ถ้าอุณหภูมิของคนสูงขึ้น 2 องศา คนวิกฤต...โลกก็เช่นเดียวกัน!


โดย ประสาท มีแต้ม 24 เมษายน 2554 14:48 น.

       การ์ตูนสองรูปนี้ผมได้มาจากอินเทอร์เน็ต แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามาจากไหนและใครวาด ข้อความในรูปขวามือแปลได้ว่า “ตอนนี้คุณมีไข้อยู่ กินแอสไพรินสัก 2 เม็ด และเลิกยุ่งกับ ก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์”
       
       ผมนำสองรูปนี้มาเสนอก็เพราะได้แนวคิดมาจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้าน สิ่งแวดล้อมในออสเตรเลียที่ว่า ควรจะเชื่อมโยง “ปัญหาโลกร้อน” เข้ากับ “ปัญหาสุขภาพ” เพราะประชาชนจะรู้สึกว่าเป็นปัญหาใกล้ตัวและกระทบความรู้สึกได้ง่ายกว่า เช่น
       
       “ถ้าโลกร้อนขึ้น 2 องศา คนไม่ชอบ แต่ยุงชอบ” ปรากฏ ว่าข้อความดังกล่าวได้ทำให้คนออสเตรเลียรู้สึกตกใจกลัวและเข้าใจได้ง่าย เพราะประเทศของเขาส่วนมากไม่มียุง
       
       รวมทั้งข้อความที่ว่า “ถ้าอุณหภูมิของคนสูงขึ้น 2 องศา คนวิกฤต โลกก็เช่นเดียวกัน”
       
       ผมเองไม่เคยคิดถึงประโยคนี้เลย เพราะเราคุ้นชินอยู่กับการขึ้น-ลงอุณหภูมิของอากาศรายวันในแต่ละพื้นที่จน “หลงประเด็น” เช่น สงขลา 24-38 องศาเซลเซียส แต่ลืมนึกไปถึงอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของอากาศที่ได้เพิ่มขึ้น กล่าวคือได้เพิ่มขึ้นจาก 13.6 องศาเซลเซียส เมื่อ 155 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2399) เป็น 13.9 และ 14.5 ในปี 2495 และ 2547 ตามลำดับ
       
       นั่นคือ อุณหภูมิเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง (ไม่ได้เพิ่มขึ้น อย่างคงที่) ซึ่งในทางวิชาการแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก
       
       นอกจากนี้ คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติได้พยากรณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นไปอีก 1.8 ถึง 4.0 องศา
       
       เราอาจไม่ทราบว่า เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว โลกเราจะป่วยจนสู่วิกฤตขนาดไหน แต่เราทราบกันดีแล้วว่า ถ้าอุณหภูมิของคนเราเพิ่มขึ้นจาก 37 องศา เป็น 39 องศา แล้วจะน่ากลัวแค่ไหน ถ้าเป็นเด็กๆ ก็คงมีอาการชัก ต้องมีการเช็ดตัว เป็นต้น
       
       กลับมาที่เรื่องยุงอีกนิดครับ จากข้อมูลของหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของประเทศอังกฤษที่ Andrew Simms อ้างถึง ระบุว่า “เชื้อมาเลเรียสายพันธุ์ที่อันตรายที่ สุดจะทำให้เกิดความเสี่ยงกับประชากรเพิ่มขึ้นอีก 290 ล้านคน เนื่องจากอากาศที่อุ่นและชื้นขึ้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้ยุงขยายพันธุ์ได้ดี ขึ้น”
       
       เมื่อปี 2551 ชาว 4 จังหวัดภาคใต้ของไทยได้ซาบซึ้งเป็นอย่างดีกับโรคระบาด “โรคชิคุนกุนยา” หรือ “โรคไข้ปวดข้อยุงลาย” ที่ในบางหมู่บ้านมีคนป่วยเกือบ 100% เชื่อกันว่าเพราะอากาศร้อนขึ้น โรคนี้จึงระบาดได้มาก
       
       สิ่งที่ผมอยากจะย้ำในที่นี้ก็คือว่า ภัยพิบัติอันเกิดจากปัญหาโลกร้อน ไม่ได้มีแค่น้ำท่วม พายุแรงและถี่ แผ่นดินไหว และอากาศหนาวจัด ร้อนจัดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการระบาดของโรคดังที่กล่าวมาแล้วด้วย
       
       นอกจากนี้ยังส่งผลถึงผลผลิตด้านอาหาร การเกษตร รวมทั้งการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้อันดับต้นๆ ของประเทศไทยด้วย
       
       ข่าวเล็กๆ ทางโทรทัศน์ช่องหนึ่งรายงานว่า ทะเลสาบแห่งหนึ่งในเยอรมนีเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาก มีน้ำใส ปลาชุกชุม คนชอบไปเดินเล่นและว่ายน้ำ แต่ต่อมามีพืชน้ำสายพันธุ์ต่างถิ่นและมีหนามด้วยเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวด เร็ว คนเดินเล่นไม่ได้ น้ำก็ขุ่น นักท่องเที่ยวก็หายไป ปลาก็ลดลง
       
       นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า เมื่อก่อนพืชต่างถิ่นดังกล่าวก็มาสู่ทะเลสาบแห่งนี้ แต่มาแล้วมันก็ตายไป ไม่งอก แต่พออุณหภูมิสูงขึ้น “พืชต่างถิ่นชอบ”
       
       นี่แหละครับ มันเป็น “โลกที่ซับซ้อน” และ “บอบบาง” มาก เหมือนกับสำนวนที่เรารู้จักกันว่า “เด็ด ดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือชื่อภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “The Butterfly Effect” แต่ไม่ได้มีความหมายตื้นๆ แค่การรวมแรงน้อยๆ ของผีเสื้อให้พร้อมกันจนกลายเป็นแรงขนาดใหญ่ ดังที่รายการทีวีช่องหนึ่งนำมาสอนเด็กๆ มันเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนที่เรียกว่า Chaos คล้ายกับนิทานอีสป เรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว โอกาสดีๆ ผมจะเขียนถึงครับ
       
       นักวิทยาศาสตร์ชาวไทยเราเองก็ได้เคยศึกษาถึงผลกระทบจากโลกร้อนต่อ เกษตรกรไทย พบว่าบางอย่างอาจจะดี แต่บางอย่างอาจจะเลวลง แตกต่างกันไปในแต่ละพืช แต่ละพื้นที่
       
       ที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นแค่อาการป่วยและผลกระทบเท่านั้น แต่สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ “โลกป่วย” นั้นก็เป็นไปตามที่คุณหมอบอกในการ์ตูนนั่นแหละ
       
       คือ “เลิกยุ่งกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ถึงแม้คำแนะนำนี้จะเป็น “แค่หนังการ์ตูน” แต่สะท้อนความ เป็นจริงได้อย่างถูกต้อง ไม่บิดเบือน เพราะสาเหตุสำคัญและมากที่สุดที่ทำให้ “โลกป่วย” ก็คือก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์
       
       คำถามต่อมาก็คือ เจ้าก๊าซดังกล่าวมาจากไหน คำตอบคือมาจากการใช้พลัง งานฟอสซิล (ซึ่งได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ของมนุษย์ สัตว์อื่นไม่เกี่ยวยกเว้นสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงไว้เป็นอาหาร
       
       คำถามต่อมาอีกคือ ถ้าไม่ใช้พลังงานฟอสซิลแล้วจะให้ใช้อะไร จะให้มนุษย์กลับไปเดินเหมือนสัตว์อื่นเหมือนยุคหินหรืออย่างไร?
       
       คำตอบคือ สามารถทำได้สองวิธีพร้อมกัน (แต่ต้องพร้อมกัน) คือ
       
       (1) ให้ลดการใช้พลังงานฟอสซิลลงมา แล้วหันไปใช้พลังงานหมุน เวียน (ได้แก่ ลม แสงแดด ชีวมวล และพลังน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งพลังคลื่นในทะเลด้วย) เพราะพลังงานชนิดนี้ไม่ปล่อยก๊าซเจ้าปัญหา ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในภาคกิจการไฟฟ้าและกิจการขนส่ง ที่แต่ละกิจการมีส่วนปล่อยก๊าซอย่างละประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด หลายประเทศได้วางแผนจะไม่ปล่อยก๊าซตัวนี้อีกเลยในอนาคต
       
       (2) ใช้วิธีการที่เรียกว่า “ใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ” ซึ่ง รวมถึง การประหยัด การออกแบบอาคาร การกระจายศูนย์การผลิต การเลือกบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ในท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกกับประชาชน
       
       รัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกายอมลงทุนถึง $65 ล้านเพื่อประหยัดพลังงานให้ได้ $75 ล้าน มหาวิทยาลัยที่ผมเคยสอนใช้ไฟฟ้าปีละประมาณ 150 ล้านบาท ถ้าจะลงทุนสัก 10 ล้านบาทเพื่อประหยัดสัก 15 ล้านบาท (หรือ 10%) ก็ถือว่า “คุ้มค่า” แต่เขาไม่คิดจะทำ
       
       อย่างไรก็ตาม วิธีการในข้อ (1) จะเป็นจริงได้ก็ต้องใช้กฎหมายหรือ “กุญแจทางการเมือง” ที่เรียกว่า “Feed-In Law” ซึ่งคอลัมน์นี้ได้เคยกล่าวถึงมาบ้างแล้ว
       
       พลเมืองอย่างเราต้องอดทนและเรียนรู้ต่อไปตลอดชีวิตครับ

คำสำคัญ (Tags): #ข่าว
หมายเลขบันทึก: 437745เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2011 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท