สัญญาณเตือนฆ่าตัวตาย


เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

 

                สัญญาณเตือน......ฆ่าตัวตาย

            การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสังคมและปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่นับวันมีความรุนแรงและแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า  อัตราการฆ่าตัวตายของทั่วทั้งโลกเพิ่มขึ้นในช่วง 45 ปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 60 และเป็นสาเหตุการตายใน 10 อันดับแรกของเกือบทุกประเทศ   ในแต่ละปีมีคนฆ่าตัวตายประมาณปีละ 4 แสนคน หรือประมาณวันละ 1,096 คน ( WHO อ้างใน อุดมศิลป์ ศรีแสงงาม ,2547)

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย        

  • เคยมีประวัติพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
  • เกี่ยวกับการงานและอาชีพ พบว่า ผู้ที่ตกงานหรือทำงานใช้แรงงานมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ที่มีงานทำและเป็นงานฝีมือ
  • สภาพสมรส ผู้ที่เป็นโสดมีโอกาสเสี่ยงมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ผู้ป่วย
    หม้าย หย่าร่าง
  • เพศ ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จบ่อยกว่าผู้หญิงประมาณ 3 : 1 เท่าโดยเฉพาะผู้ชายวัยกลางคน ซึ่งมีปัญหาชีวิตขั้นวิกฤต เช่น เป็นโรคทางกายที่ร้ายแรง ประสบปัญหาทางการงาน หรือสูญเสียบุคคลที่ตนรัก ส่วนผู้หญิงพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชายประมาณ 3:1
  • อายุ การฆ่าตัวตายอาจพบในคนหนุ่มสาว อายุโดยทั่วไปการพยายาม
    ฆ่าตัวตายจะเกิดขึ้นในช่วงอายุ  20-44 ปี การฆ่าตัวตายสำเร็จจะสูงขึ้นในช่วงอายุ  55-64ปี
  • ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีประวัติญาติสนิทในครอบครัวฆ่าตัวตาย จะพบอัตรา
    การฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ที่ครอบครัวไม่มีประวัติการฆ่าตัวตาย
  • โรคทางจิตเวช ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรง โดยเฉพาะอารมณ์เศร้า
    นอนไม่หลับ พลุ่งพล่าน กระวนกระวาย ความรู้สึกผิดและลงโทษตัวเอง รู้สึกไร้ค่า ท้อแท้สิ้นหวัง มีโอกาสเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง
  • แสดงเจตนาว่าจะฆ่าตัวตาย อาจด้วยคำพูดหรือเขียนจดหมายลาตาย พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยซึ่งฆ่าตัวตายสำเร็จ แสดงเจตนาโดยแน่ชัดไว้ก่อนด้วยคำพูดและ
    การเขียนจดหมายลาตาย
  •  เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง  มีความเจ็บปวดทรมานจากโรค  เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย และ อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค เช่น ผู้ป่วยโรคไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
  • ใช้สารเสพติด  โดยเฉพาะผู้ที่ติดเหล้า

               

สัญญาณเตือนฆ่าตัวตาย   

  • มีปัญหาการกินหรือการนอน  โดยเฉพาะในรายที่ไม่สามารถกินอาหารหรือนอนหลับได้ติดต่อกันหลายวัน
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน  เช่น ไม่สนใจตนเอง แยกตัว กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลง หรือ มีอารมณ์ดีอย่างสุดๆ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นเศร้าอย่างสุดๆ
  • เตรียมตัวที่จะตายโดยจัดการภาระสุดท้าย โดยมีการจัดการภาระต่างๆ อาจมีการมอบหมายให้คนอื่นทำแทน หรือ ถ่ายโอนอำนาจให้กับคนอื่น
  • ยกสมบัติส่วนตัวให้แก่ผู้อื่น
  • หมกมุ่นเรื่องความตายและการตาย อาจมีคำพูดเกี่ยวกับเรื่องความตายบ่อยๆ
  • ไม่สนใจรูปลักษณ์ภายนอกของตนเอง

 

ตัวอย่างคำพูดของผู้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

อยู่ไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น อยากหนีไปให้พ้นๆ”

 “ มันคงถึงเวลาของผมแล้ว.....แม่ไม่ต้องเป็นห่วง”

 “ถ้าไม่มีผมสักคน อะไรๆก็คงจะดีขึ้น”

 “ถ้าจะอยู่แบบเบื่อๆเซ็งๆอย่างนี้ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”

 “โลกใบนี้ไม่เหมาะกับผมแล้ว”

 “ตายๆไปก็คงจะดี”

 “ถ้าผมเป็นอะไรไป....ก็ให้จัดการตามนั้น”

  จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อนมีความสัมพันธ์หลายสาเหตุหลายปัจจัยผสมผสานรวมกัน ทั้งปัจจัยทางชีวภาพ จิตใจ และสังคม  ทั้งนี้บุคคลที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายมักมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ถ้าผู้ใกล้ชิดให้ความใส่ใจและไวต่อพฤติกรรมดังกล่าวอาจช่วยให้สามารถแก้ไขตลอดจนเฝ้าระวังและป้องกันการฆ่าตัวตายที่อาจเกิดขึ้นได้

 

                                                เอกสารอ้างอิง

สมภพ เรืองตระกูล.(2545). ตำราจิตเวชศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพ: เรือนแก้วการพิมพ์.

อุดมศิลป์ ศรีแสง.(2547). การป้องกันการฆ่าตัวตาย: ยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย. เอกสารประกอบการสัมมนาการป้องกันการฆ่าตัวตาย; ประสบการณ์ของประเทศไทยและต่างประเทศ.เชียงใหม่.

Hauenstein,E.J.(1998). Young woman and depression. Nursing clinics of North America.26(3).601-611.

Hawton,K. (2000). Sex and suicide: gender differences in suicidal behavior. Br J psychiatry, 177(5). 484-485.

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 436799เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2011 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 10:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท