“ยอมตาย”ได้...ก็เชื่อได้ว่าจะ“ตายดี”


การดูแลที่สอดประสานสมดุลต่างๆนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานเยี่ยงหุ่นยนต์ เสมือนเครื่องจักรกลดังที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งในงานการดูแลผู้ป่วยทั่วๆไปที่ยังมีโอกาสหายขาดได้

 

            ความตายนั้นเป็นสิ่งธรรมดาของชีวิต หากมีชีวิตแล้วไม่จบลงที่ความตายก็ถือว่ายังไม่ใช่ชีวิตที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามความตายอาจจะไม่ใช่เป้าหมายทั่วไปของการทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง  ถ้าอย่างนั้นแล้วเป้าหมายของการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีโอกาสจะเสียชีวิตในไม่ช้าไม่นานนั้นคืออะไรเล่า

            “การตายดี” ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย และ“การอยู่ดี”ก็คือเป้าหมายสูงสุดของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง ผู้ดูแล ตลอดจนผู้รักษาคนไข้ ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ให้ดีให้ได้ ก่อนจะถึงวันนั้นของตนเองในอนาคต ดังนั้นหากพิจารณาเหตุและผลข้างต้นก็จะพบว่าผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็จะต้องอยู่ให้ดีให้ได้เช่นกัน แต่การอยู่ให้ดีมีหลายองค์ประกอบที่สำคัญในช่วงการเจ็บป่วยระยะประคับประคอง ซึ่งเป็นระยะที่ผู้นั้นอาจจะไม่สามารถคิด ตัดสินใจ ลงมือทำในสิ่งที่หวังได้ครบถ้วน จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้คนรอบข้างอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะข้อจำกัดในส่วนของการกระทำ การใช้ชีวิตที่อิสระตามเดิมเพราะถูกริดรอนด้วยปัญหาสุขภาพทางร่างกาย การรักษา เช่น ไม่สามารถเข้าสังคมได้ ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนในสถานที่ไกลๆได้ ไม่สามารถดูแลตนเองได้ เป็นต้น อิสระที่อาจจะสามารถสร้างได้เป็นหลักก็เพียงการนึกคิด จินตนาการ การสื่อสารกับสิ่งแวดล้อม นั่นเอง

            การอยู่ให้ดีช่วงการเจ็บป่วยระยะประคับประคอง มีองค์ประกอบของหน้าที่ที่สำคัญของผู้ป่วยเอง และผู้ดูแลที่จะสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างลงตัว เคลื่อนผ่านเวลาไปพร้อมกันอย่างเป็นธรรมชาติ จะถือว่ามีชีวิตอยู่ได้ดีจริงดังนี้คือ

๑.    การพูดคุยสื่อสารในเรื่องที่สอดคล้องกัน หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การรับฟังกันอย่างเห็นอกเห็นใจ รวมทั้งเรื่องการกล่าวคำขอบคุณ การขอโทษและการให้อภัยในความสัมพันธ์ที่ผ่านมาอย่างจริงจัง

๒.    การแสดงออกทางสีหน้าท่าทางที่เหมาะสม ไม่กระทำให้อีกฝ่ายหนึ่งอึดอัด ตลอดจนการแสดงออกถึงความรัก ความเข้าใจ และความเอาใจใส่ซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ

๓.    การทำหน้าที่ของตนเองให้ดี เพื่อลดความห่วงกังวลซึ่งกันและกันโดยผู้ดูแลมีการแบ่งเวลามาให้ผู้ป่วยอย่างพอเหมาะพอสมไม่เสียการเสียงาน ส่วนผู้ป่วยก็ใช้เวลาอยู่กับผู้ดูแลอย่างเต็มใจ

๔.    มีความใส่ใจ พยายามที่จะสื่อสารสิ่งที่ค้างคาใจด้วยเหตุด้วยผล พร้อมทั้งช่วยกันสะสางภาระหน้าที่ที่ยังไม่เสร็จให้เสร็จสิ้นค้างใจนั้นเต็มความสามารถ โดยไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไร้ประโยชน์

๕.    ระลึกรู้ตระหนักถึงความมีชีวิตอยู่ ไม่ประมาทถอดใจไปในอดีตที่ผ่านพ้น หรือกังวลอยู่ในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะการใส่ใจทั้งในอดีตและอนาคตมากเกินไปจะส่งผลให้สุขภาพของทั้งผู้ป่วย และผู้ดูแลเสื่อมโทรมลงเร็ว

๖.    เรียนรู้ที่จะผ่อนคลายร่างกายและจิตใจเพื่อการพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งการบำบัดโดยใช้ยาที่เหมาะสม ตลอดจนการบำบัดโดยไม่ใช้ยา เช่น การจินตนาการ การเล่าเรื่องราวดีๆ  การฝึกสมาธิ กิจกรรมทางศาสนา การใช้กิจกรรมหรือจิตวิทยาบำบัดต่างๆ จะสามารถทำให้เกิดความสุข และสามารถลดความทุกข์ทรมานสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลได้ดี

๗.     การฝึกการคิดดี คิดบวก และคิดตามความจริงแห่งชีวิตทั้งเรื่องของตัวโรค การรักษา การดูแล การใช้ชีวิตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันอย่างสมเหตุสมผล

๘.    การตั้งใจไว้ให้เข้มแข็งมั่นคง ให้กำลังใจเต็มร้อย ความคาดหวังใดๆให้เป็นศูนย์ รู้ชัดในความไม่แน่นอนฝึกการเผชิญความตายอย่างสงบสำหรับผู้ป่วย ยอมตายได้อย่างแท้จริง หรือในส่วนของผู้ดูแล ควรฝึกเผชิญความสูญเสียหรือแยกจากอย่างสมบูรณ์ ไม่ติดค้าง ไม่ยึดยื้อดึงรั้งชีวิตผู้ป่วยโดยไร้เหตุผล

การอยู่ดีข้างต้นถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และอาจจะทำให้เหมาะสมได้ยากหากมองในสายตาของผู้ดูแล โดยเฉพาะทีมการรักษาพยาบาลซึ่งมีโอกาสเผชิญหน้ากับความพลัดพราก การสูญเสียอยู่เป็นประจำ จนด้านชาในความรู้สึก หรือ เพราะการทำงานที่หนักหน่วง ซ้ำซากตามระบบที่อาจจะจำกัดด้วยบุคลากรที่มีน้อยกว่าที่จำเป็น จนหมดแรงใจทำงาน สิ่งข้างต้นเป็นเหตุผลได้เมื่อมองย้อนดูเพียงผิวเผิน ความจริงแล้วแม้ว่าจะมีบุคลากรมากอย่างล้นเหลือในองกรค์ก็ตาม การดูแลผู้ป่วย และญาติผู้ดูแลที่มาจากหลากหลายพื้นฐาน การสื่อสารในทีมการรักษาที่ซับซ้อนหลายระบบ การให้ความรู้ปรับความเข้าใจต่อผู้รับบริการในเวลาที่เหมาะสมจริงๆ จนกระทั่งผู้ป่วยยอมรับที่จะตายได้จึงจัดเป็นการใช้ศิลปะที่ล้ำลึกอย่างมาก ซึ่งการดูแลที่สอดประสานสมดุลต่างๆนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานเยี่ยงหุ่นยนต์ เสมือนเครื่องจักรกลดังที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งในงานการดูแลผู้ป่วยทั่วๆไปที่ยังมีโอกาสหายขาดได้ 

ดังนั้นหากมองว่าญาติผู้ดูแลเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้รักษา การ“ยอมตาย”ได้ของผู้ป่วยก็จัดเป็นเป้าหมายของการดูแลรักษาที่ท้าทายที่สุดประการหนึ่ง แล้วถือเป็นความสมบูรณ์แบบของการอยู่ดีก่อนตายในระยะประคับประคอง ซึ่งจะสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตได้แน่นอนเพราะผู้ที่ไม่ยึดมั่นถึอมั่นกับชีวิตของตนเองแล้ว ก็จะไม่ทุกข์ทรมานทางจิตใจอีกต่อไป ความทุกข์ทรมานทางกายก็จะทุเลาลงได้ แล้วนั่นก็สามารถสรุปว่า หากผู้ป่วยสามารถ “ยอมตาย”ได้...ก็เชื่อได้ว่าจะ“ตายดี” อย่างแน่นอน

สิ่งที่สำคัญที่ทุกคนพึงตระหนักอีกประเด็นหนึ่ง คือ ไม่มีมนุษย์คนใดที่จะยอมตายได้อย่างแท้จริง หากไม่ฝึกจิตเตรียมใจมาดีแม้ว่าความจริงของชีวิตคนเราทุกคนนั้น จะต้องพบเจอกับการเกิด แก่ เจ็บและตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ซึ่ง “การตายดี” จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงหากผู้นั้นยังไม่ “ยอมตาย” จากใจจริง

นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร

จิตแพทย์ และแพทย์ฝังเข็ม ศูนย์ชีวาภิบาล รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

                                                                                                                                  

คำสำคัญ (Tags): #ตายดี#ยอมตาย
หมายเลขบันทึก: 439145เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2011 07:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากๆครับคุณหมอบทความดีๆครับ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท