ฉวยโอกาสทำ advance care plan ตอนนี้กันดีกว่า ๓: การบรรยายของอาจารย์แสวง


เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้บุคลากรของโรงพยาบาลตามแผนนี้ เกี่ยวกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการ ตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.​๒๕๕๓ ตามมาตรา ๑๒ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ตามบันทึกนี้

เราจึงจัดการบรรยายเรื่องนี้โดย ท่านศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ในช่วงบ่ายของวันที่ ๗ เมษายนที่ผ่านมา ใช้เวลาถึง ๓ ชั่วโมงเต็ม โดยส่งจดหมายแจ้งไปยังโรงพยาบาลในภาคใต้ทั้งหมด สาธารณสุขจังหวัด คณะที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง และมหาวิทยาลัยใกล้เคียง ต่อมาเราคิดว่า เรื่องนี้น่าจะถือโอกาสประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจรับทราบด้วย จึงเพิ่งออกประกาศไปในช่วงใกล้ๆวันที่จัดบรรยาย

วันนั้นมีผู้เข้าฟังการบรรยายเกินเป้าห้าร้อย ถึง ๕๓๐ คน ส่วนใหญ่คือ ประมาณ ​๓/๔ เป็นบุคลากรในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เอง นอกนั้นเป็นบุคลากรจากหน่วยงานอื่น โดยมีประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าฟังเพียงสิบกว่าคนเท่านั้น

ผมขอไม่พูดถึงเนื้อหาที่อาจารย์แสวงบรรยาย เพราะอาจารย์พูดเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว และช่วงนี้อาจารย์ก็คงถูกเชิญไปบรรยายแบบนี้ถี่ขึ้น อาจารย์เป็นผู้รู้จริงในเรื่องนี้ สามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจนทุกจุดทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และอาจารย์ก็มีความกรุณาต่อพวกเรามากอย่างสม่ำเสมอ ครั้งนี้ก็ยังช่วยกรุณานั่งให้คำแนะนำพวกเราเรื่องการดำเนินงานต่างๆ ตลอดช่วงเช้า แถมหลังบรรยาย ยังอยู่ช่วยเรื่องข้อกฏหมายอื่นๆให้กับทางผู้บริหารโรงพยาบาลอีก เรียกได้ว่า อาจารย์กรูณาช่วยงานอยู่กับเราตลอดทั้งวัน

ผมอยากจะเล่าถึง ผลของแบบสำรวจที่เราจัดทำขึ้นในการจัดบรรยายครั้งนี้ ซึ่งน้องแย..คุณสุณี นิยมเดชา พยาบาลหน่วย palliative care สรุปส่งมาให้อย่างรวดเร็ว ตามตารางข้างล่าง

มีผู้ตอบแบบสอบถามของเรากลับมาถึง ๔๙๔​ คน คิดเป็น ๙๓% ซึ่งนับว่าสูงมาก ด้วยกลยุทธ ตอบแบบสอบถามแลกเอกสาร

ส่วนใหญ่เป็นพยาบาลกว่า ๘๐%

จุดน่าสนใจอยู่ที่ความคิดเห็นในเรื่องนี้ตามตารางข้างบน ซึ่งเป็นความคิดเห็นก่อนฟังการบรรยาย

  • รู้ หมายถึง รู้ว่ามีกฎหมายฉบับนี้แล้ว
  • เห็นด้วยกับสิทธิ หมายถึง เห็นด้วยกับสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
  • เห็นด้วยกับเอกสาร หมายถึง เห็นด้วยกับการทำหนังสือแสดงเจตนาฯเพื่อการใช้สิทธินี้
  • อยากทำเอง หมายถึง อยากจะทำหนังสือแสดงเจตนาฯของตนเอง

 


 

รู้ว่ามีกฎหมายฉบับนี้แล้ว

ขนาดผู้ที่เข้าฟังการบรรยาย เป็นผู้ที่สนใจเรื่องนี้ เพราะสมัครมาหรือถูกมอบหมายให้มาเพราะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ในอนาคต เราพบว่ามีบุคลากรที่รู้เรื่องกฎหมายนี้ ๕๐-๗๐% เท่านั้น ส่วนประชาชนที่สนใจซึ่งมีไม่กี่คน รู้แค่ ๒๕%

เราคาดการณ์ว่า สัดส่วนของผู้ที่รู้เรื่องนี้จริงๆ น่าจะน้อยกว่านี้อีก

 


 

เห็นด้วยกับสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

มากกว่า ๙๔% ของบุคลากรที่เข้าฟังการบรรยาย เห็นด้วยกับสิทธินี้ตั้งแต่ก่อนฟังการบรรยายแล้ว ส่วนประชาชนที่สนใจซึ่งมีไม่กี่คน เห็นด้วยน้อยกว่าเพียง ๗๕%

ตัวเลขการเห็นด้วยนี้ในความเป็นจริงก็น่าจะน้อยกว่านี้

 


 

เห็นด้วยกับการทำหนังสือแสดงเจตนาฯเพื่อการใช้สิทธินี้

สัดส่วนของทั้งบุคลากรและประชาชนทั่วไป ที่เห็นด้วยกับการทำเป็นเอกสารไว้เลย มีน้อยกว่าที่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิ

 


 

อยากจะทำหนังสือแสดงเจตนาฯของตนเอง

พอถามว่า แล้วอยากทำเอกสารไว้เองมั้ย สัดส่วนก็น้อยลงไปอีก และความแตกต่างระหว่างในบุคลากรกับประชาชนทั่วไปก็ยิ่งห่างขึ้น

 


 

ตัวเลขข้างบนเป็นการสำรวจก่อนการบรรยาย เราไม่ได้ทำอีกครั้งหลังการบรรยาย ซึ่งน่าจะได้เห็นภาพอะไรมากกว่านี้

โดยสรุปเราได้อะไรจากการสำรวจครั้งนี้ เราพบว่า มีคนรู้เรื่องสิทธินี้น้อยมาก แม้แต่ในบุคลากรสุขภาพ แสดงว่า ยังต้องผ่านกระบวนการประชาสัมพันธ์กันอีกยกใหญ่เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ในส่วนคำถามปลายเปิดให้ผู้เข้าฟังบรรยายได้เขียนเหตุผลสนับสนุน ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 438513เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ลำปางจะจัดวันที่ 7 มิถุนายน 54 จะลองสำรวจดูแล้วจะเอามาเล่าให้ฟังนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท