Maggie Q
นางสาว กาญจนา เก็ต แนมน้อย

เล่าสู่กันฟัง นะ นะ


เรื่องเล่า นอก นอก แต่ไม่นอกเมือง

เรื่องเล่า นอก นอก แต่ไม่นอกเมือง

สวัสดีค่ะ!!! ก่อนอื่นขอแนะนำตัวก่อนเลย ชื่อ “เบญ” นะคะ ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แผนการเรียนศิลป์ – ฝรั่งเศส โรงเรียนนารีรัตน์ จังหวัดแพร่ค่ะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2010 (ปีที่แล้วนี่เอง) เบญก็มีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศปารากวัย ด้วยทุนเต็มจำนวนของโครงการ AFS รุ่น49 ค่ะ ^O^

          พอเกริ่นว่าได้ทุนเต็มจำนวน เพื่อนๆ อาจสงสัยว่าทำไมเบญได้ทุนนี้ เบญได้ทุนเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ค่ะโดยผู้ปกครองต้องมีรายได้ไม่เกิน 25,000 ต่อเดือน ตอนแรกสมัครไปก็ได้สอบข้อเขียนเหมือนคนอื่นๆ พอผ่านข้อเขียนแล้วก็สอบสัมภาษณ์ที่ศูนย์ประจำจังหวัด จากนั้นเบญต้องไปสอบสัมภาษณ์ต่อที่ศูนย์ใหญ่ที่กรุงเทพฯ อีกที ซึ่งก็ต้องทำ
portfolio แล้วก็ใช้ใบเสร็จการเสียภาษีของผู้ปกครองด้วยว่ารายได้เราไม่เกินนี้จริงๆ นะ จากนั้นก็จะมีครูมาเยี่ยมบ้านค่ะ

          หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักปารากวัยใช่ไหมคะ หรืออาจจะเคยได้ยินชื่อผ่านๆ ปารากวัยเป็นประเทศเล็กๆ ในอเมริกาใต้ อาจจะถึงเล็กมากถ้าดูกันตามแผนที่โลก ^^ วันนี้จะขออนุญาตแนะนำประเทศปารากวัยให้เพื่อนๆ รู้จักกันนะคะ



อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1Kyvp5JpE

เนื้อที่ - 406,750 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าไทยไปนิดนึง ^^)
 
ชื่ออย่างเป็นทางการ - สาธารณรัฐปารากวัย (ภาษาสเปน : Republica del Paraguay)

ประเทศเพื่อนบ้าน - ถือเป็นหัวใจของทวีปอเมริกาใต้เพราะตั้งอยู่ใจกลางของทวีป ทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศติดประเทศบราซิล ทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้ติดประเทศอาร์เจนตินา และทิศเหนือกับตะวันตกเฉียงเหนือติดประเทศโบลิเวีย

การปกครอง - เป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขค่ะ

ที่ตั้ง - ปารากวัยเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตัวประเทศตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำปารากวัย (มีแม่น้ำไหลผ่ากลาง) มีการแบ่งโซนประเทศออกเป็น 2 โซนด้วยกัน ก็คือโซนที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำปารากวัย (ซีกตะวันตก) เป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีคนอาศัยอยู่ มีลักษณะเป็นป่า พื้นเป็นดินทราย ถ้าไม่อยู่ในเขตที่มีความเจริญของโซนก็จะไม่มีน้ำและไฟใช้ คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่นั่นเป็นชนพื้นเมือง และเรียกพื้นที่โซนนั้นว่า กราน ชาโก (Gran Chaco) ส่วนอีกฝั่งหนึ่งทางตะวันออกเป็นพื้นที่เมือง มีประชากรอาศัยอยู่ตามปกติ เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงชื่อ อะซุนซิออน (Asunción) โดยรวมแล้วทั้งสองฝั่งของประเทศมี 18 เขต และแต่ละเขตก็มีเมืองใหญ่ที่เป็นเหมือนเมืองหลวงของเขตนั้นๆ ค่ะ มีประชากรรวมประมาณ 6 ล้านกว่าคน



อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1KywLM4z8

อะซุนซิออน เมืองหลวงของปารากวัย

ภาษา -  ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ แต่เป็นสเปนแบบกัสเตยาโน่นะคะ เพื่อนที่โรงเรียนเคยอธิบายให้ฟังว่าสเปนกัสเตยาโน่เป็นสเปนที่ต่างจากสเปนแท้ๆ นิดหน่อย (ประมาณไทยกลางกับสุพรรณของเรามั้งคะ) และอีกภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือภาษากัวรานี เป็นภาษาพื้นเมืองของชนเผ่ากัวรานี ไม่ออกแนว บ้านนอกอะไรอย่างนั้น เพราะคนส่วนใหญ่ใช้ทั้งสองภาษาคู่กันเลยค่ะ

ประชากร - ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายสเปนและอเมริกันอินเดียนที่รวมเรียกว่า เมสติโซ (Mestizo) ส่วนน้อยคือชนเผ่ากัวรานี คล้ายๆ อินเดียนแดง มายา หรืออินกาประมาณนั้นค่ะ

ศาสนา - ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกค่ะ

อากาศ - ที่นี่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยมากค่ะ มี 4 ใบไม้ผลิ ร้อน ใบไม้ร่วง หนาว ปกติ แต่ที่ไม่ปกติก็คืออุณหภูมิเนี่ยแหละค่ะ ในทีวีตรงมุมจอนอกจากจะบอกเวลาแล้วยังบอกอุณหภูมิด้วยนะคะ กรมอุตุฯ ปารากวัยแม่นจริงค่ะ บางทีตอนเช้าไปโรงเรียน 20 องศา ก็ไม่ได้ใส่เสื้อกันหนาวไป พอซัก 9 โมง แดดเริ่มแรงเป็น 22 องศา พอถึงตอนกลับบ้าน เหลือแค่ 16 องศาซะงั้น! หนาวไม่ทันตั้งตัวกันเลยทีเดียว ที่นี่ถ้าถึงคราวร้อนก็ร้อนมาก ถ้าหนาวก็หนาวสุดขั้วหัวใจค่ะ แต่ไม่มีหิมะนะคะ

จุดเด่น - ปารากวัยเป็นประเทศที่มีธงชาติทั้งสองด้านไม่เหมือนกัน!!!



อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1KywTJG3u

เมืองที่เบญได้ไปอาศัยอยู่ตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่ปารากวัยคือเมือง “กอนเซ็ปซิออน” (Concepción) เป็นเมืองเหนือ(เกือบ)สุดแดนปารากวัย และได้อยู่ในเขตใจกลางเมืองพอดี โฮสท์แฟมิลี่ของเบญเป็นเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตค่ะ มีน้องชาย 2 คน พี่สาวอีก 1 คน หมาน้อยและหมาใหญ่อีกอย่างละ 1 ตัว แม่บ้านอีก 1 คน พวกเขาก็น่ารักค่ะ

อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1KywXS4Fy

สำหรับนิสัยคนปารากวัยส่วนใหญ่เป็นคน gossip ค่ะ นั่งเล่นกันอยู่หน้าบ้านมีคนเดินผ่านก็ทัก พอคนนั้นผ่านไปก็เริ่มการซุบซิบทันที มีการกระจายข่าวที่เร็วมากอย่างไม่น่าเชื่อ 5555 แต่เอาจริงๆ ก็ไม่มีอะไรหรอกค่ะ เขาก็แค่พูดไปงั้นอาจจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเสื้อไม่สวยหรืออะไรประมาณนั้น แต่บางทีก็ไม่ได้สนใจอะไร ตอนแรกก็ไม่สบายใจกับเรื่องนี้ค่ะ แต่หลังๆ มาก็ชิน เพราะในเมื่อข่าวลือมันเริ่มเร็ว ดังนั้นมันก็จบเร็วเป็นธรรมดา นอกจากนี้คนปารากวัยชอบเต้นค่ะ ถ้ามีเสียงเพลงปุ๊บ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน บนทางเท้า ร้านค้า สนามกีฬา ถ้าอยากเต้นก็เต้นเลย ส่วนนิสัยอื่นๆ ก็เช่น ผู้คนชอบกินเนื้อ และไม่ค่อยจะชอบอาหารทะเล ผู้คนชอบดื่มเบียร์ ผู้คนหน้าตาไม่ดีมาก แต่ก็โอเค 555 ผู้คนพูดตรงไปตรงมาบางทีออกแนวขวานผ่าซาก พูดจาเสียงดัง แต่ก็จริงใจและเฮฮา ^O^

          ชาวปารากวัยจะมีช่วงเวลาหนึ่งของทุกๆ วันที่เรียกว่า “เซียสตะ” (Siesta) นี่คือช่วงเวลาแห่งการนอนกลางวันค่ะ ประมาณเที่ยงถึงบ่ายสองโมง ร้านค้า ธนาคาร ฯลฯ ก็จะปิดทำการ ผู้คนกลับบ้าน ทานมื้อเที่ยง และนอน แต่บางคนที่ไม่นอนหรือนอนนานกว่านี้ก็มีนะคะ ไม่ได้ถึงขนาดว่าบ่ายโมงปุ๊บ ทุกคนนอนหลับ เมืองเงียบเหมือนเมืองร้างปั๊บอะไรขนาดนั้น



อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1KywgfdIU

โรงเรียน Colegio Maria Auxiliadora

          โรงเรียนที่เบญไปเรียนก็คือ Colegio Maria Auxiliadora เป็นโรงเรียนเล็กๆ แต่มีชื่อเสียงของเมือง มีนักเรียนตั้งแต่เตรียมอนุบาลจนถึง ม.6 ทั้งหมดมีประมาณ 4 ร้อยกว่าคน โรงเรียนมีอายุประมาณ 108 ปี เมื่อก่อนเคยเป็นโรงเรียนหญิงล้วน แต่ตอนนี้เริ่มเปิดรับนักเรียนชายเข้าไปเรียนด้วย มีการแบ่งให้นักเรียนตั้งแต่อนุบาล – ป.6 เรียนช่วงบ่ายคือตั้งแต่ 13.00 – 17.00 ส่วนเตรียมอนุบาล กับ ม.1 – ม.6 เรียนช่วงเช้าตั้งแต่ 7.00 – 12.30 ค่ะ เบญได้เรียนกับ ม.6 ค่ะ ห้องเดียวกับพี่สาว (ก็ใน 1 ระดับชั้นก็มีแค่ห้องเดียวนี่ล่ะค่ะ ^^ ) ตกใจอยู่เหมือนกันนะ เพราะตอนที่ไปเพิ่งจะจบ ม.3 แต่มารู้ทีหลังว่าห้องนั้นเป็นห้อง ม.6 เพราะไปตอนแรกเบญไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับภาษาสเปนเลย คิดว่าใช้ภาษาอังกฤษกับสเปนแค่พื้นฐานนิดหน่อยในตอนเริ่มต้นก็น่าจะโอเค บวกกับการเดินทางอันทรหดบนเครื่องบิน 4 เที่ยวบินเกือบ 2 วัน จึงทำให้รู้สึกว่าตอนนั้นสมองไม่ค่อยทำงาน โฮสท์แม่เป็นห่วงเห็นพูดสเปนไม่ได้ ฟังก็ไม่รู้เรื่อง เลยไปขอครูที่โรงเรียนก่อนเปิดเทอมว่าให้เบญเรียนห้องเดียวกับพี่สาวละกัน

          วันแรกที่เปิดเทอม ตอนครูให้เบญไปแนะนำตัว ทุกคนก็เหมือนแบบฮือฮามาก ตื่นตาตื่นใจกันมาก ถ้าเป็นประเทศในยุโรป เค้าอาจจะฮือฮาเพราะเราผมดำ แต่ที่นี่คนผมดำเขาก็มีเหมือนกันค่ะ เพราะฉะนั้นสาเหตุที่เค้าฮือฮาก็คือเบญไม่มีดั้ง! ถึงขนาดมีคนมาขอลูบดั้งกันเลยทีเดียว เบญก็ปล่อยเขาลูบไป แปลกนิดๆ นะที่สิ่งที่เราไม่มีแล้วอยากได้ เป็นสิ่งที่คนที่มีแล้วอยากทิ้งไป 5555 เบญเคยถามเพื่อน เค้าบอกว่า ดั้งของเขามันเกะกะ ดูเป็นส่วนเกินทั้งๆ ที่ในสายตาเบญเขาเป็นคนที่สวยมากกกค่ะ



อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1KywlR0bO

วิชาที่เรียนก็เหมือนๆ กับที่เรียนในไทยค่ะ แต่เขาเรียนกันเร็วมากเพราะเวลาเรียนมีน้อย เพราะส่วนใหญ่ครูจะอธิบายแบบรวมๆ แล้วก็ถามคำถามหรือไม่ก็สั่งทำรายงานเลย เราก็ต้องไปค้นคว้าเอาเอง เสร็จแล้วครูก็จะมาสรุป ถือว่ายากเหมือนกันนะคะ เพราะแค่สื่อสารก็จะไม่ไหวอยู่แล้ว นี่ยังต้องมาเรียนกับรุ่นพี่อีก แต่เพื่อนๆ กับครูและที่บ้านก็คอยช่วยมาเรื่อยๆ ค่ะ จนผ่านไปประมาณ 6 เดือนนั่นแหละค่ะ ถึงได้พูดคล่อง ทีนี้ล่ะพูดน้ำไหลไฟดับให้สมกับที่ไม่ได้พูดมาตั้งนาน ^O^

          ถ้าพูดถึงกิจกรรมสนุกๆ ของที่ปารากวัย ขอบอกว่ามีเยอะมากๆ เลยค่ะ เบญจะลองเล่าถึงกิจกรรมที่น่าสนใจละกันนะคะ



อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1KywquiaU

 เพื่อนๆ ที่ห้องมีการรวมกลุ่มกันชื่อว่า “เบ็คเกตท์” (Baecked) ในวันหยุดก็จะช่วยกันขายขนมที่ทำเองบ้าง ขายอาหารกลางวันบ้าง รวบรวมเงินจากรายได้ทั้งหมดตั้งแต่ ม.4 เพื่อเป็นเงินสำหรับจัดงานปัจฉิมนิเทศ ม.6 และไปเที่ยวต่างประเทศกันทั้งห้อง! (สุดยอดมั้ยคะ) แต่รายได้หลักของพวกเราคือการจัดปาร์ตี้ค่ะ โรงเรียนที่นี่จะมีปาร์ตี้เฉพาะวันศุกร์และเสาร์ เบญเห็นเพื่อนๆ ขายบัตรเข้าปาร์ตี้และท่าทางน่าสนุกดี ก็เลยไปช่วย ปรากฏว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิดค่ะ กว่าจะขายได้แต่ละใบ -*- สมมติปาร์ตี้ของพวกเราคือคืนวันเสาร์นี้ แต่ในคืนนั้นก็จะมีปาร์ตี้ที่อื่นอีกอย่างน้อย 2- 3 แห่ง ดังนั้นการแข่งขันสูงมากค่ะ แต่หลังๆ มาก็เริ่มคล่องค่ะ มันต้องมีการหว่านล้อม หลอกล่ออะไรมากมาย ตามที่เพื่อนๆแนะนำมา เป็นช่วงเวลาที่สนุกมากค่ะ ^O^

อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1Kywvg59t

งานที่เป็นที่ตั้งตารอคอยสำหรับชีวิตเด็กหญิงชาวปารากวัยทุกคนคือ งานวันเกิดอายุ 15 ปีค่ะ จะถือว่าต้องจัดงานใหญ่ อย่างน้อยๆ ก็ต้องใหญ่สมฐานะครอบครัวเด็กคนนั้น มีน้อยมีมากก็ว่ากันไป เชิญเพื่อนๆ และญาติมากันหลายคน ในงาน ผู้หญิงคนนั้นจะเหมือนเป็นเจ้าหญิงเลยล่ะค่ะ มีชุดสีขาวยาวๆ ได้เต้นรำกับคนในงาน เหมือนเป็นงานที่ประกาศกับทุกคนว่า “ฉันไม่ใช่แค่เด็กหญิงตัวเล็กๆ อีกต่อไปละนะ” ที่นี่จะห้ามเรื่องการมีแฟนในวัยเรียน แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังถือว่า อย่างน้อยๆ ให้ผ่านงานวันเกิดอายุ 15 งานนี้ไปซะก่อน แล้วค่อยมีแฟนเป็นตัวเป็นตน ผู้หญิงที่มีแฟนเกือบทุกคนพ่อแม่จะรับรู้ และแฟนที่ดีก็ควรมาเยี่ยมบ้านผู้หญิงทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ส่วนวันอื่นก็ให้ผู้หญิงได้ใช้เวลากับครอบครัว แต่เท่าที่เห็นเพื่อนและพี่สาวเขาก็อยู่กับแฟนเขาทุกวันเลยล่ะ 555


งานเดินขบวน

          ทุกๆ ปีวันที่ 31 พฤษภาคมจะมีการเดินขบวนของนักเรียนทั้งเมือง (เมืองอื่นๆ ก็มีแต่จะจัดคนละวัน) แต่ละโรงเรียนจะมีขบวนเป็นของตัวเอง เดินกันตั้งแต่ชั้นเล็กสุดจนเด็กโตสุด ครูก็ด้วย คนที่ได้เกรด 4-5 จะได้ตีกลอง ถือธง และควงคทานำขบวน ส่วนคนที่ได้เกรด 3 ไล่ลงไปเรื่อยๆ ก็จะได้เดินขบวนเฉยๆ งานนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของนักเรียนที่ตั้งใจเรียนกันก็เพื่องานนี้เนี่ยล่ะ

 



อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1Kyx0FbbB

อีกกิจกรรมที่น่าสนใจคือ ซาน ฆวน (San Juan) เป็นงานที่มีการละเล่น การแสดงและอาหารประจำชาติ จัดประมาณช่วงมิถุนายน – กรกฎาคม ทุกโรงเรียนในเมืองจะผลัดกันจัดงานในแต่ละศุกร์ มีการจัดขบวนคาราวาน รอบเมืองประชาสัมพันธ์ อาหารที่นิยมในงานก็คือ Asado (เนื้อย่าง), ชิปะ (Chipa),  Empanada (กะหรี่ปั๊บ) และชาเตเรเร๊ (Terere) ในงานมีการละเล่นมากมาย แต่ที่เด่นๆ ก็คือ เรคิสโต ซิวิล (Registo Civil) เป็นเกมที่สมมติว่า นาย A เป็นผู้จัดเกมนี้ ส่วนนาย B มากับเพื่อนคือนาย C  หากนาย B เกิดอยากแกล้งเพื่อนคือนาย C ก็จะจ่ายเงินเป็นค่าตั๋วให้นาย Aแล้วสามารถสั่งได้ว่าจะให้นาย C ไปจูบกับนางสาว D ดังนั้นผู้จัดเกมคือนาย A ก็มีหน้าที่จะต้องไปตามลากตัวหรือทำยังไงก็ได้ให้นาย C กับนางสาว D เข้าไปในห้องๆ หนึ่งแม้ว่าจะไม่เต็มใจก็ตาม

อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1Kyx3IMTk

ในห้องนั้นก็จะมีกลุ่มผู้จัดเกมอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง จะทำเหมือนการแต่งงานสมมติ ที่มีการจดทะเบียนและมีบาทหลวง ซึ่งเมื่อจบพิธี เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องสวมแหวนและจูบกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่ยินยอม ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ต้องจ่ายเงินให้ผู้จัดเกมมากกว่าจำนวนเงินที่เป็นค่าตั๋ว มีบางคู่ที่เป็นแฟนกันอยู่แล้ว ปัญหาก็จะไม่เกิด บางคู่เป็นเพื่อนกันก็คิดหนักหน่อย บางคู่ไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ แต่ก็แล้วแต่คนค่ะ บางคนไม่รู้จักกันก็ยอมเพราะบางคนไม่ถือเรื่องนี้

           มีกรณีที่ฝ่ายหญิงไม่รู้จักฝ่ายชาย แล้วแฟนตัวจริงของฝ่ายหญิงก็อยู่ข้างนอก แฟนก็ไม่มีสิทธิ์เข้ามานะคะ ดังนั้นแฟนตัวจริงก็ต้องควักเงินจ่ายแบบไม่คิดกันเลยทีเดียวเพื่อให้ฝ่ายหญิงหลุดออกมาจากสถานการณ์นั้น 5555 แต่เขาก็เฮฮากันดีนะคะ ไม่เห็นมีใครคิดแค้นอะไรกัน เบญก็เกือบไม่รอดเหมือนกัน นั่งอยู่ดีๆ ก็โดนลากเข้าไปในห้องกับใครก็ไม่รู้ หล่อเหมือนกันนะคนนี้ อิอิ แต่เรื่องแบบนี้จะมายอมกันง่ายๆ ได้ยังไง ก็เลยอาศัยสิทธิ์ที่เป็นเพื่อนกับผู้จัดเกมเอาตัวรอดออกมาได้ แล้วก็ไปตามดูว่าใครเป็นคนสั่งให้เบญไปจูบกับผู้ชายคนนั้น..คำตอบคือ.. น้องชายของเบญเอง! 555555



อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1Kyx73yO8

นั่นก็คือประสบการณ์ที่เบญอยากเล่า ถ้าถามว่าสรุปแล้วปารากวัยนี่มันน่าไปหรอ เมืองที่ไปอยู่ถนนก็ไม่ลาดยาง โรงเรียนก็เล็ก พี่น้องก็อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ กลับมาก็เรียนซ้ำชั้นอีก มันคุ้มตรงไหน... เบญว่ามันเป็นประเทศที่น่าอยู่มากนะ ถ้าเรามองในมุมมองที่ต่างออกไป มันสงบแต่ก็ไม่ได้สงบเกินไปจนน่าเบื่อ แล้วก็ไม่ได้วุ่นวายเกินไปจนเราเหนื่อยที่จะตามมัน มันเป็นอะไรที่พอดี คนที่นั่นทำให้เบญรู้สึกได้ว่า ปารากวัยคือบ้าน บ้านอีกหลังที่เบญสามารถอยู่ได้อย่างสบายใจ ถ้าถามว่าแล้วมันคุ้มไหม อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเราจะวัดจากอะไร เราตั้งใจไปเพื่ออะไร เบญตั้งใจไปเพื่อหาประสบการณ์ชีวิตที่ในห้องเรียนไม่มีสอน ไม่ได้ตั้งใจไปเอาเกรด อันนั้นมันเป็นผลพลอยได้ค่ะ

           สำหรับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ คนไหนที่มีความฝัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ทำเถอะค่ะ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นๆ เดือดร้อน ก็ทำเลย อย่าปิดกั้นความสามารถของตัวเองด้วยคำว่าทำไม่ได้ เพราะถ้ายังไม่ได้ลองแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเราทำไม่ได้ ถ้าครั้งที่หนึ่งไม่สำเร็จ ครั้งต่อๆ ไป มันก็ต้องมีสักครั้งล่ะน่าที่สำเร็จถ้าเราไม่ถอดใจไปซะก่อน (เพื่อนคนหนึ่งที่ปารากวัยเคยบอกเบญแบบนี้) แล้วถ้ามันยากมากนัก ก็แค่พยายามต่อไปแล้วจำไว้ว่า “ยาก ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้” ^O^



อ่านต่อ : http://www.dek-d.com/content/studyabroad/24706/เรื่องเด็ดๆ-ของ-ปารากวัย-อเมริกาใต้.php#ixzz1KyxAJaMo

 

 

หมายเลขบันทึก: 437619เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2011 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท