องค์การคุมประพฤติมืออาชีพ เป็นไปได้หรือไม่(นอกรอบ)


มืออาชีพ

คุมประพฤติมืออาชีพ เป็นได้หรือไม่ (นอกรอบ)

ความนำ         

สวัสดีครับเพื่อน พี่ น้อง ชาวคุมประพฤติและผู้ที่สนใจติดตามเรื่องราวน่ารู้ในแวดวงวิชาการด้านการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด และการคุ้มครอง ป้องกันสังคม ให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมทุกท่าน วันนี้ต้องขออนุญาตออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อตัวอักษร (แบบไม่แคร์สื่อ) กันอีกครั้ง แต่ขอบอกว่าเป็นแบบนอกรอบ ด้วยเหตุที่ว่า หากจะรอติดตามกันทางวารสารกรมคุมประพฤติที่ออกตามวาระปีละสามครั้งนั้น อาจจะเป็นการทิ้งช่วงระยะเวลาทางความคิดที่พวกเราหลายๆท่านอาจจะอยากร่วมแสดงความคิดเห็น และผู้เขียนเองก็จะได้จัดกระบวนความคิด และแนวคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาองค์การสู่ความเป็นมืออาชีพได้อย่างต่อเนื่อง หากนานไปกว่าจะมานั่งทบทวนสิ่งที่เคยคิดไว้อาจจะไม่ทันการณ์และสมกับคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน” แค่เริ่มตีเหล็กก็ทำท่าจะเย็นเสียแล้ว ถ้าอย่างนั้นผู้เขียนขอเริ่มใส่ไฟ (ทางความคิดกันต่อเลยนะครับ)

          จากคราวที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอ ความหมาย กรอบแนวคิด และคุณลักษณะบางประการที่ใช้พิจารณาองค์การ (โดยเฉพาะองค์การคุมประพฤติ) ของต่างประเทศว่าจะสามารถนำมาเทียบเคียงกับการพิจารณาองค์การคุมประพฤติของประเทศไทยเพื่อพิจารณาดูว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่องค์การคุมประพฤติมืออาชีพได้หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนได้ลองนั่งทบทวนดูแล้วคิดว่าน่าที่จะมีการพูดถึงความเป็นมา ความจำเป็นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์การคุมประพฤติให้ไปสู่ความเป็นมืออาชีพ และแนวคิดด้านการพัฒนาต่างๆให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพราะผู้เขียนเชื่อว่าพื้นฐานองค์ความรู้ในเรื่องเหล่านี้อาจจะไม่เคยมีการเสวนาในเชิงวิขาการหรือทำการศึกษาอย่างจริงจังกันมาก่อน และยังไม่เคยมีการปรับวิสัยทัศน์ของบุคลากรให้มองเห็นเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งต้องเริ่มที่การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจร่วมกัน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากขาดการมีส่วนร่วมบุคลากรในองค์การไม่ว่าจะเป็นไปในรูปของการที่ผู้นำองค์การไม่ให้ความสำคัญ สมาชิกในองค์การไม่ได้รับโอกาสในการแสดงความเห็น หรือสมาชิกในองค์การไม่ให้ความร่วมมือแล้ว ก็เป็นการยากในการที่จะขับเคลื่อนองค์การไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด

          อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเชิญชวนทุกท่านได้แสดงความเห็นต่อกัน แต่ขอให้เป็นไปในเชิงวิชาการ โดยมีแหล่งอ้างอิงที่มาอย่างชัดเจน อย่าทึกทัก อย่าคิดเอาเองว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ตามประสบการณ์ที่มีติดตัว มันอาจจะไม่เพียงพอ และจะทำให้เสียเวลาในการขับเคลื่อนภารกิจ เพราะต้องมัวมานั่งทำความเข้าใจปรับกระบวนคิดกันใหม่ แต่ถ้าประสบการณ์ผสมผสานกับองค์ความรู้ที่เป็นสากลและผ่านการค้นคว้ามาบ้าง การขับเคลื่อนก็จะง่ายขึ้นครับ

ความเป็นมืออาชีพ.....แบบไหนคือมืออาชีพ

          องค์การที่ต้องการมุ่งไปสู่ความเป็นมืออาชีพ ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นจากการพัฒนาคุณภาพของงาน เพื่อให้ผลงานที่ออกมามีคุณภาพมากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการเกิดความไว้วางใจว่า เมื่อได้รับบริการจากองค์การหรือหน่วยงานนั้นๆแล้ว ก็จะได้รับสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพและเป็นหนึ่งในด้านนั้น ในที่นี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีบริษัทที่ผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในท้องตลาดปัจจุบันซึ่งมีอยู่หลากหลายค่าย  แต่การที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ของค่ายใดก็คงต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายด้าน (ที่คนส่วนใหญ่ในโลกตะวันตกเขาคิดกัน) ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติความเป็นมาของบริษัท การวิจัยและพัฒนาก่อนที่จะมีการผลิตรถยนต์แต่ละรุ่น มาตรฐานหรือคุณภาพของสินค้า การรับประกัน ศูนย์บริการ ราคาสินค้า ราคาอะไหล่ และที่สำคัญคือความไว้วางใจหรือความเชื่อมั่นของลูกค้าต่อสินค้านั้นๆ (แต่ในประเด็นที่เกี่ยวกับลักษณะนิสัยการซื้อรถยนต์ของคนไทยนั้นอาจจะเข้าข่ายยกเว้น เพราะคนไทยมักจะซื้อรถยนต์ตามสภาพของตลาดรถยนต์มือสองเป็นสำคัญ เนื่องจากคนไทยจะนิยมเปลี่ยนรุ่นของรถยนต์กันอยู่เสมอ หากรถยนต์รุ่นนั้นๆไม่เป็นที่ต้องการของตลาดรถยนต์มือสองก็อาจจะไม่ได้รับความนิยมก็ได้) เช่น รถยนต์ยี่ห้อ T สัญชาติญี่ปุ่น อาจจะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในสินค้ามากกว่า ยี่ห้อ P สัญชาติมาเลเซีย เนื่องจากรถยนต์ยี่ห้อ T มีประวัติการผลิตรถยนต์มาเป็นระยะเวลายาวนาน สินค้าได้รับการวิจัยและพัฒนาให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ สามารถออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่ๆได้อย่างลงตัว ราคาพอประมาณ มีศูนย์บริการครอบคลุมทั่วประเทศ มีการรับประกันสินค้าที่ไม่พยายามเอาเปรียบลูกค้า และเมื่อนำรถเข้าซ่อมแซมยังมีการประกันหลังการซ่อมอีก 1 เดือนหากเสียในจุดเดิม นอกจากนี้ยังมีการนำไปทำเป็นรถแท็กซี่ซึ่งเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่ารถยนต์ยี่ห้อนั้นต้องมีความทนทาน อะไหล่สามารถหาได้ง่ายและราคาไม่แพง และเมื่อขายต่อในตลาดรถยนต์มือสองแล้วก็ยังมีราคาสูง

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ยี่ห้อ P แล้วปรากฏว่า ถึงแม้จะมีราคาถูกกว่า 20 – 30 % ในขนาดหรือรุ่นใกล้เคียงกัน แต่เป็นบริษัทที่เพิ่งจะเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์มาไม่นานนัก รูปลักษณ์ของรถยนต์ก็ยังไม่สวยงามลงตัวเพราะอาจจะขาดการวิจัยและพัฒนาตามความต้องการของตลาด ศูนย์บริการมีจำนวนน้อยโดยเฉพาะในต่างจังหวัดจะมีเพียงบางจังหวัดเท่านั้น อะไหล่ราคาแพงและหาไม่ได้ง่ายนัก นอกจากในศูนย์บริการเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามีราคาแพงกว่าอะไหล่ที่มีการจำหน่ายตามร้านทั่วไป และที่สำคัญเมื่อขายต่อในตลาดรถยนต์มือสองแล้ว ราคากลับหล่นหายจนน่าตกใจ แล้วแบบนี้ถ้าเป็นท่านผู้อ่านจะตัดสินใจอย่างไร แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ต้องเลือกสินค้าของยี่ห้อ T เพราะการซื้อรถยนต์แต่ละคันคงไม่ได้ซื้อกันทุกวันหรือเปลี่ยนกันได้บ่อยๆ เนื่องจากเป็นการตัดสินใจกับการที่ต้องใช้สินค้านั้นในระยะยาว ฉะนั้น คุณภาพของสินค้าและการสร้างความไว้วางใจต่อลูกค้าคือ ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้บริการ ซึ่งลูกค้าก็จะเป็นผู้ประเมินว่าบริษัทที่จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อใดบ้างที่มีความเป็นมืออาชีพในการผลิตสินค้า

เมื่อนำแนวคิดข้างต้นมาใช้กับระบบราชการก็อาจจะมีหลายท่านเห็นแย้งว่า หน่วยงานราชการแต่ละหน่วยต่างก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบเฉพาะที่มีแตกต่างกัน เป้าหมายสุดท้ายของการปฏิบัติงานไม่ได้อยู่ที่ผลประกอบการหรือการเป็นผู้นำด้านส่วนแบ่งการตลาด แต่อยู่ที่ประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งถ้าหากข้าราชการที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถทำได้ตามอุดมการณ์ดังกล่าวแล้ว แทบจะไม่ต้องมาพูดถึงการปฏิรูประบบราชการกันให้เสียเวลา แต่ท่านผู้อ่านลองคิดดูบ้างหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วการจัดตั้งหน่วยงานราชการแต่ละหน่วยได้ตอบสนองต่อหลักการที่ว่าเป็นไปตามหน้าที่ความรับผิดชอบเฉพาะที่มีแตกต่างกันหรือไม่ เพราะถึงแม้จะมีการปฏิรูประบบราชการไปอย่างขนานใหญ่แล้ว ก็ยังมีความทับซ้อนในบางภารกิจที่มีความคล้ายคลึงกันอยู่ แต่กลับไม่มีการแข่งขันกันในเรื่องการให้บริการ (เนื่องจากภาคราชการคงไม่มีหน้าที่หลักในการผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายให้กับลูกค้าเช่นเดียวกับภาคราชการ โดยจะให้บริการด้านต่างๆแก่ประชาชนแทน) เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อมั่นมาใช้บริการกันมากๆ แต่กลับเกี่ยงและปัดความรับผิดชอบไปให้กับหน่วยงานอื่นๆที่มีภารกิจใกล้เคียงกัน เพราะความรับผิดชอบด้านการบริการที่มากขึ้น ไม่ได้ส่งผลต่อแรงจูงใจของข้าราชการให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านการให้บริการแก่ประชาชนมากขึ้นแต่อย่างใด เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าเป้าหมายสุดท้ายของภาคราชการไม่ได้อยู่ที่ผลกำไรขององค์การ แต่อยู่ที่ประโยชน์สุขของสาธารณะเป็นสำคัญ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว การที่จะพยายามพัฒนาหน่วยงานต่างๆในภาคราชการให้เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนาตนเองให้ไปสู่ความเป็นมืออาชีพย่อมเป็นไปได้ยาก ซึ่งถ้าหากรัฐบาลได้แปรคำว่าประโยชน์สุขออกมาเป็นผลตอบแทนให้แก่ข้าราชการอย่างเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกันกับภาคเอกชน ผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะก่อให้เกิดบรรยากาศของการพัฒนาองค์การไปสู่ความเป็นมืออาชีพ และเกิดการแข่งขันกันทำงานเพื่อให้บริการแก่ประชาชนอย่างกว้างขวางเลยทีเดียว

ผู้เขียนยังเคยนำเสนอความคิดบางอย่างและถกเถียงกันในหมู่คนพันธุ์ใหม่ (แม้บางคนอายุอานามก็อาจจะดูไม่ใหม่มากนัก แต่ใหม่ในทางความคิด) ว่า หากเราต้องการที่จะพัฒนาหน่วยงานราชการให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ ก็น่าที่จะเอาโมเดลของการพัฒนานักฟุตบอลในฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของประเทศอังกฤษมาลองใช้ดูบ้างดีไหม เจอแนวคิดพิสดารแบบนี้ ถ้าหากเป็นข้าราชการพันธุ์เก่าได้ยินเข้าก็อาจจะตกใจแทบตกเก้าอี้ หรือโมโหโกรธาผู้เขียนตจนไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด มีความก้าวหน้าในวงราชการไปเลยก็ได้ แต่ถ้าหากลองคิดนอกกรอบ แล้วมองในโมเดลของการพัฒนาบุคคล การแสวงหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาร่วมทีม และการพัฒนาทีมเพื่อนำองค์การก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างเช่นทีมฟุตบอลก็ดูน่าสนใจไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ ถ้าอย่างนั้นผู้เขียนขอขยายความต่อว่า หน่วยงานราชการแต่ละหน่วยที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆในรูปแบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ก็เปรียบเสมือนทีมฟุตบอล มีหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้จัดการทีม มีนักวิชาการทำหน้าที่คล้ายกับสต๊าฟโค๊ชที่คอยแนะนำเทคนิค วิธีการเล่น และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่สัมผัสกับประชาชนผู้มาใช้บริการเป็นเสมือนผู้เล่น งบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีก็เปรียบเสมือนเงินที่ใช้ในการพัฒนาทีม แต่ระบราชการปัจจุบันนั้น หัวหน้าหน่วยงานไม่สามารถใช้วิสัยทัศน์ หรือดุลพินิจของตนเองในการบริหารเงินงบประมาณในการหาผู้ที่มีความสามารถมาร่วมทีมโดยการกำหนดค่าตอบแทนสูงๆเป็นสิ่งจูงใจได้เอง เพราะเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นไปในระบบแท่ง มีการกำหนดขั้นแต่ละระดับแน่นอน แม้จะทำงานมากน้อยต่างกัน ความสามารถและคุณลักษณะเฉพาะตัวต่างกัน แต่ก็ต้องรับเงินเดือนเท่าๆกัน เพราะอยู่ในแท่งเดียวกัน การปรับขั้นเงินเดือนแต่ละขั้นระหว่าง 3 หรือ 5 เปอเซนต์ ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากแค่หลักร้อยหลักพันบาท อีกทั้งยังต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลและนักการเมือง การจะกำหนดตัวบุคคลเข้ามาร่วมทีมนั้นไม่สามารถทำได้ บุคคลากรที่มีอยู่อาจจะไม่พอใจจะอยู่ด้วยมากนัก เพราะอาจจะบรรจุใหม่ยังไม่สามารถย้ายกลับภูมิลำเนาได้ แม้เก่ง ดี มีความสามารถ ความรู้ดี แต่ไม่มีเส้นสายในการวิ่งต้นโยกย้ายเพื่อไปสู่ตำแหน่งที่มีความเหมาะสมกับความสามารถของตน ตลอดจนหัวหน้าหน่วยงานอาจจะได้ของแถมคือการต้องรับบุคคลที่ไม่ได้มีความเต็มใจมาร่วมทีม เพราะอาจจะถูกสั่งย้ายมาอย่างไม่เต็มใจ อาจจะด้วยเหตุผลของการไปขัดผลประโยชน์นักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือผลประโยชน์ของหัวหน้าหน่วยงานเดิมเอง ความหย่อนประสิทธิภาพ ถูกลงโทษทางวินัย หรืออะไรก็ตาม ก็ย่อมส่งผลถึงขัญ กำลังใจ และท้ายที่สุดคือ คุณภาพของงานราชการที่มักจะถูกตำหนิว่า เป็นแบบเช้าชามเย็นชาม

ในมุมกลับกัน ถ้าหากหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้จัดการทีม สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิบัติราชการได้เองและสอดคล้องกับวิถีสภาพความเป็นจริงในแต่ละพื้นที่ สามารถกำหนดหรือสรรหาตัวบุคคลากรหรือตัวผู้เล่นที่มีความสามารถโดยการกำหนดค่าตอบแทนได้เองให้อยู่ในระดับที่สร้างแรงจูงใจ หรือการกำหนดจำนวนผู้เล่นจะมากหรือน้อยก็อยู่ที่ความสามารถบุคคล ผู้เล่นมาก สัดส่วนในการเฉลี่ยเงินค่าตอบแทนก็จะมากตาม แต่ได้ค่าตอบแทนน้อยหมายความว่า หากบุคคลนั้นมีศักยภาพในการปฏิบัติงานได้เท่ากับคนสามคน ก็สามารถที่จะได้รับค่าตอบแทนเป็นสามเท่าก็ได้ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ประสิทธิภาพและการบริหารงบประมาณ และผู้จัดการทีมก็สามารถถ่ายโอนบุคคลที่หย่อนประสิทธิภาพออกจากหน่วยงานได้ ผู้จัดการทีมมีความอิสระในการบริหารจัดการโดยปราศจากอิทธิพลของนักกการเมืองทุกระดับ และมีการประเมินผลงานคือ ตัวชี้วัดตามวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของตนที่ตั้งไว้ เป็นตัวกำหนดว่าทีมจะได้อยู่ในดิวิชั่นหรือระดับของการสนับสนุนงบประมาณ ผู้เขียนเชื่อว่าวงราชการน่าจะเกิดการปรับตัวเพื่อแข่งขันกันในการให้บริการกับประชาชน และมุ่งพัฒนาตนเองและองค์การให้ก้าวเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพได้อย่างไม่ยากย็นนัก ปัญหาคือ เราจะยึดติดอยู่กับกรอบแนวคิดในการบริหารราชการแบบเก่าหรือก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อสร้างระบบราชการให้กลายเป็นมืออาชีพอย่างที่พูดกัน

มืออาชีพในมุมเอกชน.......ราชการก็ทำได้

ทุกวันนี้ องค์การต่างๆโดยเฉพาะในภาคเอกชน ต่างก็มุ่งเน้นที่จะพัฒนาองค์การของตนให้เข้าสู่ความเป็นมืออาชีพ ซึ่งตัวแปรสำคัญที่จะเป็นเครื่องชี้วัดว่าองค์การนั้นมีความเป็นมืออาชีพหรือไม่คือ คุณภาพของสินค้าและบริการ เพราะสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ต้องมีการผลิตหรือทำงานชิ้นนั้นใหม่เพื่อให้ได้คุณภาพ แต่ผลที่ตามมาคือ การมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น  ส่วนการบริการที่ไม่ก่อให้เกิดความประทับใจแก่ลูกค้า ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ เพราะการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีมาตรฐานย่อมส่งผลต่อการสร้างความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นของลูกค้า

ดังนั้น การที่เราจะบอกว่าใครเป็นมืออาชีพในงานด้านใดนั้น ก็เพราะเราเห็นว่าเขาเก่งในงานที่ทำอยู่ เช่นเดียวกันกับการที่องค์การจะได้รับการยอมรับว่าเป็นมืออาชีพ ก็ต้องเป็นองค์การที่เก่งในงานที่ทำอยู่ เช่น บริษัท โบอิ้ง เป็นบริษัทที่มีความสามารถในการผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่และอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวกับการบินเป็นสินค้าหลัก จึงมีความชำนาญเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว และสามารถสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการจนได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าหลายสายการบินทั่วโลก ทั้งนี้เพราะบริษัทฯมีการเรียนรู้และเก็บองค์ความรู้ไว้จากอดีต มีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ มีการนำความรู้เดิมที่มีการจัดการไว้เป็นอย่างดีแล้วมาใช้งานอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะการริเริ่มเพื่อค้นหาความรู้ใหม่ๆ จะมีมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก และความรู้นั้นจะมีการเก็บไว้เป็นหลักฐานทางเอกสาร ไม่ได้เสื่อมสลายสูญหายไปกับตัวบุคคล

ความเป็นมืออาชีพในระดับบุคคลนั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นความสิ่งที่มีอยู่เฉพาะตัวว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร เมื่อบุคคลนั้นได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ สิ่งที่มีอยู่เฉพาะตัวนี้สมควรที่จะมีการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นฏิกริยาตอบสนองของบุคคลนั้นต่อสถานการณ์หรือสิ่งที่มากระตุ้น ซึ่งจะมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปตาม ประสบการณ์ ความเข้าไปสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด และอิทธิพลจากกลุ่มเพื่อน ในบางครั้งอาจจะใช้เวลาหลายปีจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปสู่ความเป็นมืออาชีพ

ซึ่งจากการวิเคราะห์โดย Tom Gilchrist (2011)[1] ที่ปรึกษาฝ่ายประกันคุณภาพซอฟแวร์ของบริษัทผลิตเครื่องบินโบอิ้ง และยังเป็นผู้บรรยายวิชาดังกล่าวในมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกากล่าวว่า คุณภาพของสินค้าคือปัจจัยสำคัญในการก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพ แต่ปัญหาของการพัฒนาคุณภาพสินค้าขององค์การเพื่อเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพในด้านนั้นๆส่วนใหญ่ เกิดจากกระบวนการด้านเทคนิคและด้านการบริหารจัดการมากกว่าสมรรถนะของบุคคล นั่นคือวิธีการที่จะทำอย่างไรให้องค์การปรับกระบวนการด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ประการคือ 1. การที่องค์การต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันมิใช่การกำหนดหรือชักนำจากผู้นำองค์การหรือคนใดคนหนึ่ง และต้องตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าด้วย 2. ต้องตระหนักรู้ร่วมกันถึงสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคต่อการไปสู่เป้าหมายของวิสัยทัศน์นั้น

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ภาคราชการมักจะถูกครอบงำด้วยสายการบังคับบัญชาที่ยาว ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่สามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำวิสัยทัศน์ที่จำเป็นต้องอาศัยความเห็นร่วมกันของคนทั้งองค์การได้อย่างเต็มที่ ผลจึงปรากฏออกมาในรูปของคนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด เพราะผู้บริหารไม่ได้ใช้ข้อมูลอย่างรอบด้าน 360 องศา โดยเฉพาะมุมมองและความคิดเห็นจากข้าราชการผู้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นผู้ที่นำบริการของภาครัฐไปสู่ประชาชน และสัมผัสกับปัญหาของการให้บริการมากที่สุด จึงก่อให้เกิดบรรยากาศของการขาดความร่วมไม้ร่วมมือ และกลายเป็นอุปสรรคต่อการที่จะช่วยกันผลักดันองค์การไปสู่เป้าหมายในที่สุด ซึ่งแค่ประเด็นเริ่มต้นต่อการพัฒนาองค์การไปสู่ความเป็นมืออาชีพ 2 ประเด็นนี้อาจจะสร้างความหวั่นวิตกให้กับใครหลายๆคน แต่ผู้เขียนเชื่อว่า สายพันธุ์ใหม่อย่างเราท่าน คงจะค้นหาวิธีที่จะก้าวข้ามผ่านอุปสรคคนี้ไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก อยู่ที่ว่าเราจะมีวิธีการจัดการกับปัญหาและสร้างแนวคดิร่วมกันอย่างไร

 



[1]Gilchrist, T. and Nelson, R, Professional Organizations, available from: www.tomgtomg.com/softe/orgrof.html; Internet; accessed 25 January 2011.

 

คำสำคัญ (Tags): #มืออาชีพ
หมายเลขบันทึก: 437056เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2011 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับเพื่อน

ผมชอบ ๒ วรรคนี้ครับ

"มืออาชีพในมุมเอกชน.......ราชการก็ทำได้" และ

"เครื่องชี้วัดว่าองค์การนั้นมีความเป็นมืออาชีพหรือไม่คือ คุณภาพของสินค้าและบริการ"

ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันในเรื่อง "มืออาชีพ" เช่น

มืออาชีพ ต่างกันตรงกัน กับมือสมัครเล่น?

มืออาชีพ มีชั่วโมงบิน หรือประสบการณ์ตรง เป็นทุนสำคัญ ใ ช่หรือไม่?

กว่าจะเป็น มืออาชีพ ต้องผ่านการปฏิบัติจริง ทำ ตั้งคำถาม ทดลอง ทำใหม่ จนพบวิธีที่ดีกว่า ซึ่งใช้เวลา ใช่หรอไม่?

มืออาชีพ พบได้ในทุกสาขาอาชีพ เช่น คนขายก๋วยเตี๋ยวมืออาชีพ (ผมหมายถึงรายที่คนรู้จักมาก ลูกค้านิยม บางแห่งเข้าแถวยาวยังยอม อยู่ในซอยลึกคนยังตามไปกิน) ใช่หรือไม่?

มืออาชีพ จะมีเรื่องใจเกี่ยวข้องมาก เช่น ทำด้วยใจ ทุ่มเท รักในสิ่งที่ทำ (ฉันทะ) ที่เป็นกำลังภายในให้สู้ฝ่าฟันอุปสรรคมากมายได้ (วิริยะ) ใช่หรือไม่?

ผมก็ยังไม่รู้คำตอบเช่นกัน แต่สงสัยเหตุปัจจัยเชื่อมโยงเหล่านี้เช่นกันครับ

ขอบคุณครับที่ช่วยคอมเม้นท์ ลองอ่านอีกบทความในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน แล้วพิจารณ์ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท