(2.1.1) ตัวอย่างของ การมีสิทธิในสัญชาติไทย และ วิธีการพิสูจน์สัญชาติ ของประเทศไทย


รัฐไทยกำหนดเงื่อนไขในการเข้าสู่สิทธิในสัญชาติไทยอยู่ในกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ[1] ซึ่งสิทธิในสัญชาติไทยดังกล่าววางอยู่บน 2 หลักการใหญ่ คือ การได้สัญชาติไทยโดยการเกิด (Thai nationality at birth) และ การได้สัญชาติไทยภายหลังการเกิด (Thai nationality after birth)

 

สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ภายใต้กฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี กล่าวคือ สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิต (Thai nationality at birth on jus sanguinis principle) และ สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน (Thai nationality at birth on jus soli principle)

สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิต เป็นแนวคิดหลักที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทยในทุกยุคทุกสมัย แต่แนวคิดว่าด้วยสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดามีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุค

ข้อเท็จจริงที่ใช้ในการพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาในเกือบทุกยุคจึงมีเพียงแค่ 2 ประการ คือ (1) การมีสัญชาติไทยของบิดา และ (2) ความเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรในขณะที่บุตรเกิด[2] อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสัญชาติครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2551 ข้อเท็จจริงที่ใช้ในการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาได้ผ่อนคลายลง กล่าวคือ เพียงแค่พิสูจน์ได้ว่า (1) บิดามีสัญชาติไทย และ (2) บิดาเป็นบิดาที่แท้จริงของบุตร[3] ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้บุตรมีสัญชาติไทยตามบิดาได้

ส่วนข้อเท็จจริงที่ใช้ในการพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดานั้นเหมือนกันในเกือบทุกยุคสมัย คือ (1) การมีสัญชาติไทยของมารดา และ (2) ความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างมารดากับบุตร อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ.2508 แนวคิดว่าด้วยการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาถูกจำกัดเฉพาะสำหรับบุตรที่เกิดนอกประเทศไทยและมีบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือบิดาไม่มีสัญชาติไทยเท่านั้น แต่ภายหลังในปี พ.ศ.2535 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสัญชาติฉบับดังกล่าวให้มารดาสามารถสืบต่อสัญชาติไทยให้แก่บุตรได้อย่างเท่าเทียมกับบิดา

สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน เป็นแนวคิดลำดับรองที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทย ในยุคที่ใช้หลักมูลนิติธรรมประเพณีไม่ปรากฏเงื่อนไขการมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน แต่ในช่วงการบังคับใช้ของ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนได้กลายเป็นสิทธิแบบไม่มีเงื่อนไข กล่าวคือ ทุกคนที่เกิดในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ.2456 – พ.ศ.2495 ได้สัญชาติไทยโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง กล่าวคือ ในช่วงที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2495[4] และ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508[5] เป็นต้นมา สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนก็ถูกจำกัดเป็นแค่เพียงสิทธิในสัญชาติแบบมีเงื่อนไข

ข้อเท็จจริงที่ใช้ในการพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนในยุคที่สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิแบบไม่มีเงื่อนไข บุคคลก็เพียงแค่พิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวว่าตนเกิดในประเทศไทยจริงก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ได้สัญชาติไทย

แต่ในยุคที่สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนเป็นสิทธิแบบมีเงื่อนไข บุคคลต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มเติมตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ นอกจากจะต้องพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยแล้ว บุคคลจะต้องพิสูจน์เงื่อนไขอื่นๆ อีกด้วย เช่น การพิสูจน์ว่าบิดาหรือมารดาเป็นบุคคลที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ หรือเป็นบุคคลที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว หรือเป็นบุคคลที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนแบบมีเงื่อนไขนี้เป็นสิทธิที่ต้องร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นผู้อนุมัติ

 

สิทธิในสัญชาติไทยภายหลังการเกิดภายใต้กฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทยเป็นสิทธิในสัญชาติไทยโดยการร้องขอ ผู้ร้องขอจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าตนมีข้อเท็จจริงครบตามเงื่อนไขที่จะสามารถร้องขอสิทธิดังกล่าวได้ เช่น การอาศัยอยู่ในประเทศไทยมายาวนานจนกลมกลืมกับสังคมไทย หรือ การทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย หรือ การมีสามีเป็นคนสัญชาติไทย เป็นต้น ส่วนการพิจารณาอนุมัติในกรณีสัญชาติไทยภายหลังการเกิดก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกัน สัญชาติไทยภายหลังการเกิดสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ สัญชาติไทยโดยการสมรส (Marriage) และ สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ (Naturalization)

สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่ในสมัยมูลนิติธรรมประเพณี แม้ว่าในช่วงต้นยุคสมัยดังกล่าวจะยังไม่ปรากฏบทบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นการได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติจะเป็นไปโดยพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน[6] แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2454 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทาน พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.130 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการแปลงสัญชาติสำหรับคนต่างด้าวที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก และต่อมามาแนวคิดในเรื่องการแปลงสัญชาติก็ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติสัญชาติทุกฉบับ

ข้อเท็จจริงที่ใช้ในการพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติภายใต้กฎหมายว่าด้วยสัญชาติฉบับปัจจุบัน คือ (1) การพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นเป็น คนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะและมีความกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว[7] หรือ คนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะและทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย[8] หรือ คนต่างด้าวที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และ เป็นบุตร ภริยา และสามี ของคนไทยโดยการแปลงสัญชาติ[9] หรือ คนต่างด้าวที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และ เป็นบุตร ภริยา และสามี ของคนที่ได้กลับคืนสัญชาติไทย[10] หรือ คนต่างด้าวที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยและเป็นคนที่เคยมีสัญชาติไทย[11] หรือ คนต่างด้าวที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยและเป็นสามีคนสัญชาติไทย[12] หรือ คนต่างด้าวไร้ความสามารถที่อยู่ในความอนุบาลของคนสัญชาติไทย[13] หรือ ผู้เยาว์ต่างด้าวที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ[14] หรือ ผู้เยาว์ต่างด้าวที่เป็นบุตรบุญธรรมของคนสัญชาติไทย[15] (2) การพิสูจน์ถึงความประพฤติดี (3) การพิสูจน์ถึงการมีอาชีพเป็นหลักฐาน (4) การพิสูจน์ถึงการภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่าห้าปี และ (5) การพิสูจน์ถึงการมีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

สัญชาติไทยโดยการสมรส ก็เป็นแนวคิดที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2454 เมื่อ พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.130 เริ่มบังคับใช้เป็นต้นมา และเป็นที่น่าสังเกตว่าภายใต้พระราชบัญญัตินี้มีการกำหนดให้ “สิทธิในสัญชาติไทยของหญิงต่างด้าวที่เป็นภรรยาของชายที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทย” เป็นสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย[16] ซึ่งเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวน่าจะเป็นไปเพื่อการรักษาเอกภาพของครอบครัว (Family Unification) ในสังคมสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม การมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการสมรสของหญิงต่างด้าวที่เป็นภรรยาของชายสัญชาติไทยเป็นสิทธิแบบมีเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาตินับตั้งแต่มีการตราพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับแรกจนกระทั่งถึงปัจจุบัน[17]

โดยสรุป หากหญิงต่างด้าวต้องการร้องขอสิทธิในสัญชาติโดยการสมรสในปัจจุบัน ข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ที่ต้องถูกพิสูจน์ให้เห็นถึงเงื่อนไขที่จะทำให้หญิงต่างด้าวดังกล่าวมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการสมรสภายใต้กฎหมายว่าด้วยสัญชาติในปัจจุบัน[18] คือ (1) การมีสัญชาติไทยของสามี และ (2) การเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของสามีสัญชาติไทยในขณะที่ร้องขอสัญชาติ

 

 

 

การมีสิทธิในสัญชาติที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ หรือ กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ เป็นเพียงแค่การกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญของสิทธิเท่านั้น แต่การกำหนดสิทธิในกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถใช้สิทธินั้นได้ตามที่กฎหมายกำหนด หากไม่มีกระบวนในขั้นตอนต่อมา กล่าวคือ “วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติ” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติใด วิธีการแสวงหาพยานในการพิสูจน์เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในสัญชาตินั้นก็ย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายภายในของประเทศเจ้าของสัญชาติเช่นเดียวกัน

แนวคิดในเรื่องวิธีการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยของประเทศไทยปรากฏอยู่ในกฎหมายหลัก 3 ฉบับ กล่าวคือ

 

  1. 1.      กฎหมายว่าด้วยลักษณะพยาน

กฎหมายว่าด้วยลักษณะพยานเป็นกฎหมายที่ใช้ในการกำหนด “ลักษณะของพยานหลักฐานที่สามารถนำมาใช้ในการพิสูจน์” รวมไปถึง “วิธีการสืบพยาน” กฎหมายว่าด้วยลักษณะพยานถูกกำหนดอยู่ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง[19] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา[20] และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง[21] และแม้ว่าหลักการเกี่ยวกับลักษณะพยานในกฎหมายแต่ละฉบับไม่แตกต่างกันมากนัก แต่การเลือกว่าจะต้องใช้กฎหมายใดย่อมต้องพิจารณาถึงธรรมชาติของคดีที่เกิดขึ้นว่าเป็นคดีประเภทใดด้วย

หลักการของกฎหมายว่าด้วยลักษณะพยานโดยทั่วไปกำหนดพยานที่สามารถนำมาใช้ในการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติ 4 ประเภท ด้วยกัน คือ (1) พยานเอกสาร เช่น เอกสารแสดงการเกิด หรือ บัตรประชาชนที่แสดงว่าเป็นคนสัญชาติไทย เป็นต้น (2) พยานบุคคล เช่น หมอตำแยที่เป็นผู้ทำคลอด หรือ เพื่อนบ้านที่รู้เห็นการเกิดของเด็ก เป็นต้น (3) พยานวัตถุ เช่น รูปถ่ายที่แสดงว่าบุคคลได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย เป็นต้น และ (4) พยานผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักมานุษยวิทยาที่สามารถยืนยันได้ว่าหมู่บ้านตามแนวชายแดนเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยไหนเพื่อสร้างเป็นข้อสันนิษฐานว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้นอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กฎหมายว่าด้วยลักษณะพยานโดยทั่วไปอาจจะไม่สามารถนำมาใช้บังคับกับชาวเขาของประเทศไทยได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลและมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากคนเมือง เช่น การนิยมคลอดบุตรโดยใช้หมอตำแย เป็นต้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดวิธีการพยานพิเศษขึ้น ดังเช่น ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 เพื่อสันนิษฐานเป็นคุณให้แก่คนกลุ่มนี้ที่ไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐานตามที่กฎหมายทั่วไปกำหนดได้

 

  1. 2.      กฎหมายคนเข้าเมือง

กฎหมายคนเข้าเมืองของประเทศไทย[22]โดยทั่วไปเป็นกฎหมายที่กำหนด “สิทธิเข้าเมือง” และ “สิทธิอาศัย” ของคนต่างด้าวที่ต้องการเข้ามาหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมไปถึง “บทลงโทษ” ของคนต่างด้าวที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากการกำหนด สิทธิเข้าเมือง สิทธิอาศัย และบทลงโทษ ของคนต่างด้าวแล้ว ใน มาตรา 57[23] แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ยังกำหนด “มาตรการพิเศษในการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยของคนต่างด้าวที่เข้าเมือง” ตามบทบัญญัตินี้ ดังเช่น กรณีของนายยี่เกียม หรือ โบกิม แซ่เฮง ซึ่งเดินทางจากประเทศจีนมาประเทศไทย และยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองตามบทบัญญัติดังกล่าว

 

  1. 3.      กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร[24]เป็นกฎหมายที่ใช้ในการบันทึกสถานะตามกฎหมายของบุคคล ไม่ว่าจะเป็น สถานะการเกิด สถานะการอยู่ หรือ สถานะการตาย และนอกจากการบันทึกสถานะของบุคคลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญใน “การรับรองสิทธิในสัญชาติของบุคคลภายหลังการพิสูจน์” ซึ่งหากไม่มีกระบวนการรับรองสิทธิในสัญชาติด้วยการบันทึกในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรแล้ว การมีสิทธิในสัญชาติก็ไม่อาจใช้ยืนยันได้จริงในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีของนายบ๊อบบี้ สุทธิบุตร ซึ่งเป็นบุตรของคนสัญชาติไทย แต่นายบ๊อบบี้ไม่เคยได้รับการพิสูจน์ความเป็นบุตรของคนสัญชาติไทย จึงส่งผลให้ไม่ได้รับการบันทึกในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของประเทศไทยว่าเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดา นายบ๊อบบี้จึงไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนแสดงว่าตนเองเป็นคนสัญชาติไทย เพราเหตุนี้นายบ๊อบบี้จึงกลายเป็นคนเสมือนไร้สัญชาติในความเป็นจริงเพราะไม่สามารถกล่าวอ้างสิทธิในสัญชาติไทยที่ตนมีตามกฎหมายได้

นอกจากนี้ ใน มาตรา 10 วรรค 1[25] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนที่จะดำเนินการพิสูจน์สิทธิของบุคคลก่อนการเข้าสู่ทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้อง ซึ่งในกรณีนี้ย่อมหมายความรวมถึงการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติของบุคคลก่อนที่จะมีการรับรองสิทธิในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยด้วย

ส่วนแนวคิดของวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของ เด็กแรกเกิดที่ถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ ปรากฏอยู่ใน มาตรา 19/2[26] พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551



[1] แนวคิดในการกำหนดสิทธิสัญชาติไทยด้วยกฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทยนับตั้งแต่ต้นประวัติศาสตร์ไทยจนกระทั่งปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 4 ยุค กล่าวคือ (1) ยุคของการใช้กฎหมายจารีตประเพณี หรือที่เรียกว่า ‘มูลนิติธรรมประเพณี’ (2) ยุคของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 (3) ยุคของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2495 และ (4) ยุคของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508

[2] บิดาต้องจดทะเบียนสมรสกับมารดาของบุตรก่อนที่บุตรเกิด บิดาถึงจะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรได้

[3] วิธีการพิสูจน์ความเป็นบิดาที่แท้จริงถูกกำหนดในกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551

[4] อาทิ การบัญญัติให้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแก่บุคคลที่มีมารดาสัญชาติไทยเท่านั้น หรือการบัญญัติให้คนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนเสียสัญชาติโดยพลันหากไปรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว แต่อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในลักษณะทั้งสองนี้ก็ถูกยกเลิกไปในที่สุด

[5] บัญญัติให้เฉพาะบุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาหรือมารดาที่มีสิทธิอาศัยถาวรขณะที่บุตรเกิดเท่านั้นที่จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนแบบอัตโนมัติ ส่วนบุคคลที่เกิดในประเทศไทยจาก (1) บิดาหรือมารดาเป็นบุคคลที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ หรือ (2) บิดาหรือมารดาเป็นบุคคลที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว หรือ (3) บิดาหรือมารดาเป็นบุคคลที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย จะไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน เว้นแต่มีการร้องขอและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อนุมัติ

[6] ตัวอย่างของกรณีนี้ ก็คือ นายฟอนสแตนตินส์ ฟอร์คอน คนกรีกซึ่งเข้ามาในประเทศไทยในสมัยอยุธยา และได้รับพระบรมราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์ให้มีสถานะเป็นคนไทย และมีฐานันดรศักดิ์เป็นขุนนางไทย โดยพระราชทานชื่อว่า “เจ้าพระยาวิชชาเยนทร์”

[7] มาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508

[8] กรณีคนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะ และ ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยต้องการแปลงสัญชาติเป็นไทย  ตาม มาตรา 11 (1) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ให้ยกเว้นเงื่อนไขการมีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่าห้าปี และ เงื่อนไขการมีความรู้ภาษาไทย

[9] กรณีคนต่างด้าวที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และ เป็นบุตร ภริยา และสามี ของคนไทยโดยการแปลงสัญชาติ ตาม มาตรา 11 (2) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ให้ยกเว้นเงื่อนไขการมีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่าห้าปี และ เงื่อนไขการมีความรู้ภาษาไทย

[10] กรณีคนต่างด้าวที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และ เป็นบุตร ภริยา และสามี ของคนที่ได้กลับคืนสัญชาติไทย ตาม มาตรา 11 (2) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ให้ยกเว้นเงื่อนไขการมีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่าห้าปี และ เงื่อนไขการมีความรู้ภาษาไทย

[11] กรณีคนต่างด้าวที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และ เป็นคนที่เคยมีสัญชาติไทย ตาม มาตรา 11 (3) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ให้ยกเว้นเงื่อนไขการมีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่าห้าปี และ เงื่อนไขการมีความรู้ภาษาไทย

[12] กรณีคนต่างด้าวที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และ เป็นสามีคนสัญชาติไทย ตาม มาตรา 11 (4) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ให้ยกเว้นเงื่อนไขการมีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่าห้าปี และ เงื่อนไขการมีความรู้ภาษาไทย

[13] กรณีคนต่างด้าวไร้ความสามารถที่อยู่ในความอนุบาลของคนสัญชาติไทย ให้ยกเว้นเงื่อนไขที่ต้องบรรลุนิติภาวะ การมีอาชีพเป็นหลักฐาน การมีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่าห้าปี และ เงื่อนไขการมีความรู้ภาษาไทย

[14] กรณีผู้เยาว์ต่างด้าวที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ ให้ยกเว้นเงื่อนไขที่ต้องบรรลุนิติภาวะ การมีอาชีพเป็นหลักฐาน การมีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่าห้าปี และ เงื่อนไขการมีความรู้ภาษาไทย

[15] กรณีผู้เยาว์ต่างด้าวที่เป็นบุตรบุญธรรมของคนสัญชาติไทย ให้ยกเว้นเงื่อนไขที่ต้องบรรลุนิติภาวะ การมีอาชีพเป็นหลักฐาน การมีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่าห้าปี และ เงื่อนไขการมีความรู้ภาษาไทย

[16] มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.130

[17] มาตรา 3 (4) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 และ มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2495 และ มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508

[18] มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508

[19] พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.2477

[20] พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.2477

[21] พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

[22] พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

[23] มาตรา 57

เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย

การพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะร้องขอต่อศาลให้พิจารณาก็ได้

ในกรณีที่มีการร้องขอต่อศาล เมื่อได้รับคำร้องขอแล้ว ให้ศาลแจ้งต่อพนักงานอัยการ พนักงานอัยการมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านได้

[24] พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2551

[25] มาตรา 10 วรรค 1

เพื่อความถูกต้องของการทะเบียนราษฎร ให้นายทะเบียนมีอำนาจเรียกเจ้าบ้าน หรือบุคคลใดๆ มาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้แสดงหลักฐานต่างๆ ได้ตามความจำเป็น และเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยให้มีอำนาจเข้าไปสอบถามผู้อยู่ในบ้านใดๆ ได้ ตามอำนาจหน้าที่ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าบ้านทราบก่อน ทั้งนี้ ให้กระทำได้ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก

[26] มาตรา 19/2

การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา 19 และมาตรา 19/1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

หมายเลขบันทึก: 437949เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2011 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท