Garfield
ทิพย์ผกา ทิพย์ ทิพย์มณเฑียร

ธรรมโอสถ : สุขสำเร็จ 7 ย


ชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะชีวิตไม่เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เพียงแค่ชงน้ำร้อนก็รับประทานได้ โดยให้ชื่อว่า "สุขสำเร็จ 7 ย."

ชื่อเรื่อง  ธรรมโอสถ : สุข สำเร็จ 7 ย

ผู้แต่ง ดำเนินการโดย  บริษัท วังทองกรุ๊ป  จำกัด(มหาชน) กรรมการผู้จัดการ

หนังสือ Health To day  ปีที่ 8 ฉบับ ที่ 40 เดือน กรกฏาคม 2553

 

            ชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะชีวิตไม่เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เพียงแค่ชงน้ำร้อนก็รับประทานได้แต่ชีวิตของคนเรายังมีอะไรที่มากกว่านั้น ซึ่งแล้วแต่วิถีและวิธีของแต่ละคน วิถี คือ แนวทางแห่งการดำเนินชีวิต  วิธี  คือ การปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายของชีวิต   ในชีวิตทุกชีวิตมีความหลากหลายล้วนต่างดำเนินตามวิถีที่แตกต่างโดยวิธี แต่ทั้งนี้ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความสุข กันความสำเร็จด้วยกันทุกคนแล้วแต่วิถีของใคร ของแนะนำเคล็ดไม่ลับอันจะพาเราไปสู่เป้าหมายของชีวิตด้วยกัน ซึ่งได้นำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนามากลั่นกรองและสังเคราะห์เข้าด้วยกันโดยให้ชื่อว่า “สุข สำเร็จ 7 ย.”

 ย.1 ยิ้มแย้ม  ก่อนอื่นรวมมาลองหลับพริ้ม ๆ แล้วอมยิ้มที่มุมปาก จินตนาการว่าเรากำลังยืนอยู่ท่ามกลางสวนดอกไม้นานาพรรณ แล้วสูดเอากลิ่นหอมอบอวลของมวลดอกไม้ เข้าสู่ปอดอย่างนุ่มนวล อ่อนโยนและแผ่วเบา ส่งยิ้มไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย แล้วเราจะรู้ว่าความสุขอยู่ไม่ไกล หากหัวใจเราเบิกบาน  ยิ้มแย้ม คือ การทำใจให้สบายอยู่สบายอยู่เสมอ มองโลกในแง่ดีมองโลกให้สดใสยิ้มได้แม้ภัยมารอยยิ้มเป็นสิ่งที่มีค่า ถึงแม้จะมีเงินมากมายซื้อสิ่งของต่าง ๆ ได้ดังในปรารถนา แต่ก็ไม่อาจซื้อรอยยิ้มอันอ่อนโยนที่ออกมาจากใจได้

ยิ้มแย้ม             เย็นเย็น             เป็นแบบอย่าง

สรรค์สร้าง       ไมตรี               ดีนักหนา

ร้อยยิ้ม             เย็นเย็น             เป็นตัวยา

ช่วยรักษา        แผลจิต                        ถอนพิษใจ

ทำไม่ยาก         ดอกหนา          ถ้าจะยิ้ม

เพียงทำใจ        ให้อิ่ม               ก็ยิ้มได้

หวังแต่คอย      รอยยิ้ม             ให้อิ่มใจ

คอยยิ้มใคร       ก็ไม่อิ่ม                        เท่ายิ้มเอง

ย.2 ยกย่อง   ในระหว่างคำชมกับคำแช่ง เราชอบคำไหน “คำชม” คำพูดของคนเรามีความสำคัญมาก จะพูดให้รักก็ได้ พูดให้เกลียดก็ได้ คำพูดจึงเป็นได้ทั้งเสน่ห์เป็นได้ทั้งเสนียด เป็นลิ่มสลักใจ และเป็นได้ทั้งหอกทิ่มแทงใจ ปราชญ์โบราณ จึงได้สอนไว้ว่า “ให้คิดทุกคำที่พูด แต่อย่าพูดทุกคำที่คิด”

“พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากมีสี” ถ้าพูดดีก็มีคนรักนิยมชมชอบ ถ้าพูดไม่ดีก็อาจชักตาตั้ง หรือถึงตายได้ สมดังที่สุนทรภู่ยอดกวีเอกได้ประพันธ์เอาไว้ว่า

            ถึงบางพูด        พูดดี                เป็นศรีศักดิ์

            มีคนรัก            รสถ้อย             อร่อยจิต

            แม้นพูดชั่ว       ตัวตาย             ทำลายมิตร

            จะชอบผิด       ในมนุษย์          เพราะพูดจา    

            เป็นมนุษย์        สุดนิยม            เพียงลมปาก

            จะได้ยาก         โหยหิว                        เพราะชิวหา

            แม้นพูดดี         มีคน                เขาเมตตา

            จะพูดจา          จงพิเคราะห์     ให้เหมาะความ

            ย.3 ยืดหยุ่น  เวลามีลมพายุแรง ๆ พัดผ่านเข้า จนทำให้อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ต้นไม้ใหญ่น้อยหลายต้นหักโค่นไปกับแรงพายุ แต่มีอยู่ต้นเดียวที่ยืนตระหง่านต้านทางต่อแรงพายุ คือต้นไผ่ ไม่ใช่เพราะต้นไผ่แข็งแรงกว่าต้นไหน ๆ แต่เป็นเพราะต้นไผ่รู้จักยืดหยุ่นไปตามสายลม มีความอ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตัวต่อธรรมชาติไม่แข็งกร้าว มีการโอนอ่อนผ่อนตาม แต่หนักอยู่ภายใน

            “อ่อนโยน     แต่ไม่อ่อนแอ                  แข็งแรง         แต่ไม่แข็งกระด้าง”

            คนเราก็เหมือนกันบางครั้งต้องรู้จักยืดหยุ่น เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาม รู้จักประนีประนอมแต่ไม่ใช่ยอมแพ้ ดังสุภาษิต ญี่ปุ่นกล่าวไว้ว่า “ยืดหยุ่นให้ถึงที่สุดก็จะไร้ผู้ต้าน” ความสภาพอ่อนโยนและยืดหยุ่นทำให้คนญี่ปุ่นน่ารัก และเจริญรุ่งเรือง จะทะเลาะกันขึ้นโรงขึ้นศาลกันน้อยมาก รู้จักเห็นอกเห็นใจกัน ผ่อนสั้นผ่อนยาว ถ้ารู้จักยืดหยุ่นเรื่องก็จะไม่ยืดเยื้อ ถ้าร้อนเจอร้อนก็มีแต่จะลุกลาม แต่ถ้าร้อนมาเจอเย็นทุกอย่างก็น่ายินดี การยืดหยุ่นคือการให้หลักอโหสิกรรม ออมชอม ประนีประนอม ไม่เบียดเบียนกัน ถึงจะกระทบกระทั่งกันบ้างก็ให้อภัยแก่กัน สังคมก็น่าอยู่ขึ้นเยอะ

            ย.4 ยืนหยัด    คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้จะต้องมีความเพียรพยายามยืนหยัด ดังสุภาษิตที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” พระมหาชนกทรงเป็นแบบอย่างของนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีความมานะอดทนบากบั่นเพียรพยายามว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรที่กว้างไกลมองไม่เห็นฝั่งและเต็มไปด้วยภยันตราย แต่กระนั้นพระองค์ก็หาได้ละความเพียรไม่ สู้ว่ายต่อไปด้วยความหวังจะต้องถึงฝั่งสักวัน และแล้วความเพียรก็ให้ผล เมื่อนางมณีเมขลาเทวดาเกิดสงสารและชื่นชมในความเพียรของพระองค์จึงได้จึงได้นำส่งยังฝั่ง ปัญหาทุกอย่างขอเพียงเราไม่ท้อแท้และท้อถอยเสียก่อนแน่นอนชัยชนะต้องเป็นของเราเข้าสักวัน หากวันใด....อ่อนแอ ท้อแท้ อย่าหวั่นไหว ขอให้ใจไม่สิ้นหวัง ปัญหาแม้จะหนัก...ก็คงไม่เกินกำลัง อย่าหยุดยั้ง...ก้าวไป ขออย่ายอมแพ้...อย่าอ่อนแอ แม้จะร้องไห้ จงลุกขึ้นสู้ไปสู่จุดหมายไม่ไกล เกินจริง...จงยืนหยัด เชิดชู นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่

            ย.5 หยิบยื่น     น้ำบ่อน้ำคลอง ยังเป็นรองน้ำใจ น้ำเป๊ปซี่ สไปรท์ สู่น้ำใจไม่ได้

                                    อันความกรุณาปราณี               จะมีใครบังคับก็หาไม่

                                    หลั่งมาเองดังสายฝนอันชุ่มใจ  จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แผ่นดิน

            การหยิบยื่น เอื้ออาทรเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันหากมีในสังคมใด ประเทศใด สังคมนั้น ประเทศนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุขเหมือนกับสายฝนที่หลั่งรินสู้พื้นดินแห้งผาก ย่อมนำความชุ่มฉ่ำมาให้ น้ำใจที่หยิบยื่นก็ย่อมนำความชุ่มชื่นสู่หัวใจเป็นยิ่งนัก หยิบยื่น คือจาคะ เสียสละ เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประเพณีไทยสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีอะไรก็แบ่งกันกินแบ่งกันใช้  หมูไปไก่มา ให้รู้จักเหลียวแล ประคับประคอง เราสามารถที่จะหยิบยื่นได้หลายวิธี

            1.วัตถุสิ่งของ แก่ผู้ที่ขาดแคลนหรือเดือดร้อน เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้บ้าน เด็กด้อยโอกาส คนชรา

            2.คำแนะนำ เช่น ธรรมะ อันเป็นข้อคิดสะกิดใจให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหา

            3.กำลังใจ เป็นกำลังใจชื่นชมยินดีเมื่อเห็นคนทำความดี หรือปลอบขวัญเมื่อเขาโศกเศร้าเสียใจเป็นกำลังใจให้เขามีกำลังลุกขึ้นอีกครั้ง ที่สำคัญเราจงจำไว้ว่า “จงอย่าจำว่าเรามีบุญคุณกับใคร แต่จงจำไว้ว่าใครมีบุญคุณกับเรา”

            ย.6 ยินยอม กีฬามีแพ้มีชนะ มีหลายครั้งที่กีฬาแพ้แต่คนไม่แพ้ คือไม่ยอมกัน ไม่ยอมรับในผลของการกระทำ การทะเลาะวิวาทส่วนใหญ่จึงเกิดจากการไม่รู้จักยินยอมกัน ฉันต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอ คุณสมบัติที่เด่นของคนเรามีอย่างหนึ่งคือ ทำผิดมากกว่าถูก ไม่เคยมีใครที่ไม่เคยทำผิดเลย แต่ก็ชอบคิดว่าตนเองถูกเสมอ ไม่ค่อยจะยอมรับผิดง่าย ๆ ทั่งที่การทำอะไรผิดไม่ใช่ว่าจะเป็นคนไม่ดี แต่การทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิดต่างหากที่เป็นความเลว ผลดีของการยอมรับผิดคือ

            - จะช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ไปในทางที่ดี และความรู้สึกใหม่ที่ดี

            - คนอื่นจะชื่นชมและให้อภัยมากกว่าทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด

            - จะรู้สึกภาคภูมิใจและปิติอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน

            คนส่วนใหญ่มัวแต่พากันแพ่งโทษของผู้อื่น ยึดเอาการกระทำของผู้อื่นมาเป็นธุระเป็นอารมณ์แต่ไม่ค่อยดูความผิดของตนเองนักถ้าหากรู้จักดูจิตใจของตนเองอยู่เสมอ ยอมรับความจริงบ้าง นี่เราทำดี เราทำไม่ดี ยอมรับแล้วปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้ดีขึ้น ดูแลตนเองมากขึ้น โลกก็คงไม่วุ่นวายเหมือนทุกวันนี้หรอก

           

ย.7 ยับยั้ง ถ้าไม่รู้จักยับยั้งก็จะยับเยิน ขับรถต้องมีเบรกถ้าเบรกแตกก็มีสิทธิ์แหกโค้งลงไปนอนอ่านหนังสือพิมพ์ข้างทางได้ เบรกคือตัวยับยั้งรถไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ คนเราก็ต้องมีเบรกเช่นกัน เบรกคือสติ รู้จักสะกดจิตใจไม่วู่วามโกรธง่าย มีสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ข่มอารมณ์ที่ควรข่ม   เช่นอารมณ์โกรธ อารมณ์กำหนัด เมื่อเกิดอารมณ์เหล่านี้ต้องรู้จักกำหนด ดังโบราณว่าไว้

“เกิดกำหนัด เพราะไม่กำหนด ถ้ากำหนด จะหมดกำหนัด”

กำหนดด้วยสติ การยับยั้งชั่งใจ ไตร่ตรองครวญอย่างรอบคอบ แล้วจึงทำสิ่งนั้นลงไปที่ท่านเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” เมื่อทำแล้วต้องรู้จักวางอุเบกขาในอารมณ์ ไม่ไปดีใจ หรือเสียใจเกินไปกับผลของการกระทำนั้น ทำใจให้ประหนึ่งภูเขาศิลาแท่งทึบไม่หวั่นไหวต่อแรงลมพายุๆ คือนินทาและสรรเสริญ ด้วยการวางใจให้เป็นกลางไม่ฟูและไม่แฟบ

หากทำได้ดังกล่าวมานี้ขอยืนยันว่าคุณกำลังเดินเข้าสู่วิถี และวิธีที่จะไปสู่ความสุขและความสำเร็จแล้ว ขอเพียงแต่คุณค่อย ๆ ก้าวย่างอย่างมีสติ นุ่มนวล อ่อนโยน และมั่นคง เป้าหมายรอคุณอยู่ไม่ไกล ขอเพียงหัวใจไม่ยอมแพ้

                               อาจารย์ทิพย์ผกา       ทิพย์มณเฑียร

คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 437485เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 08:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Yes, yes, ... and yes again. more 'ย' ;-)

Seriously, thank you.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท