จากแนวคิดเรื่องเครือข่ายสังคมออนไลน์สู่การใช้เครื่องมือเพื่อต่อยอดผลงานไอซีที


(๑)แนวคิดเรื่องเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ในการเสาะแสวงหาเพื่อการต่อยอดผลงาน (๒) (๒) เครื่องมือในการทำงานผ่าน twitter facebook blognone (๓) โลกแห่งแอพพลิเคชั่น (๔)ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม (๕) ค้นคว้า และ ลงมือทำ

        ในงานมหกรรมพลังเยาวชนครั้งที่ ๒ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖ ถึง ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมา โดยเจ้าภาพหลักคือ มูลนิธิสยามกัมมาจล ส่วนทางด้านแกนหลักในประเด็นด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทางสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ได้จัดเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการเพื่อต่อยอดความคิดให้กับเครือข่ายเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที โดยมีวิทยากรหลัก ๕ ท่าน (๑) คุณพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรรายการ แบไต๋ไฮเทค และ เป็นผู้ใช้ twitter เป็นเครื่องมือสื่อสารการทำงานของตนเองกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ (๒) คุณอิสรียา ไพรีฤทธิ์พ่าย ผู้พัฒนา  www.blognonne.com เว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ในกลุ่มผู้สื่อข่าวด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๓) คุณอภิธนะ จีระวงศไกรสร ผู้บุกเบิกระบบ crown source กลุ่มแรกๆในประเทศไทย และยังเป็นผู้พัฒนาเว็บไซต์ www.designiti.com (๔) คุณกล้า ตั้งสุวรรณ บริษัท THOTH MEDIA จำกัด และ (๕) คุณชาญชัย หฤไชยะศักดิ์ นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา เนคเทค ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น BIA ผลจากการเสวนาทำให้เกิดการสรุปเป็นข้ออความรู้ที่น่าสนใจ ๕ เรื่อง

(๑)               แนวคิดเรื่องเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ในการเสาะแสวงหาเพื่อการต่อยอดผลงาน

            ในประเทศไทยมีการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนพัฒนาความรู้ความสามารถด้านการพัฒนาโปรแกรม พัฒนาเนื้อหาในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นเรื่อย ยกตัวอย่างเช่น โครงการประกวดการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย จัดโดย เนคเทค หรือ การจัดการประกวดการพัฒนาโครงงานผ่านระบบเครือข่ายของ www.thinkquest.com เป็นต้น หรือจะเป็นการนำเสนอผลงานการพัฒนาเนื้อหาในรูปแบบต่างๆผ่านทาง www.fuse.in.th ล้วนเป็นช่องทางของการนำเสนอความรู้ความสามารถผ่านทางพื้นที่ของการประกวด หรือ ผ่านทางพื้นที่ออนไลน์ ความน่าสนใจของการทำงานต่อยอดจากการนำเสนอผลงานผ่านจากการประกวดก็คือ การต่อยอดผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงาน ทั้งในการขยายผลเพื่อให้สังคมสามารถนำผลงานที่พัฒนาขึ้นไปใช้ได้จริงในสังคม และ หมายรวมถึง การนำผลงานไปต่อยอดทางธุรกิจ จุดติดขัดที่รอการขยับก็คือ ผลงานที่ถูกพัฒนาขึ้นที่มีจำนวนมากมายเหล่านี้ใช้ได้จริงหรือไม่ ? จะใช้ในทางสังคมหรือธุรกิจได้อย่างไร ? สังคมอยากเห็น หรือ อยากให้พัฒนาผลงานไปในรูปแบบใด ? ล้วนเป็นคำถามสำคัญที่ผู้พัฒนาผลงานน่าจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะในการต่อยอดผลงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน

          แนวคิดของการพัฒนาระบบ crowd source ที่คุณอภิธนะ ได้นำมาใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ www.designniti.com เป็นการใช้แนวคิดเรื่องการให้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นหน่วยสำคัญในการให้ความเห็นต่อลายเสื้อที่ถูกพัฒนาขึ้นว่าแบบใด ลายใดมีความน่าสนใจ หลังจากนั้น แบบเสื้อที่ได้รับความนิยมจากเครือข่ายก็จะได้ถูกนำไปผลิตจริง โดยผู้ออกแบบลายเสื้อก็จะได้รับส่วนแบ่งจากการผลิตและจำหน่าย นับเป็นการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้กับสินค้า ทั้งยังเป็นการชิมลางจากกลุ่มผู้บริโภคว่าแบบเสื้อแบบใดเป็นที่นิยมหรือเป็นที่น่าจับตามองโดยอาศัยเครือข่ายสังคมออนไลน์เองเป็นผู้กำหนดทิศทาง ดังนั้น ในการตรวจสอบ แสวงหา แนวความคิดจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ จึงเป็นแนวคิดที่สำคัญในด้านการพัฒนารูปแบบของการทำงานผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์อีกรูปแบบหนึ่งที่มีความน่าสนใจอย่างมากสำหรับการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อการต่อยอดทางธุรกิจ ที่น่าขบคิดต่อก็คือ จะใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการขยายผลงานออกไปในทางสังคม หรือ แม้แต่ การตรวจสอบแนวคิดจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ถึงแนวทางการทำงานหรือการใช้ประโยชน์อย่างไรในผลงานก็น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว เรียกว่าเป็นการตรวจสอบความต้องการจากสังคม (Social need)

(๒)               เครื่องมือในการทำงานผ่าน twitter facebook blognone

          ในการสื่อสารผลงานของผู้พัฒนาผลงาน หรือแม้แต่ การตรวจสอบแนวคิดจากเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อตรวจสอบความต้องการที่แท้จริงก่อนพัฒนาผลงาน สามารถเลือกใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วในเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เลย แต่คงต้องเลือกเหมาะกับสภาพของสังคมในแต่ละสังคมออนไลน์ เช่น หากต้องการสื่อสารด้วยข้อความสั้นๆ ก็สามารถสื่อสารผ่าน twitter.com ซึ่งเน้นการสื่อสารในรูปแบบของข้อความสั้น แต่หากต้องการสื่อสารในลักษณะของการพูดคุย เล่าเรื่อง ที่มีภาพประกอบ รวมไปถึง การสร้างการนัดหมาย หรือการจัดให้มีการประชุม นำเสนอความคิดเห็น ก็คงต้องใช้ facebook.com ในขณะที่หากต้องการสื่อสารผลงานด้านซอฟท์แวร์เป็นหลักก็คงต้องใช้เว็บบล็อกที่นำเสนอเรื่องราวข่าวสารด้านแวดวงเทคโนโลยีอย่าง blognone.com

          ไม่เพียงเท่านั้น หากผู้พัฒนาผลงานสามารถทำงานร่วมกับรูปแบบของการถ่ายทอดสดออนไลน์ผ่านช่องทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ก็อาจสื่อสารกับคุณกล้า จาก Thoat นักเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เริ่มต้นจากเป็นนักสื่อสารขยับมาเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของการถ่ายทอดสดออนไลน์ นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการสื่อสารผลงานของบุคคลหรือองค์กรต่างๆผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่จะถ่ายทำในรูปแบบของวีดีโอ หรือ หนังสั้น แล้วนำผลงานในการนำเสนอผลงานขึ้นสู่ youtube.com ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำเสนอผลงานสู่สังคมที่น่าสนใจอีกช่องทางหนึ่ง

(๓)               โลกแห่งแอพพลิเคชั่น

            ในอนาคตอันไม่ไกลรูปแบบของการใช้งานผ่านเทคโนโลยีแอนดรอยด์ในโทรศัพท์แบบ smartphone ก็ดี หรือ จะผ่านเครื่องมืออย่าง iPad ก็ดี รูปแบบของการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นจะกลายเป็นรูปแบบของการทำงานที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะง่าย สะดวกต่อการเรียกใช้งาน ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการพัฒนาแอพพลิเคชั่น กลายเป็นระบบเปิดกว้างที่นักพัฒนาเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น โดยผู้นำด้านธุรกิจแอพพลิเคชั่น ได้เปิดโอกาสให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นได้ผ่านทาง http://developer.apple.com/ กรณีศึกษาที่น่าสนใจของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นในงานมหกรรมพลังเยาวชนก็คือ แอพสวนโมกข์ หรือ BIA ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่นำเสนอข้อมูลของสวนโมกข์ เรียกได้ว่าเป็นแอพนำเที่ยวของสวนโมกข์ นอกจากจะมีข้อมูลของสวนโมกข์แล้วยังมีรายละเอียดของกิจกรรมในแต่ละเดือน เกมทายภาพปริศนาธรรม เพิ่มเติมอีกด้วย ทำให้แอพนี้มีความน่าสนใจ และเป็นต้นแบบของการทำแอพในลักษณะของการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้พัฒนาแอพสามารถเลือกได้ว่า จะพัฒนาแอพแบบที่ผู้ใช้บริการไม่เสียค่าใช้บริการ หรือ ฟรีแอพ หรือ จะพัฒนาแบบที่ให้ผู้ใช้บริการเสียค่าใช้จ่าย ในลักษณะหลังนี้ ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นก็จะได้ส่วนแบ่งของรายได้จากการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น

(๔)               ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม

          การเติบโตทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดที่เดินหน้าไปทุกวัน ทำให้การหลอมรวมทางเทคโนโลยีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของมนุษย์ผู้ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมากขึ้นทุกขณะ ในปัจจุบันมีโทรทัศน์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทางระบบ wifi ได้ ทำให้ผู้ชมรายการโทรทัศน์สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรทัศน์ และประกอบกับความนิยมในรูปแบบของแอพพลิเคชั่น ทำให้พฤติกรรมการบริโภคสื่อเริ่มเชื่อมต่อระหว่างพฤติกรรมการบริโภคสื่อโทรทัศน์ กับ พฤติกรรมการบริโภคสื่ออินเทอร์เน็ต เรียกว่า สื่อเก่ากับสื่อใหม่กำลังหลอมรวมกัน ปัญหานี้อาจส่งผลต่อเด็กเล็กมากขึ้น เพราะในช่วงวัยเด็กเล็กมักจะรับชมรายการโทรทัศน์ แต่เมื่อระบบโทรทัศน์เริ่มหลอมรวมกับอินเทอร์เน็ต ย่อมส่งผลให้เด็กเล็กที่รับชมรายการโทรทัศน์สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรทัศน์และเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเพียงแค่ใช้แอพพลิเคชั่น ดังนั้น การเตรียมการรับมือกับการหลอมรวมทางเทคโนโลยีนี้ก็คงต้องเน้นเรื่องทักษะด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อ ซึ่งต้องประกอบด้วย การใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน ใช้อย่างพอดี และ ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม

(๕)               ค้นคว้า และ ลงมือทำ

          ในการเรียนรู้ในศตรวรรษที่ ๒๑ เป็นการปฎิรูประบบการเรียนรู้ที่ครูจะมีบทบาทในฐานะผู้แนะนำมากกว่าผู้สอน และ เด็กๆจะใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีมากขึ้น จะมีการพัฒนาหลักสูตรแกน ประกอบกับ ทักษะชีวิต อาชีพ ทักษะด้านการฟังและการสร้างนวัตกรรม รวมไปถึง ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

          ในการสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ที่ประกอบด้วยเนื้อหาสาระสำคัญหลักๆอยู่ ๓ ด้าน คือ (๑) ใช้อย่างรู้เท่าทัน (เท่าทันข้อมูล เท่าทันการสื่อสาร และ เท่าทันเทคโนโลยี) (๒) ใช้อย่างพอดี และ (๓) ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง ทั้ง ด้านการศึกษา ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการสื่อสาร และ ด้านซอฟท์แวร์ นอกจากจะต้องสั่งสมความเชื่อในการใช้งานทั้ง ๓ ด้านแล้ว ในด้านสุดท้ายคือ ด้านการใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนานั้น ต้องอาศัยการสร้างแรงจูงใจให้เด็ก เยาวชน ลงมือปฏิบัติจริงเพื่อสร้างกระบวนการของการเรียนรู้ โดยในแง่ของการสนับสนุนการทำงานของเด็กๆนั้น อาจต้องอาศัยแรงสนับสนุนใน ๓ ด้าน คือ ด้านแรก แรงสนับสนุนจากบุคคล คือ ทั้ง พ่อแม่ ครู โรงเรียน ต้องสนับสนุนการทำงานของเด็กๆ ด้านที่สอง แรงสนับสนุนด้านโอกาส คือ ต้องมีการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจการประกวด หรือ ผ่านพื้นที่ต่างๆ เช่น การแสดงผลงานในงานต่างๆ หรือ การนำเสนอผลงานผ่านทางพื้นที่ออนไลน์ และ ด้านที่สาม การพัฒนาต่อยอดผลงานที่ถูกพัฒนาขึ้น ทั้งในทางสังคม และ เศรษฐกิจ

หมายเลขบันทึก: 439040เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2011 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท