WHO Global Forum 2011 - Moscow (Day 2)


เครมลินและจัตุรัสแดง

เครมลินและจัตุรัสแดง

วันที่สองของการเดินทาง รู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษที่จะได้มีเวลาเที่ยวชมความยิ่งใหญ่ของมอสโก ที่ครั้งหนึ่งได้เป็นศูนย์กลางอำนาจของลัทธิสังคมนิยม ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงสมัยหนึ่งเมื่อครั้งยังวัยเยาว์หนุ่มน้อยได้เคยบอกรับเป็นสมาชิกวารสาร “โซเวียต” ในประเทศไทย ได้มีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวความยิ่งใหญ่ของโซเวียตรัสเซียผ่านช่องทางดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงสงครามการเผยแพร่ลัทธิการเมืองระหว่างสองค่ายใหญ่ คือ ค่ายเสรีนิยม และค่ายคอมมิวนิสต์ วารสาร “โซเวียต” มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของผู้บันทึกไม่น้อย ใช่ว่าจะทำให้นับถือแนวทางคอมมิวนิสต์อย่างหัวปักหัวปำ แต่มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ก็ทำได้เพียงเก็บความรู้สึกชื่นชมแนวคิดไว้ในใจ เนื่องจากเมืองไทยเราได้ปลูกฝังความเชื่อว่าคอมมิวนิสต์เป็นผีร้ายที่จะทำให้บ้านเมืองไทยป่นปี้ได้ และเชื่อถึงขนาดว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ทำให้คนไทยเราต้องถูกแบ่งแยกเป็นฝ่าย ถึงขั้นต้องหยิบปืนขึ้นต่อสู้ประหัตประหารกันเอง กระทั่งได้รับการแก้ไขในเวลาต่อมา แต่ก็ยังคงมีพื้นฐานความเชื่อในแนวคิดทางการเมืองสองขั้วหลงเหลือให้ได้เห็นผ่านการเคลื่อนไหวโดยใช้สีเสื้อในปัจจุบัน

เผลอเล่าความหลังไปเสียไกลแถมไถลไปสู่การเมืองเสียด้วย กลับมาที่การเดินทางชมกรุงมอสโกกันดีกว่า ตื่นเช้าวันที่สอง (25 เมษายน) หลังจากทำธุระส่วนตัวเสร็จก็ลงไปฉันอาหารเช้าซึ่งวันนี้เมนูง่ายสุดคือ ไข่เจียวธรรมชาติแบบง่ายๆ (Natural Omelet) เพราะถือว่าไม่เสี่ยงที่จะรับประทานไม่ลง จากนั้นก็เตรียมตัวเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีเทา(หมายเลข 9) เช่นเดิม เพราะเป็นเส้นทางที่น่าจะสะดวกที่สุดที่จะเดินทางไปยังเครมลินและจัตุรัสแดง เพราะจากแผนที่ก็จะผ่านสองสถานีโดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถไต่อย่างใด พอถึงสถานีที่สามก็ขึ้นจากสถานีได้เลย แต่ที่ทำให้สับสนก็คงจะเป็นชื่อสถานีสุดท้ายคือ สถานีโบโรวิตสกายา เพราะที่นี่เป็นที่รวมของรถไฟฟ้าใต้ดินอีกสามสาย คือสายสีแดง (หมายเลข 1) สายสีฟ้า (หมายเลข 4) และสายสีม่วง หมายเลข 3) แต่มีชื่อสถานีต่างกันและสามารถใช้ทางเดินใต้ดินเปลี่ยนสายเดินทางได้ หากไม่สังเกตทางออกให้ดีก็อาจจะหลงไปสถานีรถไฟสายสีอื่นได้ ออกจากสถานีก็พบตึกหอสมุดแห่งชาติที่มีรูปปั้นของสตอยคอฟอยู่ด้านหน้า และอาคารพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมซุสเซฟ จากนั้นก็ใช้ทางลอดถนนเข้าสู่สวนสาธารณะรอบตัวเครมลิน ไปยังทางเข้าชมเครมลินซึ่งมีห้องจำหน่ายตั๋วหลายราคา สุดแต่ผู้เข้าชมจะปรารถนา โดยมีราคาเฉพาะชมอาคารต่างๆภายในเครมลิน และราคาที่เพิ่มการเข้าชมพิพิธภัณฑ์สำคัญต่างๆภายในเครมลินด้วย ด้วยเหตุที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ไม่มีเวลาศึกษาอย่างเพียงพอแถมมีคิวซื้อตั๋วค่อนข้างยาว จึงตัดสินใจซื้อตั๋วราคา 700 รูเบิล รวมการเข้าชมพิพิธภัณฑ์คลังสรรพาวุธ (Armoury Chamber) ด้วย สำหรับนักท่องเทียว การเข้าชมเครมลินดูเหมือนจะได้รับความสะดวกในการตรวจตั๋วเข้าชมเป็นพิเศษ เพียงแต่ต้องตรวจกระเป๋าถือพอเป็นพิธีเท่านั้นไม่มีความยุ่งยากแต่อย่างใด ผ่านประตูตรวจตั๋ว Kutafiya Tower เข้าสู่ทางเดิน Kremlin Embankment หรือ Trinity Bridge ที่เริ่มพลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่มาเที่ยวเป็นส่วนบุคคลและเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กๆนักเรียนที่ดูจะตื่นเต้นเป็นพิเศษในการเข้าชมเครมลิน ทางเดินสีแดงนี้เชื่อมไปยังซุ้มประตูใหญ่ที่มีหอคอยสูงตระหง่าน เรียกชื่อว่า Trinity Tower ซึ่งเป็นประตูทางผ่านที่สูงที่สุดถึง 85.7 เมตร สร้างขึ้นในราวปี คศ.1495-1499

ผ่านซุ้มประตูเข้าไปก็จะพบอาคารปืนใหญ่ทางด้านซ้ายมือที่ประดับด้วยปืนใหญ่โบราณโดยรอบ ด้านขวามือจะเป็นอาคารพระราชวังเครมลิน (The Grand Kremlin Palace) เป็นอาคารที่ภายนอกเป็นกระจกแผ่นใหญ่ ติดตรงอินทรีตรงกลางด้านบนสุดของตึก จากนั้นก็เดินไปตามทางเดินที่กำหนด โดยไม่สามารถลงไปเดินเพื่อหามุมถ่ายภาพสวยๆ บนถนนได้ ถัดไปเบื้องหน้าก็จะพบปืนใหญ่ (The Tsar Connon) ที่มีความยาว 5.34 เมตร หนัก 40 ตัน และมีลำกล้องขนาด 890 มิลลิเมตร ด้านหลังเป็นอาคารที่ประทับของพระสังฆราช (The Patriarch’s Palace) มีส่วนที่สังเกตได้คือมีหลังคาโดมเป็นสีเงิน สร้างในช่วงศตวรรษที่ 17 ประกอบด้วยห้องพักและห้องรับรองแขก แต่อาคารนี้ไม่เปิดให้เข้าชมภายใน

ถัดออกไปเป็นโบสถ์อัสสัมชัญ (The Assumption Cathedral) ซึ่งเป็นจุดเด่นของบริเวณจัตุรัสนี้ สร้างขึ้นด้วยหินสีขาวทั้งหลัง มีโดมห้าโดมเป็นสีทองเหลืองอร่ามงดงามยิ่งนัก ภายนอกบริเวณเหนือประตูหรือหน้าต่างจะมีภาพวาดสีน้ำเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเยซูคริสต์เจ้า ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมสีน้ำที่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมมาตามลำดับ แต่ก็ยังคงความสวยงามอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้ภายในโดยรอบยังเป็นที่บรรจุพระศพของพระสังฆราชจำนวน 9 พระองค์ ถัดจากโบสถ์อัสสัมชัญไปทางถนนซึ่งก็อยู่ในบริเวณจัตุรัสนี้เป็นอาคารหอระฆังอีวานมหาราช (The Bell Tower of Ivan the Great) ซึ่งก็มีโดมสีทองสูงเสียดฟ้า กลายเป็นเครื่องหมายของเครมลินที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมส่วนจัดแสดงระฆังซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ถึงส่วนต่อหอระฆังวอนนิตซา (Zvonnitsa Annex) ติดกับหอระฆังอีวานมหาราชยังมีส่วนต่อที่เป็นหอระฆังอีกสองส่วน บริเวณลานโล่งด้านหน้าหอระฆังเรียกว่าจัตุรัสอีวานอฟ

เดินอ้อมไปด้านตรงกันข้ามหอระฆังด้านติดดับถนน เราจะพบระฆังจักรพรรดิ (Tsar Bell) ที่มีสภาพแตกหลุดและถูกจัดวางให้ชมและถ่ายภาพ อย่างไรก็ตามนิยมของรัสเซียในการสร้างระฆังจักรพรรดินี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ในรัสเซีย ระฆังจึงถือเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันของคนรัสเซีย และการสั่นระฆังในโอกาสต่างๆ ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของชาวรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นโอกาสแห่งความทุกข์ยากลำบาก ความเศร้า หรือความรื่นเริงบันเทิงใจ เพื่อป่าวประกาศโอกาสดังกล่าว และระฆังแห่งเครมลินก็ยังคงส่งเสียงเป็นประจำในวันหยุดสำคัญๆทางศาสนา

ถัดจากหอระฆังไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจัตุรัสเป็นโบสถ์แห่งประมุขทูตสวรรค์ (Archangel’s Cathedral) ซึ่งก็เป็นโบสถ์ห้าโดมเช่นกัน เพียงแต่มีเพียงโดมใหญ่ตรงกลางเท่านั้นที่เป็นสีทอง ตามประวัติสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 12 เดิมเป็นโบสถ์ที่สร้างด้วยไม้ ต่อมาในปี 1333 ได้มีการรื้อโบสถ์เดิมและสร้างขึ้นใหม่ด้วยหินสีขาว ซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรมที่งดงามชวนให้เข้าชมด้านใน และภายในก็มีภาพจิตรกรรมที่งดงามยิ่งซ่อนอยู่ รอนักรักศิลปะมาเยี่ยมชม อย่างไรก็ตามการเข้าชมโบสถ์แห่งประมุขทูตสวรรค์นี้จะต้องซื้อตั๋วพิเศษเพื่อเข้าชมด้วย และก็ให้รู้สึกเสียดายที่การมาคราวนี้ยังไม่ได้เข้าชมโบสถ์แห่งนี้ ถัดไปเป็น “โบสถ์แห่งการประกาศ” อะไรทำนองนี้ (Annunciation Cathedral) เป็นโบสถ์ที่ไม่ใหญ่โตนัก มีขนาดกะทัดรัดมีโดมสีทอง 9 โดมดูงดงามจากภายนอก โบสถ์แห่งนี้เป็นโบสถ์ส่วนพระองค์ของเจ้าผู้ครองนครและจักรพรรดิรัสเซียสมัยโบราณซึ่งใช้ประกอบพิธีแต่งงานและรับศีลเป็นคริสตชน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมภายในโบสถ์แห่งนี้ได้โดยไม่ต้องซื้อตั๋วเพิ่ม ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมเฟรส-โค (Frescoes) ซึ่งจากบันทึกเล่าว่าเป็นฝีมือการวาดของ Pheofan the Greek, Andrei Rublev และ Prokhor จาก Gorodete

จากนั้นจึงเดินตามทางไปจึงสุดใกล้ซุ้มประตูทางเข้าออก ก็จะถึงอาคารพิพิธภัณฑ์สรรพาวุธ (Armoury Chamber) เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศรัสเซีย ซึ่งกำหนดเวลาเข้าชมเป็นช่วงๆ เพื่อป้องกันความแออัดยัดเยียดของผู้เข้าชม ดังนั้นหากจะเข้าชมก็ต้องกำหนดเวลาเข้าชมให้พอดี ภายในแบ่งออกเป็นส่วนจัดแสดงสองห้องใหญ่ ห้องหนึ่งเป็นที่จัดแสดงชุดแต่งกายของสตรีสูงศักดิ์ในรัสเซียในสมัยต่างๆ พร้อมทั้งราชรถชนิดต่างๆที่ผ่านการใช้งานมาจริงด้วย ส่วนที่สองเป็นที่จัดแสดงเครื่องใช้ทองคำและเครื่องใช้เงินประดับเพชรนิลจินดาต่างๆ ทั้งที่สร้างสรรค์โดยช่างชาวรัสเซียและที่ได้รับเป็นบรรณาการจากรัฐอื่น นอกจากนี้ยังมีอาวุธชนิดต่างๆ เช่นดาบ ปืน ซึ่งล้วนประดับตกแต่งด้วยอัญมณีมีค่าอย่างวิจิตรงดงาม นอกจากนี้ยังจัดแสดงชุดเกราะของนักรบในยุคต่างๆ ที่ล้วนบรรจงสร้างเพื่อความปลอดภัยของผู้สวมใส่ในการออกศึกสงคราม ที่น่าประทับใจและสมกับราคาค่าเข้าชมที่ต้องซื้อเพิ่มเป็นพิเศษอีกต่างหากถึง 500 รูเบิล และเวลาที่ต้องรออีกกว่าหนึ่งชั่วโมงที่จะเข้าชมในรอบถัดไป นั่นคือพิพิธภัณฑ์พระคลังเพชร (State Diamond Fund) ซึ่งอยู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์สรรพาวุธนี่เอง ในพิพิธภัณฑ์พระคลังเพชรนี้มีบริเวณไม่กว้างนัก แต่มีการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เมื่อมีผู้เข้าชมก็จะให้สัญญาณเพื่อเปิดประตู จากนั้นก็จะปิดประตูจนกว่าจะมีสัญญาณเพื่อเปิดรับผู้ชมรายใหม่ ในห้องมีตู้โชว์อยู่กว่าสิบตู้ จัดแสดงเพชรเริ่มจากสภาพเป็นหินชนิดต่างๆ มีน้ำหนักหลายกิโลกรัม กระทั่งถูกเจียระไนส่องประกายวาววับขนาดแตกต่างกันไป จากนั้นก็เป็นส่วนที่นำไปประดับเป็นเครื่องประดับชนิดต่างๆ ตั้งแต่ศีรษะ(เป็นมงกุฎ)จรดเท้า(เป็นสร้อย) ด้วยฝีมือที่ประณีตวิจิตรบรรจง อย่างไรก็ตาม เครื่องประดับส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับศีรษะ คอ และข้อมือเป็นสำคัญ ตรงกลางของห้องเป็นที่จัดแสดงหินแร่ทองคำและแร่เงินขนาดต่างๆ ที่มีสีทองและสีเงินชัดเจนเชื่อว่าจะเป็นหินที่มีค่าของทองคำและเงินในปริมาณสูงทีเดียว กลับออกมาจากห้องพิพิธภัณฑ์พระคลังเพชร ก็แวะชมของที่ระลึกให้รู้สึกว่าจะสู้ราคาไม่ไหว เพราะหาชิ้นที่มีราคาต่ำกว่า 100 รูเบิลยากยิ่งนัก ก็ได้ดีวีดีเกี่ยวกับมอสโกและพิพิธภัณฑ์นี่แหละที่พอรู้สึกว่ามีราคาที่จะสมเหตุสมผลที่สุด (มีต่อ)

คำสำคัญ (Tags): #WHO Global Forum
หมายเลขบันทึก: 437408เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2011 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท