้งไป ดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕ โผล่ออกมาน้ำในมหาสมุทรเหือดแห้งไป ดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖. โผล่ออกมาดินถูกเผาจนร้อนเป็นไฟ จนทำให้มีควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้นั้นพุ่งขึ้นบนท้องฟ้า เมื่อดวงอาทิตย์ดวงที่ ๗. ขึ้นมาแผ่นดินทั้งหมดจะถูกเผาผลาญหายไป ตามฎีกาพระวินัยอธิบายว่าแผ่นดินได้ถูกเผาหายไปหมดไม่เหลือแม้เถ้าอณู        
                

[1] องฺ. สตฺตก.(ไทย), ๒๓/๖๖/๑๓๒
                [2] พระสารีบุตรมหาเถระ ชาวศรีลังกา. รจนา  สิริ เพ็ชรไชย. สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย, ภาค ๑, หน้า๔๑๗.
คำสำคัญ (Tags): #วันสิ้นโลก
หมายเลขบันทึก: 439375เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2011 04:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท