จริยศาสตร์คุณธรรม


จริยศาสตร์คุณธรรม

 

 

จริยศาสตร์คุณธรรม

จริยศาสตร์คุณธรรมเป็นจริยศาสตร์ที่วางรากฐานอยู่บนลักษณะนิสัยปฎิเสธการประเมินคุณค่าทางศีลธรรมที่การกระทำ  ยอมรับการประเมินคุณค่าทางศีลธรรมที่บุคคลผู้กระทำ  ลักษณะนิสัยที่มีอยู่ภายในบุคคลและคุณธรรมที่บุคคลครอบครองในตน 

 

จริยศาสตร์คุณธรรมเสนอว่า  คุณธรรมที่มีอยู่ในตัวบุคคลหรือที่บุคคลมีเป็นพื้นฐานทางการประเมินคุณค่าทางศีลธรรมได้มากกว่าการกระทำที่บุคคลกระทำ  หรือมุ่งเอาเพียงการดูเฉพาะ”เจตนาดี” อย่างค้าน   ฉะนั้นเมื่อบุคคลจะประเมินคุณค่าทางศีลธรรมควรจะมุ่งประเมินไปที่บุคคลผู้มีศักยภาพ  ที่จะมีศีลธรรม  โดยประเมินบุคคลผู้มีศักยภาพที่จะมีศีลธรรมในฐานะภาพรวม  ของชีวิตของแต่บุคคล  ไม่ใช่แยกพิจารณาแต่ละการกระทำ  อย่างฮอบส์ที่มุ่งหวังเพียงการวิเคราะห์เอาในแต่ละสถานการณ์ (สัมพัทธ์) หรือการมุ่งเอาจากผลที่เกิดแก่คนส่วนมากอย่างมิลล์ในหลัก “มหสุข”

จริยศาสตร์คุณธรรมต้องการให้ดูที่ลักษณะนิสัยของคนแต่ละคนเป็นเกณฑ์ในการตัดสินการกระทำว่าบุคคลที่มีคุณธรรมนั้นต้องมีความพยายามในการต้องการพัฒนาศักยภาพที่จะเป็นคนดี  โดยดูได้จากคนดีเป็นแบบอย่างโดยการเลียนแบบเอามาเป็นตัวอย่าง  และนำเอาวิธีการของบุคคลตนแบบนั้นมาปฏิบัติเพื่อเข้าถึงเป้าหมายนั้น  โดยดูจากแรงจูงใจที่ดีจากตัวผู้กระทำที่ได้ถือเอาคนที่เป็นแบบในการมาตัดสิน  และตัวผู้กระทำต้องเป็นผู้ที่ต้องพยายามในการพัฒนาศักยภาพนั้นด้วย  เกณฑ์ตัดสินต้องไปเน้นเอาที่ตัวบุคคลที่พยายามเข้าถึงคุณธรรมของบุคคลที่ดีเป็นเกณฑ์การตัดสินเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ  ขึ้นได้จริง

 

ปัญหาทฤษฎีของ   มิลล์ในการตัดสินปัญหาทางจริยธรรม   

          มิลล์  เป็นนักคิดชาวประโยชน์นิยมที่สร้างระบบแนวคิดให้รัดกุมมากขึ้น  หลักการของของชาวประโยชน์นิยมหรือมิลล์ ถือว่า  หลักการที่จะนำมาตัดสินการกระทำอันใดอันหนึ่งว่าถูกหรือผิด  ควรหรือไม่ควรนั้น  อยู่ที่ผลที่จะได้รับคือประโยชน์สุขที่มากกว่า  แต่ประโยชน์สุขในที่นี้มิได้หมายถึงประโยชน์สุขของผู้กระทำ  แต่หมายถึงประโยชน์สุขของมหาชน  สิ่งที่ควรทำคือ  สิ่งที่ก่อประโยชน์ สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด  หลักการนี้เรียกว่า  “หลักมหสุข”  มิลล์ขยายความหลักของมหสุขว่า  ความถูกต้องของการกระทำขึ้นอยู่กับ  แนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความสุข  ความดีคือความสุข  แต่สิ่งที่ให้ความสุขแก่มหาชนคือสิ่งที่ดีที่สุด  ประโยชน์นิยมถือเอาผลที่เกิดจากการกระทำว่าสำคัญกว่าเจตนาที่จูงใจให้การกระทำ  ความสุขที่มากที่สุดจะเป็นตัวสุดท้ายที่จะตัดสินว่าเราทำถูกหรือทำผิด  แต่มิใช่มองผลคือความสุขมากที่สุดสำหรับตัวเอง  ประโยชน์นิยมไม่ได้สอนให้คนเห็นแก่ตัว  ไม่ได้สอนว่าสิ่งที่ฉันควรทำคือสิ่งที่ให้ผลประโยชน์แก่ฉันมากที่สุด  แต่สอนว่าสิ่งที่ควรทำคือสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด  ในการตัดสินใจกระทำสิ่งใดลงไป  เรามองผลประโยชน์ที่จะได้รับอันเป็นความสุขส่วนรวม  จะทำอะไรก็อย่าลืมตนเอง  ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น  ดังนั้น  ประโยชน์นิยมอยู่ตรงกลางคืออย่าลดค่าของตัวเองให้น้อยกว่าผู้อื่น  และอย่าลดค่าของผู้อื่นให้น้อยกว่าตัวเอง  มิลล์ถือว่าหลักการแรกทางศีลธรรมเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งเขาเชื่อว่าระบบจริยศาสตร์ที่มีเหตุผลจะต้องมีหลักการแรกอยู่เสมอ  เพราะถ้าไม่มีแล้ว  เราก็จะไม่อาจตัดสินการกระทำเฉพาะของเราได้เลย  และถ้าไม่มีหลักการแรก  เราก็จะไม่อาจตัดสินใจได้เลยว่าเราควรจะเลือกกระทำการใดในกรณีที่มีความขัดแย้งหน้าที่  หลักการแรกของของมิลล์ก็คือหลักประโยชน์หรือหลักมหสุข  โดยเน้นในเรื่องของคุณภาพของความสุข  ไม่ใช่ปริมาณของความสุขที่ได้รับ  แต่ความสุขของมนุษย์ควรเป็นความสุขแบบง่ายๆ  หาได้ง่าย  แต่ไม่ใช่ความสุขแบบสุนัข  ความสุขที่เป็นหลักมหสุขเกิดจากการใช้ปัญญาพิจารณา  และมาจากแรงจูงใจที่อยู่ภายในที่เรียกว่ามโนธรรม  มโนธรรมเป็นสิ่งที่มาตั้งแต่เกิด  เป็นสิ่งลึกลับ  กฎศีลธรรมของประโยชน์นิยมเป็น  “กฎคำสั่งเด็ดขาด”  เพราะมิได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกส่วนตัว  แต่ขึ้นอยู่กับประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

          จริยศาสตร์คุณธรรมนั้นได้แก้ปัญหานี้โดยในให้ความเห็นว่า  ควรที่เน้นให้ปัจเจกบุคคลได้ผลจากหลักมหสุขนี้โดยการไม่มองในเรื่องของความเป็นกฎเกณฑ์ในเชิงปริมาณหรือคุณภาพ  แต่ควรเป็นแบบการมองถึงภาพรวมถึงตัวบุคลิกลักษณะของปัจเจกบุคคลด้วยเพราะในบางกรณีบุคคลแต่ละคนมีปัจจัยแวดล้อมอื่นไม่เหมือนกันแต่ถ้ามองถึงบุคลิกลักษณะหรือจุดหมายของปัจเจกบุคคลเลียนแบบหรือพยายามที่จะไปให้ถึงเป็นแรงจูงใจก็จะเห็นถึงความมีเจตคติถึงอุดมคติของเขาที่พยายามไปให้ถึงเพราะคนแต่ละคนถ้าเอาเกณฑ์และมองว่าคนแต่ละคนเท่าเทียมกันและต้องกระทำเพื่อบุคคลอื่นโดยมิได้มองสถานะความเป็นจริงที่ตนเองมีหรือเป็นอยู่ก็ยากที่จะเป็นกฎเกณฑ์ที่จะทำได้  แต่จริยศาสตร์คุณธรรมพยายามให้คุณค่าของบุคคลที่มีความพยายามที่จะเป็นและจะเข้าถึงแบบที่ดีที่สุดเป็นหลักเพราะดูเหมือนว่าเกณฑ์ของจริยศาสตร์คุณธรรมนั้นได้มองเห็นถึงข้อเท็จจริงของมนุษย์และยอมรับถึงความแตกต่างตามข้อเท็จจริงๆ

 

ปัญหาทฤษฎีของค้านในการตัดสินปัญหาทางจริยธรรม

ค้าน(Immanule Kant) ต้องการหาเกณฑ์ในการตัดสินทางจริยธรรมโดยการพยายามตั้งเป็นกฎเกณฑ์ที่แน่นอน  โดยกฎเกณฑ์นั้นต้องอาศัยเหตุผลเป็นสำคัญมากกว่ามองถึงธรรมชาติของมนุษย์และแยกความเป็นจริงที่มนุษย์เป็นอยู่  ลักษณะแนวคิดของค้านนั้นเป็นจริยศาสตร์ที่วางอยู่บนกฎหรือความดี  เป็นจริยศาสตร์ที่เสนอว่า  พื้นฐานที่ดีที่สุดในการเป็นเกณฑ์ตัดสินเรื่องความดี  คือ  หลักการหรือกฎเกณฑ์ของการกระทำถูกต้อง  ซึ่งการกระทำที่ถูกต้องนี้ต้องเป็นเป็นการกระทำที่สัมพันธ์อย่างสอดคล้องกับกฎที่ถูกต้องทางศีลธรรม...แนวคิดของค้านอยู่ในกลุ่มเจตจำนงนิยมที่เห็นว่าค่าทางจริยธรรมเป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัว...และเกณฑ์ที่จะนำมาตัดสินค่าทางจริยธรรมก็แน่นอนตายตัว...เกณฑ์ที่ว่านี้คือ  “เจตนา” ค้านจึงกล่าวเป็น  ข้อความสั้น ๆ ว่า   “การกระทำที่ดีมาจากเจตนาที่ดี  และการกระทำที่เลวมาจากเจตนาเลว “คำว่าเจตนาดี”  ในทรรศนะของค้านคือเจตนาที่มาให้เกิดการกระทำตามหน้าที่อันเป็นของมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์  และกระทำไปตามเหตุผลโดยไม่มุ่งหวังผลว่าจะออกมาอย่างไร  ไม่ได้กระทำไปตามอารมณ์หรือความรู้สึก  การช่วยเหลือเพื่อนด้วยความสงสาร นี่ไม่ถือว่าเจตนาดีแต่ต้องกระทำตามหน้าที่เราเกิดมาในฐานะเป็นมนุษย์โดยเหตุผลที่ว่า...มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทนใด ๆ  หรือจุดมุ่งหมายใดๆ แนวคิดของค้านจึงเห็นว่าเรื่อง  “ความดี  ความชั่ว ความถูก  ความผิดนั้นเป็นสิ่งที่ตายตัว  หมายความให้ชัดเจนคือว่า  ถ้าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดีมันจะต้องดีเสมอโดยไม่ขึ้นอยู่กับเวลา  สถานที่  สิ่งแวดล้อม  หรือตัวบุคคลใด ๆ  เลย เช่นพูดความจริงไม่ว่าพูดเวลาไหนที่ไหนย่อมดีเสมอ  ไม่มีอะไรในโลกที่จะคิดว่า  เป็นสิ่งที่จะวัดความดีความชั่วได้นอกจากเจตนาดี  ค้านถือว่า  “การกระทำที่เกิดจากเจตนาดี  คือการกระทำตามหน้าที่หรือที่จะพูดว่าการกระทำตามหน้าที่ก็คือการกระทำด้วยเจตนาดีนั่นเอง....การกระทำตามหน้าที่มิใช่การกระทำที่มุ่งไปสู่ผลประโยชน์  หรือการลงโทษของการกระทำ  แต่มุ่งไปที่ตัวการกระทำนั้นๆ  ว่าเป็นสิ่งที่ดีจริงในตัวมันเอง  การกระทำตามหน้าที่ ที่จะเป็นหลักศีลธรรมได้ต้องเป็นการกระทำที่เป็นหลักสากล  หมายความว่าเมื่อเราทำแล้วคนอื่นเห็นก็รู้สึกเหมาะสมหรือคนอื่นทำแล้วเราดูอยู่ก็รู้สึกเหมาะสม  แนวคิดของค้านพยามหาความเป็นกฎสากลที่ทุกคนสามารถเอามาเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับทุกคน  โดยไม่มีข้อยกเว้น 

 

          จริยศาสตร์คุณธรรมได้แก้ปัญหาของจริยศาสตร์ของค้านคือ   ควรให้ความสำคัญกับบุคคลให้มากเน้นการให้ความสำคัญแก่ตัวบุคคล และต้องทำแก่คนอื่นโดยมิได้มองเขาในฐานะเป็นจุดหมายที่จะไปถึงแต่จริยศาสตร์คุณธรรมได้อธิบายว่าในความเป็นจริงปัจเจกแต่ละคนมีธรรมชาติที่ไม่เหมือนกันแต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือต้องการเลียนแบบจากแบบที่สังคมยอมรับ  ดังนั้นการมองการกระทำที่เป็นเกณฑ์ที่ตายตัวแม้จะกล่าวว่าเป็นกฎสากลที่มาจากการใช้เหตุผลแล้วก็ตาม  ก็ยังเป็นการให้ความสำคัญกับความเป็นตัวตนของมนุษย์หรือความเป็นปัจเจกที่ยังน้อยอยู่  จริยศาสตร์คุณธรรมเสนอให้จริยศาสตร์แบบกฎที่ตายตัวหรือมองแต่เพียงว่าเจตนาดีแล้วก็เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าเป็นคนดีแล้วนั้น มันไม่เพียงพอ  เพราะว่าเจตนาดีแต่ขาดความรอบคอบ การมองอะไรเพียงแค่คิดว่าเจตนาดีแล้วเป็นอันจบกันไป  อาจนำไปสู่การไม่สามารถแก้ปัญหาหรือการให้คุณค่าบุคคลตัวผู้กระทำและผลอันดีที่จะตามมาเพราะการให้ความสำคัญเพียงอย่างเดียวในเรื่องกฎ  ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายและพิสดารหรือแตกต่างกัน ทำให้มองได้ว่าเป็นจริยศาสตร์ที่ลดลิดรอนความเป็นมนุษย์  กลายเป็นว่าเป็นแนวคิดที่มองมนุษย์เป็นแบบเครื่องจักรที่มีชีวิตเท่านั้น จริยศาสตร์คุณธรรมจึงเน้นให้มองเห็นถึงความเป็นปัจเจกที่ต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหน้าที่ที่ต้องทำแก่มนุษยชาติเท่านั้น

 

ปัญหาทฤษฎีของโทมัส  ฮอบส์(Thomas  Hobbes)  ในการตัดสินปัญหาทางจริยธรรม 

ฮอบส์ (Thomas Hobbes) เป็นพวกสัมพัทธ์นิยมที่เชื่อว่าความดี  ความชั่ว  ขึ้นอยู่กับบุคคล  ฮอบส์กล่าวว่าอะไรก็ตามที่คนชอบ  คนก็อยากได้หรือเป็นสิ่งที่ตรงกับความชอบความอยากได้ ของคน  คนก็ว่าดี  อะไรที่เขาไม่ชอบหรือเป็นสิ่งที่เขาเกลียด  เหยียดหยาม  เขาก็ว่าสิ่งนั้นไม่ดี  สัมพัทธ์นิยมเป็นความเชื่อเรื่องมาตรการที่เป็นเกณฑ์ตัดสินเรื่องจริยธรรมที่เป็นสากลหรือที่แน่นอนตายตัวไม่มี...ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและปัจจัยหลายอย่าง  ในสถานการณ์หนึ่งอาจจะตัดสินว่าดี  หรือถูก  แต่ในอีกสถานการณ์หนึ่งอาจจะตัดสินว่าผิดก็ได้  เกณฑ์ที่จะเป็นตัวตัดสินค่าทางจริยธรรม  มีหลายเกณฑ์  แต่ไม่มีเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งว่าดีสูงสุดกว่าเกณฑ์อื่นได้

จริยศาสตร์คุณธรรมได้แก้ปัญหาจริยศาสตร์แบบสัมพัทธ์คือ  เสนอว่าให้มองเรื่องมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญเอาเฉพาะเรื่องไม่ใช่ทุกเรื่องแต่ไม่ควรเอาตามความต้องการและแปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมโดยมิได้ยึดเอาอะไรที่เป็นเกณฑ์ตัดสิน  หรือเอาตามความชอบใจของแต่ละคนเป็นใหญ่เพราะมิฉะนั้นจะเกิดปัญหาในเรื่องของการทำอะไรที่ขาดการเอาใจใส่ต่อผู้อื่นและเป็นการเอาแต่ได้เอาตามความพึงพอใจของตนเอง  จริยศาสตร์คุณธรรมได้พยายามประนีประนอม  ในเรื่องความต้องการธรรมชาติมนุษย์โดยได้ให้ความสนใจและเสนอให้เอาเกณฑ์ในการมองเข้าถึงความต้องการของปัจเจกบุคคลและประนีประนอมกับการนำมาใช้ในการวิเคราะห์ถึงเรื่องที่สังคมหรือผู้อื่นพึงได้รับโดยไม่ให้กระทบกระทั่งกับสมาชิกของสังคมเพื่อให้เป็นแนวคิดที่เป็นเรื่องที่ช่วยคลี่คลายปัญหาได้จริง

 

จริยศาสตร์คุณธรรมแบบพุทธ

          จริยศาสตร์คุณธรรมแบบพุทธควรมีลักษณะที่ยืดหยุ่น  เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบความจริง(ตามความเป็นจริงเป็นสัจจธรรม) หรือมีอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือมีอยู่ในวิถีชีวิตคนเราเพียงแต่ว่ามนุษย์มองไม่เห็นกัน  และหากมองว่าพุทธจริยศาสตร์เป็นแบบกฎตายตัวก็ไม่เหมาะเช่นกัน ในเมื่อธรรมะเป็นเรื่องของโลกมนุษย์และมนุษย์โลก  ก็ควรที่จะนำมาใช้ได้อย่างไม่จำกัดสถานที่ เวลา บุคคลฯลฯ และพระพุทธเจ้าก็ได้นำหลักธรรมนั้นมาแสดงแก่คนต่างกรรมต่างวาระกัน  การนำเอาธรรมะมาใช้ก็ไม่ควรจะไม่สามารถอำนวยประโยชน์ได้อย่างจำกัดบุคคล  สถานที่ ฯลฯ เพื่อจะเหมาะสมกับการอธิบายและเป็นเกณฑ์ในการตัดสินโดยไม่ได้มองพุทธจริยศาสตร์ในแง่ของกฎตายตัวหรือการกระทำ(กิริยวาท)  ผลของการกระทำ(ประโยชน์จำนวนมาก) ...หรือให้ตัดสินเอาตามกรณี(วิภัชชวาท) ...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น  แต่ควรที่จะมองในความเป็นกลาง  คือให้ดูเป้าหมายของผู้กระทำที่จะพยายามไปให้ถึง...ที่มาจากแรงจูงใจที่เกิดจากฉันทะที่เป็นกุศลเพื่อเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ  เพราะหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นการแสดงธรรมที่เกิดขึ้นในสภาวะ...และเหตุการณ์ที่หลายหลาก  และขึ้นอยู่กับบุคคลที่แตกต่างกันด้วย  การใช้หลักเพียงหลักใดหลักหนึ่งในการตัดสินคงไม่เกิดผลดี เพราะในหลักธรรมพระพุทธศาสนาแม้จะมีหลักที่เป็นกฎที่ว่าด้วยความเที่ยงแท้ของสัจธรรมความจริง เช่น  พระนิพพาน  อริยสัจจ์  ๔  หรือแม้แต่ตัวธรรมะ  ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่เอง  ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัจจัยเพื่อให้เข้าถึงด้วยในตัวมันเองได้  แต่ความสำคัญอยู่ที่กระบวนการ  หรือวิธีการเข้าถึงเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญ  ซึ่งจะสามารถเกิดขึ้นได้นั้นก็จะต้องอาศัยหลักการในตัวหลักธรรมนั้นด้วย....รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสนับสนุนที่เป็นปัจจัยหนุนเสริม  ฯลฯ กล่าวคือทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน  ของบุคคลและสังคมในการเป็นตัวผลักดัน  เมื่อจะเอาหลักเกณฑ์ในการตัดสินก็จะต้องอาศัยการพิจารณ์ถึงตัวแปรต่างๆ  รอบด้านก็จะเป็นไปอย่างเหมาะสมและยืดหยุ่นกับการนำหลักธรรมะไปใช้  ไม่ใช่เพื่อการสนองตอบต่อความพึงพอใจ  พึงได้หรือพึงถึง


[*]เป็นบทความในวิชา จริยศาสตร์วิเคราะห์,๒๕๕๑. (ปรัชญา รุ่น ๑๙).นำมาลงใหม่

หมายเลขบันทึก: 436478เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2011 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบนมัสการเจ้าค่ะ

  • แวะมาอ่านบทความค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท