หลักปฏิบัติิเพื่อความพ้นทุกข์ ๔ (สติปัฏฐาน ๔)


สติปัฏฐาน ๔

๒.๑.๑ สติปัฏฐาน ๔ ที่ตั้งของสติ การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้น ๆ มันเป็นของมันเอง เป็นหลักธรรมที่เป็นตัวปฏิบัติแท้ ๆ ด้วยการเอาสติเป็นหลัก คือ กำหนดสติมีความรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาทุกขณะในเวลาทำ พูด คิด เมื่อทำได้อย่างนี้แล้ว สติจะเป็นตัวกั้นกระแสอาสวกิเลสทั้งปวงมิให้เกิดขึ้น และเมื่อประกอบด้วยสติ (ความระลึกได้) สัมปชาโน (ความรู้ตัวทั่วพร้อม) อาตาปี (ความเพียรเผากิเลส) พิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยความไม่เป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมในธรรมทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก โดยใช้สติตั้งมั่นอยู่เพียงแต่สักว่าความรู้ สักว่าอาศัยระลึก ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก อย่างนี้ชื่อว่า การเจริญสติ

 

สติปัฏฐาน ๔ แบ่งออกเป็น ๔ หมวด คือ กาย เวทนา จิต และธรรม

๑.หมวดกายที่เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๖ บรรพ คือ

 

ก.กายานุปัสสนา อานาปานบรรพ ให้ใช้สติพิจารณาบทหายใจเข้า หายใจออก โดยให้มีสติกำหนดรู้ลักษณะของลมหายใจ ว่ายาวสั้นอย่างไร และดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ที่เกิดจากลมหายใจให้มีความรู้เท่าทันและเข้าใจจนหมดความยึดมั่นในกายนี้ที่มีลมหายใจเป็นองค์ประกอบหนึ่ง

 

ข.กายานุปัสสนา อิีิริยาปถบรรพ ให้ใช้สติพิจารณาอาการเคลื่อนไหวของร่างกายที่เป็นอิริยาบทใหญ่ ๆ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน ให้เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ไม่สามารถจะดำรงอยู่ในอิริยาบทใดได้ตลอดไป ด้วยเหตุที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิต และการดับทุกขเวทนาที่เกิดจากการอยู่ในอิริยาบทใดนาน ๆ จะเห็นว่าไม่สามารถจะบังคับบัญชาให้เป็นดังใจปรารถนาได้

 

ค.กายานุปัสสนา สัมปชัญญบรรพ ให้ใช้สติพิจารณาอิริยาบทย่อยต่าง ๆ คือ การก้าว การถอย การเหลียว การทรงบาตร การห่มจีวร การอุจจาระปัสสาวะ เป็นต้น หมวดนี้ต้องการให้พิจารณาให้ละเอียดลงไปถึงการเคลื่อนไหวร่างกายนี้ล้วนมีความจำเป็นมีเหตุผลของการกระทำอย่าเข้าไปยึดมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้น ต้องมีความเกิดและดับสลับสับเปลี่ยนกันไปอยู่ตลอดเวลา

 

ง.กายานุปัสสนา ปฏิกูลมนสิการบรรพ ให้ใช้สติพิจารณาร่างกายนี้ว่าประกอบด้วยอาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ไม่มีส่วนใดที่เป็นตัวตนให้เราต้องยึดมั่น เป็นเพียงองค์ประกอบทั้งหลายมารวมตัวกันเท่านั้น

 

จ.กายานุปัสสนา ธาตุมนสิการบรรพ ให้ใช้สติพิจารณาร่างกายนี้ว่าเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประกอบกันเข้าจึงเรียกว่าคน เมื่อแยกออกเป็นธาตุแล้วก็ไม่มีอะำไรเป็นแก่นสาร เป็นเพียงการรวมตัวของธาตุทั้ง ๔ เท่านั้น

 

ฉ.กายานุปัสสนา นวสีวถิกาบรรพ ให้ใชสติพิจารณาร่างกายนี้เมื่อสิ้นชีวิตลง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ ไม่คงทนถาวรอยู่ได้ ในที่สุดก็กลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม กลับสู่ความเป็นธาตุ ๔

 

สติปัฏฐาน ๔ หมวดว่าด้วยกายนี้ เป็นการให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาความจริงของร่างกายนี้ว่า มีธรรมชาติเป็นอย่างไร มีความแปรปรวนไปอย่างไร เมื่อเข้าใจความจริงอย่างนี้แล้ว จะทำให้หมดความยึดมั่นในกาย ความสำคัญผิดว่ากายนี้ คือ ตัวตนที่ต้องคอยยึดถือ ครอบครอง และหวงแหน และเมื่อเข้าใจความจริงของกายนี้แล้วก็เกิดการปล่อยวาง ละ สละคืนไม่พัวพันอยู่แต่กายนี้อีกต่อไป

 

๒.หมวดเวทนาที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการใช้สติพิจารณาถึงเวทนาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือไม่ทุกข์ไม่สุข (อทุกขมสุขเวทนา) และเวทนาเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเพราะมีอามิสเป็นวัตถุกามทำให้เกิดเวทนาขึ้น หรือว่าไม่มีอามิสเป็นวัตถุกามแต่เป็นธรรมารมณ์อันปราศจากอามิส เช่น ความปลื้มปิติใจสุขใจเพราะประสบผลสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นต้น

การมีสติเข้าไปรู้เวทนาต่าง ๆ เหล่านั้นทำให้เกิดความเข้าใจชีวิตว่า ล้วนมีทุกข์มีสุขปะปนกันไป และทุกข์และสุขนั้นก็เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย มิใช่เกิดขึ้นลอย ๆ ความเข้าใจอย่างนี้ทำให้เกิดการยอมรับธรรมชาติของชีวิตว่าจะต้องเป็นไปอย่างนี้ เมื่อคราวมีสุขจะได้ไม่หลงระเริงกับความสุขจนเกิดความประมาทมัวเมา คราวมีทุกข์ก็ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง คิดว่าสักวันความทุกข์จะต้องหมดไป เพราะเข้าไปรู้เหตุปัจจัยของทุกข์และสุขเช่นนี้ ทำให้รู้จักสร้างเหตุปัจจััยที่ทำให้เกิดความสุข ต้องการพ้นทุกข์ต้องไม่สร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดทุกข์ ทุกข์จึงไม่เกิดขึ้น

 

๓.หมวดจิตหรือที่เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการกำหนดสติพิจารณาความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ในจิตของเราที่ประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง โดยให้พิจารณาจิตในทุกขณะว่าขณะนั้น ๆ ประกอบด้วยองค์ประกอบอะไร คือ จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะจิตไม่มีโมหะ เข้าไปกำหนดรู้อย่างนี้พร้อมกับการกำหนดรู้เหตุที่ทำให้จิตเป็นไปอย่างนั้น ๆ ด้วย เมื่อมีสติเข้าไปพิจารณารู้อย่างนี้แล้ว สติจะช่วยกันไม่ให้เกิดกิเลสต่าง ๆ หรือเป็นการรู้เท่าทันกิเลส ทำให้ไม่ตกไปในอำนาจของกิเลสต่าง ๆ ได้

 

๔.หมวดธรรมหรือที่เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการกำหนดสติพิจารณาธรรมต่าง ๆ ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพฌงค์ ๗ และอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหมวดธรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและการบรรลุธรรม ๓ หมวดแรก คือ นิวรณ์ ขันธ์และอายตนะ เป็นการพิจารณาสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเกี่ยวข้องอยู่กับโลกและสังคม โดยมีร่างกายเป็นศูนย์กลางได้แก่ขันธ์ ๕ ที่ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มีสื่อกลางคืออายตนะภายในและภายนอกเป็นตัวเชื่อมต่อ ทำให้เกิดนิวรณธรรมต่าง ๆ ขึ้น การเข้าไปรู้เท่าทันสภาวะธรรมต่าง ๆ เท่ากับการรู้ความจริงของชีวิตและโลก จนเกิดความปล่อยวางหรือรู้วิธีในการที่จะปฏิบัติอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น ส่วนธรรม ๒ หมวดสุดท้่าย คือ โพชฌงค์ และอริยสัจจ์ เป็นการดำเนินไปของจิตเมื่อเข้าใจความจริงของชีวิตและโลก ก็จะดำเนินไปสู่มรรคและผลอันเป็นส่วนให้นำไปสู่การบรรลุธรรมในที่สุด

 

ข้อพิจารณา

สติปัฏฐาน ๔ เป็นหมวดธรรมที่ีแสดงวิธีการปฏิบัติที่สมบูรณ์ทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ผู้ปฏิบัติที่ต้องการปฏิบัติอย่างจริงจังและต้องการผลอย่างรวดเร็ว ต้องปฏิบัติด้วยสติปัฏฐาน ๔ นี้

บูรพาจารย์ได้วางแบบสำหรับการเจริญิสติปัฏฐาน ๔ ไว้ครบบริบูรณ์ ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน การครองผ้าเป็นการเจริญสติตั้งแต่ตื่นนอน คือ เมื่อตืนนอนตอนเช้าจะต้องครองผ้า เริ่มด้วยการนุ่งสบงต้องกำหนดสติกับการนุ่ง มีบทภาวนาสำหรับการกำกับสติว่า "อา ปา มะ จุ ปะ" เวลาจะคาดปะคตรัดเอวต้องกำหนดสติอยู่กับการคาดปะคต มีบทภาวนาว่า "อมัง กายพันธนัง อธิฏฐามิ" เวลาจะห่มจีวรต้งสติกับการห่มจีวร มีบทภาวนาว่า "ที มะ สัง อัง ขุ" เวลาจะพาดสังฆาฏิต้องกำหนดสติ มีบทภาวนาว่า "สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ" เวลาจะรัดออกต้องกำหนดสติมีบทภาวนาว่า "อิมัง องคพันธะนัง อธิฏฐามิ" ก่อนออกบิณฑบาตรตอนเช้าจะหยิบบาตร ทชมีบทภาวนาว่า อิมัง ปัตตัง อธิฏฐามิ" กลับจากบิณฑบาตรฉันข้าวก็ต้องพิจารณาอาหารก่อนฉันด้วย ตังขณิกะปัจจเวกขณะวิธี โดยพิจารณาว่า เราบริโภคอาหาร มิใช่เพื่อความอิ่มหมีพลีมัน เพื่อกำลังทางกาย เพื่อความเอร็ดอร่อยสนุกสนานมัวเมาโอ้อวดกัน หรือเพื่อส่งเสริมราคะ เราบริโภคอาหารเพียงเพื่อยังอัตตภาพให้เป็นไป เพื่อประพฤตพรหมจรรย์เท่านั้น.. เมื่อฉันเสร็จแล้วก็หาที่อันสงบวิเวกเจริญอานาปานสติ

 

ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นอุบายวิธีในการสอนให้ภิกษุได้เจริญสติทั้งสิ้น แต่ก็มีภิกษุหลายรูปที่ทำไปโดยไม่เข้าใจความหมาย คงทำตาม ๆ กันมาโดยไม่รู้ ครูอาจารย์สอนให้ทำก็ทำตามไปอย่างนั้น หรือเขาทำก็ทำตามกันไป จึงไม่สมประโยชน์ที่ท่านแนะนำไว้

 

การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นทั้งสมถะ และวิปัสสนา คือ ทำให้จิตสงบจนเกิดสมาธิขั้นฌาน และในโอกาสเดียวกันก็เป็นการพิจารณาการเกิดดับของรูป นาม ไปตามสภาวธรรมจนเข้าใจว่า เกิด ดัีบอย่างไร ด้วยเหตุปัจจัยอะไร ทำให้เกิดปัญญาเข้าใจสภาวธรรม จนเกิดวิปัสสนาญาณ จนเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ถึงขั้นสามารถดับทุกข์ โทมนัส ปริเทวะ อุปายาสได้ในที่สุด

 

สติปัฏฐาน ๔ เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหมวดธรรมที่กล่าวถึงการปฏิบัติไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด การปฏิบัติตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ เป็นทางสายเอกที่ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถบรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็ว ตรงสู่พระนิพพานอย่างแน่นอน เปรียบการเดินทางไปสู่ที่ใดอาจมีหลายเส้นทาง แต่ละเส้นทางที่จะไปก็มีความยากง่ายแตกต่างกัน แต่ยอมมีทางเดียวที่ไปได้สะดวกปลอดภัยและไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางนั้นจะเรียกว่าทางสายเอก เหมือนกับการบรรลุธรรมอาจปฏิบัติได้หลายวิธี มีความยากง่ายแตกต่างกัน แต่ทางที่สะดวกรวดเร็วเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรับรองว่าทางนี้เป็นที่ไปอันเอก ดังปรากฏในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตย์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์โทมนัส เื่พื่อบรรลุธรรที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ (1)

 (1) ที.มหา.๑๐/๔๐๕/๒๖๘-๒๖๙ มหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐

คำสำคัญ (Tags): #สติปัฏฐาน ๔
หมายเลขบันทึก: 437572เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท