หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน


คนทำนา

ในช่วงชีวิตวัยเด็กของผู้เขียนพบเห็นกับภัยทางธรรมชาติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในตำบลบางระกำ  อำเภอบางเลนติดต่อกัน 2 ครั้ง    และเหตุการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้เกษตรกรเป็นอันมาก   ครั้งแรกเป็นการเกิดพายุลูกเห็บ    วันที่เกิดเหตุผู้เขียนเด็กมากจำได้ว่ายังไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน       ลมพายุพัดกระหน่ำรุนแรงมาก    มีต้นไม้ใหญ่และบ้านเรือนของชาวบ้านเสียหายมาก

        วันนั้นเป็นเวลาบ่ายแล้ว   มีลมและฝนตกหนักมาก    ลมที่พัดมานั้นกระชากต้นไม้ให้เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาบางต้นที่ทานต่อแรงของลมไม่ไหวก็ล้มลง   ผลมะม่วงทั้งอ่อนแก่พร้อมใจกันหล่นล่วงพื้นดิน       แรงลมกระหน่ำรุนแรงหรือจะปลดปล่อยแรงแค้นที่มีมานา    ฝนสายฝนสาดเทลงมายังพื้นดิน   บ้านของชาวบ้านทำจากวัสดุหลากหลาย    บางบ้านก็เป็นเรือนไม้หลังคามุงด้วยกระเบื้องก็เข็งแรงคนต่อแรงของลมและฝน   บ้านใครหลังคามุงด้วยสังกะสีหรือตับจาก   ก็เป็นต้องหลุดลอยตามลมไปหล่นในอยู่ในนาบ้าง   ไม่นานก่อนที่ฟ้ามืดลูกเห็บจำนวนมากก็หล่นลงมาจากท้องฟ้า      ผู้เขียนอยู่ในบ้านมองออกไปยังลานหน้าบ้านเห็นเม็ดน้ำเข็งขาวเกลื่อนลาน   เจ้าก้อนลูกเห็บนี้จะละลายเร็วมาก    น้ำแข็งที่เราเรียกมันว่าลูกเห็บนี้หล่นลงมาเพิ่มระดับความเสียหายให้คนในหมู่บ้านเป็นทวีคูณ       หลังคาบ้านหลายหลังที่เป็นกระเบื้องรอดจากแรงลม   แต่เมื่อถูกกระหน่ำด้วยลูกเห็บก้อนใหญ่   ก้อนเล็ก  หลังคากระเบื้องก็เป็นอันแตกไม่มีเหลือสภาพดี      ข้าวของในบ้านเปียกน้ำเสียหายเป็นอันมาก    

     แต่ที่สำคัญข้าวในนาของคนในหมู่บ้านที่ออกรวงสุกงอกน้อมรวงคอยเคียวอยู่ในท้องทุ่งนา     เวลานี้มันต้องกับเม็ดลูกเห็บที่เทมาจากฟ้า      เป็นผลให้เมล็ดข้าวหลุดหล่นจากรวงล่วงลงพื้น    หลังพายุผ่านไปในรุ่งเช้าพ่อและแม่ออกไปสำรวจความเสียหายของนา     แม่ผู้เขียนเดินร้องไห้เสียใจเมื่อเห็นว่าสิ่งที่เป็นความหวังของครอบครัว     ที่เราลงทุนลงแรงเพื่อรอเวลาที่จะได้ผลจากมันเวลานี้ต้นข้าวไม่มีเมล็ดข้าวเปลือกเหลือไว้ให้เราได้เก็บเกี่ยวเลยเพราะผลของพายุลูกเห็บ     ทำให้ต้นข้าวทั้งล้มลาบและเมล็ดข้าวก็ร่วงหล่นจากรวงไม่เหลือไว้ให้เราเลย   เราจะเก็บข้าวทีละเม็ดทีละเม็ดอย่างไรได้หละ    ทั้งหมดมันล่วงหล่นอยู่บนพื้นดินความหวังของแม่ผู้เขียนมันหล่นอยู่กับพื้นนานั้นเอง      

         วันนั้นแม่เดินร้องให้ไปตามคันนา   นานแค่ไหนผู้เขียนจำไม่ได้แต่ที่จำได้แม่นคือปีนั้นบ้านเราไม่มีเงินไปจ่ายค่าปุ๋ย  ค่ายาฆ่าแมลง  ค่าน้ำมันดีเซลในการสูบน้ำ   และค่าอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างที่พ่อแม่ต้องขอติดร้านค้าประจำหมู่บ้านไว้ก่อน    เพื่อนำสินค้าของเขามาใช้ในครอบครัว     พ่อไม่มีทุนรอนอะไรมากนักเมื่อเกิดเหตุอย่างนี้    คุณคิดว่าปีนั้นเราจะเป็นอย่างไร     บ้านเราทำนา 60 ไร่ก็นับว่ามากพอสมควร     การจะทำนาในฤดูกาลถัดไปครอบครัวเราก็ต้องลงทุนในการจัดหาเมล็ดพันธ์และทุกอย่างที่ต้องใช้ในการดำเนินการเรื่องทำนา       การไปกู้ยืมหรือติดค้างค่าวัตถุดิบของครอบครัวเราจึงทำให้หนี้ต้องเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว    หากไม่เกิดเรื่องนี้อย่างน้อยเราก็ขายข้าวได้และมีเงินพอที่จะนำไปใช้หนี้ให้กับร้านค้า  และเหลือไว้สำหรับลงทุนทำนาต่อไป   แบ่งบางส่วนมาเลี้ยงดูทุกชีวิตในบ้าน      เป็นเรื่องของธรรมชาติแต่พวกเราทำผิดอะไรธรรมชาติจึงลงโทษให้ต้องยากจนและเป็นหนี้     

       ข้าวสำหรับชาวนาคือชีวิต   ชีวิตจะอิ่มจะอดก็เพราะข้าวประเทศของเราทำนาปลูกข้าวขายไปทั่วโลกมีชื่อในเรื่องการส่งขายข้าวได้เป็นที่หนึ่งในโลก   ขายข้าวไปแรกน้ำมัน   น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรพลังงานที่ทำให้เครื่องจักรทำงาน   แต่ข้าวเป็นพลังงานสำหรับคนเป็นน้ำมันของคนในประเทศและในโลกทั้งโลกแต่   คนปลูกข้าวจนลง  จนลงทุกปี   จนบางปีแทบไม่มีข้าวกิน   ปีนั้นบางครั้งบ้านเราไม่มีเงินซื้อข้าวสารแม่ต้องเอาปลายข้าวที่เราซื้อไว้ต้มให้หมากิน    มาเลือกดอกหญ้าออกหุงให้ลูกกินกันตายประทังความหิวไปก่อน     คุณก็รับรู้กันทุกคนว่าประเทศที่เขาขายน้ำมันร่ำรวยขนาดไหน   แต่เราประเทศผู้ขายข้าวรัฐบาลไม่มีสติปัญญาทำให้ข้าวแพงได้หรือแม้จะประกันราคาข้าว        ผู้เขียนคิดว่าชาวนาไทยนี้ช่างน่าเวทนาเสียเหลือเกิน    แบกรับความเสี่ยงความไม่แน่นอนของชีวิตไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ต่อไปได้    ชีวิตขึ้นอยู่กับธรรมชาติดินฟ้าอากาศว่าจะได้ผลผลิตหรือไม่   เมื่อได้ผลผลิตแล้วตนเองก็ไม่มีสิทธิกำหนดราคาขาย    แล้วแต่พ่อค้าคนกลางกำหนดหรือแล้วแต่โรงสีข้าวจะรับซื้อ      พ่อค้าคนกลางก็เป็นผู้ที่ขายปุ๋ย ขายน้ำมัน  สิ่งที่เป็นต้นทุนการผลิตคนพวกนี้ก็กำหนด   นอกจากกดราคาข้าวแล้ว  ยังได้กำไรจากการขายสินค้าของตน    ตบท้ายด้วยดอกเบี้ยที่คิดกับชาวนาที่มาหยิบยืมเงินนำไปใช้ในครอบครัวระหว่างรอผลผลิต      คนพวกนี้ค้าขายได้กำไรซ้อนกำไร   และบังคับชาวนาทางอ้อมอีกว่าถ้าได้ข้าวแล้วไม่ขายให้พวกเขาต่อไปเขาก็ไม่ให้สินเชื่อกับชาวนา    ผู้เขียนมองไม่เห็นเลยว่าชาวนาจะไปต่อรองอะไรกับใครได้   พ่อกับแม่ผู้เขียนที่นาที่ทำนานั้นก็เช่าเขาทำนา    ส่วนหนึ่งของข้าวต้องจ่ายเป็นค่าเช่า    

       ผู้เขียนมองไม่เห็นว่าชีวิตชาวนาจะมีอะไรดีขึ้นเลย     พ่อทำนาปีนั้นขาดทุนย่อยยับเป็นหนี้สินติดต่อกันมาอีกหลายปีกว่าจะใช้หนี้หมด    ผู้เขียนเคยคิดเล่นๆ  นี่ถ้ำพ่อขาดทุนปีหนึ่งและได้กำไรสักปีหนึ่งสลับกัน     พ่อก็ยังพอมีหวังจะมีเงินเหลือได้บ้าง     ในปีถัดมา พ.ศ.2526  เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดนครปฐม   น้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรเป็นเวลาหลายเดือน   เป็นปีที่ผู้เขียนเข้าโรงเรียน  ผู้เขียนไปโรงเรียนน้ำท่วมทั่วไปหมดมองไปทางไหนก้เห็นแต่น้ำแม้ถนนรถก็ถูกน้ำท่วม       ที่โรงเรียนชั้นล่างของอาคารเรียนใช้ไม่ได้เพราะน้ำท่วมเกือบถึงชั้นสอง     การไปโรงเรียน ต้องนั่งเรือไปเรียนหนังสืออยู่หลายเดือนกว่าน้ำจะลด    โชคดีอยู่บ้างที่น้ำมาท่วมหลังจากพ่อเก็บเกี่ยวผลผลิตขายแล้ว   แต่ปีนั้นพ่อเหลือเวลาทำนาได้เพียงหน้าเดียว     ดูสิธรรมชาติ  ทำ    กระทำต่อพวกเราอย่างนี้เราก็ต้องทน   เพราะอะไรหรือไม่รู้เหมือนกัน    มันไม่มีทางให้เลือกอะไรเลย

          ผู้เขียนเคยได้ฟังและอ่านปาฐกถาของเจ้าสัวซีพีเรื่องทฤษฏีสองสูงของท่านเจ้าสัว  ธานินทร์  เจียรวรานนท์  เรื่องทฤษฏีสองสูงคือรายได้สูงกับสินค้าการเกษตรที่ราคาสูงขึ้น    ที่กล่าวว่าเกษตรกรไทยมีความเสี่ยงสูงแต่ได้รับค่าตอบแทนต่ำ   ซ้ำสินค้าการเกษตรต้องขึ้นกับเวลา   และธรรมชาติ   ปลูกแล้วเมื่อถึงเวลาก็ต้องขายไม่ขายผลผลิตก็เสียหาย  หรือภัยธรรมชาติคุกคามเกษตรกรก็เสียหาย   ฟังดูก็ไม่ยุติธรรมเลย   แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนเองก็ได้แต่ฟังและนึกสงสัยหลายประเด็นซึ่งเห็นขัดแย้งและคิดสงสัยว่าแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารใหญ่ท่านนี้เป็นเรื่องจริงใจหรือเป็นเรื่องที่พูดแล้วเหมือนสอนผู้ปกครองประเทศนี้อยู่    ก็ดีถ้าเป็นเรื่องที่มีใครสักคนนำไปใช้และทำให้เกิดคุณูประการแก่ชีวิตเกษตรกรไทย(แต่ใครหละคือคนที่จะทำ)   ผู้เขียนเองก็รู้สึกคล้อยตามอยู่หลายเรื่องแต่มันจะเป็นเพียงความรู้สึกของท่านผู้เชี่ยวชาญการบริหารธุรกิจการเกษตรหรือข้อเท็จแท้ๆที่ออกมาจากใจท่าน    สมองเล็กของผู้เขียนก็ยากจะเข้าใจ  

        ผู้เขียนอยากเชิญชวนท่านทั้งหลายให้ลองหาข้อมูลทฤษฏี  สองสูงของท่านเจ้าสัว  มาอ่านและช่วยกันวิเคราะห์วิจารณ์ก็จะเกิดประโยชน์ในการแรกเปลี่ยนเรียนรู้ของพวกเรา (หาด้วยGoogle ก็ได้ครับ)  ไม่แน่อนาคตข้างหน้าประเทศเราอาจมีมหาเศรษฐีที่เป็นชาวนา   หรือชาวนาบ้านเราจะได้รับสวัสดิการจากรัฐมากมาย   จนได้เที่ยวรอบโลก    จำได้ว่ามีนักรัฐศาสตร์ท่านหนึ่ง  กล่าวว่ารัฐที่ดีคือรัฐที่มอบสวัสดิการให้กับประชาชนของตนได้มาก (จำชื่อไม่ได้แล้วคุ้นว่าอ่านจากที่ไหนสักแห่ง)  

คำสำคัญ (Tags): #ทำนา ทำไร่
หมายเลขบันทึก: 439128เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2011 00:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท