การแปรของภาษา (Language Variations)


การแปรของภาษา หมายถึง การที่ภาษามีการแปรเปลี่ยนภายในตัวภาษาเดียวกัน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมีความหลากหลายในการใช้ภาษาในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปโดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง

การแปรของภาษา (Language Variations)

 

การแปรของภาษา หมายถึง การที่ภาษามีการแปรเปลี่ยนภายในตัวภาษาเดียวกัน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมีความหลากหลายในการใช้ภาษาในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปโดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง เช่น การใช้ภาษาเดียวกันแต่อยู่กันคนละประเทศหรือคนละภาคของประเทศ การใช้ภาษาแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การใช้ภาษากับเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้าม การใช้ภาษาของคนในวัยเดียวกันหรือต่างวัย การใช้ภาษากับคนที่อยู่ในสถานะทางสังคมที่เท่าเทียมกันหรือแตกต่างกัน เป็นต้น การแปรของภาษาอาจเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น การออกเสียงและสำเนียง การใช้คำที่ต่างกัน หรือแม้แต่การเลือกใช้โครงสร้างหรือไวยากรณ์ที่ไม่เหมือนกันแต่ยังคงสื่อสารได้ โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง

ในการศึกษาด้านภาษาศาสตร์เชิงสังคมที่เกี่ยวข้องกับการแปรของภาษานั้น จะมุ่งเน้นที่การศึกษาความสัมพันธ์ของตัวแปรทางภาษาศาสตร์ เช่น phonetics, phonological, syntactic, morphological, and semantic ที่มีความสัมพันธ์กันกับตัวแปรทางสังคมศาสตร์ เช่น เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ ชาติพันธุ์ สถานะทางสังคม ภูมิภาค ถิ่นที่อยู่อาศัย และสถานการณ์ขณะที่กำลังใช้ภาษา ยกตัวอย่างเช่น ภาษาของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีสำเนียงที่แตกต่างจากคนที่อาศัยอยู่ในชนบท อีกหนึ่งตัวอย่างได้แก่ การออกเสียงตัว r (r – pronunciation) ที่อยู่หลังสระ เช่นคำว่า farm หรือ car ในถิ่นที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันจะถูกมองว่ามีสถานะทางสังคมที่แตกต่างกัน กล่าวคือจากผลการวิจัย ของ William Labov ในปี 1966 พบว่า ที่เมือง New York ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้พูดที่ออกเสียงตัว r ในคำดังกล่าวจะถูกจัดเป็นผู้ที่มีสถานะทางสังคมสูง ซึ่งตรงกันข้ามกับสถานการณ์ในเมือง London ประเทศอังกฤษ ที่ผู้พูดที่ออกเสียงตัว r ในคำดังกล่าวจะถูกจัดเป็นผู้ที่มีสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่า เป็นต้น

การที่ภาษามีการแปรออกไปเป็นหลายรูปแบบนั้น ในเชิงภาษาศาสตร์เรียกว่า dialect (ซึ่งตรงกับภาษาไทยว่า ภาษาถิ่น) ซึ่ง dialect นี้เป็นความหลากหลายที่เกิดขึ้นภายในตัวภาษาเดียวกัน เช่น ภาษาอังกฤษ ก็มีหลาย dialect ได้แก่ British English, Autrarian English, North American English, South American English, African-American English หรือแม้แต่ Asian English ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็น dialect ของภาษาอังกฤษทั้งสิ้นหากแต่มีการนำไปใช้งาน ในสถานการณ์หรือภูมิภาคที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้แต่ละ dialect มีความแตกต่างกันออกไป การที่คนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งมี dialect เดียวกันนั้นเรียกว่า sociolect ส่วนในตัวของคนคนเดียวกันนั้นก็มี dialect ภายในตัวเองเช่นเดียวกัน เรียกว่า idiolect คือการที่คนคนหนึ่งจะมีลักษณะหรือรูปแบบการพูดเฉพาะของตนเอง เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการแปรของภาษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ 1.) การแปรของภาษาทางภูมิภาค (Regional Variations) และ 2.) การแปรของภาษาทางสังคม (Social Variations)

การแปรของภาษาทางภูมิภาคหรือภูมิศาสตร์ (Regional Variations) คือการที่มี dialect เกิดขึ้นหลากหลายโดยมีสภาพภูมิศาสตร์ทางธรรมชาติ (dialect boundary) เป็นตัวแบ่ง เช่น ภูเขา แม่น้ำ ทะเล หรือมหาสมุทร โดยเส้นแบ่งนี้เรียกว่า isogloss โดยมีปัจจัยทางด้านเวลาและระยะทางเป็นองค์ประกอบด้วย ตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ The Rhenish Fan (Wardhaugh, 2002) ในทวีปยุโรป มีการออกเสียงอักษร p t k f s x i ที่แตกต่างกันออกไปโดยมีแม่น้ำ Rhine River เป็นเส้นแบ่ง ซึ่งคนที่อาศัยอยู่กันคนละฟากของแม่น้ำก็จะออกเสียงเหล่านี้ ไม่เหมือนกัน การศึกษาการแปรของภาษาทางภูมิภาคหรือภูมิศาสตร์นั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่การศึกษาทางด้านนี้เป็นจะทำให้รู้ซึ้งถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์และต้นกำเนิดและการกระจายของภาษาต่างๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานและแนวทางในการศึกษาด้านภาษา ในแง่มุมอื่นๆต่อไป

การแปรของภาษาทางสังคม (Social Variations) เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการแปรของภาษาในกลุ่มต่างๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการนำเอาตัวแปรทางภาษาศาสตร์มาอธิบาย ตัวแปรทางสังคมศาสตร์ เช่น การพูดให้มีสำเนียงที่ด้อยลง (low prestige, old fashioned pronunciation) ของชาวเกาะ Martha’s Vineyard เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (solidarity) ของคนภายในเกาะและแยกกลุ่มของตัวเองออกจากคนที่เข้ามาอยู่ทีหลัง อีกหนึ่งตัวอย่างคือการที่ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะพูดหรือออกเสียงผิดๆ เพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเอง การที่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะพูดให้ถูกต้องตามมาตรฐานเพื่อให้ตัวเองดูดีในสายตาคนอื่นหรือมีสถานะทางสังคมสูง และเด็กผู้ชาย ออกเสียง “–ing” เป็น “–in” เช่นคำว่า walking เป็น walkin เพื่อแสดงความเป็นชาย และการที่เด็กเลือกใช้คำพูดที่สุภาพกับผู้ใหญ่เพื่อแสดงความเคารพนับถือ เป็นต้น

  จึงกล่าวได้ว่าการศึกษาด้านการแปรของภาษา ก็คือการหาความสัมพันธ์ของการของตัวแปรทางภาษาศาสตร์ (phonetics, phonological, syntactic, morphological, and semantic) ว่ามีความเหมือน ความแตกต่าง หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อภาษาถูกนำไปเปรียบเทียบกับตัวแปรทางสังคม (เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ ชาติพันธุ์ สถานะทางสังคม ภูมิภาค ถิ่นที่อยู่อาศัย และสถานการณ์) ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ทราบถึงความสำคัญและเอกลักษณ์ของภาษา และ dialect ต่างๆ และทราบถึงวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของภาษา และ dialect นั้นๆ

 

  

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการทบทวนการเรียนรายวิชาภาษาศาสตร์เชิงสังคม เรื่อง การแปรของภาษา (Language Variation) หากมีข้อผิดพลาดประการใด ขอความกรุณา ท่านผู้รู้ทั้งหลาย โปรดชี้แนะ แนวทางที่ถูกต้องด้วยครับ ขอขอบคุณครับ

Name: Parinya Thongprapha

Student Code: 51922806

Lecturer: Dr. Ubon Dhanesschaiyakupa

Course Title: 227532 : Sociolinguistics

Graduate School, Burapha University, 2010

 

References

Trudgill, P. (2000). Sociolinguistics: an introduction to language and society. Suffolk: Clays Ltd.

Wardhaugh, R. (2002), an introduction to Sociolinguistics. Massachusetts: Blackwell Publishers Ltd



ความเห็น (1)

อยากให้ช่วยยกตัวอย่างของ Social Variations เพิ่มหน่อยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท