ความเสมอภาคทางการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ จริงหรือ ?


     ณ เวลานี้สังเกตเห็นว่าโรงเรียนรัฐบาลมากมาย ทั้งระดับประถมและมัธยม ต่างก็มีการจัดการศึกษาหลากหลายรูปแบบในโรงเรียนเดียวกัน ตั้งแต่แบบธรรมดา แบบ 2 ภาษา(EP) และแบบ Gifted (นัยว่าเพื่อส่งเสริมนักเรียนผู้มีพรสวรรค์) โดยแบบธรรมดาก็จะเป็นการเรียนการสอนที่เรารู้กันทั่วไป ส่วนแบบ EP ที่เห็น ก็จะมีครูฝรั่งหรือครูต่างชาติมาสอนด้วย มักเรียนกันในห้องแอร์ บางโรงเรียนถึงกับจัดให้สวมเครื่องแบบพิเศษ และอาหารกลางวันที่จัดให้ก็ต่างจากแบบธรรมดา หนำซ้ำยังสามารถไว้ผมยาวๆ สวยๆ หล่อๆได้ แต่แบบธรรมดาห้ามนะ ส่วนแบบ Gifted นั้น ก็จะเป็นห้องเฉพาะ บางแห่งห้องแอร์ แต่ต้องเรียนแบบทรหด เท่าที่รู้มา บางโรงเรียนต้องมาเรียนตั้งแต่ก่อนเข้าแถว และกลับหลังห้องอื่น เผลอ ๆ วันหยุดก็อาจต้องมาเรียนอีก เพื่อให้เป็น "เด็กปั้น" ของโรงเรียน มีข้อที่น่าสังเกตก็คือแบบที่ไม่ธรรมดาทั้งหลาย ผู้ปกครองต้อง "จ่ายเยอะ" เป็นพิเศษ ก็เพื่อซื้อความไม่ธรรมดานั่นเอง

     ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ในโรงเรียนเดียวกัน เวลาเดียวกัน และเป็นโรงเรียนของรัฐเสียด้วย ผู้เขียนเคยฟังเด็กนักเรียนแบบธรรมดาคนหนึ่งปรารภว่า "ทำไมหนูถึงไว้ผมยาวแบบพวก EP ไม่ได้" และยังเคยฟังผู้ปกครองของนักเรียนที่เรียนเก่งคนหนึ่ง เปรยให้ฟังว่า "ผมไม่มีตังค์ แต่ลูกผมสอบได้ที่ 1 ของห้องทุกเทอม ลูกผมจะมีสิทธิได้เรียนห้อง Gifted มั้ย" คำพูดเหล่านี้ทำให้ต้องมานั่งคิดว่าวิธีจัดการศึกษาในโรงเรียนรัฐทุกวันนี้ มันเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญจริงหรือ หรือเพียงเพื่อมุ่งหารายได้เข้าโรงเรียนเท่านั้น โดยไม่ใยดีว่า จะกลายเป็นการจัดการศึกษาสองสามมาตรฐานในโรงเรียนเดียวกัน ต้องอย่าลืมว่าโรงเรียนถูกสร้างขึ้นด้วยเงินภาษีของประชาชนทุกคน ครูในโรงเรียนก็ได้รับเงินเดือนจากเงินภาษีเช่นกัน แต่ทำไมถึงได้ปฏิบัติกับลูกหลานประชาชนไม่เหมือนกันเล่า ครั้นจะอ้างว่าเพราะเด็กกลุ่มไม่ธรรมดา เสียค่าเล่าเรียนเยอะกว่า แกจึงมีอภิสิทธิ์มากกว่าอย่างนั้นหรือ ก็ต้องย้อนถามว่า อาคารและห้องเรียนที่เด็กกลุ่มนี้นั่งเรียนกันอยู่ สาธารณูปโภคที่ใช้กันในโรงเรียน บำรุงด้วยเงินภาษีและค่าแป๊ะเจียะที่เก็บจากผู้ปกครองเด็กทุกคนใช่มั้ย แล้วจะตอบคำถามใครๆถึงความลักหลั่นของการจัดการศึกษาในโรงเรียนเดียวกันอย่างไร และสุดท้ายปรากฎการณ์ที่เกิดนี้ จะไม่กลายเป็นแบบอย่างให้เด็กๆเห็นและนำไปใช้ในอนาคตหรอกหรือ 

     ผู้เขียนยังเคยได้รับทราบมาว่า ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ซึ่งได้ชื่อว่ามีการจัดการศึกษาที่ดีบางประเทศ ถึงกับมีกฎห้ามแบ่งเด็กเก่งเด็กอ่อนแยกห้องเรียนกัน เพราะจะกระทบความเสมอภาคในการสอนได้ แต่ดูเหมือนว่าประเทศของเราไม่ค่อยจะใส่ใจกับเรื่องพวกนี้ ทั้งที่ปรากฎชัดอยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ แล้วอีกนานเท่าไรคนไทยจึงจะได้ชื่นชมกับความเสมอภาคทางการศึกษาเสียที...

หมายเลขบันทึก: 438489เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 00:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีคะ ดร สมบูรณ์

ดิฉันนางละออง ขวัญทอง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนทับช้างวิทยาคม อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา คะ

ดิฉันขอสมัครเป็นลูกศิษย์ท่านทั้งที่ท่านไม่ได้รู้ต้วค่ะ เพราะเคยศึกษาวิจัยของท่าน เกี่ยวกับวิชางานพิมพ์ดีดภาษาไทย และได้อ้างอิงผลงานของท่านด้วย จนพัฒนาได้วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ กราบขอบพระคุณอย่างยิ่ง เป็นบุญที่ได้เปิดพบผลงานของท่านอีก และได้เป็น ดร.ยิ่งด้วยดีใจสุดๆๆคะ ท่าน วิทยาทานจากท่านดิฉันก็จะดำเนินต่อไปคะ ขออวยพรให้ท่านและครอบครัวเจริญยิ่งขึ้น ๆ เป็นแบบอย่างที่ดีอย่างยิ่งกับรุ่นน้อง รุ่นลูกศิษย์ค่ะ กราบสวยๆ อีกครั้งคะท่าน

ขอบพระคุณครับที่คุณครูละอองได้ให้ความสนใจงานของผม

หากจะให้ดียิ่งขึ้น ก็ช่วยนำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อๆกันไปด้วยนะครับ

เพื่อขยายองค์ความรู้ด้านนี้ให้มากขึ้น เผื่อจะได้มีนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นใน

วงการได้อีก เพราะนับวันครูก็จะรู้เรื่องนี้น้อยลงไปเรื่อยๆ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท