ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม


Seek first to understand, then to be understoo.เข้าใจผู้อื่นก่อน แล้วจึงให้ผู้อื่นเข้าใจเรา

ที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยภาพรวมถูกกำหนดจากหน่วยงานราชการ และพรรคการเมืองที่บริหารประเทศแต่ละยุคสมัย ทำให้เป้าหมายยุทธศาสตร์มักจะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยไม่สนใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งเห็นได้จากการวัดและประเมินผล ที่มักจะมุ่งไปที่รายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น

ประเทศไทยได้เลือกที่จะพัฒนาประเทศด้วยภาคการผลิตอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และล้ำหน้าไปสู่การการยอมรับว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ผ่านประสบการณ์ที่ไม่ต่างจากประเทศชั้นนำของโลก และมีความเชื่อว่ารายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นจะกระจายสู่ประชากรอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ทำให้ทุกคนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น

ขณะเดียวกันการพัฒนาอุตสาหกรรมได้รับการยอมรับว่าเป็นทางเลือกของการพัฒนาที่ดีกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนการลงทุนเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรมที่เป็นการผลิตพื้นฐานของประเทศที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

และแน่นอนว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ได้เน้นไปที่การเร่งส่งเสริมการลงทุนการผลิตภายในประเทศจากนักลงทุนต่างประเทศ เป็นการผลิตเพื่อส่งออก โดยให้สิทธิต่างๆ แก่นักลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีนิติบุคคล การลดภาษีเครื่องจักรผลิตสินค้า การกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น

อีกทั้งการใช้กลไกตลาดเสรี เปิดตลาดสู่การแข่งขันด้านการผลิตและการตลาด และการส่งเสริมการผลิตสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จะลดต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เช่น การส่งเสริมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม การจัดหาน้ำ การสำรองไฟฟ้า การสร้างถนนและระบบขนส่งรองรับ เป็นต้น

นอกจากนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ได้ใช้เงื่อนไขความได้เปรียบทางเศรษฐกิจบนฐานต้นทุนทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม กล่าวคือ ค่าจ้างแรงงานราคาถูก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย

ขณะที่ฐานแรงงานจำนวนมากที่มีทักษะไม่สูง รวมทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และการผ่อนผันและการส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนกฎระเบียบข้อห้ามทางการค้าที่ไม่เข้มงวด และขาดการบังคับใช้อย่างเข้มแข็ง

หรือแม้แต่การสร้างระบบสวัสดิการทางสังคมและสุขภาพขั้นพื้นฐานอย่างครอบคลุมและมีความยุติธรรมในระบบการจ้างงาน และขีดความสามารถในการรองรับผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้วยเงื่อนไขความได้เปรียบดังกล่าว ทำให้สังคมไทย โดยเฉพาะในภาคสาธารณะ ต้องแบกรับภาระต้นทุนจำนวนมากไว้ โดยที่นักลงทุนได้รับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาแสวงหาผลตอบแทนจากต้นทุนราคาถูก และไม่ต้องรับภาระความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

มูลค่าของต้นทุนดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาคิดคำนวณหรือประมาณการเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปกับการทำนุบำรุงรักษาสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม ให้ดีขึ้น เพราะถ้านำมูลค่าต้นทุนดังกล่าวหักลบจากรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นแล้ว ผลที่ได้อาจจะลดลงจากค่าความเป็นจริงก็

 การผลิตโดยรวมเป็นการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยใช้แรงงานในประเทศทำการผลิต สิ่งที่ตามมาจากการผลิต คือ มลพิษและความปลอดภัยจากการทำงาน ได้สร้างปัญหาให้กับชุมชนโดยรอบโรงงาน

และแรงงานที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลจากความเจ็บป่วย และของเสียอันตราย โดยเฉพาะสารเคมีที่เหลือจากการผลิตจำนวนมาก ถูกนำมาทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกโดยไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี

คำถามก็คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังกับการตัดสินใจของภาครัฐ ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ควรกำหนดกรอบยุทธศาสตร์และนโยบาย ที่มีทางเลือกในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว

สำหรับสถานการณ์ของโลกและประเทศไทย ที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ    คือ 1.นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยให้มีการนำเอานโยบายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (environmental policy integrated) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านกระบวนการทางการฑูต (green diplomacy)

2.ข้อตกลงการค้าเสรี ตามข้อผูกพันองค์การการค้าโลก (WTO) เขตการค้าเสรีพหุภาคี (FTA) เขตการค้าเสรีภูมิภาค ได้แก่ ASEAN ASEM APEC การใช้ยุทธศาสตร์ค่าจ้างแรงงานราคาถูก และมีแรงงานไร้ทักษะจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่ได้เปรียบเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อีกต่อไป

3.ข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขการกีดกันการค้าเสรีในอนาคต ซึ่งเงื่อนไขจะถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะความปลอดภัยในการบริโภค ที่มีแรงผลักดันจากภาคผู้บริโภคของประเทศนั้นๆ

4.คุณภาพมาตรฐานสินค้า ประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย จีน และเวียดนามสามารถผลิตสินค้าคุณภาพต่ำและไม่ได้มาตรฐานจำนวนมากออกขายตลาดโลก ประเทศละตินอเมริกากำลังปรับปรุงการผลิตและเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้สินค้าจำนวนมากออกสู่ตลาดโลกเช่นกัน ประเทศไทยจะไม่ได้เปรียบเชิงการแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ถ้าคุณภาพและมาตรฐานสินค้าของไทยยังไม่แตกต่างจากประเทศดังกล่าว

5.สิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมการบริหารรัฐกิจและประเทศมากขึ้น ประเด็นนี้ได้ถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างมากขึ้นจากประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยเฉพาะประเด็นด้านแรงงาน

ทั้งหมดคือปัจจัยที่ภาครัฐควรต้องนำมาพิจารณา กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเป้าหมายของการพัฒนาที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างองค์รวม ที่ไม่ได้มุ่งเน้นที่เป้าหมายทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แต่ได้นำเอาปัจจัยด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม ความสามารถในการแข่งขัน และอื่นๆ เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย

ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ได้เข้ามาร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาร่วมกัน โดยประเมินผลจากน้ำหนักผลประโยชน์ และต้นทุนของทางเลือกแต่ละทางก่อนการตัดสินใจ และรวมถึงการนำความรู้แบบสหวิทยาการ เข้ามาเป็นเครื่องมือร่วมในการตัดสินใจด้วย

การดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม ของประเทศที่จะเน้นการส่งเสริมการลงทุน การใช้แรงงานจำนวนมากและราคาถูก และการพัฒนาสาธารณูปโภค เพื่อให้อุตสาหกรรมมีต้นทุนต่ำ อาจจะไม่เพียงพอต่อการสร้างความเข้มแข็ง และความสามารถในการแข่งขันได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งเงื่อนไขด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม ยังเป็นต้นทุนทางสังคมที่ภาคสาธารณะยังต้องแบกรับภาระจากการพัฒนาอยู่ดังเดิม

เพราะฉะนั้นการกำหนดยุทธศาสตร์บนเงื่อนไขต่างๆ พร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และความสามารถในการแข่งขันก็จะเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน

 

หมายเลขบันทึก: 439015เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2011 02:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท