สงกรานต์นางโชว์ .. บอกอะไรกับใครบ้าง ???


สาเหตุหลักของสังคมที่ล้มเหลวก็ล้วนแล้วแต่มาจากคุณค่าที่ดีงามของวัฒนธรรมประเพณีทุกทำลายลงไปนั่นเอง
 
         ความจริงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้เราคงต้องยอมกันรับว่าค่านิยมเปลื้องผ้าอวดสรีระร่างกายของบรรดาสาวน้อยสาวมากไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรในสังคม เพราะไม่ว่าจะพยายามห้าม พยายามบล็อค หรือจะไล่ปิดกันขนาดไหน แต่ทุกวันนี้เพียงท่องเข้าไปในโลกอินเตอร์เน็ต ก็ยังคงพบเห็นโชว์ฟรีประเภทนี้กันอยู่เกลื่อนสายตา และนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนถนนสีลมในค่ำคืนวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ใครหลายๆ คนน่าจะเริ่มตั้งคำถามกันได้แล้วว่า ..
         ‘ทำไมมันแพร่ออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงได้เร็วขนาดนี้ ???’
 
          ซึ่งคำตอบในเชิงจิตวิทยาที่ว่า เป็นเพราะความคะนองตามประสาวัยรุ่นที่ต้องการเรียกร้องความสนใจ และต้องการได้รับการยอมรับว่าตนเอง ‘แน่’ กว่าคนอื่น ดูว่าคงจะไม่เพียงพอเสียแล้วกับคำตอบของอาการ ’กล้าผ้าหลุด’ ชนิดที่ท้าทายสายตานับร้อยนับพันคู่ขนาดนั้น
ภาพโดย : semakutek.maltiply.com
 
         ‘ครอบครัว’ สถาบันหน่วยย่อยที่สุดในสังคมในฐานะจำเลยตลอดกาลของปัญหาวัยรุ่น ที่การอบรมเลี้ยงดูมักจะเป็นเหตุให้อ้างอิงถึงต้นตอของปัญหาเสมอ แต่กับโลกที่เปลี่ยนไปจนพ่อแม่หลายคนไล่ตามไม่ทันในวันนี้ ที่ทำให้บ่อยครั้ง ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ของพวกเขากลายเป็นโลกที่ ‘อยู่นอกสายตา’ ของผู้ใหญ่ในครอบครัวโดยที่การอบรมเลี้ยงดูไม่สามารถก้าวตามไปถึง และนั่นก็คือสาเหตุที่ว่าทำไม เด็กที่ดูเรียบร้อยไร้เดียงสาในสายตา กลับกลายเป็นเด็กที่กล้าอย่างน่าใจหายในทันทีที่ก้าวไปสู่อีกมุมหนึ่ง มุมที่ซึ่งหากไม่ตกเป็นข่าวพ่อแม่ผู้ปกครองก็จะไม่มีวันได้รู้เรื่องของพวกเขาเลย
           การทำความรู้จักเพื่อสร้างความเข้าใจว่าอะไรคือ ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ของพวกเขา น่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีในการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ หากไม่ต้องการให้มุมมืดของสังคมสังคมและเทคโนโลยีพาพวกเขาห่างออกจากครอบครัวมากไปกว่านี้
ภาพโดย : semakutek.maltiply.com
  
        ‘สังคม’ อีกหนึ่งจำเลยของเหตุการณ์ เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า พฤติกรรมเหล่านั้นล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นจากเบ้าหลอมทางสังคมทั้งสิ้น โดยที่มี ‘สื่อ’ เป็นตัวเร่งให้เกิดพฤติกรรมเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น เพราะ ‘ข่าว’ ถูกแปรสภาพเป็น ‘สินค้า’ มากกว่าที่จะทำให้เป็นระบบ ‘เฝ้าระวังหรือเตือนภัย’ ให้กับสังคม คุณค่าของข่าวจึงอยู่แค่ที่ว่าข่าวนั้นจะ ‘ขายได้หรือไม่’ ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเรื่องเซ็กส์ของคนดังถึงยึดครองพื้นที่บนสื่ออยู่ข้ามวันข้ามปี จนกลายเป็นการ ‘สมรู้ร่วมคิด’ ระหว่างสื่อที่ต้องการขายข่าวกับคนดังที่อยากฉาวเพราะต้องการเป็นข่าว โดยไม่สนใจเลยว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะปลูกฝังค่านิยมอะไรให้กับสังคม
          ได้เวลาหรือยังที่กระจกส่องสังคมทั้งหลายเหล่านั้นจะเริ่มหันมันกลับไปส่องดูตัวเอง ว่าเนื้อข่าวที่ที่มักจะชี้ชวนให้คนเห็นถึง ‘ความเสื่อม’ ในสังคมปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งในนั้นเป็นพวกท่านที่ช่วยสร้างมันขึ้นมาด้วยหรือเปล่า
ภาพโดย : semakutek.maltiply.com
          สุดท้ายที่คงจะไม่กล่าวถึงเห็นที่จะมิได้ เพราะไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจึงนิยมกันหนักหนากับการนำ ‘วัฒนธรรมประเพณี’ มาหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกับ ‘การท่องเที่ยว’ เพื่อสร้างให้เกิดรายได้เข้าประเทศ แม้จะเข้าใจดีว่านี่เป็นโอกาสที่สามารถนำมาเกื้อหนุนกันได้ แต่การลำดับความสำคัญดูเหมือนจะผิดเพี้ยนไปอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
          แทนที่จะใช้วัฒนธรรมประเพณีนำหน้าแล้วนำการท่องเที่ยวเข้ามาเสริม กลับกลายเป็นให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก แล้วนำวัฒนธรรมประเพณีไปไว้ส่วนท้ายสุดในฐานะเพียง ‘ข้ออ้าง’ ที่ทำให้เกิดการท่องเที่ยว ซึ่งลดคุณค่าของประเพณีสงกรานต์ให้กลายเป็นแค่เทศกาลสาดน้ำของวัยรุ่น เป็นเฟสติวัลกลางแจ้งท่ามกลางความเร้าใจจากจังหวะดนตรี ที่มีคุณค่าแค่ความสนุกสนานจากการร้องเล่นเต้นระบำซึ่งกระจายไปในทุกถนนสารพัดข้าวทั่วประเทศ  นี่นะหรือประเพณีสงกรานต์ที่เราต้องการให้ตกทอดต่อไปในอนาคต ซึ่งทางออกคงไม่ต้องถึงกับยกเลิกสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด เพราะอย่างไรซะเสี้ยวหนึ่งของประเพณีนี้ก็คือเทศกาลแห่งความสนุกสนาน เพียงจัดวางให้เหมาะสมตามสัดส่วนคุณค่าความสำคัญทางประเพณีเท่านั้นก็พอ อย่าปล่อยให้ประเพณีสงกรานต์กลายพันธุ์ไปมากกว่าที่เป็นในวันนี้เลย
          เพราะถ้าความผิดของลูกคือความล้มเหลวของพ่อแม่ ความผิดของเยาวชน กืคือความล้มเหลวของสังคมเช่นกัน และสาเหตุหลักของสังคมที่ล้มเหลวก็ล้วนแล้วแต่มาจากคุณค่าที่ดีงามของวัฒนธรรมประเพณีทุกทำลายลงไปนั่นเอง
ภาพโดย : Prasit Chansarekorn

บทความโดย

 

พรายพิลาศ

 

พุธ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๕

พ.ศ. ๒๕๕๔


 

หมายเลขบันทึก: 436011เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2011 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท