เสียงรำให้ของพยาบาลชายแดนใต้


ย้อนรอยเรื่องเล่า
เสียงร่ำไห้พยาบาลชายแดนใต้ หน้าที่เพื่อมนุษยธรรมกลางไฟสงคราม
 ผู้เขียน  รอซิดะห์ ปูซู
 แหล่งข่าวหลัก  ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
 คอลัมน์ข่าว  สกู๊ปและสารคดี
 URL  
 เนื้อหา นับตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงขณะนี้ได้ล่วงเลยเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว  ถึงแม้ว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา แต่เหตุความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง   ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนทุกสาขาอาชีพและการพัฒนาพื้นที่ในทุกด้านโดยเฉพาะการเมือง  เศรษฐกิจ   สังคม  การศึกษา และการสาธารณสุข

         คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดยคุณเด่น โต๊ะมีนา   สว.ปัตตานี ได้จัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี เมื่อวันที่  13 มกราคม  ทีผ่านมา

       พยาบาลจากโรงพยาบาลต่างๆที่ทำงานในพื้นที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  ทุกครั้งที่มีเหตุเกิดขึ้น รู้สึกสะเทือนใจ     ไม่มั่นใจในความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อ วิถีชีวิตอย่างรุนแรง

กรรณนิกา  เหล่าหสกุล  จาก รพ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี  บอกว่า  อ.ปานาเระ เป็นพื้นที่มีเหตุบ่อยมาก ในการนำส่งผู้ป่วยแต่ละครั้งไม่แน่ใจว่าจะมีความปลอดภัยหรือไม่   ข้างหน้าเป็นรถตำรวจ ข้างหลังเป็นรถทหาร แต่เพราะเป็นหน้าที่เราต้องไป ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือ วิถีชีวิตเปลี่ยนไป  ตั้งแต่การเดินทางที่จะต้องมีการวางแผน เปลี่ยนเส้นทางตลอดเวลา ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  แฟลต 1 ห้อง อยู่ร่วมกัน 4-6 คน ทำให้เป็นปัญหาต่อสุขภาพและจิตใจคนทำงาน  มีความยุ่งยากในการปฏิบัติงานในสภาวะวิกฤตินี้

       รุ่งเพชร  ฉัตรสุวรรณ  จาก รพ.รามัน จ.ยะลา  บอกว่า  รู้สึกดีใจที่ทางกรรมาธิการการสาธารณสุขมารับฟังปัญหา เป็นวิชาชีพที่ไม่เคยมีองค์กรใดมาพบรับฟังปัญหาเลย  ในขณะที่จิตใจของคนทำงานหดหู่ ถดถอย เดิมการทำงานการสร้างสุขภาพทำยากกว่าพื้นที่อื่นอยู่แล้วเนื่องจากมีความแตกต่างในพื้นที่  พอมาเจอเหตุการณ์ยืนยันว่าบทบาทเราไม่ได้ถดถอยเลย  ทำทุกอย่าง ลงพื้นที่เพื่อติดตามคนไข้   เราพบว่าปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นทั้งชาวบ้านและคนทำงาน  ขอให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชนด้วย  เพราะว่ามีความกดดันในการทำงานมาก อาชีพอื่นสามารถเปลี่ยนสถานที่ทำงานได้ แต่อาชีพพยาบาลไม่สามารถเปลี่ยนสถานที่ทำงาน

         จิตติมา  อรุณรัตนา  จากรพ.หนองจิก จ.ปัตตานี  บอกว่า  2 ปีที่ผ่านมาพวกเราทำงานในสภาวะที่กดดัน เครียดมาก โดยเฉพาะในยามวิกาล ในช่วงแรกไม่มีขวัญกำลังใจในการทำงาน หวาดระแวงกับคนไข้ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นคนไข้ปลอมหรือคนไข้จริง แต่เมื่อมีเหตุแจ้งเข้ามาเราต้องออกไปเพราะชีวิตของประชาชนสำคัญกว่า   โรงพยาบาลชุมชนมีโอกาสเกิดเหตุปะทะกัน เจ้าหน้าที่พยาบาลต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลาในการตั้งรับสถานการณ์ ซึ่งหนักมากพอ ยกตัวอย่าง กรณีเหตุที่ อ.ตากใบ เป็นเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดแต่เราต้องทำ มันเหมือนในสภาวะสงคราม ทั้งๆที่มันไม่ใช่สงคราม

       ทัศนี แสงทอง  จาก รพ.สุไหงโกลก บอกว่า  มีความกดดันและเครียดมาก มีเจ้าหน้าที่ของย้ายออก 28 คน แต่ไม่สามารถย้ายออกได้แม้แต่คนเดียว กำลังคนก็ไม่มีเพิ่ม ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเครียดโดยเฉพาะพยาบาลที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถกลับบ้านเยี่ยมครอบครัวได้  มีน้องบางคนบอกว่าครอบครัวกำลังจะแตกแยก  บางคนทนไม่ได้ก็ขอลาออก ส่วนคนที่ลาออกไม่ได้ก็ลาบ่อย   และปัญหาอีกประการหนึ่งคือไม่สามารถพัฒนาศักยภาพคนทำงานได้เลย  ค่าตอบแทนที่ได้ก็ไม่เหมาะสม 

       พวกเราต้องทำหน้าที่แทนแพทย์ทั้งๆที่ไม่ใช้หน้าที่ของเรา  แต่เราต้องทำเพราะผู้บังคับบัญชาสั่งก็ต้องทำ  ขอให้มีการประกันวิชาชีพแก่เจ้าหน้าที่พยาบาลด้วย

จรรยา  ทวีทอง   จาก รพ.ศูนย์ยะลา  บอกว่า  โรงพยาบาลศูนย์ยาลารับคนไข้จากทุกจังหวัด แต่เรามีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่น้อย พยาบาล 1 คนต้องรับผิดชอบคนไข้ 10 คน ขณะนี้เราใช้อัตรากำลังเพียง 70%   เราต้องการอัตรากำลังเพิ่มอีก 150 คน จึงเพียงพอ  สถานการณ์มันเป็นสงครามจริงๆ ในวิชาพยาบาลไม่ได้ให้เราเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นเลย ว่า เหตุระเบิดเป็นอย่างไร  ปั้นศีรษะ เป็นอย่างไร มีหลายเคสที่เราไม่เคยเรียนรู้เลย แต่เราต้องทำ

       “มีคนไข้ที่เป็นเด็กถูกลูกหลงโดนยิง เราต้องมากอดด้วยหัวใจดวงนี้ ถามว่า แล้วถ้าลูกเราเป็นอะไรอยู่ที่บ้านใครจะกอด  พ่อแม่เราละซึ่งเป็นอัมภาพอยู่ที่บ้านใครจะช่วย”

         เธอบอกว่า สิ่งที่จะขอในเวทีนี้ ขอเสนอให้มีการโยกย้ายได้  มีการบรรจุผู้ที่มีคุณสมบัติในพื้นที่ได้ทันที จัดอัตรากำลังหมุนเวียนจากภูมิภาคอื่นมาช่วยชั่วคราว  ระบบทุนจะต้องมีอยู่จะได้สะดวกในการวางแผนว่าในแต่ละปีเราจะมีเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานจำนวนเท่าใด และสวัสดิการต่างๆ เช่นการเดินทาง ค่ารถไฟ ค่ารถเมล์

        " เรามีการบริการเชิงรุก ตามนโยบายของรัฐบาล แต่เราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าเชิงรุกจริงแค่ไหน การประกันชีวิตและทรัพย์ของเจ้าหน้าที่พยาบาล  เราต้องสูญเสียเพื่อน เสียน้องในเหตุการณ์หลายคน  การให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมามันเป็นการรับบริจาค ซึ่งน่าเวทนา ใครใหญ่ก็ไม่เป็นไหร่ ถึงเวลาที่จะต้องมีการประกันชีวิตและทรัพย์เหมือนหน่วยงานอื่น"

       นิมัสตูลา  ระเด่นอาหมัด ผอ.วิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนียะลา  ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบผลิตนักศึกษาพยาบาล บอกว่า  ในฐานะที่เป็นอาจารย์  ฟังแล้วรู้สึกสะเทือนใจ  ขอยืนยันว่าเราสามารถผลิตคนได้  เรามีอาจารย์ 20 คน ดูแลนักศึกษา  400 คน  ทุกวันนี้ไม่มีแรงจูงใจที่จะมาอยู่ที่นี่ มีแต่คนจะย้ายออก ได้ทำการศึกษาวิจัยเราพบว่า ประชาชนมีความทุกข์มาก และต้องการรับบริการจากพยาบาลมากกว่าในสถานการณ์ปกติ  มีการบริการที่เชิงรุกและต่อเนื่อง

       "ต้องทำหน้าที่สมานฉันท์เพราะพยาบาลจะอยู่ใกล้ชิดประชาชน ไม่มีโอกาสพักแม้แต่นาทีเดียว ในฐานะที่เป็นอาจารย์ก็ได้แต่ขอให้กำลังใจกับลูกศิษย์ คอยปลอบขวัญ อยากให้รัฐบาลช่วยในเรื่องสวัสดิการที่เท่าเทียมกับวิชาชีพอื่น"

นิมลต์ หะยีนิมะ  จาก รพ.จะแนะ   จ.นราธิวาส  บอกว่า  ทุกวันนี้ไม่รู้ว่าใครคือโจรใครคือคนดี  ไหนจะต้องดูแลคนไข้ ไหนจะต้องดูแลตนเองว่าจะกลับมารอดหรือรึเปล่า เพราะว่าตลอดเส้นทางมีแต่ทหารคุ้มกัน 

       “ประเด็นเรื่องการชันสูตรศพ พวกเราไม่มีความรู้เลย แต่ก็ต้องออกไปชันสูตรเพราะคำสั่ง  ถามว่าสวัสดิการที่ได้รับขณะนี้พอใจไหม  ทุกคนตอบได้ทันทีว่าไม่พอใจ 100%”

        สุนีย์ นำพิพัฒน์  จาก รพ.ระแงะ จ.นราธิวาส  บอกว่า    ต้องจัดหน่วยเคลื่อนที่เข้าไปที่บ้านตันหยงลิมอ  ครั้งแรกที่ไปถึงรู้สึกหดหู่  เงียบวังเวง แต่ก็ต้องทำเพราะยังมีประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกหลายคนที่กำลังรอการช่วยเหลือ  รวมทั้งที่บ้านบองอเราก็เข้าไป  ในการทำงานมีปัญหาในการรีเฟอร์มาก ล่าช้า เนื่องจากเป็นพื้นที่สีแดง ส่วนการขอโยกย้ายออกของหัวหน้างานไปพร้อมลูก อาชีพอื่นมี แต่อาชีพพยาบาลไม่มี ถ้าทำได้คุณภาพชีวิตของพยาบาลน่าจะดีขึ้น

ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ  สว. กทม.  กล่าวตอนหนึ่งในช่วงการบรรยายพิเศษ "การมีส่วนร่วมของสตรีต่อการพัฒนางานด้านสาธารณสุข ว่า บทบาทความเป็นผู้หญิง อันดับแรกต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ต้องรักกันและเข้าใจกัน มีคนป่วยบางคนพูดว่า เวลาเจอหมอ หรือ พยาบาลที่มีหน้าตายิ้มแย้มทำให้อาการป่วยไข้หายครึ่งหนึ่ง แล้วยารักษาอีกครึ่งหนึ่ง ดังนั้นการมีส่วนร่วมของผู้หญิงสำคัญ โดยเฉพาะ แม่บ้าน อสม. ทั้งหลาย เพราะว่าผู้หญิงจะเข้าใจความเป็นคนหรือเป็นมนุษย์ได้ดีกว่าผู้ชาย"

      "พลังแม่ พลังหญิง จะสร้างสุขภาพที่ดี"   สว. กทม.กล่าวสรุปตอนท้ายอีกครั้ง"

ขณะที่ รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง  นายกสภาการพยาบาล  กล่าวว่า ในสถานการณ์วิกฤติเป็นเรื่องยากและลำบากในการทำงาน แต่ เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพดี ทั้ง กาย จิต และวิญญาณ  อย่างที่หมอประเวศ วะสี  ได้กล่าวไว้

        เวทีรับฟังปัญหาผ่านไปทุกคนแยกย้ายกันกลับ ภาระหน้าที่ดูแลสุขภาวะของพวกเธอท่ามกลางสถานการณ์ความไม่มั่นคงปลอดภัยดำเนินต่อไป

        หน้าที่เพื่อมนุษยธรรม เป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งให้พวกเธอมิอาจละทิ้งภาระนี้ไปได้ แต่จะมีสิ่งใดบ้างหรือไม่ ที่จะเป็นหลักประกันว่า ชีวิตของพวกเธอจะได้รับการคุ้มครอง เพื่อปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญในดินแดนอันรุ่มร้อนนี้ต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 437762เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2011 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2014 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท