องค์การคุมประพฤติมืออาชีพ


ความเป็นมืออาชีพ

ศิริพงศ์  บรรจงแก้ว[1]

คุมประพฤติมืออาชีพ

          สวัสดีครับเพื่อน พี่ น้อง ชาวคุมประพฤติ และผู้อ่านที่สนใจติดตามเรื่องราวน่ารู้ในแวดวงวิชาการด้านการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด และการคุ้มครอง ป้องกันสังคม ให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมทุกท่าน ที่ผมกล่าวเช่นนี้ก็เพื่อที่จะให้ทุกท่านได้เห็นว่า บทบาทหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติในกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้น ที่จริงแล้วมีขอบเขตของการปฏิบัติงานกว้างกว่าชื่อเรียกตำแหน่งมากมายนัก เพราะคำว่าพนักงานคุมประพฤติ มักจะทำให้คนโดยทั่วไปที่ไม่เคยสัมผัสงานคุมประพฤติ คิดว่าพนักงานคุมประพฤติคือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่คอบดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ที่คอยติดตามดูแลความประพฤติเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด อันเป็นบทบาทหน้าที่ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้เป็นความเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริงของคนโดยทั่วไปเท่าใดนัก เพียงแต่เขาเหล่านั้นอาจจะมองเห็นภาพของพนักงานคุมประพฤติยังไม่ชัดเจนหรือได้ครอบคลุมทั้งหมด

ดังนั้น ถ้าหากพนักงานคุมประพฤติที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้ทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของตนอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะพบว่าพนักงานคุมประพฤติมีบทบาทมากมายในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งของการคุ้มครอง ป้องกันสังคม ให้รอดพ้นจากอาชญากรรม และที่สำคัญนอกเหนือจากการรู้จักตนเองหรือตำแหน่งขององค์กรคุมประพฤติในกระบวนการยุติธรรมที่ทำงานตามคำสั่งศาลแล้ว ผู้เขียนอยากที่จะเชิญชวนทุกท่านได้ร่วมคิดว่า ตัวตนที่แท้จริงหรือบทบาทหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤตินอกเหนือจากบทความที่ผู้เขียนจะได้นำเสนอในwebblockนี้แล้ว ควรจะเป็นเช่นไรและการพัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่การเป็นพนักคุมประพฤติมืออาชีพนั้น มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด อันเป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญของกรมคุมประพฤติในการเป็นองค์การมืออาชีพในการป้องกันสังคม (จากอาชญากรรม : ผู้เขียน) โดยการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน เพื่อคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2557 และเป็นพันธกิจที่สำคัญของพวกเราชาวคุมประพฤติที่ต้องร่วมกันผลักดันต่อไป

          ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับเพื่อน พี่ น้อง พนักงานคุมประพฤติทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ หรือระดับชำนาญการพิเศษ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในสำนักงานต่างๆ และถือได้ว่าเป็นผู้นำเอานโยบายไปปฏิบัติ มักจะมีคำบ่นอยู่คล้ายๆกัน 2 - 3 ประการ คือ ประการแรก ปริมาณคดีที่มากมายเกินกว่าที่จะสามารถปฏิบัติงานได้ทันตามกำนด จนทำให้เกิดปัญหาสมองไหลและยังเป็นอยู่จนทุกวันนี้ ประการที่สอง กำลังคนที่มีความขาดแคลนอันเป็นผลมาจากการขาดความต่อเนื่องในการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ทำให้ขาดการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ที่สั่งสมในตัวบุคคลจากรุ่นสู่รุ่น และประการสุดท้าย คือ ขวัญ กำลังใจ ซึ่งมีที่มาจากการไม่ได้รับความสำคัญจากกระทรวงว่า งานคุมประพฤติก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สมควรได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อในฐานะที่เป็นงานที่มีความเสี่ยง และต้องใช้ความเป็นมืออาชีพเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆในกระทรวงยุติธรรมที่ถึงแม้จะเป็นหน่วยงานที่ตั้งใหม่ อาจจะมีความเสี่ยงในการปฏิบัติงานไม่มากนัก แต่ทำไมจึงสามารถกำหนดค่าตอบแทนอื่นๆที่นอกเหนือจากเงินเดือนราชการได้มากมายนัก ซึ่งอาจจะมีเหตุผลอื่นๆมากมายที่นำมาสนับสนุน แต่คำถาม คือ ทุกวันนี้ พนักงานคุมประพฤติ (เฉพาะในส่วนของกรมคุมประพฤติ) ได้พยายามแสดงให้บุคคลอื่นเห็นแล้วหรือยังว่า มีความเป็นมืออาชีพอย่างเพียงพอที่จะได้รับการยอมรับทั้งในด้านการให้เกียรติต่อตำแหน่งหน้าที่ และการยอมรับว่าสมควรได้รับค่าตอบแทนที่นอกเหนือจากเงินเดือนราชการเฉกเช่นหน่วยงานอื่นๆในกระบวนการยุติธรรมกับเขาบ้างเพียงใด

ดังนั้น ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะได้นำเสนอในประเด็นที่เกี่ยวกับความเป็นพนักงานคุมประพฤติมืออาชีพในต่างประเทศว่า เขามีแนวคิด มีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้งานคุมประพฤติกลายเป็นงานสำหรับมืออาชีพขึ้นมาได้ น่าสนใจทีเดียวใช่ไหมครับ มาติดตามกันเลยครับ

มืออาชีพ ใครๆก็อยากเป็น แต่เข้าใจความหมายกันแล้วหรือยัง

คำว่าความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) มีผู้ให้ความหมายไว้ในหลากหลายมุมด้วยกัน เช่น

Websters Third New International Dictionary of the English Language Unabridged (1986)[2] ให้ความหมายของความเป็นมืออาชีพว่า “เป็นงานที่จำเป็นต้องอาศัยมีความรู้พิเศษ ที่ผ่านการศึกษามาอย่างเข้มข้นและยาวนาน รวมถึงการถ่ายทอดทักษะและวิธีการต่างๆเช่นเดียวกันกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ หรือหลักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงการรักษาภาวะความเป็นองค์กรร่วมกัน ด้วยการรักษามาตรฐานด้านการปฏิบัติและผลสัมฤทธิ์ของงาน ตลอดจนการทำให้สมาชิกองค์กรมีพันธสัญญาร่วมกันที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ”

ส่วน Institute for Learning (2009)[3] ได้อธิบายว่า “ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดด้านความเป็นมืออาชีพมีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงตลอดมา โดยเริ่มจากการให้ความหมายในเชิงของการเป็นผู้มีความชำนาญ ผู้ที่มีความรู้เฉพาะในด้านใดด้านหนึ่ง จนกระทั่งในยุคปัจจุบันได้ให้ความหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างไม่รู้จบ การพัฒนาคุณภาพ การพัฒนาต่อยอดความรู้และความชำนาญในการเป็นมืออาชีพ และความเป็นที่น่าเชื่อถือ”

นอกจากนี้ ยังให้ความหมายของความเป็นมืออาชีพว่า “เป็นคุณสมบัติที่ควรมีหรือลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสมรรถนะบุคคลและทักษะเฉพาะตัว” ซึ่งเป็นความหมายที่สอดคล้องกับแนวคิดในยุคปัจจุบันเป็นอย่างดี

อีกทั้งยังมีนักวิชาการบางท่านได้ให้ความหมายของคำว่ามืออาชีพที่เข้ากับระบบความคิดของภาคราชการได้อย่างดี คือ

 Eliot Freidson (in Krogt, 2007)[4] ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบแนวคิดด้านการปฏิรูปสังคมในยุคที่ ๓ ถัดจาก Adam Smith ที่เป็นต้นแบบแนวคิดด้านการปฏิรูปสังคมในยุคที่ ๑ เรื่อง ตลาดการค้าเสรี (Free Market) และ Max Webber ซึ่งเป็นต้นแบบแนวคิดด้านการปฏิรูปสังคมในยุคที่ ๒ เรื่อง ระบบราชการ (Bureaucracy) Freidson ได้เสนอแนวคิด เรื่อง ความเป็นมืออาชีพ ซึ่งเขาได้เขียนหนังสือหลายเล่มที่เกี่ยวกับความเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นมืออาชีพและกระบวนการสู่ความเป็นมืออาชีพของแพทย์ และมีหนังสือที่โด่งดังมาก ซึ่งเขาได้เขียนไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ชื่อ “Professionalism”

ในหนังสือเล่มนี้ได้ให้ความหมายของคำว่ามืออาชีพว่า เป็นแนวคิดที่องค์กรใช้ในการบริหารจัดการหรือควบคุมการทำงานโดยมุ่งไปที่อาชีพหรือ (การปฏิบัติงานนั้นๆ-ผู้เขียน) มากกว่าที่จะคำนึงถึงด้านการตลาดหรือการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกมองว่าแปลกไปจากระบบการตลาดและการบริหารราชการแบบเดิม แต่ Freidson กลับมองว่าเป็นแนวคิดที่สามารถนำมาใช้ได้ควบคู่แนวคิดด้านตลาดการค้าเสรี และแนวคิดเรื่องระบบราชการ และทั้งสามแนวคิดต่างก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการบริหารจัดการองค์กร

นอกจากนี้ Freidson ยังเชื่อว่า ประเด็นสำคัญที่สุดสองประการที่จะสามารถบอกได้ว่างานใดมีความเป็นมืออาชีพหรือไม่นั้น คือ ประการที่หนึ่ง งานนั้นเป็นงานที่มีลักษณะพิเศษ หากไม่ได้รับการฝึกอบรม การศึกษา อย่างเพียงพอ หรือมีประสบการณ์มายาวนานพอสมควรก็จะไม่สามารถที่จะทำงานให้ประสบผลสำเร็จได้ และประการที่สอง งานนั้นไม่อาจที่จะทำให้เป็นมาตรฐานแบบเดียวกันหมดหรือใช้หลักเหตุผลเดียวกันได้ อันเป็นผลมาจากความแตกต่างของสภาพปัญหาและการแก้ไขปัญหาในแต่ละเรื่องที่จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญแตกต่างกัน

จากที่กล่าวมาข้างต้น ก็พอที่จะสรุปได้ว่า ความเป็นมืออาชีพนั้นเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านที่ผ่านการศึกษามาอย่างเข้มข้น การผ่านการฝึกฝน การฝึกอบรมจนเกิดทักษะ มีประสบการณ์ในการทำงานมายาวนาน เพื่อที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง และที่สำคัญคือ บุคคลในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์กรจำเป็นต้องมีการศึกษา เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของตนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างสูงสุด และมุ่งเน้นที่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

มีคำถามต่อไปว่า ความเป็นมืออาชีพที่เรามักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของภาคเอกชนที่ต่างจะแข่งขันกันหาผลกำไร เพราะมุ่งเน้นผลประโยชน์ส่วนตัวหรือของธุรกิจเป็นสำคัญ ซึ่งแตกต่างกับภาคราชการที่เน้นการทำงานตามระเบียบ กฏหมายที่เน้นประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก และไม่เคยมีประสบการณ์ในการที่จะทำให้งานราชการมีลักษณะการทำงานแบบมืออาชีพเช่นเดียวกับภาคเอกชนมาก่อนจะทำอย่างไร โดยเฉพาะงานคุมประพฤติที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฏหมายต่อผู้กระทำผิด และทำไมงานคุมประพฤติในต่างประเทศจึงสามารถพัฒนาให้มีความเป็นมืออาชีพจนเกิดเป็นสมาคมวิชาชีพคุมประพฤติ มีสหภาพแรงงานเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของพนักงานคุมประพฤตินั้น เขามีวิธีคิดอย่างไร มาติดตามกันต่อครับ

คุมประพฤติมืออาชีพ.......เป็นได้หรือไม่

          นับตั้งแต่งานคุมประพฤติได้ถือกำเนิดขึ้นในโลกครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1841 หรือ ประมาณ 170 ปีก่อนที่ประเทศสหรัฐอมเริกา และประเทศอื่นๆทั่วโลกต่างก็นำเอารูปแบบงานคุมประพฤติไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของตน แต่ก็ยังคงแนวคิดของการให้โอกาสและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน ให้สามารถกลับตนเป็นพลเมืองดีได้ อย่างไรก็ตามงานคุมประพฤติในแต่ละประเทศต่างก็มีวิวัฒนาการ มีการพัฒนารูปแบบ และการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดอย่างมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้การรับประกันกับสังคมได้ว่า งานคุมประพฤติหนึ่งในเครื่องมือของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่สามารถจัดการกับผู้กระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มครอง ป้องกันสังคมให้ปลอดภัยจากอาชญากรรม

          ถึงแม้ว่า งานคุมประพฤติจะถูกนำมาใช้กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2522 หรือเพียง 30 กว่าปี ซึ่งไม่อาจจะเปรียบเทียบได้กับระยะเวลาการพัฒนาของประเทศในซีกโลกตะวันตกที่มียาวนานกว่า แต่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า บุคลากรของกรมคุมประพฤติ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานคุมประพฤติในระดับใด รวมถึงบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสนับสนุนในส่วนงานอื่นๆ ต่างก็อยากที่จะเห็นความเป็นมืออาชีพของพนักงานคุมประพฤติทั้งที่เป็นระดับบุคคล และความเป็นมืออาชีพขององค์กรในฐานะที่เป็นเจ้าภาพหรือหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธสาตร์แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน ทั้งนี้ เพราะความก้าวหน้าขององค์กรในการก้าวเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน ย่อมส่งผลดีต่อการยอมรับทางสังคมที่จะมีผลโดยตรงต่อขวัญและกำลังใจของบุคลากร ตลอดจนค่าตอบแทนหรือเงินเดือนที่อาจจะสูงขึ้นเฉกเช่นหน่วยงานอื่นๆในกระบวนการยุติธรรม (ค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของผู้ปฏิบัติงานคุมประพฤติในต่างประเทศนั้น ถือได้ว่ามีอัตราที่สูงอยู่ใน 3 อันดับแรกของงานที่มีเงินเดือนสูง คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ครู-อาจารย์ และพยาบาล – เขียน) ที่ต่างก็ได้รับการยอมรับ และได้รับค่าตอบแทนหรือเงินเดือนที่คุ้มค่าต่อความเป็นมืออาชีพในงานนั้นๆ

          ดร. คณิต ณ นคร และดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์[5] ได้เคยกล่าวไว้ถึงลักษณะของความเป็นมืออาชีพขององค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาว่า “ในประเทศไทย ผู้พิพากษาก็มีลักษณะของความเป็นมืออาชีพเช่นเดียวกันกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานอัยการ เนื่องจากต้องผ่านการสอบที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าทำการสอบได้ปีละ 1 – 2 ครั้ง ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติต่างๆที่กำหนด เช่น อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขากฏหมาย เป็นสมาชิกสามัญของเนติบัณฑิตยสภา และมีประสบการณ์ด้านกฏหมายอย่างน้อย 2 ปี ผู้ที่สอบผ่านก็จะกลายเป็นผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเป็นผู้พิพากษา หรือผู้ช่วยผู้พิพากษาเป็นเวลา 1 ปี จึงจะได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาโดยสมบูรณ์”

          นอกจากนี้ Koichi Hamai และ Renaud Villé (1995)[6] กล่าวไว้ในหนังสือ Probation Round the World: A comparative study ซึ่งได้ทำการศึกษาระบบงานคุมประพฤติจำนวน 12 ระบบงาน ใน 10 ประเทศ ได้แก่ รัฐนิวเซ้าท์เวลล์ รัฐเซ้าท์ออสเตรเลีย รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียในประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนนาดา ประเทศฮังการี ประเทศอิสราเอล ประเทศญี่ปุ่น ประเทศปาปัวนิวกินี ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสวีเดน ประเทศอังกฤษ และประเทศสก๊อตแลนด์ว่า องค์กรต่างๆ ทั่วโลกที่เป็นสมาชิกของสมาคมแห่งความเป็นมืออาชีพต่างก็ระบุว่า ความเป็นมืออาชีพองค์กรใดๆ อย่างน้อยต้องมีคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ คือ

1.       ต้องมีสมาคมและ/หรือสหภาพแรงงานของพนักงานคุมประพฤติ (Professional Association) ซึ่งพบว่ามี 7 ระบบงานที่มีสมาคมสำหรับพนักงานคุมประพฤติโดยเฉพาะหรือสำหรับผู้ประกอบอาชีพนักสังคมสงเคราะห์ด้วย และสมาคมของทุกประเทศก็จะทำหน้าที่ในการเป็นสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองด้านค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการด้วย เช่น ในประเทศอังกฤษ พนักงานคุมประพฤติและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนที่เกี่ยวข้องประมาณ 2 ใน 3 จะเป็นสมาชิกของสมาคมพนักงานคุมประพฤติ (The National Association of Probation Officers – NAPO) ซึ่งทำหน้าที่ทั้งการเป็นสมาคมวิชาชีพและสหภาพแรงงานในเวลาเดียวกัน โดยจะมีสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาต่างๆอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งยังมีสมาคมผู้บริหาระดับสูงของงานคุมประพฤติ และสมาคมผู้บริหารสำนักงานคุมประพฤติ ซึ่งเป็นสมาคมสำหรับพนักงานคุมประพฤติอวุโสอีกด้วย

2.       ต้องมีหลักจรรยาบรรณของพนักงานคุมประพฤติ และนำสามารถไปกำหนดเป็นข้อปฏิบัติได้ (Code of Ethics) พบว่ามีเพียง 4 ระบบงานเท่านั้นที่มีการกำหนดจรรยาบรรณเฉพาะสำหรับพนักงานคุมประพฤติ เช่น ในรัฐนิวเซ้าท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย มีบางข้อกำหนดว่า “Treat offenders without prejudice – การปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยปราศจากอคติซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานสากลที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม และถึงแม้บางประเทศ เช่น ประเทศปาปัว นิวกีนี ที่ยังไม่ได้มีการกำหนดหลักจรรยาบรรณของพนักงานคุมประพฤติไว้ก็ตาม แต่ในคู่มือการปฏิบัติงานและแนวนโยบายก็ได้กำหนด กฏ ระเบียบ มาตรฐานการปฏิบัติงานต่างๆที่คาดหวังว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถปฏิบัติตามได้

3.       มีการกำหนดคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน (Qualification) ของบุคคลก่อนที่จะบรรจุเข้าทำงานหรือฝึกอบรมก่อนการปฏิบัติงาน โดยพบว่า 7 ใน 12 ระบบ ต้องการบุคคลอย่างที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ถึงแม้ว่าในบางประเทศจะไม่ได้ระบุว่าต้องจบการศึกษาในระดับใด แต่พนักงานคุมประพฤติโดยส่วนใหญ่ก็จะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว และมี 4 ประเทศที่มีผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก คือ ประเทศออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์  ญี่ปุ่น และอังกฤษ โดยรัฐเซ้าท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย จะมีจำนวนมากที่สุดถึงเกือบร้อยละ 20 ของพนักงานคุมประพฤติทั้งหมด

4.       การฝึกอบรม (Training) เกือบทุกประเทศกำหนดว่าการเข้ารับการฝึกอบรมก่อนการปฏิบัติงานเป็นภาคบังคับที่จำเป็นอย่างยิ่ง ยกเว้นประเทศฮังการี ส่วนการฝึกอบรมในระดับสูงขึ้นไปก็แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น รัฐนิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย กำหนดให้มีการฝึกอบรมพนักงานคุมประพฤติก่อนบรรจุเข้าทำงานเป็นระยะเวลา 3 เดือนที่สถาบันฝึกอบรมวิชาการด้านการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดแห่งรัฐนิวเซ้าท์เวลล์ ซึ่งมีทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติจริงในสำนักงาน เมื่อผ่านการประเมินเป็นระยะๆหลังจากการฝึกอบรมแล้ว 9 เดือน จึงจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานคุมประพฤติ

5.       ผลตอบแทนหรือเงินเดือน (Salary) เมื่อเปรียบเทียบเงินเดือนของพนักงานคุมประพฤติกับเงินเดือนของอาชีพอื่นๆที่มีเงินเดือนสูงสุด 5 อันดับของแต่ละประเทศ โดยอาชีพส่วนใหญ่คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ครู พยาบาล พนักงานคุมประพฤติ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า เงินเดือนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 ใน 10 ประเทศ สูงสุดเป็นอันดับ 1 แต่มี 4 ใน 10 ประเทศ ที่เงินเดือนของพนักงานคุมประพฤติสูงเป็นอันดับ 1 แต่โดยภาพรวมแล้วจะอยู่ในกลุ่มอาชีพที่มีเงินเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก

6.       เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Advancement) พบว่า 6 ใน 10 ประเทศ จะมีความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพอยู่ในระดับสูง – สูงมาก เช่น ในประเทศสวีเดนมีการกำหนดคุณสมบัติบุคคลเพื่อเข้าทำงานเป็นพนักงานคุมประพฤติต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาสังคมสงเคราะห์ สังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ กฏหมายหรือสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และสามารถก้าวหน้าเป็นพนักงานคุมประพฤติอวุโส ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงาน และหัวหน้าสำนักงานหรือผู้จัดการสำนักงาน โดยต้องมีประสบการณ์ด้านการให้กับปรึกษามาเป็นระยะเวลานานพอสมควร และสมรรถนะส่วนบุคคลที่เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะโอนย้ายข้ามสายงานไปในสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานสังคมสงเคราะห์ได้ หรือในประเทศญี่ปุ่นที่ถือเอาความสามารถในการบริหารจัดการสำนวนคดี ความสามารถในการจัดการทรัพยากรทางสังคมที่มีกับการแก้ไขผู้กระทำผิด ทักษะในการบริหารเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงาน การสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์ และการถ่ายทอดทั้งความรู้ จิตวิญญาณการเป็นพนักงานคุมประพฤติให้กับพนักงานรุ่นใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น

จากที่กล่าวมาข้างต้น ถึงแม้ผู้เขียนจะได้หยิบยกเอาบางส่วนที่เป็นประเด็นสำคัญด้านความหมายของความเป็นมืออาชีพ ทั้งความหมายโดยทั่วไปและความหมายที่อาจจะเทียบเคียงกับหน่วยงานอื่นๆในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ตลอดจระบบงานคุมประพฤติทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประทศที่กำลังพัฒนา หรือบางประเทศที่อาจจะด้อยพัฒนาในสายตาของเราด้วยซ้ำ แต่ประเด็นคือ ทำไมประเทศเหล่านั้นจึงได้ก้าวผ่านยุคการพัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพในงานคุมประพฤติก่อนประเทศเราเสียอีก

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องมาร่วมกันคิดเพื่อหาวิธีการสร้างความเป็นมืออาชีพของพนักงานคุมประพฤติและกรมคุมประพฤติในฐานะที่เป็นองค์กรหลักในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชนทั้งระบบ ทั้งนี้ มิใช่เพียงแค่ต้องการให้งานคุมประพฤติได้รับการยอมรับทั้งในด้านการให้เกียรติต่อตำแหน่งหน้าที่ และการยอมรับว่าสมควรได้รับค่าตอบแทนอื่นอย่างเหมาะสมกับการที่จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์เป็นพิเศษ เพื่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเช่นเดียวกับแพทย์ ที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง ความชำนาญเฉพาะด้านในการรักษาผู้ป่วย นอกเหนือไปจากเงินเดือนราชการเฉกเช่นหน่วยงานอื่นๆในกระบวนการยุติธรรม แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะเป็นสำคัญ ในคราวหน้า เราค่อยมาติดตามกันต่อว่า เราจะมีวิธีการใดที่จะสามารถเดินไปสู่เป้าหมายของการเป็นองค์กรมืออาชีพในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดและการคุ้มครอง ป้องกันสังคม ให้ปลอดภัยจากอาชญากรรม สวัสดีครับ.



[1] พนักงานคุมประพฤติชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนา กรมคุมประพฤติ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต (พัฒนาสังคม) เกียรตินิยมอันดับสอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

Cert  IV in Correctional Practice, The Brush Farm Corrective Services Academy, New South Wales, Sydney, Australia.

M.A. In Criminology, The University of Kent, United Kingdom.

[2] Gove, B., Philip. Webster Third New International Dictionary of the English Language Unabridged, (Massachusetts: Webster, 1986).

[3]Institute for Learning, Professionalism and the role of professional bodies; A stimulus paper from the Institute for Learning, available from: http://ifl.ac.uk/_data/assets/pdf_file/0005/5981/professionalism-and -proof-bodies.pdf; Internet; accessed 25 January 2011.

คำสำคัญ (Tags): #มืออาชีพ
หมายเลขบันทึก: 437055เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2011 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท