แนวคิดทางปรัชญาของอไควนัส [Thomas Aquinas : 1225 – 1274]


แนวคิดทางปรัชญาของอไควนัส Thomas Aquinas : 1225 – 1274

 

 

 

 

 

แนวคิดทางปรัชญาของอไควนัส  

[Thomas Aquinas : 1225 – 1274]

ภาพจากhttp://www.allbiography.info/biography-aquinas-thomas.shtml

๓.๑ ลักษณะทั่วไป 

               อไควนัสไม่มีเวลาเหลือเฟือสำหรับคิดปรัชญาเพื่อปรัชญา แต่จะยอมทุ่มเทเวลาให้กับปรัชญาที่ให้บริการแก่ศาสนา อรรถกถาอาริสโตเติล ที่ทุ่มเททำก็เพราะหวังจะนำไปใช้อธิบายคริสตศาสนาให้ดีกว่าที่เคยอธิบายกันมา ปัญหาปรัชญาที่สนใจขบคิดก็เพราะส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาของศาสนา อไควนัส สนใจค้นคว้าเรื่องสสารเพราะจะต้องนำไปใช้อธิบายเรื่องการสร้างโลก แต่จะไม่สนใจถกปัญหาเรื่องชีวิตเพื่อเข้าใจพืชพันธ์ธัญญาหาร และไม่สนใจถกปัญหาเรื่องสัญชาตญาณเพื่อเข้าใจความเป็นอยู่ของสัตว์ เพราะขณะนั้นยังไม่มีชาลส์ ดาร์วินมาปลุกปัญหาเรื่องวิวัฒนาการของชีวิต หากอไควนัสจะพูดถึงเรื่องชีวิตหรือสัญชาตญาณก็จะพูดในฐานะที่เป็นชีวิตและสัญชาตญาณในมนุษย์ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตนให้บรรลุชีวิตพระเป็นเจ้า

 

                ในการถกปัญหาต่างๆ อไควนัสจะทำเป็นไม่แน่ใจว่าจะตอบอย่างไรดี ครั้นใช้เหตุผลพิเคราะห์ดูจึงจะพบคำตอบ และเป็นคำตอบที่น่าเชื่อเพราะถือว่ามีเหตุผลสนับสนุนอย่างมั่นคง คำตอบนั้นจึงเป็นคำตอบที่ถูกต้องและสอดคล้องกับวิวรณ์ นั่นเป็นเพียงวิธีการเท่านั้น ซึ่งต่อมาเดการ์ตจะเรียกว่าเป็นการสนับสนุนแบบวิธีการ (Methodical doubt) ความจริงแล้วอไควนัสมีคำตอบอยู่ล่วงหน้าแล้วว่า ในปัญหาดังกล่าวจะต้องตอบอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับข้อเชื่อของศาสนา แล้วจึงพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนและตอบโต้ข้อข้องใจต่างๆ

 

                ความคิดของอไควนัสสอดคล้องกันทั้งหมดเป็นระบบ แต่ก็สอดคล้องกันเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์ หาได้สอดคล้องกันแบบนิรนัยไม่ กล่าวคือ มิได้พิสูจน์ตามลำดับชั้นเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ เรื่องนี้แหละที่เดการ์ตจะถือว่าเป็นจุดบกพร่องในการใช้เหตุผลของนักปรัชญาอัสสมาจารย์ และจะเรียกร้องให้แก้ไขโดยใช้วิธีพิสูจน์แบบเรขาคณิต[๑]

 

๓.๒ เหตุผล 

                  อไควนัสยอมรับนิยามของอริสโตเติลว่า มนุษย์คือสัตว์มีเหตุผล (Man is  rational animal) การใช้เหตุผลจึงเป็นกิจกรรมปกติของมนุษย์และเป็นกิจกรรมที่ทำให้มนุษย์ผิดจากสัตว์ประเภทอื่นๆ ทั้งหมด เหตุผลจึงนับได้ว่าเป็นเครื่องหมายแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ มนุษย์จึงควรเถิดทูนตัวเองโดยคิดด้วยเหตุผลและกระทำการอย่างมีเหตุผล เหตุผลจึงเป็นเครื่องมือแห่งการสร้างระบบความคิดของอไควนัส

 

                  ตรรกวิทยาแบ่งออกเป็น ๓ ภาคคือ ๑) ตรรกวิทยาตัดสิน ตรงกับนิรนัยของเรา(Judicative Logic) ๒) ตรรกวิทยาวิจัย (Inventive Logic) ตรงกับอุปนัยของเรา และ๓) ตรรกวิทยาอภิปราย (Discursive Logic) ศึกษาเกี่ยวกับเหตุผลวิบัติ การเปรียบเทียบและวาทศิลป์

 

๓.๓ ความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากับเทววิทยา 

          อไควนัสเห็นว่าปรัชญากับเทววิทยาเป็นความรู้ระบบเดียวกัน ต่างกันที่ระดับการพิสูจน์เท่านั้น อไควนัสจึงเรียกว่าปรัชญาว่าข้อนำศรัทธา (introduction to faith) หรือ สาวใช้ของเทววิทยา (handmaid of theology)

            อไควนัสชี้แจงว่าปรัชญาช่วยวิทยาอยู่ ๓ เรื่องคือ

            ๑.พิสูจน์ความน่าเชื่อของข้อเชื่อ

            ๒.พิสูจน์ว่าศรัทธาไม่ขัดข้องกับเหตุผล

            ๓.ตอบโต้ผู้ไม่มีศรัทธา

            แต่ทั้งนี้หมายถึงปรัชญาที่ถูกต้อง ถ้าใช้ปรัชญาผิดจะได้ผลตรงข้าม คือ เสื่อมศรัทธาจนอาจเสียศรัทธาไปเลยก็ได้

            ตรรกวิทยาช่วยเทววิทยา ๒ เรื่อง คือ

            ๑.พิสูจน์ว่าข้อเชื่อไม่ขัดแย้งกันและไม่ขัดแย้งกับปรัชญา

            ๒.จากข้อเชื่อที่มีศรัทธาแล้ว ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับอนุมานไปถึงข้อเชื่ออื่นๆ ต่อไปได้

๓.๔ โลกทัศน์

                 อไควนัสถือว่า เหตุผลเป็นเครื่องมือที่เชื่อถือได้สำหรับแสวงหาความรู้ และเล็งเห็นว่าอภิปรัชญาของอาริสโตเติลเดินตามเหตุผลดี จึงรับมาปรับปรุงให้เข้ากับคำสอนของคริสตศาสนา

                 อไควนัสแบ่งภวันต์ทั้งหลายออกเป็นลำดับจากขั้นต่ำสุดไปหาสูงสุดดังต่อไปนี้

             ๑.วัตถุ = สสาร + แบบแห่งเทห์ (Carporeal Form)

             ๒.พืช  = สสาร  +  แบบแห่งชีวิต (Vegetative Form)

             ๓.สัตว์  = สสาร  +  แบบแห่งผัสสะ (Sensitive Form)

            ๔.มนุษย์  = สสาร  + แบบแห่งปัญญาหรือวิญญาณ (Intellective Form or soul)

            ๕.ฑูตสวรรค์  = แบบบริสุทธิ์ (Pure Form)

            ๖.พระเป็นเจ้า  = กรรตุภาวะบริสุทธิ์ (Pure actuality)

           มนุษย์ประกอบด้วยร่างกายที่เป็นสสารและวิญญาณเป็นแบบที่มีปัญญา จึงนับว่ามนุษย์เป็นสิ่งสมบูรณ์ที่สุดในระดับธรรมชาติ (Natural order)[๒]

 

๓.๕. จริยศาตร์

               อไควนัส เห็นว่าจุดหมายในชีวิตคือ การที่จะให้ได้ซึ่งสัจจธรรม และในชีวิตต่อไปในโลกหน้า คือ เพื่อจะได้เห็นสัจธรรมนั้นในพระผู้เป็นเจ้า เพราะอริสโตเติลได้สันนิษฐานไว้ว่า สิ่งที่มนุษย์แสวงหาก็คือความสุข แล้วเขาก็พบความสุขนั้น อย่างดีที่สุดได้ในที่ไหนเล่า หากไม่ใช่ ความสุขอันเกิดจากสัจธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นจริยศาสตร์ทั้งปวง จึงเป็นศิลปะ และศาสตร์แห่งการที่จะเตรียมใจมนุษย์ เพื่อจะได้บรรลุถึงความสุขสุดยอด และเป็นนิรันดรนี้ เราอาจนิยามคุณธรรมความดีทางที่ถูกต้องของมนุษย์ นั่นคือการได้เห็นพระผู้เป็นเจ้า ตามธรรมดาแล้ว มนุษย์มีแนวโน้มเอียงในทางดี คือมีความโน้มเอียงไปหาสิ่งที่น่าปรารถนา แต่สิ่งที่พิจารณาตัดสินว่าดีนั้น ในด้านศีลธรรมอาจไม่ถือว่าดีเสมอไปก็ได้[๓]

                จากการได้ศึกษาแนวคิดทางปรัชญาของอไควนัสนั้น อไควนัส เชื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงความมีอยู่ของความจริง พร้อมกับการเชื่อมโยงให้เห็นถึงความมีอยู่ของพระเจ้า ในภาวะที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้ ไม่เพียงแต่การรับรู้ด้วยเหตุและผลเท่านั้น แต่เป็นการสังเกตพฤติการณ์ของโลกผัสสะ เอกภพ ที่ปรากฏก็จะสามารถหยั่งรู้ถึงความมีอยู่ของพระเจ้า อย่างลึกซึ้ง ปราศจากการอธิบายได้ด้วยอักษร แต่เป็นการหยั่งรู้ด้วยจิตวิญญาณ

ภาพจากhttp://livingwatercommunity.com/saiints/thoams%20aquinas.htm

[๑] กีรติ บุญเจือ, แก่นปรัชญายุคกลาง, หน้า ๓๑๗-๓๑๘.

[๒] ดูเพิ่มเติมใน กีรติ บุญเจือ, แก่นปรัชญายุคกลาง, หน้า ๓๑๗-๓๒๔.

[๓] จำนงค์ ทองประเสริฐ, ปรัชญาตะวันตกสมัยกลาง, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔), หน้า ๒๕๐-๒๕๑.

หมายเลขบันทึก: 437787เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2011 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท