ปูแสม จักรพงษ์


ที่มาของปูเค็มในส้มตำ

....ปูแสม..

แสม เป็นปูวงค์หนึ่ง( family Grapsidae) ที่มีกระดองแบนเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่โค้งมาก ริมกระดองตัดตรง โค้งออกเล็กน้อย กระดองส่วนหน้าระหว่างตากว้างมาก กว้างกว่าความยาวของก้านตาซึ่งสั้นและอวบ ช่องว่างระหว่าง third maxillipeds เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ก้ามกว้างกลม ส่วนมากมีขนระหว่างข้อสุดท้ายและรองข้อสุดท้าย ขาแข็งแรง ชอบอาศัยอยู่ตามโพลงหิน หาดทราย ป่าแสมโกงกางหรือตามบริเวณปากแม่น้ำ ในเมืองไทย ปูแสมมีถึง 29 สกุล 71 ชนิด แต่ชนิดที่นิยมนำมาดองเค็มและเป็นที่นิยมของตลาดนั้น เป็นปูแสมที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sesarma mederi (H. Milne-Edward) ลักษณะโดยทั่วไปมีสีน้ำตาลดำ ปลายก้ามมีสีน้ำตาลแดง ขณะที่มีชีวิตบริเวณช่องปากมีสีม่วงเป็นประกาย ขนาดใหญ่ที่พบโตประมาณ 4.3 ซม

ในสมัยก่อน ปูแสมชนิดนี้มีชุกชุมในป่าชายเลนของจังหวัดชายทะเลต่าง ๆ ของประเทศไทยเช่นจังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราด ระยอง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และระนอง

ปัจจุบันหายาก เพราะได้ถูกชาวบ้านจับกินจับใช้อย่างหนัก จนปูรุ่นใหม่ที่จะเกิดมาทดแทนปูรุ่นที่ถูกจับโตไม่ทันใช้ ยิ่งกว่านั้นเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ตัวเมืองขยายมากขึ้น สภาพสิ่งแวดล้อมที่เคยเหมาะการดำรงชีพของปูแสมก็เปลี่ยนไป มีมลภาวะมากขึ้น ป่าชายเลนที่เป็นแหล่งที่อยู่ที่สำคัญของปูแสมก็เสื่อมโทรม หรือไม่ก็ถูกทำลาย จนมีเหลือให้เป็นที่อยู่อาศัยของปูแสมไม่มากนัก จึงเป็นที่น่าวิตกว่า ถ้าไม่มีมาตรการที่ดีและถูกต้อง ในอนาคตอันใกล้นี้ ปูแสม ชนิดนี้ก็อาจจะสูญพันธ์ หรือไม่มีเหลือให้คนรุ่นหลังได้รู้จักอีกต่อไป

วงจรชีวิตของปูแสม

ในธรรมชาตินั้น ในเวลากลางวันปูแสมส่วนใหญ่จะอยู่ในรู ส่วนที่ออกจากรู้ มาหากินก็มีบ้างเมื่อหิว หรือเมื่อปลอดคน ส่วนใหญ่จะออกจารู มาหากินในเวลากลางคืน เช่นเดียวกันกับปูทะเลและปูม้า ปูแสมมีการผสมภายใน(internal fertilization) ปูเพศเมียเมื่อได้รับการผสมกับปูเพศผู้แล้ว ไข่จะเจริญอยู่ภายในกระดอง เมื่อไข่แก่เต็มที่จะถูกส่งมาไปเก็บไว้ที่ใต้จับปิ้งบริเวณหน้าอก ฤดูที่ปูแสมวางไข่มี 2 ช่วง ช่วงแรกอยู่ระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม ช่วงที่สองอยู่ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ไข่จะอยู่นอกกระดองประมาณ 14 วันก็จะฟักเป็นตัว แม่ปูที่ขนาดความยาวกระดองระหว่าง 3.0-3.5 ซม (น้ำหนักประมาณ 20-40 กรัม) มีไข่เฉลี่ยประมาณ 23,000-55,000 ฟอง ไข่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 360 ไมครอน

เมื่อถึงฤดูวางไข่ ปูแสมจะเดินทางลงไปวางไข่ในน้ำ ในบริเวณปากแม่น้ำ ในป่าแสมโกงกางที่มีความเค็มระหว่าง 5-20 ส่วนในพัน (ppt.) อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า ฤดูปูชะไข่ ไข่เมื่อฟักเป็นตัวแล้วก็จะ พัฒนาผ่านขั้นตอน 2 ระยะ ระยะแรกคือ zoea เป็นระยะที่ลูกปูจะดำรงชีวิตคล้ายแพลงค์ตอนสัตว์อื่น ๆ (planktonic life) ลูกปูจะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 10-15 วัน ก็จะเปลี่ยนรูปเป็น ลูกปูวัยอ่อนระยะที่สอง ที่มีชื่อเฉพาะว่า megalopa ลูกปูในระยะนี้จะเริ่มว่ายน้ำแข็ง เปลี่ยนนิสัยการกินและความเป็นอยู่จากที่เคยล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ก็จะว่ายน้ำไปอาศัยหากินตามพื้นดิน ลูกปูจะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 10-15 วันก็จะพัฒนาเป็นลูกปูขนาดเล็ก

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4354เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2005 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท